

คราวที่แล้วเขียนถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จัดทำแผนปฏิบัติการที่เรียกว่า “ภูมิอากาศชีวภาพ” เพื่อสู้กับภาวะโลกเดือดด้วยการสร้างสวนสาธารณะ ปลูกต้นไม้และวางกฎกติกาตึกอาคารที่ก่อสร้างใหม่ออกแบบให้มีระบบอากาศไหลเวียนถ่ายเท
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาผู้บริหารกรุงปารีสทำประชามติในโครงการเปลี่ยนถนนให้เป็นถนนคนเดินเพิ่มขึ้นอีก 500 สาย และเปลี่ยนลานจอดรถสาธารณะเป็นสวนเพิ่มอีก 1 หมื่นแห่ง
ประชามติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากชาวปารีส 66 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า ชาวเมืองต้องการถนนคนเดินทาง ต้องการเลนจักรยาน ต้องการลดความแออัดของรถยนต์บนถนน และอยากมีพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติในเมืองมากขึ้น
“แอนน์ ไฮดาลโก” นายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของกรุงปารีส ผลักดันให้ปารีสเป็นเมืองสีเขียวมาตั้งแต่รับตำแหน่งครั้งแรกเมื่อปี 2557 สานต่อหลังได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีครั้งที่สอง
แนวนโยบายที่สร้างชื่อเสียงให้กับ “ไฮดาลโก” ในช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 ได้แก่ การสร้างเลนจักรยานแบบป๊อปอัพ หรือที่เรียกว่า coronapistes ระยะทาง 50 กิโลเมตร ปลุกกระแสชาวปารีสปั่นจักรยานไปทำงาน ไปซื้อของ ลดการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเลี่ยงการติดเชื้อ
วันนี้กรุงปารีสมีไบก์เลนรวมแล้ว 1,300 กิโลเมตร
แต่งานที่โดดเด่นของ “ไฮดาลโก” ได้รับความสนใจจากทั่วโลก เมื่อครั้งกรุงปารีสเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2567 การเปลี่ยนถนนซองเชลิเซ่ ที่ได้ชื่อว่าถนนสวยที่สุดในโลกให้เป็นสวนสุดสวยได้อย่างน่าทึ่ง
ในพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ “ปารีส” ใช้พื้นที่นอกสนามกีฬาซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกยุคใหม่ เป็นภาพนักกีฬาแห่เรือไปตามแม่น้ำแซน
นโยบายล่าสุดของ “ไฮดาลโก” ที่เพิ่งผ่านการทำประชามติไปนั้นมุ่งเน้นให้ชาวปารีสเดินทางในรูปแบบที่เรียกว่า “แอ็กทีฟ ทราฟเวล” เดินหรือปั่นจักรยาน ชักชวนให้ใช้บริการขนส่งสาธารณะทั้งรถบัส รถไฟฟ้าใต้ดิน
แต่ละชุมชนของกรุงปารีสจะมีถนนเชื่อมต่อถึงกัน 5-8 สาย เป็นถนนคนเดินและทางจักรยานใช้ร่วมกัน ถนนแต่ละสายใช้งบประมาณ 5 แสนยูโร หรือราว 19 ล้านบาท
ในช่วงตั้งแต่ปี 2567-2573 “ไฮดาลโก” ตั้งเป้าหมายให้รื้อลานจอดรถสาธารณะซึ่งมีทั่วปารีสราว 60,000 แห่ง แปลงพื้นที่เป็นสวนปลูกต้นไม้แทน
ระหว่างที่ยังไม่ได้รื้อ ใครขับรถขนาดใหญ่ เช่น รถเอสยูวีน้ำหนัก 1.6 ตันขึ้นไปจอดในลานจอดรถสาธารณะ จะเก็บในราคาแพงขึ้นจากเดิม 12 ยูโร เป็น 18 ยูโร
