เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

เรื่องราวของ ‘ลานา’ ‘อาอิ’ และ ‘เอไอ’

08.05.2025

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

เรื่องราวของ ‘ลานา’ ‘อาอิ’ และ ‘เอไอ’

 

ในปี 1976 ที่ป่ากุยเนียน (Guinean forest) อันอุดมสมบูรณ์ในแอฟริกาตะวันตก ชิมแปนซีเพศเมียตัวน้อยได้ถือกำเนิดขึ้นมาอาจจะภายใต้ต้นไม้สักต้นในผืนป่าที่แม้จะร้อนอบอ้าว แต่ก็อบอุ่นไปด้วยความรักของครอบครัว

แต่ในปี 1977 ตอนที่เธออายุยังไม่ถึงขวบ ชีวิตของเธอกลับต้องเจอกับจุดพลิกผันครั้งใหญ่ ลิงน้อยถูกจับออกมาจากป่า พรากออกมาจากครอบครัวที่เคยมีโดยพวกลักลอบค้าสัตว์ แล้วส่งตัวข้ามทวีป เดินทางไปยังบ้านใหม่ ดินแดนใหม่ที่เธอไม่เคยคุ้นชิน

สถาบันวิจัยไพรเมตแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto Univeristy Primate Research Institute) หรือตัวย่อสั้นๆ ว่ากูปรี (KUPRI) ใน “ประเทศญี่ปุ่น”

ที่กูปรี เธอได้เจอกับ เทะซึโระ มะสึซาวะ (Tetsuro Matsuzawa) ชายคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มองเธอเป็นแค่ลิง และที่นั่นเอง เธอก็ได้ชื่อว่า Ai ซึ่งไม่ได้อ่านว่า “เอไอ” แต่อ่านว่า “อาอิ” ที่แปลว่า “ความรัก” ในภาษาญี่ปุ่น

ในตอนนั้น เทะซึโระเพิ่งจบปริญญาโททางด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเกียวโต และเริ่มสนใจในเรื่องสติปัญญาและอยากเข้าใจระเบียบวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมต่างๆ ของลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลิงที่มีระดับสติปัญญาสูงๆ อย่างชิมแปนซี

นั่นหมายความว่าถ้า อาอิ ชิมแปนซีตัวน้อยสามารถบอกเล่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอคิดให้เขาฟังได้ก็คงจะดี แต่น่าเสียดายชิมแปนซีนั้นพูดไม่ได้ และที่จริง ตัวเทะซึโระก็ไม่ได้อยากจะสอนให้ลิงพูด เขาแค่อยากเข้าใจว่าลิงนั้น “คิดอะไรอยู่” โดยไม่ต้องพูด แค่มองตาก็รู้ใจ

และทดลองเพื่อให้เข้าใจสติปัญญาของชิมแปนซี (Chimpanzee Intelligence) เทะซึโระได้พัฒนาและบุกเบิกการทดลองในเชิงพฤติกรรมขึ้นมามากมายซึ่งช่วยให้เขาสามารถประเมินความสามารถของลิงได้ ทั้งในด้านทักษะการสื่อสารแบบอวัจนภาษา ทักษะในการเปรียบเทียบตัวเลข การคำนวณ และความสามารถในการจดจำข้อมูลต่างๆ

เทะซึโระเรียกโครงการนี้ว่า โปรเจ็กต์ “อาอิ” (Ai project)

โปรเจ็กต์นี้ ไม่ได้เริ่มการทดลองด้วยไมค์ ไม่ได้เริ่มด้วยการพูด แต่เริ่มด้วยหน้าจอ…

เริ่มด้วยสัญลักษณ์…

เริ่มด้วย “กล้วย” วางหลังคำว่า “ขอ” (ในภาษาญี่ปุ่น)

อาอิเรียนรู้การกดปุ่มเพื่อเลือกภาพ

เรียนรู้คำสั่ง “เรียงลำดับ” “เลือกภาพที่หายไป” “จับคู่อักษรกับวัตถุ”

และอาอิก็ทำให้เทะซึโระประหลาดใจ

เธอเข้าใจอะไรต่อมิอะไรมากกว่าที่เขาเคยคาดเอาไว้

เธอเข้าใจภาษา เธอรู้ว่าเธอจะขออาหารได้ยังไง และเธอก็เข้าใจว่า “1 มาก่อน 2” และ “5 น้อยกว่า 8”

