

บทความพิเศษ | สุภา ปัทมานันท์
โรคนอนไม่หลับของคนญี่ปุ่น
คนทั่วไปคงมีบ้างที่นอนไม่หลับ มีเรื่องต้องขบคิด เรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องครอบครัว มีความเครียด วิตกกังวล ถึงเวลานอนแล้วแต่สมองยังคิดวนเวียนอยู่กับปัญหาที่แก้ไม่ตกในแต่ละวัน ตื่นกลางดึกแล้วก็หลับไม่ลงอีก ถ้ามีอาการบ้างเป็นครั้งคราว แล้วก็กลับสู่สภาพเดิม แบบเหนื่อยมาทั้งวัน ก็หลับสนิทจนถึงเวลาตื่นได้ แต่ถ้ามีอาการนอนไม่หลับติดต่อกันเป็นเวลานาน อย่างนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติ ต้องปรึกษาแพทย์กันแล้ว
มีข้อมูลว่า เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาประชากรของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ในปี 2021 คนญี่ปุ่นมีชั่วโมงการนอนหลับ 7.22 ชั่วโมง ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึงกว่า 1 ชั่วโมง
พบว่าประชาชนญี่ปุ่น 1ใน 5 คน นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ และมีคนจำนวนไม่น้อยที่ทนทุกข์กับการนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับการนอน (睡眠障害)
กระทรวงสาธารณสุขและแรงงานญี่ปุ่น (厚生労働省) แนะนำให้คนวัยทำงานญี่ปุ่น ซึ่งทุกคนคร่ำเคร่งกับการทำงานตลอดวัน ควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้อย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมงขึ้นไป
แต่ในความเป็นจริงคนวัยทำงานชายและหญิง มีชั่วโมงการนอนหลับไม่ถึง 6 ชั่วโมง มีมากถึง 37.5% และ 40.6% ตามลำดับ
หากนอนหลับไม่เพียงพอจะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร?
การนอนไม่หลับเป็นความเจ็บป่วยหรือ?
การนอนไม่หลับเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ความเจ็บป่วย แต่มีความเจ็บป่วยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับที่ผิดปกติ ถึงเวลาเข้านอนแล้วพยายามข่มตาให้หลับ แต่ทำอย่างไรก็นอนไม่หลับบ้าง ตื่นกลางดึกหลายครั้งบ้าง ตื่นเช้าผิดปกติบ้าง ง่วงเหงาหาวนอนระหว่างวันอยู่บ่อยครั้ง มีอาการหยุดหายใจระหว่างหลับบ้าง เป็นต้น หากมีอาการติดต่อกันเกิน 1 เดือน น่าจะเข้าข่ายอาการนอนหลับที่ผิดปกติ
การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะความจำเสื่อม อาการซึมเศร้า และผลต่ออารมณ์และจิตใจ ในทางกลับกัน หากนอนหลับอย่างมีคุณภาพและหลับอย่างเพียงพอ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายอย่างดี มีคนจำนวนไม่น้อยอยากนอนหลับสนิท ก็เลยดื่มเหล้าก่อนนอน อาจทำให้หลับได้บ้าง แต่ไม่ใช่การหลับอย่างมีคุณภาพ สุดท้ายจะส่งผลเสียต่อร่างกาย
ปัจจุบัน คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหานอนไม่หลับ อยากหายจากอาการนี้ บางคนได้รับคำแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ มีคนอีกมากเกิดความสับสนว่าจำเป็นต้องไปพบแพทย์หรือ? พบแพทย์แผนกใด? สับสนลังเลจนอาจได้รับการรักษาช้าเกินไป จนเป็นเหตุทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา กลายเป็นต้องรักษาทั้งการนอนหลับผิดปกติ และรักษาโรคอื่นๆ ที่พ่วงมาอีก
