

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ
ปฏิวัติ ‘คนตายขายคนเป็น’
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568 เวลาบ่ายใกล้เย็น ผมไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร ที่เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ด้วยเหตุที่ท่านเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของผมเมื่อครั้งที่ผมอุปสมบทในปีพุทธศักราช 2538 และท่านได้เป็นครูสอนหนังสือผมในระหว่างพรรษาปีนั้นด้วย
เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเสด็จฯ แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัว มาทรงเป็นประธานในการพระราชทานเพลิง เสด็จฯ กลับแล้ว ผมซึ่งเป็นศิษย์ของเจ้าประคุณสมเด็จคนหนึ่ง ก็รอ “เผาจริง” ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ควรจะเป็น
หลังจากพระเถรานุเถระจำนวนมากได้ขึ้นวางช่อดอกไม้จันทน์แล้ว ลำดับต่อไปก็เป็นคิวของฆราวาสบ้าง ด้วยอายุของผมทำให้ผมอยู่ในกลุ่มคนที่อยู่ต้นแถวที่จะขึ้นวางดอกไม้จันทน์เป็นลำดับถัดไป
คราวนี้ก็เกิดปัญหาขึ้นสิครับ เพราะบริเวณนั้นไม่มีดอกไม้จันทน์วางใส่พานอยู่เลย แล้วผมจะไปเสกดอกไม้จันทน์มาจากที่ไหนได้
ขณะที่กำลังเคว้งคว้างอยู่นั่นเอง ลูกศิษย์ของเจ้าประคุณสมเด็จอีกคนหนึ่งที่อายุน้อยกว่าผมมาก ได้ทำท่าลังเลเหมือนอยากจะส่งดอกไม้จันทน์ที่ถืออยู่ในมือให้ผมนำไปกราบเจ้าประคุณสมเด็จ พร้อมกับความลังเลนั้นก็ถามผมขึ้นว่า ผมจะถือสาหรือไม่ ถ้าจะส่งดอกไม้จันทน์ในมือช่อนั้นให้ผม เพราะบางคนบางท่านถือปฏิบัติว่า จะไม่หยิบดอกไม้จันทน์ส่งให้แก่กันหรือให้แก่ใคร โดยอธิบายว่าเป็นเสมือนเราส่งดอกไม้จันทน์เพื่อเผาคนคนนั้น
เมื่อได้ยินคำถามเช่นว่าแล้ว ผมก็ตอบไปด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า “ไม่เป็นไรครับ ผมไม่ถือ อย่างไรเสียผมก็ตายแน่”
พูดจบก็รับดอกไม้จันทน์ช่อนั้นมาพร้อมทั้งกล่าวขอบคุณและนำดอกไม้จันทน์ไปวางถวายเจ้าประคุณสมเด็จที่เตาเผาต่อไป
เรื่องที่เล่ามาข้างต้นนี้ แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็มีความจริงข้อสำคัญแฝงอยู่ เป็นความจริงที่ไม่มีใครจะหลีกเลี่ยงหนีพ้นไปได้ นั่นคือความจริงที่ว่า ในที่สุดแล้วทุกคนก็ต้องตายเข้าจนได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ถึงแม้ว่าโดยค่าเฉลี่ย คนแก่มักจะตายก่อนคนหนุ่มสาว แต่ข้อนี้ก็ไม่แน่นอนเสมอไป เด็กเกิดมาเพียงแค่หนึ่งวันก็ตายได้ ในขณะที่คนแก่บางคนอายุยืนจนรู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิตเต็มทีแล้วแต่ก็ยังไม่ตาย
ในรอบเวลาประมาณครึ่งปีที่ผ่านมา ความพลัดพรากจากกันกับผู้ที่เป็นรักที่คุ้นเคยและเป็นที่เคารพของผมมาเยี่ยมเยียนชีวิตของผมบ่อยเหลือเกิน ภายในเวลาสามสี่เดือนติดกันเลยทีเดียว
เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ปี 2567 พี่เลี้ยงของผมซึ่งดูแลอุ้มชูผมมาตั้งแต่ผมอายุได้เพียงแค่แปดเดือน และอยู่ด้วยกันมาตลอดชีวิต ก็จากไปด้วยวัยค่อนไปทาง 90 ปีหลังจากเจ็บป่วยเข้าออกโรงพยาบาลมาในราวสิบเดือน การต้องลาจากกันแบบนี้พอทำความเข้าใจได้ แต่ก็ไม่ถึงกับตัดอาลัยตัดโศกให้หมดไปนะครับ