แม้จะไม่ได้พูดออกมา แต่เธอแสดงเจตนาของเธอออกมาได้อย่างชัดเจน

อาอิรู้ที่จะเลือก

อาอิรู้ที่จะขอ

อาอิรู้ที่จะปฏิเสธ

อาอิรำคาญเวลาเครื่องคอมพิวเตอร์ช้า ไม่ทันใจเธอ

และบางที เธอก็งอน ประท้วงไม่ยอมตอบอะไรออกมาเลยก็มี

และนั่นคืออวัจนภาษาที่อาอิสื่อสารออกมาได้อย่างสวยงาม ทำให้เราเริ่มเข้าใจสติปัญญาและความเฉลียวฉลาดของสัตว์ได้เป็นอย่างน่าสนใจ แม้ไม่ต้องพูด

“อาอิได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการสื่อสารนั้นมันไม่ใช่แค่เพียงคำพูด แต่มันคือเจตนา โครงสร้าง และการเลือก” เทะซึโระกล่าว “ผมไม่ได้สอนภาษาแบบมนุษย์ให้อาอิ ผมแค่เงี่ยหูฟังวิธีคิดของเธอ”

การตอบสนองของอาอิต่อโจทย์ในการทดลองต่างๆ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าสัตว์เองก็มีสติปัญญา มีความรู้สึก มีความตระหนักรู้และความคิดที่ลึกซึ้งไม่ได้ต่างไปจากมนุษย์

“ผ่านอาอิ เราได้เรียนรู้ว่า ‘ปัญญา’ ไม่ได้เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของมนุษย์ แต่มันเป็นสเปกตรัมที่หลากหลาย ที่เราแชร์กัน” เทะซึโระกล่าว

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเหมือนซะทีเดียว สำหรับเทะซึโระ เขามองว่า

“จิตของลิงชิมแปนซีไม่ได้เป็นกระจกสะท้อนของเรา แต่เป็นเหมือนโลกแห่งความคิดคู่ขนานที่มีความลึกซึ้งไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเท่าใดนัก”

การทดลองของเทะซึโระทำให้อาอิกลายเป็นดาวเด่น เด่นจนถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในลิงที่สำคัญที่สุดของศตวรรษนี้

เพราะในขณะที่โลกกำลังหมกมุ่นกับเอไอ (AI) ที่เล่นหมากรุก ในขณะที่ Deep Blue เตรียมโค่นแชมป์โลก ที่ห้องเล็กๆ แห่งหนึ่งในอินุยามะ อาอิกำลัง “แตะจอ” เพื่อสอนเราว่า “ภาษาคือการเลือก ความหมายคือการตั้งใจ”

และนั่นคือสิ่งที่เอไอรุ่นหลังๆ ทั้งหมดต้องเรียน ก่อนจะเขียนบทกวี ก่อนจะสร้างภาพ มันต้อง “รู้ว่าจะเลือกอะไรก่อน” เป็นอันดับแรก

ถ้ามองว่าเอไอเรียนรู้จากภาพ เรียนรู้จากสัญญาณ เรียนรู้จากถ้อยคำที่ไม่มีเสียง อาอิ ก็คือต้นแบบของโมเดลเอไอ ที่ไม่ใช่แค่ machine learning (การเรียนรู้ของเครื่อง) ธรรมดาๆ แต่เป็น chimpanzee learning (การเรียนรู้ของลิง) ที่ความสลับซับซ้อนยิ่งกว่า machine learning อยู่มากโข

อาอิเรียนรู้การเรียนรู้

ผ่านการมอง ผ่านสายตาของเธอ

ผ่านการจับลูบคลำ ผ่านมือของเธอ

และผ่านความพึงพอใจ ผ่านปุ่มที่เธอกดในปี 1980 ที่ติดถ้อยคำเอาไว้สั้นๆ ว่า “ขอกล้วย (Banana Please)”

และถ้ามองเอไอ คือเด็กอัจฉริยะของศตวรรษที่ค่อยๆ ฉลาดขึ้น และเก่งขึ้นเรื่อยๆ

อาอิก็เปรียบเสมือนแม่เฒ่าผู้ปิดทองหลังพระผู้สอนมันให้รู้จักความหมายและการเลือก โดยไม่ต้องใช้เสียง

และในปี 2000 อาอิก็ให้กำเนิดลูกชายชิมแปนซี ชื่อว่า อายูมุ (Ayumu) ที่ทำให้มนุษย์ต้องอาย เพราะจากการศึกษาอายูมุ ชัดเจนว่าชิมแปนซีมีความจำระยะสั้น และการตอบสนองที่แม่นยำและฉับไวยิ่งกว่าเรา แค่ตัวเลขสุ่มขึ้นหน้าจอ ฉายอยู่ไม่ถึงวิ แล้วหายวับไป แต่อายูมุแตะเรียงได้เป๊ะราวกับเป็นเพลงที่เล่นอยู่ในหัว

ในมุมหนึ่ง เทะซึโระไม่ได้อยากสอนภาษาให้ลิง แต่อยากเรียนรู้แนวคิดของลิง เพราะบางทีภาษาอาจจะมีอะไรมากกว่าแค่ท่าทาง ฟังและพูดแบบที่มนุษย์ทำ

แต่เอิร์นส์ท ฟอน กลาเซอร์สเฟลด์ (Ernst von Glasersfeld) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐจอร์เจีย (Georgia State University) กลับมองในอีกมุม เขาอยากรู้ว่าด้วยสติปัญญาอันชาญฉลาดของมัน ลิงสามารถเรียนรู้และเข้าใจภาษาได้จริงหรือเปล่า?

