

“พระครูสถิตสมณวัตร” หรือ “หลวงพ่ออ่ำ พุทธสโร” วัดอินทาราม ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เป็นพระยุคเก่าผู้สูงส่งด้วยวิทยาคม มีบารมี เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวชัยนาท
วัตถุมงคลได้รับความนิยม เนื่องจากมีคำร่ำลือว่ามีประสบการณ์สูง จึงทำให้นักนิยมสะสมเสาะแสวงหา
ที่ได้รับนิยมอย่างมาก คือ “เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2467” ที่ระลึกในโอกาสได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูสถิตสมณวัตร
ในครั้งนั้น บรรดาลูกศิษย์และชาวบ้าน ขออนุญาตสร้างเหรียญที่ระลึกแจกให้แก่ศิษย์และชาวบ้านที่มาร่วมสมโภชและแสดงมุทิตาสักการะ
ลักษณะเป็นเหรียญหูเชื่อม
ด้านหน้ามีการยกขอบสองชั้น ตรงกลางเป็นรูปเหมือนนั่งขัดสมาธิเต็มองค์บนฐาน หันหน้าตรง
ด้านหลังยกขอบสองชั้นคล้ายกับด้านหน้า มีเส้นใหญ่ริมขอบและเส้นเล็กในชั้นถัดมา ตรงกลางมีอักขระปรากฏอยู่สามบรรทัด ใต้อักขระเป็นอักษรภาษาไทย เขียนคำว่า “พระครูสถิตสมณวัตร” ตามด้วยบรรทัดสุดท้าย เขียนคำว่า “อ่ำ” อันเป็นชื่อของหลวงพ่อ
ปัจจุบัน เป็นเหรียญหายากของจังหวัดชัยนาทไปแล้ว

เหรียญหลวงพ่ออ่ำ
อัตโนประวัติ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2397 ที่บ้านหนอง ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท บิดาชื่อ นายน้อย มารดาไม่ทราบชื่อ
ในช่วงวัยหนุ่ม เล่าเรียนฝึกฝนวิชาหมัดมวยและวิทยาคม และมีลูกน้องหลายคน
พออายุครบ 20 ปี บิดามารดาจึงได้ไปฝากกับหลวงพ่อเกิด วัดตลุก และเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดตลุก ในราวปี พ.ศ.2417
เดิมทีตั้งใจจะบวชแค่ 15-20 วันเท่านั้น แต่บิดา-มารดาขอให้บวชครบพรรษา ครั้นพอออกพรรษาก็ไม่ยอมลาสิกขา กลับมุ่งเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณ จึงเดินทางมาโคราช เนื่องจากทราบว่ามีอาจารย์ดี ซึ่งชำนาญการบำบัดรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรและรากไม้
ครั้นเมื่อไปถึงบ้านครูหมอยา ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ลูกสาวครูนำภัตตาหารมาถวาย เป็นเนื้อทอดหนึ่งจาน ซึ่งเจ้าของบ้านใช้วิทยาคมทำให้เห็นเป็นเนื้อทอด จึงไม่ยอมฉัน แล้วท่านก็คลายเวท ปรากฏว่าเนื้อทอดจานนั้นกลายเป็นเศษไม้
เจ้าของบ้านชอบใจว่าสามารถแก้มนต์ได้ จึงรับว่าจะถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้ แต่มีข้อแม้ต้องสึกมาเป็นฆราวาสเสียก่อน
จึงต้องสึกออกมาเรียนเป็นเวลา 6 เดือน ก็สามารถศึกษาได้จนหมดทั้งวิชาทางแพทย์และวิทยาคมต่างๆ
หลังจากนั้น กลับมาบวชใหม่แล้วออกธุดงค์ไปยังชายแดนเขมรอีก 6-7 ปี จึงกลับมาที่วัดตลุก
ช่วงเวลาหลายปีต่อมา เมื่อหลวงพ่อเกิด มรณภาพลง จึงทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่าง ชาวบ้านและคณะสงฆ์พร้อมใจนิมนต์ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน ซึ่งตรงกับช่วงปี พ.ศ.2448

หลวงพ่ออ่ำ พุทธสโร
เมื่อเป็นเจ้าอาวาสก็ยังคงเคร่งครัดต่อการปฏิบัติ รวมถึงอนุเคราะห์ให้กับญาติโยมที่มาพึ่งพาอาศัย โดยการช่วยเหลือและรักษาโรคต่างๆ ให้ญาติโยมและชาวบ้าน บางคนเป็นไข้ บางคนเจ็บป่วยออดแอด รวมถึงบางคนโดนทำของคุณไสย ก็จะมาขอความช่วยเหลือ และรักษาให้จนหายดีเป็นปกติ
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชื่อเสียงโด่งดังไปไกล คนไข้เจ็บป่วยเดินทางมาหาให้รักษาอยู่อย่างไม่ขาดสาย ทั้งลูกศิษย์ลูกหาและพุทธศาสนิกชนในจังหวัดชัยนาท เกิดความเลื่อมใสและเคารพศรัทธาเป็นอย่างมาก
มีความเชื่อว่าเป็นผู้มีวาจาสิทธิ์ไม่ว่าพูดอะไรก็จะเป็นจริงเสมอ ด้วยอุปนิสัยเป็นคนเที่ยงตรงพูดคำไหนคำนั้น เป็นคนจริง ยิ่งทำให้ผู้คนต่างเกรงขามโดยเฉพาะลูกศิษย์ลูกหา
นอกจากจะช่วยเหลือชาวบ้านที่ตกทุกข์ได้ยากแล้ว ยังนำพาให้วัดเจริญรุ่งเรือง สร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุในวัดอีกมากมายด้วย สร้างพระไตรปิฎกและหอพระไตรกลางน้ำ สร้างกุฏิสงฆ์ และจัดระเบียบใหม่ทั้งหมด สร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่วัดตลุก
ในปี พ.ศ.2461 ดำริจะสร้างศาลาหลังใหม่ ก็มีชาวบ้านช่วยกันร่วมสร้าง ต้องไปซื้อไม้มาจากนครสวรรค์
ขณะที่ท่านไปนครสวรรค์นั้นพอดีกับเศรษฐีใหญ่ของนครสวรรค์ชื่อสมบุญล้มป่วยอยู่ รักษาอย่างไรก็ไม่หาย จนต้องตั้งสินบนให้กับผู้ที่รักษาให้หายได้ถึง 10 ชั่ง แต่ก็ไม่มีผู้ใดรักษาให้หายได้
ญาติของเศรษฐีผู้นั้นได้ข่าวว่า หลวงพ่ออ่ำขึ้นมาที่นครสวรรค์ ได้รับทราบกิตติศัพท์ จึงพากันไปนิมนต์มารักษา
โดยนำยาในย่ามมาฝนให้กิน กินอยู่ไม่กี่ครั้งปรากฏว่าอาการดีขึ้น และอีกไม่กี่วันก็หายสนิท เศรษฐีสมบุญเกิดศรัทธา และทราบว่ากำลังสร้างศาลา จึงได้ถวายเงินหลายสิบชั่งและถวายเรือสำเภาลำใหญ่ เพื่อให้เอาไม้มาทำศาลาด้วย
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2467 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสถิตสมณวัตร เจ้าคณะแขวงสรรพยา
หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2468 เริ่มอาพาธและมรณภาพลง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2468 สิริอายุ 71 ปี •
โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022