เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

โลกธรรม อำนาจ เบื้องหน้าลาภ ยศ สรรเสริญ แห่ง ก.ศ.ร.กุหลาบ

14.05.2025

บทความพิเศษ

 

โลกธรรม อำนาจ

เบื้องหน้าลาภ ยศ สรรเสริญ

แห่ง ก.ศ.ร.กุหลาบ

 

ไม่ว่าจะศึกษาผ่านงานค้นคว้าของ เกร็ก เรย์โนลด์ แห่งออสเตรเลีย ไม่ว่าจะศึกษาผ่านงานค้นคว้าของ นายตำรา ณ เมืองใต้ ไม่ว่าจะศึกษาผ่านงานค้นคว้าของ ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ก.ศ.ร.กุหลาบ เคยเป็นที่ยอมรับ เคยมีสถานะอันแน่นอนในกลุ่มบุคคลที่เรียกตนเองว่า “นักหนังสือ”

ทั้งในการสะสม ทั้งในการอ่าน ทั้งในการเขียน

เห็นได้จากการได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งในฐานะสมาชิกแห่งหอพระวชิรญาณอันเป็นรากฐานของ “หอสมุดแห่งชาติ” ในกาลต่อมา เห็นได้จากการได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐกในสภาวิทยาทานอันเป็นสโมสรของปัญญาชนชั้นนำ

บทบาทโดดเด่นเป็นอย่างมากอย่างที่ นายตำรา ณ เมืองใต้ ได้ระบุ

เมื่อครั้งมีการแสดงการพิพิธภัณฑ์ ณ ท้องสนามหลวง ร.ศ.100 ก.ศ.ร.กุหลาบนำหนังสือออกร่วมแสดง 150 เรื่อง

เป็นหนังสือพันเล่มเศษ นับว่าเป็นเจ้าของ “คลังหนังสือ”

ทำให้คนสนเท่ห์ว่าได้มาจากไหนโดยอาการอย่างไร ยิ่งนักหนังสือสมัยนั้นซึ่งเป็นเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ยิ่งพากันพิศวง เพราะหนังสือของ ก.ศร.กุหลาบเป็นหนังสือจำพวกมีต้นฉบับน้อยและเจ้าของหวงแหนด้วยเหตุผลต่างๆ กัน

การเข้าร่วมการแสดงครั้งนี้เองในอีกด้านหนึ่งได้กลายเป็น “สายล่อฟ้า” ได้กลายเป็น “ทุกขลาภ” สร้างความเดือดร้อนให้กับ ก.ศ.ร.กุหลาบ

ดังที่ บุญพิสิฐ ศรีหงส์ นำเสนอตั้งคำถามและให้คำตอบด้วยหลักฐานอันแน่นหนาในหนังสือเล่มสำคัญ “แกะปมจินตนภาพ นาย ก.ศ.ร.กุหลาบแห่งกรุงสยาม” ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ

จำเป็นต้องติดตาม

 

จดหมายเหตุ สยามไสมย

Bangkok Contennial

งานแสดงพิพิธภัณฑ์ในการฉลองสมโภชพระนครครบรอบ 100 ปีในเอกสารร่วมสมัยมักจะเรียกชื่องานทับศัพท์ว่า “นาเชนแนลเอกซฮิบิเช่อน” จัดขึ้นในบริเวณท้องสนามหลวงระหว่างวันที่ 26 เมษายน-16 กรกฎาคม พ.ศ.2425 (ค.ศ.1882)

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ในเวลานั้นเป็นประธานจัดงาน

และมีเจ้านายเชื้อพระวงศ์กับกรรมการหัวหน้ากรมต่างๆ เป็นกรรมการ

บริเวณงานสร้างเป็น “ปะรำไม้ไผ่หลายหลัง มีรั้วไม้ไผ่กั้นโดยรอบ และจัดแสดงสินค้าถึง 40 ชนิด 40 ห้อง”

