เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

The Sky Is Not The Same การบันทึกความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมรอบตัว ด้วยผลงานจิตรกรรมเปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก

12.05.2025

The Sky Is Not The Same

การบันทึกความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมรอบตัว

ด้วยผลงานจิตรกรรมเปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก

 

 

ความเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์

แต่ในปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงจากน้ำมือมนุษย์นั้นไม่เพียงแต่จะสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบให้กับตัวมนุษย์เองด้วยซ้ำไป

เช่นเดียวกับสิ่งที่ อำนาจ วชิระสูตร จิตรกรร่วมสมัยชาวไทย สื่อสารผ่านผลงานนิทรรศการครั้งล่าสุดของเขาอย่าง The Sky Is Not The Same

อำนาจเป็นศิลปินผู้ทำงานจิตรกรรมที่ผสมผสานระหว่างความเป็นรูปธรรมและนามธรรม ด้วยการใช้สีสันและร่องรอยบนพื้นผิวอันเปี่ยมเอกลักษณ์

ผลงานของเขาได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมป๊อป อย่าง ภาพยนตร์, ภาพถ่าย และภาพที่พบเจอในสื่อรอบๆ ตัว ทั่วๆ ไป

ภาพวาดของเขานำเสนอทั้งความเป็นจริงและสิ่งที่อยู่เหนือไปจากโลกของความจริง เป็นการผสมผสานระหว่างจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก

ในนิทรรศการครั้งนี้ อำนาจถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัวที่เขาได้พบเห็นและสัมผัสการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมรอบตัว ในพื้นที่ที่เขาอาศัยมาอย่างยาวนาน

จากการที่เคยอยู่อาศัยอย่างคุ้นเคยและสงบสุข กลับถูกแปรเปลี่ยนไปด้วยการขยายตัวของเมือง

“ผลงานชุดนี้ ผมได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมมานานกว่า 20 ปี ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย และกิจวัตรประจำวันที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง”

“ทุกเย็นผมมักจะเดินเล่นในสวนสาธารณะท้องถิ่น ซึ่งทำให้ผมรู้สึกสงบและผ่อนคลาย จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มแทรกซึมเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้”

“เริ่มจากการก่อสร้างทางรถไฟฟ้าสายใหม่ที่ขยายออกมาในพื้นที่ ทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่โล่งและเงียบสงบ ค่อยๆ กลายเป็นที่แออัด เส้นขอบฟ้าที่เคยกว้างไกล ถูกบดบังด้วยโครงสร้างเหล็กและคอนกรีตของทางรถไฟฟ้า เสียงของธรรมชาติที่เคยมีชีวิตชีวา ถูกแทนที่ด้วยเสียงของการก่อสร้างและความพลุกพล่านจากการพัฒนาใหม่ๆ ของเมือง”

“พื้นที่ที่เคยเป็นชุมชมก็กลายเป็นพื้นที่รกร้าง ท้องฟ้าที่เคยโปร่ง สดใส ถูกบดบังด้วยมลภาวะ ฝุ่นควัน จากการก่อสร้าง เสียงของธรรมชาติถูกกลบด้วยเสียงก่อสร้างและเสียงเครื่องจักร”

“สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมสงสัยว่าการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้จะเป็นการพัฒนาที่แท้จริงได้อย่างไร การขยายตัวของเมืองเหล่านี้เหมือนถูกทำขึ้นเพื่อทำลายความฝันของผู้คน และกลับจะยิ่งทำให้คนลำบาก มากกว่าที่จะสะดวกสบายยิ่งขึ้น”

“ในฐานะที่ผมเป็นจิตรกร ผมก็เลยระบายความรู้สึกเหล่านี้ออกมาผ่านผลงานของผม ทั้งความเครียดจากการเปลี่ยนแปลง และการสูญเสียสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่คุ้นเคย และความปรารถนาต่อสิ่งที่เคยมีค่าที่กำลังจะหายไป”

“ผมทำผลงานชุดนี้ขึ้นมาเพื่อจับภาพความงามที่แฝงไว้ด้วยความสะเทือนใจในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ด้วยการเอาโลกแห่งความเป็นจริงมาพบเจอกับโลกแห่งความฝันและอารมณ์ความรู้สึก และถ่ายทอดออกมาด้วยกระบวนการเก็บความประทับใจแบบฉับพลันแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ (Impressionist) ด้วยความที่ผมใช้วิธีการถ่ายภาพสิ่งที่ประทับใจมาใช้เป็นต้นแบบ เป็นสารตั้งต้นในการทำงาน แต่ผมก็ไม่ได้ลอกเลียนแบบภาพถ่ายให้เหมือนเป๊ะๆ แต่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในที่มีต่อสภาพแวดล้อมเหล่านั้นผ่านภาพวาดออกมา”

“เป็นความประทับใจที่เราถ่ายทอดออกมาโดยฉับพลันทันทีที่เราเห็นภาพ จะเรียกเราว่าเป็นศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ของยุคสมัยนี้ก็ได้”

