

บทความพิเศษ | จักรกฤษณ์ สิริริน
เล่นโทรศัพท์ก่อน Sleep
เสี่ยง ‘นอนไม่หลับเรื้อรัง’
บางคนภารกิจรัดตัว งานยุ่งจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน และบางครั้งมีความจำเป็นต้องเบียดบังเวลานอน ด้วยการอ่านเมล์ ตอบแชต กระทั่งเขียนอะไรนิดหน่อยก่อนนอน เพื่อให้ทัน และเป็นการเตรียมข้อมูลบางอย่างก่อนการทำงานจะเริ่มต้นในเช้าวันใหม่
แต่ส่วนใหญ่แล้ว คนส่วนมากมักใช้เวลาก่อนนอน ด้วยการชาร์จโทรศัพท์มือถือไปด้วย และเล่นโทรศัพท์มือถือไปด้วยก่อนนอน ไม่ว่าจะเล่นเกม หรือ Social Media
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีผลสำรวจสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของประเทศ Norway เมื่อปี ค.ศ.2022 มาฝากไว้เป็นข้อคิดเตือนใจครับ
โดยผลสำรวจสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของ Norway ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยมีแบบสอบถามในลักษณะเครื่องมือวิจัยให้ตอบ
ประชากรและกลุ่มตัวอย่างของงานวิจัย คือกลุ่มนักเรียนนักเรียน-นักศึกษา อายุ 18-28 ปี ชาว Norway จำนวน 45,000 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาการเล่นมือถือก่อนนอน กับรูปแบบการนอนหลับ
เป็นการศึกษาผลกระทบต่อการนอนหลับ อันเนื่องมาจากการใช้ Social Media เพื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมการใช้หน้าจอในรูปแบบอื่นๆ
ผลการวิจัยพบว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เล่นมือถือก่อนนอน โดยเวลาที่เพิ่มขึ้นในแต่ละนาที มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงในการนอนไม่หลับเพิ่มขึ้นถึง 65% และระยะเวลาในการนอนหลับน้อยลงมากถึง 24 นาที
โดยกลุ่มตัวอย่างต่างพากันระบุว่า พวกเขาได้ใช้ Social Media ก่อนเข้านอน
ซึ่งทีมวิจัยได้กำหนดตัวเลือกเอาไว้ให้ตอบ ที่มีตั้งแต่ ดูหนัง หรือซีรีส์ เล่น Social Media ไปจนถึงการท่อง internet เพื่อเปิดดูเรื่องราวต่างๆ และเล่นเกม
กลุ่มประชากรในการวิจัยบอกว่า พวกเขาเล่น Social Media ร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือก่อนนอนทุกคืน
โดยคณะผู้วิจัยได้ขอให้ระบุจำนวนคืนต่อสัปดาห์ที่พวกเขาใช้งาน Social Media ดังกล่าว พร้อมให้ระบุระยะเวลา ตลอดจนความถี่ ที่พวกเขาพบว่า นอนหลับได้ยาก ตื่นเช้าเกินไป หรือรู้สึกเหนื่อยล้า
ผลการวิจัยในครั้งนี้ ได้ช่วยให้นักวิจัยสามารถระบุได้ว่า กลุ่มตัวอย่างประสบปัญหาดังกล่าวเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 คืน หรือ 3 วันต่อสัปดาห์ หรือเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ที่มีอาการ “นอนไม่หลับ”
ทั้งนี้ แม้การศึกษาดังกล่าวจะพบความเชื่อมโยงระหว่างการเล่นมือถือก่อนนอน กับผู้ที่ระบุว่า ตนเองรู้สึกกระสับกระส่ายก่อนนอน หรือมีอาการนอนไม่หลับ
แต่ผู้วิจัยได้สรุปผลการศึกษาว่า ผลลัพธ์ดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่า กิจกรรมที่ว่ามานี้ เป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับที่แท้จริงแต่อย่างใด
ดร. Gunhild Johnsen H?land แห่ง The Norwegian Institute of Public Health หรือ “สถาบันสาธารณสุขแห่งนอร์เวย์” ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย ผู้เขียนบทความวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Frontiers เผยว่า
การที่งานวิจัยนี้ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ว่าการเล่นมือถือก่อนนอน ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับหรือไม่ หรือเป็นเพราะกลุ่มตัวอย่างนอนไม่หลับเพราะปัจจัยอื่น
“อาจเป็นเพราะการตอบแบบสอบถาม โดยตัวผู้ที่มีประสบการณ์เองนั้น อาจหมายความว่าข้อมูลที่ตอบนั้นมีอคติ เราจึงไม่ควรถือว่า ผลการศึกษานี้ให้เป็นตัวแทนภาพใหญ่ของผู้คนในระดับโลก” ดร. Gunhild Johnsen H?land กล่าว
ตรงกันข้ามกับ ดร. Joshua Piper แพทย์ด้านการนอนหลับจาก ResMed UK ที่กล่าวว่า การศึกษาชิ้นนี้ได้ให้หลักฐานที่มีประโยชน์ และชัดเจน ว่าการใช้อุปกรณ์ Electronics ก่อนนอนนั้น ส่งผลเสียต่อการนอนหลับ
“การเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน ขโมยทั้งโอกาส และคุณภาพการนอนหลับของคุณ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ว่า เหตุใดบางคนจึงต้องดิ้นรนอย่างหนักเมื่อเริ่มมีอาการ หรือบางคนต้องพยายามอย่างมากเพื่อทำให้หลับลงให้ได้” ดร. Joshua Piper กล่าว และว่า