ผู้บริหารกรุงปารีสมองว่า รถเอสยูวีหรือรถอเนกประสงค์ใช้เชื้อเพลิงมากกว่ารถยนต์ขนาดเล็ก 15% การผลิตมีต้นทุนสูงและราคาแพงกว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ รถเอสยูวีชนคนเดินบนถนนจะมีอัตราเสียชีวิตสูงมากเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับรถยนต์ขนาดเล็ก

“แอนน์ ไฮดาลโก” นายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของกรุงปารีส ผลักดันให้ปารีสเป็นเมืองสีเขียวมาตั้งแต่รับตำแหน่งครั้งแรกเมื่อปี 2557 วันนี้ “ไฮดาลโก” ขับเคลื่อนแผนลดมลพิษในกรุงปารีส เพิ่มอากาศสะอาด ลดปัญหาจราจรและยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมของเมือง (ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Anne Hidalgo)
ทําไมนายกเล็กแห่งกรุงปารีสต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ก็เพราะเห็นว่า แนวโน้มในอนาคต ฝรั่งเศสต้องเจอภาวะโลกเดือดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะสถิติอุณหภูมิผิวโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
การปลูกต้นไม้มากๆ ช่วยลดอุณหภูมิ ยิ่งมีต้นไม้มากเท่าไหร่ยิ่งร้อนน้อยลงเท่านั้น และการมีต้นไม้ มีลานดินกว้างๆ ยังช่วยซับน้ำในยามที่มีฝนตกหนัก
การลงประชามติ มีชาวปารีสไม่เห็นด้วยกับนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว ไม่เห็นด้วยกับการคิดค่าจอดรถเอสยูวีเพิ่มขึ้น แต่ก็มีเพียง 4% ส่วนใหญ่กลุ่มผู้ใช้รถเอสยูวีและผู้พักอาศัยใกล้ๆ บริเวณแหล่งท่องเที่ยว เกรงว่าการที่มีคนเดินผ่านไปผ่านมามากๆ จะรบกวนชีวิตความเป็นส่วนตัวและกลุ่มผู้ใช้รถเอสยูวี
กรุงปารีสยังกำหนดเขตปล่อยมลพิษต่ำ หรือ Low Emission Mobility Zones (ZFE-m) มีมาตรการควบคุมปริมาณการใช้รถยนต์และลดมลพิษในอากาศ ด้วยมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสำหรับรถยนต์ รถบัสโดยสารและรถบรรทุกทุกคันที่หนักเกิน 3.5 ตัน ผลิตก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ห้ามวิ่งเข้าไปในกรุงปารีสตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น.ทุกวัน
รถยนต์ทุกชนิดที่ผลิตก่อนปี 2540 และรถมอเตอร์ไซค์ผลิตก่อนปี 2543 เป็นรถที่ไม่อยู่ในกลุ่มยานยนต์มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ห้ามวิ่งเข้ากรุงปารีสอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้นจะต้องเสียค่าปรับตั้งแต่ 68-375 ยูโร หรือราวๆ 2,600-14,625 บาท

สติ๊กเกอร์แสดงมาตรฐานสิ่งแวดล้อมยานยนต์ของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มี 6 ประเภท สีเขียว เป็นยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ส่วนสีเทาเป็นยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษมากสุด
กรุงปารีสในยุค “ไฮดาลโก” กำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมด้านยานยนต์ไว้ 6 ประเภท รถยนต์ทุกคันจะต้องผ่านมาตรฐานและต้องติดสติ๊กเกอร์ให้เจ้าหน้าที่เห็นว่าอยู่ในประเภทไหน