เช่นเดียวกับผลงานในนิทรรศการที่ผ่านๆ มา อำนาจถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของเขาผ่านการใช้สีสันและร่องรอยบนพื้นผิวอันเปี่ยมเอกลักษณ์ จนกลายเป็นภาพวาดที่ผสมผสานระหว่างความเป็นรูปธรรมและนามธรรม ความเป็นจริงและจินตนาการจากจิตใต้สำนึก เพื่อสร้างบทสนทนาอันเปิดกว้าง เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ตีความได้อย่างอิสระ

แต่แทนที่จะใช้สีสันอันเคร่งขรึมในโทนสีเอกรงค์ (Monochrome) ที่มีสีสันแต่เพียงน้อย และสร้างมิติและรายละเอียดของภาพวาดด้วยการใช้พื้นผิวและฝีแปรงอันเปี่ยมพลังความเคลื่อนไหว ในนิทรรศการครั้งนี้

อำนาจกลับเลือกใช้สีสันหลายหลาก ตั้งแต่สีขาวและดำอันเคร่งขรึม ลึกลับ สีส้มแสดกระจ่างตา สีเขียวสดใสชุ่มฉ่ำ สีน้ำเงินลึกล้ำ ไปจนถึงสีพาสเทลอันอ่อนหวาน

โดยเลือกใช้และผสมผสานสีสันต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและเต็มเปี่ยมไปด้วยจังหวะจะโคน

มุก อรรถการวงศ์ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ กล่าวถึงที่มาที่ไปเบื้องหลังนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“ด้วยความที่แกลเลอรี ATT19 ของเรามุ่งเน้นในการสนับสนุนศิลปินไทย และเราเองก็เป็นแฟนคลับของคุณอำนาจมานานอยู่แล้วด้วย เราก็เลยเชิญเขาให้มาแสดงงานที่นี่โดยมีเวลาหนึ่งปีเพื่อเตรียมตัว”

“ในครั้งนี้ก็เลยมีผลงานใหม่ๆ ที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาสำหรับนิทรรศการครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานขนาดใหญ่ที่เราไม่เคยเห็นเขาทำมาก่อน ไปจนถึงงานที่มีสีสันสดใสจนน่าประหลาดใจมาก เพราะเราไม่เคยเห็นเขาใช้สีสันมากขนาดนี้มาก่อน”

“ที่สำคัญ ผลงานชุดนี้ค่อนข้างมีความเป็นส่วนตัว นอกจากสำหรับตัวศิลปินแล้ว ยังประจวบเหมาะกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับแกลเลอรี ATT19 ตอนนี้ เหตุผลที่นิทรรศการเราตั้งชื่อว่า The Sky Is Not The Same เพราะคุณอำนาจดึงเอาประสบการณ์ส่วนตัวที่เขาเคยอยู่ในละแวกเดิมๆ ที่มีสภาพแวดล้อมเดิมๆ มากว่า 20 ปี แต่อยู่ๆ สภาพแวดล้อมของเขาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ไม่มั่นคง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการพัฒนาเมือง จนทำให้ท้องฟ้าของเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

“เหตุการณ์นี้ก็บังเอิญเกิดขึ้นกับเราเหมือนกัน ที่มีตึกสูงกำลังถูกสร้างขึ้นมาบดบังทิวทัศน์จากหลังคาที่เปิดให้เห็นท้องฟ้า แล้วเรารู้สึกตกใจมาก จากที่เราเคยคิดว่าพื้นที่นี้เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเรา ตอนนี้เรารู้สึกเหมือนกับว่าอาจจะมีคนอื่นมองลงมาเห็นเราได้ และอาจจะมีเงาของตึกบังท้องฟ้าที่เราเคยเห็น”

“เราเคยคุยกับคุณอำนาจว่า การอยู่ในเมืองไทย การอยู่ในกรุงเทพฯ นั้น เราไม่สามารถยึดติดกับสิ่งที่เราอยากให้เป็น ว่าจะอยู่อย่างจีรังยั่งยืน ไม่เปลี่ยนแปลงได้”

“แต่สิ่งที่คุณอำนาจทำ คือการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขา สิ่งที่เขาเห็น ลงบนผืนผ้าใบ ซึ่งเรารู้สึกว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจ และรู้สึกว่ามีคนไทยจำนวนน้อยคนที่จะทำงานในลักษณะนี้ได้ เราอยากให้ทั้งผู้ชมไทยและผู้ชมต่างชาติได้เห็นศักยภาพของคนไทย เวลาเราทำนิทรรศการแสดงเดี่ยวสักครั้ง เราค่อนข้างจะพิถีพิถันในการเลือกศิลปินมากๆ”

“เพราะเราอยากให้คนเห็นว่าศิลปินไทยก็ทำงานที่มีคุณภาพแบบนี้ได้”