ทั้งๆ ที่หลายคนพยายามลดผลกระทบ โดยการปรับความสว่างหน้าจอให้ลดลง หรือใช้ Mode กลางคืน
“การศึกษาหลายชิ้นก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่า การไถหน้าจอก่อนนอน มีแนวโน้มว่าจะทำให้การนอนหลับถูกรบกวน” ดร. Joshua Piper สรุป
อ
ย่างไรก็ตาม ดร. Gunhild Johnsen H?land กล่าวว่า ทีมวิจัยได้เปรียบเทียบเพียงความสัมพันธ์ระหว่างการเล่นมือถือก่อนนอน กับคุณภาพการนอนหลับที่ลดลงเท่านั้น
“การวางโทรศัพท์ก่อนนอน แล้วหันไปหากิจกรรมผ่อนคลายอย่างอื่น รวมถึงการสร้างกิจวัตรก่อนนอนแบบอื่นๆ อาจช่วยทำให้การนอนหลับดีขึ้นได้” ดร. Gunhild Johnsen H?land กล่าว และว่า
อย่างไรก็ดี ประเภทของกิจกรรมการใช้หน้าจอรูปแบบต่างๆ ก่อนนอน ดูเหมือนจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการนอนน้อยกว่าการเล่นมือถือก่อนนอน
“แน่นอนว่า คณะผู้วิจัยไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างการใช้ Social Media และกิจกรรมการใช้หน้าจอแบบอื่นๆ หรือการเล่นมือถือก่อนนอนที่สามารถบ่งชี้ว่า การเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นอนไม่หลับ” ดร. Gunhild Johnsen H?land สรุป
ทั้งนี้ องค์กรการกุศลด้านสุขภาพจิต เช่น Mind และ Rethink ได้ให้คำแนะนำว่า ควรพยายามผ่อนคลายก่อนเข้านอนโดยฝึกการหายใจ อ่านหนังสือ หรืออาบน้ำ แทนที่จะพยายามบังคับตัวเองให้หลับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ควรเล่นมือถือก่อนนอน
ทั้งนี้ ผลการวิจัยจำนวนมากชี้ว่า อาการ “นอนไม่หลับเรื้อรัง” ส่งผลกระทบมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรในสหราชอาณาจักร โดยส่วนใหญ่มักชี้นิ้วไปที่การใช้โทรศัพท์มือถือก่อนนอน
แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ผลกระทบที่แท้จริงของการเล่น Social Media ก่อนนอน ยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ว่า มันส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจ มากน้อยแค่ไหน และอย่างไรกันแน่
อย่างไรก็ดี บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาแนะนำให้ผู้คนหยุดใช้อุปกรณ์ Digital ในห้วงเวลาหนึ่งก่อนเข้านอน
Mind และ Rethink แนะนำว่า การสร้างกิจวัตรการเข้านอน และตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุกๆ วัน อาจช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น
“ทุกๆ คนควรพยายามผ่อนคลายก่อนเข้านอนโดยฝึกการหายใจ อ่านหนังสือ หรืออาบน้ำ แทนที่จะพยายามบังคับตัวเองให้หลับให้ได้ทันทีที่เข้านอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเล่นมือถือก่อนนอน”
Mind และ Rethink ชี้ว่า ควรหลีกเลี่ยงกาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรืออาหารค่ำมื้อใหญ่ก่อนนอน และควรออกกำลังกายเบาๆ รวมถึงจัดวางที่นอนให้สบายที่สุดก่อนที่จะเข้านอน
ดร. Kat Lederle นักบำบัดด้านการนอนหลับ สำทับว่า การได้รับแสงธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในห้วงเวลาเช้า ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยควบคุมนาฬิกาภายในร่างกายของเรา
“ขอให้ทุกคนจงปล่อยวางจากวันยุ่งๆ หรือวันที่มีเรื่องให้คิดมากมาย ด้วยการหากิจกรรมสนุกๆ ที่ไม่กระตุ้นจิตใจมากเกินไปก่อนนอน ก็อาจเป็นกุญแจสำคัญช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น”
ดร. Gunhild Johnsen H?land กลับมาสรุปถึงความจำเป็นในการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้ รวมถึงการตรวจสอบรูปแบบการนอนหลับในระยะยาว ตลอดจนการทดสอบด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือนจากอุปกรณ์ Digital ต่างๆ นั้น ส่งผลให้การนอนหลับถูกรบกวนหรือไม่ เป็นต้น
“หากมีการบูรณาการข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกันได้ มันก็จะช่วยให้เราหาความชัดเจนได้ว่า ผลกระทบจากการเล่นมือถือก่อนนอน มีผลต่อการนอนหลับอย่างไร”
โดยจะสามารถให้คำแนะนำที่ตรงเป้าหมายสำหรับคนทั่วโลกได้ต่อไปในอนาคต ดร. Gunhild Johnsen H?land ทิ้งท้าย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022