เทะซึโระอยากเรียนรู้ภาษาลิง แต่เอิร์นส์ทอยากสอนภาษาให้ลิง

แต่ภาษาเป็นอะไรที่ซับซ้อนและเป็นนามธรรม กว่าจะผสมตัวอักษรจนลงตัวออกมาเป็นคำแต่ละคำที่เรียงในรูปประโยค แถมแต่ละตัวอักษรก็ไม่ได้มีการเชื่อมโยงอะไรกับความหมาย ต้องใช้จินตนาการมากมาย

และนี่จึงเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่

 

เพื่อแก้ปัญหานี้ เอิร์นส์ท และ ดูเอน รัมบาว (Duane Rumbaugh) จึงได้พัฒนาระบบภาษาเชิงสัญลักษณ์ (Lexigram) แบบใหม่ขึ้นมาเรียกว่าภาษาเยอร์คิช (Yerkish) สำหรับใช้ในการศึกษาความสามารถทางภาษาของสัตว์ ซึ่งในกรณีนี้ ก็คือลิงชิมแปนซีนั่นแหละ

แต่ลิงชิมแปนซีของทีมเอิร์นส์ทนั้น ไม่ได้ชื่ออาอิ แต่ชื่อ “ลานา (Lana)” และในการทดลองในโปรเจ็กต์ลานา (Lana Project) ลิงน้อยลานาคือนักเรียนที่ต้องเรียนภาษาเยอร์คิช ซึ่งไม่มีสระ ไม่มีพยัญชนะ มีแต่สัญลักษณ์ต่างๆ มากมายให้เลือกใช้

และหน้าที่ของลานา คือต้องเรียนรู้ที่จะกดปุ่มคีย์บอร์ดสัญลักษณ์ที่ทำขึ้นมาพิเศษที่มีปุ่มมากถึง 384 ปุ่ม เพื่อเลือกคำมาผสมเป็นโครงสร้างประโยคให้ถูกต้องเพื่อสื่อสารกับทีมวิจัย

สำหรับเอิร์นส์ท “ภาษาไม่จำเป็นต้องมีเสียง ถ้าคุณมีความหมายและโครงสร้าง”

ถ้ารู้ว่า “วงกลมนี้คือกล้วย”

“สามเหลี่ยมนี้คือไป”

“เส้นซิกแซ็กคือไม่”

แค่นั้นก็สร้างประโยคได้แล้ว

แม้จะใช้เวลาเทรนอยู่นานหลายปี แต่ลานาก็ทำได้สำเร็จ ในเวลาที่เธอกดว่า “Please machine give banana” เธอก็จะได้รางวัลเป็นกล้วย ชัดเจนว่าลานาสามารถเรียนรู้และสร้างประโยคได้ แม้จะเป็นแค่จากภาษาเยอร์คิชที่อาจจะไม่ได้ซับซ้อน มีสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์มากมาย เหมือนภาษาอื่นๆ ก็ตาม

“ลานาไม่ได้เรียนเลียนแบบ เธอกำลังสร้างความหมาย” และนี่คือสิ่งที่น่าตื่นเต้นมาก สำหรับเอิร์นส์ทและดูเอน พวกเขาเชื่อว่า ภาษาคือสิ่งที่สร้างขึ้นในใจ ไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนจากโลกภายนอก

ลานาและภาษาเยอร์คิชคือเครื่องมือที่พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า “สัตว์ก็อาจเรียนรู้ภาษาใหม่ได้ ถ้าเราจะสอนและให้เวลากับเขา”

 

งานนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ซู เซเวจ-รัมบาว (Sue Savage-Rumbaugh) ลูกสาวของดูเอนให้มาเป็นนักวิจัยไพรเมต

“ถ้าลิงเรียนภาษาตั้งแต่เล็กๆ เหมือนเด็ก มันจะสื่อสารได้เองโดยไม่ต้องฝึกไหม?” ซูตั้งคำถาม และเพื่อตอบคำถาม เธอก็ไปรับเอาลูกลิงชิมแปนซีแคระ หรือที่เรียกว่าลิงโบโนโบที่ชื่อ คันไซ (Kanzi) มาเลี้ยงเหมือนกับลูก แล้วให้มันค่อยๆ ซึมซับรับรู้ภาษาคน และฝึกให้สื่อสารกลับมาด้วยเล็กซิแกรมที่เธอทำให้ง่ายขึ้นกว่าภาษาเยอร์คิช