รายการสิ่งของที่จัดแสดงในบางห้องมีการจัดพิมพ์เป็นสูจิบัตรเพื่อจำหน่ายจ่ายแจกให้แก่ผู้เข้าร่วมชมงาน อาทิ “บาญชีหนังสือไทยต่างๆ 150 เรื่อง ตั้งในการนาเชนแนลเอกซฮิบิเช่อนฯ บาญชีสิ่งของนาเชนแนลเอกซฮิบิเช่อนฯ (-บัญชีฟืน ถ่าน ไม้, เกลือ) บาญชีขนมต่างๆ บาญชีเครื่องจำลองตัวอย่างต่างๆ หมวตว่าด้วยเครื่องมือทำนาแลพันข้าว บาญชีแร่ต่างๆ แลสิ่งของเครื่องใช้ในการแกร่”

ในโอกาสเดียวกันนี้ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการในขณะนั้นทรงบัญชาให้ นายเฮนรี อลาบาสเตอร์ รวบรวมเอกสารประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

เมื่อตรวจสอบปรากฏหลักฐานว่า ก.ศ.ร.กุหลาบเป็นพนักงานประจำห้องแสดงที่ 17 ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ “จดหมายเหตุสยามไสมย” เล่ม 3 แผ่นที่ 44 ของครูสมิท

ที่พิมพ์เป็นข้อความไว้ว่า

“จดหมายเหตุฝรั่งโบราณตั้งแต่คฤศตะศักราช 1511 ปีตรงกับปีมีจุลศักราช 772 ปี ข้าพเจ้าครูสมิทได้คัดลอกเนื้อความเรื่องนี้มาแต่ฉบับของเสมียนกุหลาบซึ่งตั้งไว้ในตู้ห้องที่ 17 ในโรงเอกซฮิบิเช่อน ณ ท้องสนามหลวง เพื่อการสมโภชพระนครบันจบครบรอบร้อยปีมาลงพิมพ์ไว้”

ทั้งในหนังสือพิมพ์ “จดหมายเหตุสยามไสมย” เล่ม 3 แผ่นที่ 52 ยังได้พิมพ์ข้อความเกี่ยวด้วย ก.ศ.ร.กุหลาบ และห้องจัดแสดงหนังสือเลขที่ 17 ซ้ำอีกว่า

“ข้าพเจ้า เอไดตอร ได้คัดลอกเนื้อความ อุบายศึก มาจากฉบับของเสมียนกุหลาบ ซึ่งตั้งไว้ที่ห้อง 17 โรงเอกซฮิบิเช่อน ณะ ท้องสนามหลวง”

จากข้อความที่ปรากฏในหนังสือ Bangkok Contennial 1882 กับหนังสือพิมพ์ “จดหมายเหตุสยามสไมย” ทำให้ทราบว่า กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณเป็นผู้รับผิดชอบห้องจัดแสดงหนังสือเลขที่ 17 ซึ่งมี ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นพนักงาน

และมีหนังสือของ ก.ศ.ร.กุหลาบ อยู่ในตู้ตั้งแสดงในห้องนั้นด้วย

 

ห้องหนังสือ เลขที่ 17

กับ ก.ศ.ร.กุหลาบ

หลักฐานที่แสดงว่า ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นพนักงานในห้องจัดแสดงหนังสือของ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ปรากฏอยู่ในหนังสือหลายเล่ม

อาทิ

“บาญชีหนังสือไทยต่างๆ 150 เรื่อง ตั้งในการนาเชนแนลเอกซฮิบิเช่อน ณ ท้องสนามหลวงในการเฉลิมพระนคร ตั้งแต่สร้างกรุงเทพมหานคร บรรจบครบรอบร้อยปี ปีมะเมีย จัตวาศกจุลศักราช 1244”

ที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ พิมพ์ขึ้นและใช้ในการจัดแสดงครั้งนี้ด้วย ก็ได้กล่าวถึงห้องแสดงหนังสือเลขที่ 17 อาทิ “สยามประเภท” เล่ม 2 ตอน 19 ฉบับวันที่ 1 กันยายน ร.ศ.118

“เรื่องโคลงตอบว่าตำรามากกว่าอายุศม์ ประวัติลำดับวงศ์ตระกูล ก.ศ.ร.กุหลาบ” พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2445

“ประวัติเจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว.ลพ) เจ้าพะญาบดินทรเดชา (ม.ร.ว.อรุณ) พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2456

หนังสือทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแสดงข้อมูลสอดคล้องกับเอกสารร่วมสมัยทั้งสิ้น

จากข้อความในหนังสือ Bangkok Contennial 1882 ประกอบกับข้อความในสิ่งพิมพ์ร่วมสมัยรวมทั้งหนังสือที่พิมพ์ภายหลังแสดงให้เห็นว่าข้อความพระนิพนธ์ที่ว่า

“นาย ก.ศ.ร.กุหลาบรับอาสาแสดงหนังสือไทยสมัยเมื่อแรกพิมพ์ห้องหนึ่งอยู่ต่อกับห้องของกรมหลวงบดินทรฯ”

นั้น, ผิดไปจากข้อความที่บันทึกในเอกสารร่วมสมัย

ห้องแสดงหนังสือที่อยู่ต่อจากห้องของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณได้แก่ห้องแสดงหนังสือเลขที่ 18 ของพระยาศรีสุนทรโวหาร

และ ก.ศ.ร.กุหลาบเป็นพนักงานในห้องแสดงหนังสือที่ 17 ของ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ มาแต่แรกแล้วไม่ใช่คนละห้องดังพระนิพนธ์ ซึ่งนั่นควรหมายถึงว่าบุคคลทั้งสองจะต้องรู้จักกันจนถึงขนาดมีความไว้วางใจกัน

จึงมอบหมายให้ ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นพนักงานในห้องแสดงหนังสือนี้

 

บทบาท “สยามประเภท”

เป้าหมาย คือ ประชาชน

จึงมีความเด่นชัดอย่างยิ่งว่า “ทุกขลาภ” อัน ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้รับ เป็นผลพลอยจาก 1 บทบาทในเนเชนแนลเอกซฮิบิเช่อน และ 1 จากการที่จัดทำหนังสือพิมพ์ “สยามประเภท” ออกมาเผยแพร่ความรู้

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เสนอบทบาทของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ในสถานะ “นักเขียน” และ “นักหนังสือพิมพ์” ให้เห็นว่า

เริ่มทำงานเป็น “เอดิเตอร์” ฝ่ายไทยหนังสือพิมพ์ “สยามออบเซอร์เวอร์” ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2436 จุดสำคัญของหนังสือพิมพ์นี้ คือการเขียนวิจารณ์ข่าวและให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากเหตุการณ์

ต่อมา ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2446 เมื่ออายุ 63 ปีได้ออกหนังสือนิตยสารชื่อ “สยามประเภทสุนทโรวาทพิเศษ” ฉบับแรก

เป็นหนังสือลักษณะเดียวกับ “วชิรญาณ”

แทนที่จะเป็นหนังสือสำหรับเจ้านาย กลับกำหนดให้เป็นหนังสือเผยแพร่ข่าวและความรู้ไปสู่ประชาชนทั่วไป

ตรงนี้และที่เป็นจุดเร้าเร่งความสนใจเป็นอย่างสูงในทางสังคม

 

ทุกขลาภ ก.ศ.ร.กุหลาบ

ตั้งคณะกรรมการ ไต่สวน

จากการประมวลของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ก.ศ.ร.กุหลาบ ออกหนังสือ “สยามประเภทสุนทโรวาทพิเศษ” จนถึง พ.ศ.2449 ก็ถูกจับเข้าโรงพยาบาลคนเสียจริต

นี่เป็นสถานการณ์อีกสถานการณ์ต่อจากการถูกคณะกรรมการไต่สวน

การทำความเข้าใจต่อสาเหตุและกระบวนการตั้งกรรมการไต่สวน การทำความเข้าใจต่อการถูกจับในปี พ.ศ.2499 จึงไม่เพียงสะท้อนบทบาทในฐานะผู้จัดพิมพ์หากสะท้อนในฐานะนักเขียน

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นยังเป็นบทบาทของ “เอดิเตอร์” หรือ “บรรณาธิการ”



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568