ถัดมาถึงกลางเดือนธันวาคม น้องชายที่อยู่คนเดียวของผม ขณะนั่งกินอาหารเช้าอยู่ด้วยกัน ก็พูดสั้นๆ แต่เพียงว่า “เป็นลม” แล้วก็จบชีวิตลงเพียงนั้น ฟังดูง่ายเหลือเกินสำหรับผู้จากไปเพราะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอะไรมากนัก แต่ไม่ง่ายเลยสำหรับผู้ที่ยังอยู่คือสมาชิกทุกคนในครอบครัวของเราที่ต้องพบกับการจากไปแบบกะทันหันเช่นนี้
งานพระราชทานเพลิงศพน้องชายผมผ่านไปได้สามวัน ค่ำวันที่ 25 ธันวาคม ผมได้รับข่าวว่าเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ครูบาอาจารย์ที่เคารพยิ่งของผมก็มรณภาพเสียแล้ว
งานศพของเจ้าประคุณสมเด็จอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด ระหว่างตั้งศพสวดพระอภิธรรมบำเพ็ญกุศลมีกำหนด 100 วันเศษ ก็มีลูกศิษย์ลูกหารับเป็นเจ้าภาพในการสวดแต่ละวันไม่เคยขาด
นี่เล่ามาในเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวผมนะครับ
ลองมาดูเรื่องที่ไกลตัวออกไปดูบ้าง
เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมไปร่วมงานสงกรานต์แบบมอญที่วัดปรมัยยิกาวาส ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะเกร็ด ตามธรรมเนียมปฏิบัติส่วนตัวที่ได้รับเมตตาจากท่านเจ้าอาวาสพระอารามแห่งนั้นให้ไปร่วมงานสงกรานต์เป็นประจำทุกปีเสมอมา ในวันนั้นได้พบกับน้องที่คุ้นเคยกันคนหนึ่งชื่อ ม่อน นานปีทีหนได้พบกันเลยมีเรื่องคุยกันยาวครับ
ม่อนเล่าว่า เมื่อวันก่อนมีหญิงสูงอายุคนหนึ่งมาที่วัดซึ่งม่อนทำงานเป็นสัปเหร่ออยู่ ทำท่ามาเหมือนเลียบเคียงอยากจะรู้เห็นอะไรสักอย่างหนึ่ง เมื่อถามดูถึงรู้ว่า เธออยากจะรู้ว่าการเผาศพนั้นต้องใช้ค่าใช้จ่ายสักเท่าไหร่
ที่ถามข้อนี้ขึ้นมาเพราะลูกชายกำลังป่วยหนัก น่าจะไม่รอดชีวิตไปได้อีกกี่วัน แต่ตัวเธอนั้นขัดสนเสียเหลือเกิน ยังกลัวอยู่เลยว่า จะมีเงินที่ใดมาเผาศพลูกชาย
ม่อนได้ฟังความอย่างนั้น ก็เลยบอกให้คุณป้าคลายกังวลว่า ถ้าถึงเวลาที่เป็นเหตุขึ้นมาแล้ว อย่าได้กังวลเลย ขอให้ติดต่อมาที่ม่อน วัดและผู้คนแถวนี้เห็นจะช่วยดูแลจัดการกันได้โดยไม่ต้องกังวลในค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ผมได้ยินเรื่องเล่าเช่นนี้แล้วก็บอกม่อนว่า ถ้าถึงวันเวลานั้นจริงๆ ขอให้ส่งข่าวบอกกันบ้าง จะได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือให้งานศพรายนี้ลุล่วงไป อกเขาอกเรานะครับ
ในเวลาไล่เลี่ย ผมอ่านข่าวสารออนไลน์สาธารณะ พบว่ามีการบ่นเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายในการปลงศพตามธรรมเนียมแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือบ้านเรา ว่างานศพแต่ละครั้ง ค่าใช้จ่ายเป็นเรือนแสนหรือหลายแสน ทุกวันเวลาตั้งแต่เช้ายันค่ำ จะมีคนมาเยี่ยมศพ มาฟังสวด หรือมาแสดงความเสียใจอะไรก็แล้วแต่ เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพต้องเตรียมอาหารการกินมาพร้อม หลายคนกินเสร็จแล้วยังขอใส่ถุงกลับบ้านเสียอีกด้วย
เรียกว่าตั้งแต่ผู้ตายขาดลมหายใจไป โรงครัวก็เปิดทำการขึ้นทันที สารพัดค่าใช้จ่ายเดินบัญชีอยู่ตลอดเวลา คนที่มาร่วมงานถ้ามีน้ำใจจะช่วยงานบ้าง ก็อยู่ในจำนวนเงินประมาณ 20 บาท 50 บาท เจ้าภาพต้องชักเนื้อ และหลายรายต้องเป็นหนี้เป็นสินต่อเนื่องไปอีกยาวนาน