ซูพบว่าคันไซเรียนรู้และจดจำสัญลักษณ์เล็กซิแกรมได้มากกว่า 300 แบบและสามารถเรียงคำเพื่อระบุสิ่งที่มันต้องการได้อย่างแม่นยำ

อยากกินกล้วย

ไม่เอาน้ำ

จะไปข้างนอก

นี่คือการแสดงเจตนา…นี่คือความรู้สึก นี่คือความต้องการที่แท้จริง ไม่ใช่แค่การตอบสนองเพื่อขอรางวัล

วันนี้ เอไอเรียนรู้ภาษาไปได้ไกลแล้ว

แต่โมเดลที่มันเลียนแบบ…ไม่ใช่แค่ภาษามนุษย์

มันเรียนรู้จากการเลือกคำแบบเล็กซิแกรม จากความสัมพันธ์ระหว่างปุ่มที่กด กับสิ่งที่เกิดขึ้น มาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประโยค ถ้อยคำและบริบท

จนสามารถช่วยงานมนุษย์ได้แล้วอย่างน่าทึ่ง…

และถ้ามองย้อนกลับไป การที่เอไอในปัจจุบันทำอะไรต่อมิอะไรได้มากขนาดนี้ ตั้งแต่เล่นโกะ แข่งหมากรุก เตรียมข้อมูลประชุม วินิจฉัยโรค พยากรณ์อากาศ ไปจนถึงออกแบบโครงสร้างโปรตีนและยา บางทีเราอาจจะต้องขอบคุณทั้งชิมแปนซีและโบโนโบทั้งหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งลานา และ Ai ที่ไม่ได้อ่านว่าเอไอ แต่อ่านว่า “อาอิ”!



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“พีระพันธุ์” เรียกประชุมด่วน หลังอิหร่านเตรียมปิดช่องแคบฮอร์มุซเตรียมมาตรการรองรับทั้งด้านราคาและปริมาณสำรองหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น
พล.ท.ภราดร ชี้ครบ93ปีประชาธิปไตยไทย เดินสายพูดคุยปชช. พบสาเหตุที่ ปชต.อ่อนแอ
อดีต รมว.คลังชี้ช่วงนี้​ จะให้ศก.​เติบโต​สูงขึ้น ต้องปรับค่าเงินบาทลดลง​ ให้แข่งขันได้​ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือทางนโยบายของรัฐบาล​ ไม่ควรปล่อยให้ขึ้นๆลงๆ​ ตามนักเก็งกำไร
รสนา ชี้กัมพูชาอ้างชุมนุม1.5 แสนคน เป็นแค่ราคาคุย ความจริงแค่หมื่นกว่าคนเท่านั้น
‘ลิณธิภรณ์’ จวก ‘ศุภชัย’ ร้อนรนเป็นฝ่ายค้าน ลืมอดีต เพื่อไทย เคยเสนอนำกัญชากลับบัญชียาเสพติด ย้ำรัฐบาล ‘แพทองธาร’ เร่งรื้อมรดก ‘ภูมิใจไทย‘ ทิ้งกัญชาเสรีทำลายสังคมไทย
มงคล ทศไกร ร่วมเปิดฟุตบอลคลินิก ให้เยาวชนคลองเตยและชุมชนเชื้อเพลิง โครงการ “BROS.CORE 2025 : เปิดเทอมเติมฝัน ปีที่ 2”
‘ใหม่-เต๋อ’ หมั้นแล้ว เปย์หนักแหวนเพชร 15 กะรัต ‘7 ปีกลัวที่สุด จับแต่งเลย จะได้ไม่ต้องเลิก’
ประเทศดี ที่มี ‘คนทุจริต’ กับ ‘อยุติธรรม’ อยู่อาศัย
93 ปี 24 มิถุนายน 2475 อาจต้องรอเกิน 100 ปี …จึงจะมีประชาธิปไตย
‘เครียด-จุดเดือดต่ำ-ซึมเศร้า’ บช.น.จัดคอร์สธรรมะขัดเกลาใจ สู้ความกดดันชีวิตอย่างมีสติ
จากการไล่ล่าผู้อพยพของ I.C.E. ในแอลเอ สู่การประท้วงใหญ่ ‘No Kings’ ทรัมป์ ทั่วอเมริกา
ขยายผลขบวนการค้า ‘ยาเสียสาว’ สวมชื่อ 370 คนตาย-สั่งซื้อ อย.แจ้งจับเพิ่ม 6 แพทย์ ร่วมทีม ‘หมอแอร์’ ใช้แฟลต ตร.ซุก 1.7 แสนเม็ด