เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ต่อให้อยากกลับไปเปิดโรงงานในอเมริกา แต่จะหาใครมาทำงาน?

14.05.2025

บทความพิเศษ | พงศธร ไกรกาญจน์

 

ต่อให้อยากกลับไปเปิดโรงงานในอเมริกา

แต่จะหาใครมาทำงาน?

 

โลกของเราช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ล้มกระดานกติกาของโลกที่มีมาเกือบแปดทศวรรษในการเปิดเสรีการค้าและบูรณาการทางเศรษฐกิจ นั่นคือประกาศมาตรการกีดกันการค้าหรือ “วันปลดปล่อย” โดยสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 ที่ผ่านมา

แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการกีดกันทางการค้าโดยสหรัฐกับทั้งโลกก็ได้ มีการเพิ่มภาษีศุลกากรกับประเทศจีนขึ้นไปถึงระดับที่เรียกได้ว่าเป็น “การคว่ำบาตรทางการค้า”

ถามว่าการเปลี่ยนแปลงโลกจากหน้ามือเป็นหลังมือในชั่วข้ามคืน มีเหตุผลอะไรที่หนักแน่นมารองรับหรือเปล่า

 

ถ้าฟังจากที่แกนนำรัฐบาลสหรัฐหลายๆ ท่านออกมาพูด ก็สรุปเหตุผลเบื้องหลังได้ประมาณสี่ข้อด้วยกัน ได้แก่

1) สหรัฐต้องการที่จะลดการขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ

2) สหรัฐต้องการที่จะใช้มาตรการภาษีศุลกากรกดดันให้ประเทศต่างๆ ต้องมาเจรจาใหม่เพื่อลดการกีดกันการค้าของประเทศคู่ค้าทั้งที่เป็นด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี

3) สหรัฐต้องการที่จะเก็บรายได้จากภาษีศุลกากรมาแทนที่การเก็บภาษีเงินได้

และ 4) สหรัฐต้องการดึงฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับประเทศ ดังที่ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวในสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 2 เมษายน ว่า “งานและโรงงานจะกลับมายังประเทศของเราอย่างพุ่งทะยาน และเราก็ได้เห็นมันเกิดขึ้นแล้ว”

เรื่องที่น่าแปลกสำหรับเหตุผลเบื้องหลังนโยบายเหล่านี้คือความขัดแย้งในตัวเองหรือหักล้างกันเองของเหตุผลต่างๆ เช่น ถ้าสหรัฐอยากจะลดการขาดดุลการค้าโดยลดการนำเข้าเพิ่มการส่งออกก็จะหมายความว่าการเก็บรายได้จากภาษีศุลกากรก็จะน้อยลงไปด้วย ทำให้เก็บรายได้แทนที่ภาษีเงินได้ไม่ได้ หรือถ้าเก็บรายได้จากสินค้านำเข้าได้มากก็แก้ไขการขาดดุลการค้าไม่ได้

หรือถ้าสหรัฐแค่เพิ่มภาษีศุลกากรครั้งนี้เพื่อกดดันให้ประเทศอื่นลดภาษีศุลกากรของตัวเอง (แล้วสหรัฐค่อยลดตาม) ก็หมายความว่าสหรัฐจะไม่ได้ใช้มาตรการนี้สร้างกำแพงภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

ในทางกลับกัน ถ้าสหรัฐจะสร้างกำแพงภาษีปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศไว้ยาวๆ จะเอาอะไรไปเจรจาให้คนอื่นลดภาษี

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในบทความนี้จะขอเจาะจงไปที่เหตุผลข้อเดียว ที่น่าจะสำคัญที่สุดสำหรับคนที่เลือกรัฐบาลชุดปัจจุบันของสหรัฐก็คือการสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้เกิดขึ้นในอเมริกาอีกครั้ง หลังจากที่การค้าเสรีได้เปลี่ยนเศรษฐกิจของสหรัฐให้เป็นเศรษฐกิจภาคบริการเป็นหลัก และย้ายฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมออกไปยังประเทศอื่นๆ

 

