

เกิดเป็นประเด็นดราม่าขึ้นอีก หลังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบาย “ยกเว้น” การแต่งเครื่องแบบ “ลูกเสือเนตรนารี” โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) เตรียมจัดทำประกาศยกเว้นการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารีของสถานศึกษาสังกัด ศธ.เพื่อให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ระบุว่า สลช.ได้จัดทำประกาศยกเว้นการแต่งเครื่องแบบลูกเสือฯ โดยประกาศอย่างเป็นทางการภายในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยการดำเนินการดังกล่าวก็เป็นไปตามสภาพ “เศรษฐกิจ” และสภาพ “อากาศ” ตามบริบทของพื้นที่ต่างๆ ซึ่งชุดลูกเสือตามประกาศ จะมีอยู่ 3 ชุด ประกอบด้วย ชุดพิธีการ ชุดฝึก และชุดลำลอง
โดย ศธ.มองว่าเรื่องการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนสามารถกำหนดเครื่องแบบตามความเหมาะสมได้ อย่างการเรียนวิชาลูกเสือ ผู้เรียนสามารถแต่งชุดพละ หรือชุดนักเรียน ที่ใส่กันปกติอยู่แล้ว แต่ใช้ผ้าพันคอลูกเสือเป็นสัญลักษณ์แทน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องซื้อชุดลูกเสือใหม่ให้กับลูกหลานอีก
ซึ่งแน่นอนว่านโยบายดังกล่าว มีทั้ง “ข้อดี”, “ข้อเสีย” และ “ผลกระทบ” ที่จะเกิดตามมาอย่างแน่นอน
เนื่องจาก ศธ.แจ้งกะทันหัน แม้จะเคยเปรยๆ เรื่องนี้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นแค่พูดลอยๆ ไม่ได้ออก “ประกาศ” ทางการเหมือนครั้งนี้
ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น “ผู้ปกครอง” และ “ผู้ประกอบการ” ที่จำหน่ายชุดลูกเสือ อาจเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ทัน!!
แม้ว่าเรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็น “ข่าวดี” สำหรับนักเรียน และผู้ปกครอง ที่ผู้บริหาร ศธ.ต้องการลดภาระค่าใช้จ่าย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในปัจจุบัน และสภาพอากาศที่ร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ในหลายพื้นที่
แต่ก็มีผู้ปกครองบางส่วนมองว่า ศธ.ประกาศนโยบายดังกล่าว “ล่าช้า” เกินไป เพราะการประกาศในช่วงปลายเดือนเมษายนแล้ว ผู้ปกครองส่วนหนึ่งได้พาลูกหลานไปซื้อชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ เรียบร้อยไปแล้ว ฉะนั้น หากชุดที่ซื้อไปไม่ถูกนำมาใช้ ก็เท่ากับซื้อเสียของเปล่าๆ
ดังนั้น ถ้าจะมีนโยบายอะไรออกมา ก็ควรจะประกาศให้ทราบเสียแต่เนิ่นๆ
ขณะเดียวกัน ก็ถือเป็น “ข่าวร้าย” สำหรับผู้ประกอบการร้านขายชุดนักเรียน ชุดลูกเสือทั่วประเทศ ที่ถึงกับ “ช็อก” เพราะตั้งตัวไม่ทัน เนื่องจากได้เตรียม “สต๊อก” ชุดลูกเสือไว้ข้ามปีจำนวนมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น “ต้นทุน” ทั้งสิ้น ถือเป็นการซ้ำเติมในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
นอกจากชุดลูกเสือแล้ว ยังส่งผลให้บรรดาเครื่องหมายต่างๆ หมวก ถุงเท้า ผ้าพันคอ อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับชุดลูกเสือ ขายไม่ได้อีกด้วย
โดยผู้ประกอบการจำหน่ายชุดนักเรียนหลายราย พูดตรงกันว่า ถ้า ศธ.จะยกเว้นไม่ต้องแต่งชุดลูกเสือ ควรจะบอกล่วงหน้า 1 ปี อย่างน้อยเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาระบายสินค้า และไม่ต้องสั่งสต๊อกสินค้าเพิ่ม
นโยบายที่ดูเหมือนจะช่วยลดภาระให้ผู้ปกครอง และนักเรียน กลับกลายเป็นการ “ซ้ำเติม” ผู้ประกอบการหรือไม่??
