เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

คำประกาศบุรีรัมย์ ตัดช่องน้อยแต่พอกระจายอำนาจ

14.05.2025

CityZense | ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

 

คำประกาศบุรีรัมย์

ตัดช่องน้อยแต่พอกระจายอำนาจ

 

ต้นเดือนเมษายน คุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปเยือนถึงถิ่นบุรีรัมย์ ที่อาจเรียกได้ว่า เมืองหลวงของพรรคภูมิใจไทย ได้แสดงออกให้เห็นทางการเมืองอยู่หลายประการ

แต่ที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษก็คือ ซีนของคุณเนวิน ชิดชอบ ที่ประกาศเรื่องการกระจายอำนาจอย่างขึงขัง

ความน่าใส่ใจเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อมารู้ว่า พรรคภูมิใจไทยกำลังผลักดันกฎหมายที่ชื่อว่า พระราชบัญญัติบ้านเกิดเมืองนอน

หลังจากที่พรรคไทยรักไทยถูกรัฐประหาร และนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 ถูกตัดสินให้หมดสิทธิ์ทางการเมืองจนต้องวางมือ

คุณเนวินได้แสดงบทบาทอย่างน่าสนใจด้วยการ “กลับบ้าน” ไปทำบุรีรัมย์บ้านเกิดของเขาให้ดีขึ้น ด้วยโมเดลสโมสรฟุตบอลที่กลายมาเป็นทีมที่รู้จักกันดีในทุกวันนี้คือ บุรีรัมย์ยูไนเต็ด

จากทีมท้องถิ่นที่ถูกเคยล้อเลียน กลายเป็นทีมสโมสรอันดับหนึ่งบนหัวตารางและคว้ามาหลายแชมป์ การสร้างสนามเหย้าที่กลายเป็นต้นแบบ ก่อนที่จะขยับไปทำสนามรถแข่งโมโตจีพี การจัดแข่งวิ่งมาราธอน

การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของเขาส่งผลให้บุรีรัมย์กลายเป็น Destination ของประเทศไปอย่างรวดเร็ว

คนในยุคก่อนรู้ดีว่า คุณบรรหาร ศิลปอาชา สร้างสุพรรณบุรีให้เกรียงไกรเพียงใด คนในยุคนี้ก็คงจะสวมภาพนี้ให้กับคุณเนวินเช่นกัน

ในยุคนั้น มีคนเรียกสุพรรณบุรีแบบหยิกแกมหยอกว่า “บรรหารบุรี” เพียงแต่ว่ายุคนี้น่าจะยังไม่มีใครเรียกว่า “เนวินบุรี”

กระนั้น ภาพลักษณ์ของคุณเนวินได้ถูกแทนที่ด้วยภาพของ อดีตนักการเมืองผู้ตั้งใจทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย

อาจไปไกลถึงกับว่าไม่ใช่นักการเมืองน้ำเน่าแบบเดิมๆ แล้ว

 

ในทางการเมือง คุณเนวินกลายเป็น “ครูใหญ่” ของพรรคภูมิใจไทย ถ้าตามข่าวมาบ้างจะรู้ว่า พรรคภูมิใจไทยนั้นมีจุดยืนอยู่ที่การไม่เอาการกระจายอำนาจ ยังไม่นับว่า ส่งเสริมกลไกของส่วนภูมิภาคอย่างกำนันและผู้ใหญ่บ้านอีกด้วย

ในรัฐบาลนี้ ภูมิใจไทยได้กระทรวงมหาดไทยมาอยู่ในมือ จึงสามารถใช้กลไกอำนาจรัฐอย่างเต็มสูบ การแต่งตั้งและให้คุณให้โทษผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ภูมิใจไทยทำได้อย่างเต็มที่ ไม่นับว่ากระทรวงมหาดไทยควบคุมรัฐวิสาหกิจในสังกัดอย่าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การประปาส่วนภูมิภาค ฯลฯ

ปาฐกถาของคุณเนวินในวันนั้น ผมขอเรียกมันว่า “คำประกาศบุรีรัมย์” เกิดขึ้นภายใต้พลังของกระทรวงมหาดไทย ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในจังหวัดแต่เป็นของส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น

แต่ไม่แน่ใจนักว่า ใครที่ไปร่วมบ้าง ระหว่างที่คุณเนวินพูดได้อ้างถึงนายก อบจ.หลายคน อย่างเป็นกันเอง เช่น “นายกก๊อง” (เชียงใหม่) “นายกหน่อย” (นครราชสีมา)