ในโลกที่ห่วงโซ่อุปทานมีการผูกโยงกันอย่างสลับซับซ้อน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีวรรณกรรมและบทวิเคราะห์มากมายที่พูดถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการค้าเสรีดังกล่าวระหว่างเมืองชายฝั่งทะเลของสหรัฐที่เป็นศูนย์กลางภาคการเงินและบริการที่มีความมั่งคั่ง กับเศรษฐกิจของแผ่นดินใจกลางประเทศที่เสื่อมโทรมลงไปตามภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง และมีคนใจกลางประเทศมากมายที่โกรธแค้นกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ถึงได้หันมาเลือกรัฐบาลชุดปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่น่าฉงนอีกเช่นกันว่าสหรัฐมีความจำเป็นต้องรื้อระเบียบโลกอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเลยเหรอ เพื่อที่จะดึงภาคอุตสาหกรรมกลับไปยังประเทศของตัวเอง

ทั้งๆ ที่ตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะเข้ารับตำแหน่ง ภาคอุตสาหกรรมของอเมริกาที่กำลังอยู่ในช่วงที่เติบโตอยู่แล้วด้วยกฎหมาย CHIPS and Science Act ที่เน้นการลงทุนเพื่อดึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์กลับมายังอเมริกา และกฎหมาย Inflation Reduction Act ซึ่งเป็นชุดมาตรการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา

โดยตั้งแต่ในปี 2022 ก็ได้มีการประกาศการลงทุนในโครงการอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ 50 โครงการ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2024 ดัชนีการลงทุนด้านการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับในปี 2019

ถึงกระนั้น หนึ่งในสาเหตุที่ประชาชนอเมริกาอาจจะไม่ได้สัมผัสได้ถึงประโยชน์จากโครงการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมากขนาดนี้ ก็เพราะว่าโครงการต่างๆ มีความคืบหน้าที่ล่าช้ากว่ากำหนดเวลาอย่างมาก

และหนึ่งในสาเหตุที่โครงการต่างๆ ล่าช้าก็เพราะปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสหรัฐเอง

 

ในช่วงกลางปี 2023 บริษัท TSMC ก็ต้องเลื่อนกำหนดการเริ่มการผลิตในสหรัฐออกไปเนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ในปี 2024 มีตำแหน่งงานภาคการผลิต 516,000 ตำแหน่งที่ไม่สามารถหาแรงงานได้ และมีการคาดการณ์โดย Manufacturing Institute (MI) ว่าในปี 2030 จะมีตำแหน่งงานภาคอุตสาหกรรมที่เปิดว่างไม่สามารถหาแรงงานได้ 2.1 ล้านตำแหน่ง

และมีการคาดการณ์จาก Deloitte ว่าในปี 2033 จะมีตำแหน่งงานภาคอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถหาแรงงานได้ 3.8 ล้านตำแหน่ง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาก็มีความพยายามจากรัฐบาลกลางสหรัฐยุคก่อนรัฐบาลปัจจุบันในการที่จะยกระดับ upskill หรือ reskill แรงงานของสหรัฐเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น โดยใน CHIPS and Science Act ก็ได้จัดสรรงบประมาณ 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในการวิจัยและฝึกอบรมด้านเซมิคอนดัคเตอร์

และกระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีแผนที่จะให้บริษัทเซมิคอนดัคเตอร์ทำงานร่วมกับโรงเรียนมัธยมปลายและวิทยาลัยชุมชนในการสร้างช่างเทคนิค 100,000 ตำแหน่งเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์

แต่โครงการดังกล่าวก็ประสบอุปสรรคมากมาย เช่น โครงการของบริษัท GlobalFoundries ที่ร่วมมือกับ Hudson Valley Community College (HVCC) ซึ่งแทบรับประกันว่าถ้าได้เรียนหลักสูตรนี้แล้วจะได้งานอย่างแน่นอนและค่าเรียนจะคืนทุนได้เร็วมากๆ แต่หลักสูตรดังกล่าวก็หาคนมาเรียนแทบไม่ได้ และในบรรดานักเรียนก็มีคนที่เรียนไม่จบถึงครึ่งหนึ่ง

และสาเหตุหนึ่งที่หลักสูตรดังกล่าวหาคนเรียนจบได้ยากก็เพราะหานักเรียนที่มีทักษะคณิตศาสตร์ผ่านเกณฑ์ได้ยาก โดยมีนักเรียนเกรด 8 เพียง 9% ในเมืองออลบานีเท่านั้นที่คะแนนคณิตศาสตร์ผ่านมาตรฐาน ซึ่งนี่เป็นฐานประชากรของกลุ่มคนที่มาเรียนที่ HVCC

