
ผลสะเทือนของลัทธิมาร์กซ์ ต่อพรรคปีกก้าวหน้า ในยุโรปตะวันตก (3)

บทความพิเศษ | ธเนศวร์ เจริญเมือง
ผลสะเทือนของลัทธิมาร์กซ์
ต่อพรรคปีกก้าวหน้า
ในยุโรปตะวันตก (3)
นักคิดคนต่อมา คือ มิคาอิล บาคูนิน นักอนาธิปไตยคนนี้เป็นดาวเด่นในแวดวงนักสังคมนิยมปฏิวัติและนักสังคมอนาธิปไตยของยุโรป
เขาเรียนที่มอสโก จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่เบอร์ลินและปารีส ได้เข้าร่วมการต่อสู้ที่กรุงปรากในปี 1848 และเมืองเดรสเดนในปีถัดมา จึงถูกจับกุมและถูกเนรเทศไปอยู่ที่ไซบีเรีย หนีไปทางญี่ปุ่น สหรัฐและกลับสู่ยุโรปตะวันตก
บาคูนินกับมาร์กซ์ถกกันอย่างดุเดือดที่การประชุมสภากรรมกรสากลในปี 1872 มาร์กซ์เรียกร้องให้ยึดอำนาจรัฐเพื่อสร้างสังคมนิยม
บาคูนินและฝ่ายอนาธิปไตยเห็นว่าสหพันธ์แรงงานและคอมมูนในชนบทที่ปกครองตนเองต่างหากคือทางออกที่จะสร้างสังคมนิยมได้
งานเขียนสำคัญของบาคูนิน คือ Statism and Anarchy และ God and the State ซึ่งเขียนในช่วง 6 ปีสุดท้ายของชีวิต
บาคูนินไม่เห็นด้วยกับแนวทางเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพในการสร้างรัฐสังคมนิยมและพยากรณ์ว่าระบอบการปกครองภายใต้แนวคิดลัทธิมาร์กซ์ จะเกิดระบอบเผด็จการแบบพรรคเดียวที่ควบคุมชนชั้นกรรมาชีพ มิใช่ปกครองโดยชนชั้นกรรมาชีพ
งานเขียนส่วนใหญ่ของบาคูนินสะท้อนความกังวลอย่างยิ่งต่อรัฐและองค์กรการเมืองซึ่งเป็นตัวสำคัญในการกดขี่ขูดรีดผู้คนส่วนใหญ่
ข้อเสนอของเขาคือ การทำลายรัฐและสถาบันทางเศรษฐกิจ, สังคม และศาสนาที่มีลักษณะบังคับบัญชาเป็นชั้นๆ และแทนที่ด้วยระบบคอมมูนที่เป็นแบบสหพันธ์ (กระจายอำนาจ) จัดตั้งในแบบจากล่างขึ้นบน
พร้อมกันกับการรวมกลุ่มกันโดยสมัครใจของผู้ผลิตแต่ละอย่างทางเศรษฐกิจ เริ่มจากระดับล่างและขึ้นไปถึงระดับสากล
แกนความคิดของบาคูนิน คือ ชุมชนที่เป็นอิสระที่สมาชิกพัฒนาความสามารถของตนและคณะได้อย่างเสรีโดยไม่มีใครครอบงำใครได้
การมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนเป็นความใส่ใจส่วนตัวของเขา และภาพบทบาทของชุมชนที่เขาอยากเห็นในการสร้างผู้คนที่รักเสรีภาพ และมีความสุข อยู่ใกล้ชิดกัน เป็นความรู้สึกที่อบอุ่นซึ่งจะทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดียิ่งในแต่ละครอบครัว
บาคูนินก้าวออกจากอภิปรัชญาและทฤษฎีทั้งหลาย หันไปสู่การลงมือสร้างชุมชนของผู้คนที่รักความเป็นอิสระและมีเสรี
เขาเคยไปทดลองทำเรื่องนี้ที่เชโกสโลวะเกียในช่วงทศวรรษ 1860 เขาเห็นว่าเสรีภาพจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีชุมชนเสรี เหมือนที่บอกว่ามนุษยชาติจะมีเสรีก็ต่อเมื่อทุกคนมีเสรี ความเท่าเทียมกันก็อยู่บนสมมุติฐานเช่นนั้น ความเท่าเทียมกันในสิทธิและบทบาททางสังคมของสตรีก็เป็นเช่นนั้น…