ถ้อยคำของเขาได้แสดงความคับแค้นในใจจากคนต่างจังหวัดว่า การกระจายอำนาจที่เป็นอยู่ยังมีปัญหาอยู่มากไม่ว่าจะเป็นการกระจายทรัพยากรที่มาไม่ถึงซักที หรือตัวเลขงบประมาณที่ท้องถิ่นได้ ไม่ใช่เลขเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่เป็นงบประมาณที่หน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคใช้งบประมาณในสัดส่วนของท้องถิ่น

จนทำให้ อบจ.กลายเป็นแค่ “แคชเชียร์” ที่มีหน้าที่จัดเงินเข้าเงินออกมากกว่าจะเป็นคนมีอำนาจตัดสินใจใช้งบประมาณเอง งบประมาณที่เหลือจึงมีน้อยมาก ซึ่งมันกระทบกับผู้บริหารท้องถิ่นด้วยดังคำกล่าวว่า “ถ้าไม่มีงบประมาณ หาเสียงแทบตาย ก็ถูกหาว่า มึงหลอกกู”

เมื่อเงินจำกัด การดูแลพื้นที่ก็มีความยากลำบากด้วย เขาเทียบว่า คนรุ่นเขาอยากมีบ้านที่เชียงราย เชียงใหม่ เพราะเหมือนสวิตเซอร์แลนด์ เพราะมันน่าอยู่ แต่ตอนนี้กลายเป็นเมืองที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 ติดอันดับโลก

เช่นเดียวกับปราจีนบุรี นครนายก เพชรบูรณ์ ที่กวาดรายได้จากนักท่องเที่ยวที่โหยหาธรรมชาติในยุคนี้ จะอยู่ได้อีกกี่ปี ถ้าไม่มีการจัดการบริหารดีๆ บนฐานงบประมาณที่มากพอ

เขาเห็นว่า โมเดิร์นเทรดและบริษัทต่างๆ มาเอากำไรจากพื้นที่ บริษัทต่างๆ ล้วนจดทะเบียนอยู่ที่กรุงเทพฯ เงินจึงเข้าไปส่วนกลาง ซึ่งอยู่ที่สำนักงบประมาณและสภาพัฒน์ ว่าจะส่งไปให้ต่างจังหวัดเท่าไหร่

เขากระทุ้งถามว่า “แล้วจังหวัดแต่ละจังหวัดจะมีชีวิตอยู่ยังไงครับ”

เขาเสนอว่ารายได้ท้องถิ่นควรมาจากภาษีเช่นเดียวกับการสามารถบริจาคเงินให้พรรคต่างๆ ได้ตอนยื่นภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ควรกำหนดว่าสามารถส่งไปให้ท้องถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของเขา

คุณเนวินอ้างถึงประสบการณ์ที่เห็นลูกหลานกลับมาจากกรุงเทพฯ มาทอดผ้าป่า สร้างวัด โรงเรียนและเมรุไว้เผาตัวเอง

การส่งเงินผ่านช่องทางกฎหมายเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรจะเกิดขึ้น

เช่นเดียวกับการผลักดันให้นิติบุคลเลือกส่งภาษีให้ท้องถิ่น หากห้างร้านบริษัทไหนไม่ยอม เขาเสนอว่า ควรให้มวลชนในจังหวัดนั้นๆ กดดันรณรงค์ไม่ซื้อสินค้า

 

ส่วนที่งัดกับโครงสร้างอำนาจที่สุดคงไม่พ้นเรื่องการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่นที่มีวาระที่จำกัด เขาจึงใส่ไม่ยั้งว่า “คุณกลัวว่าผู้บริหารท้องถิ่นจะแข็งแรงและเติบโต คุณก็ไปออกกฎว่า นายกดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ” “ทำไมคุณไม่คืนอำนาจให้เขา” “ถ้ามันดี ให้มันตายคาตำแหน่ง”

แต่ก็ไม่มากไปกว่านั้น

คงไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการยกบุรีรัมย์เป็นตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงจากการเสียสละและความทุ่มเทของเขา

เขามองว่า “resource are limited, creative is unlimited” ได้เนรมิตบ้านเกิดเมืองนอนของเขาขึ้นด้วยการสร้างสโมสรฟุตบอล สนามฟุตบอล สนามแข่งรถ โดยเชื่อว่าแม้แต่เมืองที่ไม่มีอะไรอย่างบุรีรัมย์ที่มีคำล้อเลียนอย่างน่าเจ็บปวดคู่กับสุรินทร์ว่า “สุรินทร์กินน้ำตำ บุรีรัมย์ตำน้ำกิน” ก็สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการสร้างจุดเด่นของจังหวัดดึงให้คนมาท่องเที่ยวให้ได้