 

เมื่ออเมริกาไม่สามารถที่จะ reskill แรงงานที่มีอยู่ได้ทันท่วงที หนึ่งในแนวทางที่จะหาแรงงานมาเติมเต็มในส่วนที่ขาดแคลนก็คือการหาแรงงานจากกลุ่มประชากรที่ในอดีตอาจจะไม่ได้อยู่ในภาคการผลิตมากนักผ่านนโยบายส่งเสริมความหลากหลาย ความครอบคลุม และความเท่าเทียม (Diversity, Equity, and Inclusion หรือ DEI)

จากรายงานในปี 2023 ของ Manufacturing Institute ซึ่งเป็นสถาบันภายใต้สมาคมอุตสาหกรรมการผลิตแห่งชาติของสหรัฐ (National Manufacturing Association) นโยบาย DEI มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และผู้อำนวยการสถาบันก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่าหากภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐสามารถเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในกำลังแรงงานให้เป็น 35% ภาคอุตสาหกรรมจะสามารถเติมเต็มทุกตำแหน่งงานว่างที่ยังหาคนทำงานไม่ได้ในทันที

หากสหรัฐไม่สามารถหาแรงงานภายในประเทศได้ก็ต้องพึ่งพาการนำเข้าแรงงานที่มีทักษะจากนอกประเทศ

จากการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางสหรัฐ สาขาแคนซัส พบว่ามีการแปรผกผันกันระหว่างอัตราการจ้างงานผู้อพยพและอัตราตำแหน่งงานเปิดว่าง หมายความว่าผู้อพยพมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสหรัฐ นอกจากนี้ ถ้าดูเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ข้อมูลจาก Brookings Institutions แสดงให้เห็นว่ากว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวมีถิ่นเกิดจากนอกสหรัฐ

จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้ไล่เรียงมานี้ ว่า

1) ภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐอยู่ในช่วงเติบโตขึ้นอย่างมากอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนรัฐบาลปัจจุบัน

2) ปัญหาหลักที่ภาคอุตสาหกรรมประสบคือการขาดแคลนแรงงาน

3) สหรัฐไม่สามารถ reskill แรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากความอ่อนแอของพื้นฐานการศึกษา

4) ทางออกหนึ่งที่ภาคอุตสาหกรรมเสนอคือการส่งเสริมความหลากหลายของแรงงาน

5) ภาคอุตสาหกรรมต้องอาศัยแรงงานจากผู้อพยพมาช่วยปิดช่องว่างการขาดแคลนแรงงาน

จากทั้งห้าข้อนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ต่อให้สหรัฐตั้งกำแพงภาษีแล้ว มีนักลงทุนอยากเข้ามาตั้งโรงงานในสหรัฐมากขึ้น จะหาใครมาทำงานในโรงงาน?

ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรจะแก้ไขได้อย่างไรหากรัฐบาลสหรัฐในปัจจุบันยังทำนโยบายอื่นๆ ไปพร้อมกัน (ที่ในบทความนี้ยังไม่มีโอกาสได้ลงลึก) เช่น การยกเลิก DEI การมีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ ไปจนถึงความพยายามยุบกระทรวงศึกษา



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

พระพิมพ์กลีบบัว เนื้อดินเผา วัตถุมงคลเก่าแก่ของวัดลิงขบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เสก
ร้อนสุดขั้ว ‘สะท้านโลก’
อสังหาฯ ปรับแผนเปลี่ยนกลยุทธตลาด
‘โจบ’ บนเส้นทางเดียวกับ ‘จู๊ด’ แต่อยากยิ่งใหญ่ในแบบของตัวเอง
ชัยชนะของ AIS-GULF-JAS คนไทยเฮพร้อมดูบอลไทยลีกฟรี!
ยำรวมมิตร (กินกับข้าวต้ม)
เจาะลึกสถานการณ์ค่าย ‘NETA’ กับอนาคตตลาดรถ EV เมืองไทย
ดาวกับดวงวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2568
จดหมาย
กลาก สังคัง ฮ่องกงฟุต มะเขือขื่นตอบโจทย์ได้
เดินตามดาว | ศรินทิรา
ขอแสดงความนับถือ