บาคูนินมองว่าการปฏิวัติระดับสากลโดยมวลชนที่ตื่นแล้ว ก็คือมีองค์กรทางสังคมที่มีคณะกรรมการตัวแทนและเทศบาลที่เป็นอิสระ ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นสหพันธ์ขนาดใหญ่ที่ไม่มีโครงสร้างหรือกลไกรัฐใดหรืออำนาจใดๆ ทางสังคมมาคอยควบคุมอยู่
ในชุมชนที่ปลดปล่อยและมีเสรีเช่นนี้ ผู้ใหญ่ทุกคนมีเสรีภาพ ใช้ชีวิตด้วยจิตสำนึกและเหตุผลของตนเองตามเจตนารมณ์ของตนเอง รับผิดชอบต่อตนเองเป็นสิ่งสูงสุด และถัดไปก็คือชุมชนของตนเอง
บาคูนินไม่เชื่อว่าชนชั้นนายทุนหรือรัฐที่ปฏิวัติจะปลดปล่อยชุมชนได้อย่างเสรีอย่างที่เขาอธิบายไว้ ภาพการปฏิวัติสังคมของเขาจึงมิใช่การยึดอำนาจ แต่คือการสร้างสภาพที่จะไม่มีอำนาจใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่อำนาจเก่าได้
บาคูนินมิใช่นักคิดที่เป็นระบบและไม่ได้สร้างทฤษฎีระบบสังคมแบบขนาดใหญ่
ในเมื่อรัฐกับศาสนาขวางทางปลดปล่อยเสรีภาพของชุมชนเนื่องจากรัฐและศาสนาเอาสติปัญญาและความยุติธรรมตามแบบของเขามาครอบงำชุมชนไว้ โดยโฆษณาว่าคนส่วนใหญ่ปกครองตนเองไม่ได้
บาคูนินจึงแย้งว่า “ที่จริงการกดขี่ขูดรีดกับการปกครองนั้นก็เป็นเรื่องเดียวกัน รัฐและศาสนาก็คือระบบที่ถูกบริหารจัดการมาเพื่อครอบงำและกดขี่ขูดรีดที่ชนชั้นปกครองอภิสิทธิ์ชนนั่นเองสร้างขึ้นมา โดยอาศัยการรวมศูนย์อำนาจของทั้งระบบราชการและกองทัพนั่นเอง”
เมื่อสถาบันที่ครองอำนาจมีพลังมาก แน่นอน พวกเขาจึงแข็งแกร่งกว่าปัจเจกชน แต่ก็ไม่อาจแก้ไขอะไรภายในได้มากนัก ทั้งนี้ก็เนื่องจากความปรารถนาของพวกเขาและแรงยั่วเย้าต่างๆ ที่นำพวกเขาเข้าสู่อำนาจและยังคงร้อยรัดไว้อย่างเหนียวแน่น
ด้วยเหตุดังกล่าว บาคูนินจึงเห็นว่าพวกอนาธิปไตยนี่แหละที่เป็นศัตรูของทุกๆ อำนาจ และรู้ว่าอำนาจทำให้คนที่อยู่ในอำนาจต้องอยู่ต่อไป ต้องมีอำนาจมากและยาวนานพอดีกับที่อีกพวกหนึ่งที่ถูกทำให้ต้องยอมรับการอยู่กับสภาพดังกล่าว
อีกเรื่องหนึ่งที่บาคูนินขัดแย้งกับมาร์กซ์ก็คือ การบริหารงานของกรรมกร (worker governance) และการปฏิวัติสังคม
บาคูนินเห็นว่า แม้จะใช้นักปฏิวัติที่ดีที่สุดไปคุมอำนาจของรัสเซียก็จะแย่กว่าพระเจ้าซาร์องค์ไหนๆ
เขาเห็นว่าเมื่อคนงานสังคมนิยมเข้าไปอยู่ในอำนาจ คนเหล่านั้นก็กลายเป็นอดีตคนงานที่จะบริหารตามความคิดของตนเอง มิใช่เป็นตัวแทนของกรรมกรทั้งมวลอีกต่อไป
บาคูนินจึงไม่เชื่อเผด็จการในระยะผ่านที่จะไปรับใช้ใครได้นอกจากทำให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจนานๆ
เขาเห็นว่า “เสรีภาพที่ไม่มีสังคมนิยมก็คือสิทธิพิเศษ และความอยุติธรรม และสังคมนิยมที่ปราศจากเสรีภาพก็คือระบอบทาสและความโหดร้ายทารุณนั่นเอง”
เขาจึงขัดแย้งกับมาร์กซ์ที่ว่า “รัฐจะสิ้นสลายไปเมื่อกรรมกรเข้าคุมอำนาจรัฐและกรรมกรมีชัยชนะ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขการผลิตจะทำลายรัฐเองในที่สุด”
สำหรับบาคูนิน เขาเห็นว่า “การลงมือแบบเป็นไปเองของกรรมกรสำคัญมากกว่าองค์กรของพรรคกรรมกรที่มาร์กซ์เสนอ (คือพรรคชนชั้นกรรมาชีพ)”
บาคูนินเชื่อว่าวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญอาจเป็นประโยชน์ในการให้ความรู้แก่ชุมชน แต่เขาไม่เชื่อว่ารัฐบาลของผู้เชี่ยวชาญหรือให้คนส่วนน้อยที่ได้สิทธิพิเศษจะปกครองความโง่เขลาได้
บาคูนินหมายถึงอำนาจที่มอบให้คนทำรองเท้าบู๊ต และคนเก่งสำหรับความเชี่ยวชาญของพวกเขา ปล่อยให้ฟังเรื่องความเชี่ยวชาญนั้นอย่างเต็มที่ แต่จะไม่ยอมให้คนทำรองเท้าบู๊ตและคนเก่งนั้นใช้อำนาจเหนือพวกเขาได้อย่างเด็ดขาด
บาคูนินเชื่อว่าอำนาจและการบังคับบัญชานั้นควรเป็นการแลกเปลี่ยนที่เต็มใจและต่อเนื่องไป
เขาเชื่อว่าความเฉลียวฉลาดนั้นมีอยู่ข้างในแล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องอาศัยสิทธิพิเศษอื่นใดอีก
ในช่วงปลายชีวิตที่อิตาลีเริ่มในปี 1864 บาคูนินพยายามรวบรวมเครือข่ายสากลเพื่อสร้างสังคมปฏิวัติทางลับ ซึ่งดูไม่ตรงกับที่เขาเขียนมาตลอดว่าเขาไม่เชื่อถือพวกชนชั้นนำที่เป็นนักปฏิวัติ
สุดท้าย คนกลุ่มนี้ก็คือ กลุ่มที่ทำงานด้านเอกสาร ไม่ได้ลงมือปฏิบัติใดๆ อย่างที่บาคูนินเสนอมาตลอด เป็นการทำงานโดยไม่มีการบังคับบัญชาแนวดิ่ง เป็นการทำงานที่ตรงข้ามกับการเมืองแบบรัฐสภา
งานลับแบบนี้ไม่เปิดเผยที่อยู่ และนโยบายที่เสนอออกไป ก็ไม่ได้รับผิดชอบต่อใคร
Peter Marshall นักประวัติศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า “งานแบบนี้มีศักยภาพที่จะเป็นเผด็จการมากเสียยิ่งกว่าพรรคของมาร์กซ์ และยากที่จะคาดได้ว่า ถ้าจะเปิดเผยออกมาแล้ว จะเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง”
Paul Avrich นักประวัติศาสตร์อีกคน เห็นว่า บาคูนินเป็นขุนนางที่ปรารถนาจะเห็นชาวนาปฏิวัติ, เป็นเสรีชนที่อยากครอบงำคนอื่น และเป็นปัญญาชนที่ต่อต้านปัญญาชนกลุ่มใหญ่ที่สนับสนุนเสรีภาพและมีพลัง และขณะที่เขาเองก็เรียกร้องความเชื่อฟังจากผู้ติดตาม น่าสนใจว่าในที่สุดแล้ว ปฏิบัติการของเขาหลายอย่างก็นำเขาไปสู่ขบวนอำนาจนิยมเช่นกัน แม้ว่าข้อเขียนของเขาต่อต้านอำนาจนิยม