ด้วยเหตุนี้ สมาคมการนอนหลับแห่งญี่ปุ่น (日本睡眠学会) ได้ยื่นเรื่องต่อกระทรวงสาธารณสุขและแรงงานของญี่ปุ่น เพื่อแยกเป็นแผนกการรักษาในโรงพยาบาลให้เข้าใจชัดเจนว่า แผนกรักษาการนอนหลับที่ผิดปกติ โดยต้องใช้เวลาผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งอายุรแพทย์และจิตแพทย์ อาจแบ่งเป็นการรักษาการนอนหลับให้ดีขึ้นในแผนกอายุรกรรม หรือแผนกจิตเวช จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจง่ายขึ้นและขอรับการรักษาได้รวดเร็วขึ้น
เพราะเหตุว่าการนอนหลับสนิทอย่างเพียงพอเป็นสิ่งสำคัญ หากนอนไม่หลับติดต่อกันนานๆ ตื่นเช้าจะไม่สดชื่น กลางวันจะรู้สึกง่วงนอน ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่มีสมาธิ ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการงาน รู้สึกหงุดหงิด อารมณ์ไม่แจ่มใส และยังทำให้เกิดความขัดแย้งกับคนรอบข้างได้ง่าย
หากรู้ตัวว่าอาการเหล่านี้มีสาเหตุจากโรคนอนไม่หลับก็ควรรีบปรึกษาแพทย์
ศาสตราจารย์ โอคาชิมา แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวคะเซ ได้แนะนำเช็กลิสต์เกี่ยวกับการนอนหลับ ให้ลองทำดูสำหรับผู้มีอาการเข้าข่ายนอนไม่หลับในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา หรือมากกว่า 3 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ ทุกเพศทุกวัยลองเช็กดู ดังนี้
1. เกี่ยวกับการนอนหลับ (หลังจากปิดไฟ ล้มตัวลงนอนแล้ว) กว่าจะหลับใช้เวลานานไหม
0 คะแนน ไม่มีปัญหา 1 คะแนน ไม่นาน 2 คะแนน นานทีเดียว 3 คะแนน นานมากหรือไม่หลับเลย
2. การตื่นกลางดึก
0 คะแนน ไม่คิดว่ามีปัญหา 1 คะแนน มีบ้าง 2 คะแนน บ่อยทีเดียว 3 คะแนน มีปัญหามากนอนไม่หลับเลย
3. การตื่นก่อนเวลาที่ควรตื่น หรือรู้สึกตัวตื่นแล้วนอนไม่หลับอีก
0 คะแนน ไม่เลย 1 คะแนน ตื่นก่อนเล็กน้อย 2 คะแนน ตื่นก่อนเวลามาก 3 คะแนน ตื่นก่อนเวลามากทีเดียวหรือนอนไม่หลับเลย
4. ระยะเวลาการนอนโดยรวม
0 คะแนน นอนเต็มอิ่ม 1 คะแนน อยากนอนอีกนิดหน่อย 2 คะแนน รู้สึกไม่เต็มอิ่ม 3 คะแนน รู้สึกไม่เต็มอิ่มเลยหรือนอนไม่หลับเลย
5. คุณภาพการนอน
0 คะแนน พอใจ 1 คะแนน ไม่พอใจบ้าง 2 คะแนน ค่อนข้างไม่พอใจ 3 คะแนน ไม่พอใจเลย นอนไม่หลับเลย
6. ประสิทธิภาพการทำงานในเวลากลางวัน
0 คะแนน ปกติ 1 คะแนน ลดลงบ้าง 2 คะแนน ลดลงมาก 3 คะแนน ลดลงมากทีเดียว
7. รู้สึกง่วงระหว่างวัน
0 คะแนน ไม่รู้สึกเลย 1 คะแนน รู้สึกบ้าง 2 คะแนน รู้สึกมาก 3 คะแนน ง่วงมากทีเดียว
ผลคะแนนรวม – ต่ำกว่า 3 คะแนน นอนหลับอย่างเพียงพอ ไม่มีปัญหาเลย
– 4-5 คะแนน มีความเสี่ยงการนอนไม่หลับเล็กน้อย
– มากกว่า 6 คะแนน มีความเสี่ยงการนอนไม่หลับสูง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการประเมินตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ใช่การวินิจฉัยชี้ชัด หากรู้สึกมีปัญหาและทนทุกข์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรได้รับการรักษา เพื่อให้หายจากโรคนอนไม่หลับ
จะได้นอนหลับสนิท ฝันดี ทุกคืน…
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022