บนสติ๊กเกอร์จะมีอักษร “Crit’Air” และกำหนดสีสติ๊กเกอร์ต่างกัน แบ่งตามระดับการปล่อยมลพิษ ผู้ใช้รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ต้องยื่นใบรับรองการจดทะเบียนและเอกสารการตรวจสอบปริมาณการปล่อยมลพิษจึงจะได้รับสติ๊กเกอร์
รถคันไหนติดสติ๊กเกอร์ “Crit’Air” ประเภทสีเขียว นั่นหมายถึงเป็นยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ซึ่งจะมีเฉพาะรถไฟฟ้าเท่านั้นที่ไม่ปล่อยก๊าซพิษ สติ๊กเกอร์สีเทา เป็นรถที่ปล่อยก๊าซพิษมากที่สุด มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
สติ๊กเกอร์สีม่วง รองจากสีเขียว ประเภท 3 สีเหลือง 4.สีส้ม และ 5.สีแดงอมม่วงหรือสีเบอร์กันดี (ดูในภาพประกอบ)
สติ๊กเกอร์ Crit’Air มีอายุการใช้งานไม่จำกัด ไม่ต้องเปลี่ยนสติ๊กเกอร์ ยกเว้นซื้อรถคันใหม่ ช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำแนกและควบคุมยานยนต์ในพื้นสีเขียวของกรุงปารีสได้ง่ายขึ้น
หลายๆ เมืองของฝรั่งเศส เดินตามรอย “ปารีส” ด้วยการกำหนดเขตปล่อยมลพิษต่ำ อย่างเช่น ลียง, ตูลูส, นีซ, เมืองมาร์กเซย์, มงต์เปลลิเยร์, สตราสบูร์ก และแซงต์เอเตียน รวมถึงเมืองที่มีประชากรมากกว่า 150,000 คนจะต้องกำหนดเขตปล่อยมลพิษต่ำเช่นกัน รถที่ไม่ได้การจัดประเภทหรือผลิตก่อนปี 2540 จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขต ZFE-m
เมืองลียง เมืองมาร์กเซย์และเมืองมงต์เปลลิเยร์นั้น เริ่มใช้สติ๊กเกอร์ Crit’Air เมื่อต้นปีนี้เอง รถที่ติดสติ๊กเกอร์ประเภท 3 หรือสติ๊กเกอร์เหลือง หรือรถที่ใช้น้ำมันเบนซินจดทะเบียนก่อนปี 2549 และรถที่ใช้น้ำมันดีเซล จดทะเบียนก่อนปี 2554 จะได้รับผลกระทบเพราะต้องมีบัตรอนุญาตให้เข้าไปในเขตปล่อยมลพิษต่ำ หรือ ‘pass petit rouleur’ และเข้าไปได้แค่ 52 ครั้งต่อปี
อย่างไรก็ตาม ถ้ารถติดสติ๊กเกอร์ประเภท 3 คันใดวิ่งน้อยกว่า 8,000 กิโลเมตรต่อปี จะได้รับการยกเว้นการเข้าไปใน ZFE-m
เมืองตูลูสนำสติ๊กเกอร์ประเภท 4, 5 และรถยนต์รุ่นเก่าผลิตก่อนปี 2540 มาใช้ตั้งแต่ปี 2566 แต่ถ้ามีบัตรอนุญาต ‘pass petit rouleur’ จะวิ่งเข้าไปในเขตปล่อยมลพิษต่ำได้ 52 ครั้งต่อปี หรือสัปดาห์ละครั้ง
การยื่นขออนุญาตมีสติ๊กเกอร์ Crit’Air ทำได้ง่ายสะดวกมาก แค่กรอกรายละเอียดตามข้อกำหนดในแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ในเว็บกระทรวงการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาและความสามัคคี (https://www.ecologique-solidaire.gouv.fr/certificats-qualite-lair-critair)
เสียเงินแค่ 3.70 ยูโร ใบอนุญาตส่งผ่านไปรษณีย์ถึงบ้านภายใน 10 วัน
เขตปล่อยมลพิษ หรือ Low Emission Zone (LEZ) ในอังกฤษและสหภาพยุโรป ใช้กันมานานกว่า 16 ปีแล้ว เวลานี้มีเมืองต่างๆ ในอียูกว่า 250 เมืองที่มี LEZ นอกจากช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศแล้วยังลดปัญหาการจราจรติดขัดอีกด้วย
ในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงสตอกโฮล์ม กำหนด LEZ หลายชั้น ชั้นในสุดใจกลางเมือง ถ้าใครขับรถเข้าไปต้องเสียค่าธรรมเนียมแพงมาก และรถบรรทุกใหญ่ๆ หรือรถบัสโดยสารใช้เครื่องดีเซล จะไม่อนุญาตให้เข้าไป เช่นเดียวกับในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีเขตปล่อยมลพิษ ประเภท Ultra LEZ รถยนต์รุ่นเก่าๆ ทั้งเบนซิน ดีเซลเข้าไปไม่ได้เลย
พื้นที่เมืองใหญ่ในฝั่งเอเชีย มีสิงคโปร์เริ่มใช้ LEZ ก่อนกรุงลอนดอน แต่เรียกว่า เขตจำกัดการใช้รถยนต์ (Restricted Zone) ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติอย่างมากเพราะใจกลางเมืองสิงคโปร์ที่มีปัญหาจราจรแออัดอย่างมาก เวลานี้กลายเป็นเขตที่มีมลพิษทางอากาศต่ำ การจราจรโล่งแม้กระทั่งในช่วงเวลาเร่งด่วน รถวิ่งคล่องกว่าในอดีต
ฮ่องกงเป็นอีกหนึ่งเมืองที่การจราจรแออัด แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผู้บริหารฮ่องกงหันมากำหนดเขต LEZ ในย่านเซ็นทรัล คอสเวย์เบย์และมงก็อก อนุญาตให้เฉพาะรถบัสสาธารณะวิ่งเข้าไปย่านนั้นได้ การจราจรโล่งขึ้น
อินโดนีเซีย หันมาใช้ LEZ ในเขตเมืองเก่าใจกลางกรุงจาการ์ตา เมื่อ 4 ปีก่อน ทดลองในระยะแรกปรากฏว่าได้ผล มลพิษในอากาศลดลง ก็เลยใช้ LEZ ถาวร รถบัสโดยสารสาธารณะ จักรยาน และรถที่มีใบอนุญาตเท่านั้นที่สามารถจะเข้าไปในใจกลางเมืองได้
ส่วนบ้านเรา มีเพียงกรุงเทพมหานครเท่านั้น ที่นำ LEZ มาใช้ แต่ก็แค่เป็นระยะทดลอง 4 วัน เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เวลานั้นเป็นช่วงที่ กทม.เกิดปัญหาฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5 คลุมเมือง ชาวบ้านร้องโวยวาย กทม.เลยเต้นตามกระแส
เมื่อฝุ่นพิษจางหายเพราะมีฝนตก แนวคิด LEZ จางหายไปด้วย ทั้งที่ควรจะทำอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพราะถ้าหากไม่กำหนดเขตมลพิษต่ำ รถยนต์ทุกประเภทก็ยังคงวิ่งกันฝุ่นตลบทั่วเมือง การจราจรจะติดขัดสาหัสสากรรจ์ตลอดเวลา ไม่มีเว้นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เป็นเช่นทุกวันนี้
“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เคยประกาศลั่นตั้งแต่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ใหม่ๆ ว่าจะขอเวลา 1 ปีสางปัญหาการจราจรที่ติดขัด มาบัดนี้ล่วงเข้าปีที่ 3 ของการเป็นผู้ว่าฯ รถติดยังเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดและคุณภาพอากาศของเมืองหลวงประเทศไทย ยังคงติดอันดับยอดแย่อันดับต้นๆ ของโลกเช่นเดิม-ไม่มีอะไรเปลี่ยน
จากนี้ไปยังเหลือเวลาเป็นผู้ว่าฯ กทม.อีก 1 ปี คุณชัชชาติรีบๆ ประกาศเขตมลพิษต่ำเถอะครับ คนกรุงจะได้สูดอากาศสะอาดบ้าง การจราจรจะได้โล่งสะดวกขึ้นเหมือนที่บ้านอื่นเมืองอื่นเขาทำกัน •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022