ขณะที่ Noam Chomsky เห็นว่า การพยากรณ์ของบาคูนิน ที่ว่า ระบอบมาร์กซิสต์จะเป็นเผด็จการนั้นเป็นการพยากรณ์น้อยชิ้นในวงการสังคมศาสตร์ที่ได้เกิดขึ้นจริง
นักทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ชาวเยอรมัน เบิร์นสไตน์ (E. Bernstein) นักลัทธิมาร์กซ์คนแรกที่ถูกประณามให้เป็นนักลัทธิแก้ (Revisionist) คนแรกก็เนื่องจากในปี 1899 หรือ 4 ปี หลังเองเกลส์จากไป เขาได้เขียนงานสำคัญชื่อ The Requirements of Socialism เสนอว่า ที่มาร์กซ์พยากรณ์ว่าการล่มสลายของทุนนิยมจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน ขัดแย้งกับหลักฐานที่ชี้ให้เห็นการผลิตแบบทุนนิยมมีการกระจายทุนออกไป การเป็นเจ้าของที่ดินก็กระจายตัวออก และที่ว่าชนชั้นกลางลดลง แต่ผู้ประกอบการหาคนเข้ามาเสริมจากชนชั้นกรรมาชีพ มีมาตรการประนีประนอม เช่น ช.ม.ทำงาน และค่าบำนาญคนสูงวัยก็จ่ายให้ จากนั้น Bernstein จึงเรียกร้องให้คนงานสนใจการเมืองให้มากขึ้น
ดูที่ข้อมูลในเยอรมนี ชนชั้นกลางและธุรกิจขนาดกลางก็ขยายตัวขึ้น ทุนนิยมจะปรับตัวต่อไป มิใช่แข็งตัว เบิร์นสไตน์เตือนเรื่องการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพที่ใช้ความรุนแรง เช่นที่ฝรั่งเศส ในปี 1848 ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ผลประโยชน์ของกรรมกรถูกลดทอนลง
เขาจึงปฏิเสธการปฏิวัติ และยืนยันว่า ยุทธวิธีที่ดีที่สุดคือ การสร้างขบวนการทางสังคมที่มั่นคงอย่างอดทนเพื่อการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่อง (continuous nonviolent incremental change)
ในงานเขียน The Prerequisites of Socialism (1899) Bernstein เสนอว่า สังคมนิยมจะสัมฤทธิผลด้วยการปฏิรูปและการแก้ไขปรับปรุงระบบทุนนิยมหลายๆ ครั้ง
เขาปฏิเสธลักษณะวิภาษวิธีและการปฏิวัติของลัทธิมาร์กซ์ เขาหวังที่จะเห็นสังคมนิยมด้วยสันติวิธีและผ่านการแก้ไขกฎหมายหลายๆ ครั้ง ลัทธิมาร์กซ์ยังต้องก้าวต่อไปและสรุปบทเรียนให้มากขึ้น และสุดท้าย สังคมนิยมก็คือ การปรับปรุงระบบทุนนิยมให้ดีขึ้นนั่นเอง
เบิร์นสไตน์ยังเห็นว่า มีหนทางหนึ่งคือ ทุนนิยมก้าวไปข้างหน้า ไปเป็น social democracy เพื่อให้กรรมกรได้รับสิทธิเพิ่มขึ้น
แต่ในทัศนะของ Rosa Luxemburg เป้าหมายของการปฏิวัติทางสังคมก็คือ Social democracy ที่จะต้องมีการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อล้มล้างระบบทุนนิยมไปสร้างสังคมนิยมเท่านั้น แต่พวกลัทธิแก้เช่นเบิร์นสไตน์มองเห็นแต่ทุนนิยมที่มีการแก้ไขปรับปรุง จึงเพ้อฝัน และขาดพลังที่จะพยากรณ์
“เนื่องจากพวกเขามองไม่เห็นสภาวะอนาธิปไตยของทุนนิยม และเห็นแต่ว่าทุนนิยมปรับตัวได้ และจะก่อผลที่ดีได้ ซึ่งแปลว่าทุนนิยมจะไม่ล้มเหลวจนล่มสลายไป”