ซึ่งบุรีรัมย์ทำให้เห็นแล้วว่า “เปลี่ยนจากเมืองผ่าน เป็นเมืองพัก” ได้อย่างไร

เพราะเขาเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเข้มแข็ง และกระจายรายได้ไปสู่ชาวบ้าน ทั้งโรงแรมที่รองรับคนมาเที่ยว

หรือในช่วงที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ดึงคนเข้ามามหาศาลอย่างการแข่งขันมาราธอน เขาสามารถสร้างรายได้ให้กับโฮมสเตย์ของชาวบ้านได้อีกกว่า 5 พันครอบครัว งานใหญ่ของจังหวัดบางงานทำให้ชาวบ้านขายผ้าไหมได้กว่า 30 ล้าน

สิ่งที่เขาเสนอสรุปได้ว่า ควรให้อำนาจท้องถิ่นผ่านการเลือกจ่ายภาษีให้กับการเสนอให้นายก อบจ. ไม่มีวาระในการดำรงตำแหน่ง ซึ่งสอดคล้องกับวาระที่พรรคภูมิใจไทยพยายามผลักดันกฎหมายที่มีชื่อเรียกว่า “พระราชบัญญัติบ้านเกิดเมืองนอน” ซึ่งมีการจัดทำเวิร์กช็อปไปครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2568 จึงได้ฝากให้นายก อบจ.ที่ฟังอยู่ไปผลักดันผ่าน ส.ส.ของแต่ละจังหวัดเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถก้าวไปข้างหน้าตามที่เขาคิด

ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ยังคงอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในส่วนภูมิภาคไว้ตามเดิม

คุณเนวินมองว่า คนต่างจังหวัดนั้น ในชีวิตนี้เขาไม่มีสิทธิ์เลือกผู้ว่าฯ ได้อยู่แล้ว มันขาดผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้อยู่แล้ว แต่มองว่า ต้องทำงานร่วมกันกับผู้ว่าราชการจังหวัด

 

ผู้เขียนขอเรียกว่า คำประกาศบุรีรัมย์นี้ เป็นข้อเสนอแบบ “ตัดช่องน้อยแต่พอกระจายอำนาจ” โดยแท้ ตัวคุณเนวินยังชี้ให้เห็นเลยว่า เคยเจอผู้ว่าฯ แบบสร้างผลงานให้ตัวเอง มาแล้วก็จากไป อาจยังเป็นโชคดีของบุรีรัมย์ที่ขณะนี้ยังสามารถควบคุมอำนาจส่วนกลางผ่านกระทรวงมหาดไทย และบารมีส่วนบุคคลที่สามารถกดดันผู้ว่าฯ ให้ทำงานสอดคล้องกับเป้าหมายร่วมกันของจังหวัดบุรีรัมย์ได้

ดังนั้น การที่คุณเนวินไม่แตะต้องส่วนภูมิภาค และคาดหวังให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานหนักและฟังคนในท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องที่แสนยาก

เพราะอย่างที่คุณเนวินเห็นว่าแต่ละคนก็ล้วนมีวาระของตัวเองที่จะต้องสร้างผลงานที่ตอบโจทย์กับส่วนกลางมากกว่าคนในท้องถิ่น อันเป็นทิศทางที่สวนกันกับการเรียกร้องกระจายอำนาจที่ผู้คนกำลังเรียกร้องอย่างการรณรงค์ให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ยุบราชการส่วนภูมิภาค

หรือเร็วๆ มีการพยายามเสนอกฎหมายอย่าง พระราชบัญญัติเชียงใหม่มหานคร ซึ่งมีที่มาจากข้อเปรียบเทียบระหว่างต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ ที่พวกเขาไม่สามารถเลือกผู้นำของเขาเองได้ รวมไปถึงความไม่พอใจผลงานและการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไร้ประสิทธิภาพ ทั้งยังไม่เห็นหัวคนในจังหวัดนั้นๆ ในหลายกรณีที่ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหากันยังไง

คำประกาศบุรีรัมย์ จึงเป็นเพียงการชะลอความเปลี่ยนแปลงผ่านการชูธงกระจายอำนาจไปอย่างเนียนๆ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่มีปัญหาแต่อย่างใด



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568