ถามว่าถ้าไม่ทำตามธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างนี้ ผิดกฎหมายหรือไม่ ในเมื่อเป็นธรรมเนียมก็ไม่ผิดกฎหมายหรอกครับ แต่เจ้าภาพก็ต้องอดทนต่อเสียงนินทาว่าร้ายที่อาจจะดังมาจากรอบด้าน
ถ้าใจไม่แข็งพอก็ต้องเป็นหนี้ ถ้าใจแข็งพอก็ปลอดภัย
ว่าโดยรวมแล้วการบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ ตลอดไปจนถึงการปลงศพซึ่งเมืองไทยเราส่วนใหญ่ใช้วิธีการเผาหรือฌาปนกิจ จะทำให้มากหรือน้อยแค่ไหนไม่มีกติกาบังคับ ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมและความสมัครใจของเจ้าภาพที่เห็นเหมาะสมเพียงใด ก็ทำแค่นั้น
อย่าให้คนตายขายคนเป็นอย่างที่โบราณเขาว่ามาเลยครับ
สำหรับความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว การจัดงานศพเมื่อมีการเสียชีวิตในแต่ละครั้ง ตัวแปรสำคัญน่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสองข้อ ข้อแรกคือฐานะ ข้อสองคือกำลัง
คำว่า ฐานะ ในที่นี้ ผมหมายถึงฐานะตามบริบทของสังคม ตั้งแต่ฐานะของผู้ตาย ฐานะของลูกหลานผู้เป็นเจ้าภาพ ถ้าเจ้าภาพรายใดคิดว่าตัวเองฐานะใหญ่โตมโหฬาร ก็มีแนวโน้มที่งานศพจะต้องใหญ่โตมโหฬารตามไปด้วย
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าคิดให้เห็นสัจจะว่า ตำแหน่งแห่งหนอะไรก็เอาติดตัวไปไม่ได้ ตายแล้วก็ต้องไว้ข้างหลังทั้งสิ้น
คิดแบบนี้แล้วก็จัดงานศพแต่พอสัณฐานประมาณก็แล้วกัน
งานศพเจ้าประคุณสมเด็จ ท่านมีลูกศิษย์ที่อยากจะสนองพระคุณท่านจำนวนมาก จะให้มาเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมในวันเดียวกันก็เห็นจะเกินกว่าพื้นที่จะรองรับได้ การจัดการสวดพระอภิธรรมจึงต้องมีหลายวันตามความประสงค์ของลูกศิษย์ทั้งปวง
ผมเองสอนหนังสือมานานปี ลูกศิษย์ก็มีมากพอสมควร แต่ไม่ได้คิดอาจเอื้อมจะให้มีการบำเพ็ญกุศลใหญ่โตหรือสวดพระอภิธรรมถึง 100 วันเช่นว่านั้น ยุคสมัยนี้สวดสามวันห้าวันหรือเจ็ดวันก็พอเหมาะแล้ว
แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปสั่งการอะไรไว้ล่วงหน้า เราตายแล้วก็เป็นอันหมดหน้าที่จัดงานศพตัวเอง เป็นเรื่องของคนอยู่ข้างหลังจะต้องคิดอ่านครับ
ปัจจัยที่สองที่ต้องคิดให้มากคือ “กำลัง” ข้อนี้ผมหมายถึงกำลังทรัพยากรทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสำคัญที่สุดคือกำลังในเรื่องค่าใช้จ่าย อย่าคิดจ่ายอะไรให้เกินตัว คนเราไม่ควรทำงานงานศพโดยเป็นหนี้ใครครับ
ขืนทำอย่างนั้น คนตายจะตายตาไม่หลับเอาเสียเปล่าๆ
เมื่อนึกอย่างนี้แล้วผมนึกถึงเรื่องธรรมเนียมในภาคพื้นอีสานบ้านเราที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติต่อเนื่องกันมา มาถึงวันนี้มองเห็นเสียแล้วว่าเป็นปัญหาสำหรับเจ้าภาพที่ต้องเหนื่อยกายและเหนื่อยใจเป็นหนี้เป็นสินจำนวนมาก หลังจากงานศพเสร็จสิ้นลงไปแล้ว
ถ้ามีอะไรดีล่ะครับ
เห็นบ้านเมืองนี้ขยันปฏิรูปปฏิวัติกันมาหลายอย่างแล้ว ปฏิรูปปฏิวัติเรื่องนี้กันสักครั้งหนึ่งจะเป็นไรไป
ดีไหมครับ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022