ลักเซมเบิร์กจึงเห็นว่าพวกลัทธิปฏิรูปละทิ้งอนาคตของสังคมนิยม และหันไปหมกมุ่นแต่รัฐสภา
สําหรับ กีออร์กี้ เพลคานอฟ เกิดในตระกูลขุนนางเช่นเดียวกับบาคูนิน นักปฏิวัติลัทธิมาร์กซ์ผู้นี้มีอิทธิพลสูงมากในขบวนการนักปฏิวัติ รวมทั้งต่อเลนิน เขาเข้าร่วมขบวนการต่อสู้ของรัสเซียอย่างแข็งขัน หลังจากถูกจับ 2 ครั้งก็หลบหนีไปสวิสในปี 1880 ด้วยวัย 24 ปี และเริ่มเป็นนักลัทธิมาร์กซ์ ได้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ปลดปล่อยแรงงาน” และทำวารสาร “Iskra” (ประกายไฟ) ร่วมกับเลนิน
แม้เพลคานอฟจะได้ร่วมต่อสู้และสนับสนุนการปฏิวัติในรัสเซียในปี 1903, 1905 และการปฏิวัติกุมภาพันธ์ 1917 เขาก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด Democratic Centralism ของเลนิน และคัดค้านการสร้างพรรคบอลเชวิกและการปฏิวัติรัสเซียในเดือนตุลาคม 1917 โดยเห็นว่า “ไม่ถูกหลักการ” และ “ขัดแย้งกับกฎประวัติศาสตร์”
น่าเสียดายที่เพลคานอฟเสียชีวิตในปีต่อมา แต่ถึงกระนั้น เขาก็ได้รับความนับถืออย่างสูงจากพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต
เพลคานอฟเสนองานและแนวคิดสำคัญในช่วงทศวรรษ 1880 เช่น “ไม่มีทฤษฎีการปฏิวัติ ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวแบบปฏิวัติ…” “ทุนนิยมได้เกิดขึ้นแล้วในอุตสาหกรรมสิ่งทอและภาคเกษตรของรัสเซีย ที่จะนำไปการสถาปนาสังคมนิยมของรัสเซียในอนาคต”
งานสำคัญของเขาในปี 1895 “Development of the Monist View of History” ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากทั้งเองเกลส์และเลนินว่า เป็นงานทฤษฎีวัตถุนิยมที่สำคัญยิ่งที่จะช่วยยกระดับความรู้ของนักปฏิวัติรัสเซียในการเข้าใจประวัติศาสตร์การพัฒนาของสังคมและปัญหาของระบทุนนิยมในอนาคต
น่าเสียดายที่เพลคานอฟและเลนินจากโลกนี้เร็วเกินไป คือในปี 1918 และ 1924 ตามลำดับ
บทสรุปขั้นต้น
: ลัทธิมาร์กซ์กับผลสะเทือนต่อแผ่นดินแม่
ข้อที่หนึ่ง ยุโรปตะวันตกให้กำเนิดแก่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยังไม่พอ ยังคลอดระบบทุนนิยมขึ้นมาที่ประเทศเดียวกันคืออังกฤษ
แต่แล้วหนุ่มเยอรมันวัย 30 ปี (1818-1848) ก็เขียนคำแถลงชิ้นสำคัญเปิดเผยพัฒนาการของสังคมมนุษย์จากยุคบุพกาลจนถึงยุคทุนนิยมเกิดขึ้นและกำลังเบ่งบานในอังกฤษและทั่วยุโรปตะวันตก กลายเป็นเอกสารสำคัญที่จะก่อผลสะเทือนมากขึ้นๆ เป็นลำดับ
ข้อที่สอง ผลสะเทือนของแนวคิดมาร์กซ์-เองเกลส์ 2 หนุ่มชาวเยอรมัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022