“ด้วยความที่เราชอบผลงานและความเป็นตัวตนของคุณอำนาจ เราจึงเปิดอิสระให้เขาทำงานอย่างที่เขาอยากทำโดยไม่มีกรอบควบคุมเขา แต่พอเขาทำงานที่มีสีสันหลากหลายออกมา เรายิ่งรู้สึกว่าผลงานของเขาชุดนี้เข้ากับพื้นที่เรามากๆ”

“จะเห็นได้ว่าในนิทรรศการครั้งนี้มีผลงานทั้งเก่าและใหม่แสดงอยู่ร่วมกัน แต่ถึงกระนั้นก็สามารถมาอยู่ร่วมกันได้ สิ่งที่เราชอบในผลงานของคุณอำนาจก็คือ เวลาเรามองผลงานของเขาไม่ว่าจะจากมุมไหน ก็จะมีความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไปในทุกครั้งที่เห็น ไม่เหมือนเดิมเลยสักครั้ง”

“ที่น่าสนใจก็คือผลงานของเขาเปิดให้ผู้ชมตีความได้อย่างเสรี เราอาจจะดูไม่ออกว่างานเขาเป็นเรื่องราวอะไร บางคนดูแล้วอาจจะรู้สึกมีความสุข ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงเรื่องราวเบื้องหลังงานอาจจะไม่มีความสุขเลยก็ได้”

“เราคิดว่านี่คือหน้าที่ของงานศิลปะ ที่สามารถทำให้คนรู้สึกไปกับงานได้ โดยส่วนตัว เราคิดว่างานในลักษณะนี้ไม่ได้ทำง่ายๆ หลายคนอาจนึกว่างานแบบนี้ทำง่าย แต่ในความเป็นจริงเป็นงานที่ต้องสั่งสมประสบการณ์อย่างมาก มีน้อยคนที่จะทำงานให้คนรู้สึกไปด้วยได้ แต่คุณอำนาจทำได้ นี่คือเหตุผลที่เราเลือกเขามาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้”

“ถึงแม้ ATT19 จะเป็นแกลเลอรีในเชิงพาณิชย์ แต่ในอีกแง่หนึ่ง เราทำหน้าที่ในการให้ความรู้กับผู้ชมด้วย เพราะว่าคนที่มาชมงานของเรานั้นมีหลากหลายมาก ไม่ใช่แค่นักสะสมที่ซื้อผลงาน แต่มีทั้งนักท่องเที่ยว นักศึกษา และเยาวชนมากันบ่อยๆ เราเลยอยากจะจัดนิทรรศการที่สื่อสารกับผู้ชม เพื่อให้คนได้รู้จักวงการศิลปะไทยมากขึ้น และเป็นกระบอกเสียงให้ศิลปินไทยได้มากขึ้น”

“สิ่งที่กระตุ้นให้เราทำนิทรรศการให้ผู้ชมเข้าชมฟรีมาตลอด คือเหตุการณ์ที่มีเด็กคนหนึ่งมาดูงานแล้วถามเราว่า ผมไม่เข้าใจงานศิลปะแล้วเขารู้สึกว่าตัวเองโง่ เขาโง่ไหม? เราเลยรู้สึกว่าเราต้องทำพื้นที่ที่ทำให้คนไม่รู้สึกว่าถูกด้อยค่า เราอยากให้คนเข้ามาสัมผัสงานได้ง่าย และเพลิดเพลินมีความสุขกับงาน บางทีก็อาจจะได้พบเจอกับศิลปินที่สร้างผลงานด้วย เรารู้สึกว่านี่คือพื้นฐานที่ดีของแกลเลอรี่ ที่ทำให้งานศิลปะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องซื้อ คุณถึงจะชื่นชมและรู้สึกดีกับงานศิลปะได้”

นิทรรศการ The Sky Is Not The Same โดย อำนาจ วชิระสูตร และภัณฑารักษ์ มุก อรรถการวงศ์ และ ธีรพจน์ ธีโรกาส จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน-26 มิถุนายน 2568 ที่แกลเลอรี ATT19 เจริญกรุง 30 (ตรอกกัปตันบุช) •

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

พระพิมพ์กลีบบัว เนื้อดินเผา วัตถุมงคลเก่าแก่ของวัดลิงขบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เสก
ร้อนสุดขั้ว ‘สะท้านโลก’
อสังหาฯ ปรับแผนเปลี่ยนกลยุทธตลาด
‘โจบ’ บนเส้นทางเดียวกับ ‘จู๊ด’ แต่อยากยิ่งใหญ่ในแบบของตัวเอง
ชัยชนะของ AIS-GULF-JAS คนไทยเฮพร้อมดูบอลไทยลีกฟรี!
ยำรวมมิตร (กินกับข้าวต้ม)
เจาะลึกสถานการณ์ค่าย ‘NETA’ กับอนาคตตลาดรถ EV เมืองไทย
ดาวกับดวงวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2568
จดหมาย
กลาก สังคัง ฮ่องกงฟุต มะเขือขื่นตอบโจทย์ได้
เดินตามดาว | ศรินทิรา
ขอแสดงความนับถือ