หลังเกิดดราม่า นายสุรศักดิ์ยืนยันว่า ศธ. “ไม่มี” นโยบาย “ยกเลิก” ชุดลูกเสือ เนตรนารี แต่อยู่ในระหว่างการแก้กฎกระทรวงเรื่องเครื่องแบบ และการแต่งกายลูกเสือฯ ซึ่งตามระเบียบใหม่จะมีชุดให้เลือกมากขึ้น ทั้งชุดแบบทางการ และชุดลำลอง ดังนั้น โรงเรียนสามารถพิจารณาว่าจะให้นักเรียนใส่ชุดลำลอง หรือชุดลูกเสือ เนตรนารีตามปกติ
ถือเป็นการเพิ่ม “ทางเลือก” การแต่งกายชุดลูกเสือ จึงอยากฝากไปถึงโรงเรียนว่าให้พิจารณาได้เลยว่าจะให้นักเรียนแต่งกายแบบไหน
ขณะที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ออกมาย้ำว่า เรื่องนี้อยากให้มองในหลายมิติ เพราะเหตุผลที่แท้จริงของการยืดหยุ่นเรื่องการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ คือต้องการ “ลดภาระ” ผู้ปกครองและนักเรียน ซึ่งต้องดูตามสภาพพื้นที่ เช่น โรงเรียนในพื้นที่สูง หรือห่างไกล อนุโลมการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ให้เหมาะสมตามสภาพบริบทของพื้นที่ได้ เป็นต้น
แต่ “กิจกรรม” ที่เป็น “ทางการ” ต่างๆ ยัง “ต้องใส่” เครื่องแบบลูกเสืออยู่…
ดังนั้น ผู้ประกอบการไม่ต้องกังวลว่าชุดลูกเสือจะขายไม่ได้…
ถ้าเป็นอย่างที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูนแจกแจงมา ก็หมายความว่า ผู้ปกครองก็ยังคงต้องหาซื้อชุดลูกเสือเอาไว้ให้ลูกหลานใส่ในกิจกรรมที่เป็นทางการอยู่ดี ใช่หรือไม่??
ซึ่งดูเหมือนจะ “ย้อนแย้ง” และอาจจะสวนทางกับวัตถุประสงค์ที่บิ๊กอุ้มต้องการลดภาระผู้ปกครองและนักเรียน หรือไม่??
หรือจริงๆ แล้ว เป็นเพียงแค่ต้องการ “หาเสียง” กับผู้ปกครองเท่านั้น??
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ ผู้ปกครองต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเต็มไปหมด ทั้งค่าเทอม ค่าชุดนักเรียน ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์ ค่าบำรุง ค่าห้องสมุด ค่าอาหารกลางวัน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าประกันชีวิต และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่โรงเรียนเรียกเก็บ ซึ่งค่อนข้างสูงถึงสูงมาก
แม้รัฐจะมีนโยบาย “เรียนฟรี 12 ปี อย่างมีคุณภาพ” แต่ดูเหมือนเป็นแค่นโยบาย “เรียนฟรีทิพย์” เนื่องจากโรงเรียนเลี่ยงไปเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ แทน
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ออกมาเปิดเผยตัวเลขค่าใช้จ่ายช่วงใกล้เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 ในเดือนพฤษภาคมนี้ พบว่า สถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างวิกฤต และท้าทาย โดยเฉพาะในส่วนของ ศธ.และรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เพราะผู้ปกครองต้องเตรียมเงินมากขึ้น จากการสำรวจพบว่า ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า อยู่ที่ 25,000-28,000 บาท
ดังนั้น “เรียนฟรี” จึงไม่มีจริง แต่เป็นเรียนฟรีทิพย์
แม้ ศธ.จะพยายามเปลี่ยนแปลงหลายๆ เรื่อง อาทิ ยกเว้นการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครองได้ประมาณ 1,500 บาท คิดเป็น 6% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเหลือ 23,000 บาท หรือ 94% แต่ก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ในภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคือง มีความเสี่ยงตกงานสูง หนี้สินเพิ่มมากขึ้น และยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย
ศ.ดร.สมพงษ์มองว่า ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ปกครองที่จะนำลูกหลานออกจากระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพราะหากดูตัวเลขเด็กที่เคยออกกลางคันเมื่อปี 2566 ที่มีกว่า 1 ล้านคน แต่ติดตามกลับมาเรียนได้ 9.8 แสนคน ขณะเดียวกันก็มีเด็กเข้าออกตลอดเวลา
ดังนั้น การช่วยเหลือครอบครัวระดับล่าง หรือครอบครัวยากจน ให้ไปต่อได้ จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายมาก…
ศ.ดร.สมพงษ์เห็นว่า ถ้าภาระค่าใช้จ่ายในการเรียนที่ยังสูงอยู่ จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่เด็กจะหลุดออกนอกระบบในช่วงที่เปิดเทอมใหม่ได้ครึ่งต่อครึ่ง
ดังนั้น ศธ.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือ สำหรับค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องจ่ายอีก 94% ต้องหาทางลดค่าเทอม และค่าบำรุงโรงเรียน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่หนักที่สุดอย่างไร และส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ปกครองมากที่สุด
นอกจากนี้ ศธ.ยังต้องจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ชีวิต ทั้งเรียน และทำงานควบคู่กันไป อีกทั้งยังมีเด็กอีกประมาณ 1.8 ล้านคน ที่เสี่ยงหลุดจากระบบสูงมาก และยังมีเด็กๆ อีก 5-6 แสนคน ที่ไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแลจริงจัง หน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีมาตรการอย่างไร
ดังนั้น รัฐมนตรี ศธ.และผู้เกี่ยวข้อง คงต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือผู้ปกครองที่ฐานะไม่ดี และหาวิธีลดค่าใช้จ่ายให้ได้จริงๆ สำหรับเด็กๆ กลุ่มเสี่ยงนี้…
ซึ่งถือเป็น “โจทย์ใหญ่” และ “ท้าทาย” อย่างมาก…
ไม่เช่นนั้น ความตั้งใจดีๆ ที่ทำมา ก็อาจกลายเป็นความ “สูญเปล่า”!! •
| การศึกษา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022