
รบ.โยนหินกู้ 5 แสนล้าน สู้วิกฤตภาษีทรัมป์ ไร้เสียงค้าน…แต่เตือนรอบด้าน!!

บทความเศรษฐกิจ
รบ.โยนหินกู้ 5 แสนล้าน
สู้วิกฤตภาษีทรัมป์
ไร้เสียงค้าน…แต่เตือนรอบด้าน!!
จากนโยบายการปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเข้ามาบั่นทอนเศรษฐกิจทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยที่มีการการส่งออกมากถึง 60% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ หรือของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องนี้เต็มๆ
เพราะสหรัฐก็เป็นคู่ค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอันดับสอง รวมทั้งผลกระทบอีกมากมาย อาทิ การที่สินค้าราคาถูกโดยเฉพาะจากจีน อาจจะไหลเข้ามาในประเทศเพิ่ม
ผลกระทบครั้งนี้หลายสำนักเศรษฐกิจมองว่าหนักหนาสาหัส!!
ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ 2.1% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองจีดีพีไทย 1.3-2% ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้ม 1.4% สอดคล้องกับธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ปรับลดประมาณการจีดีพีไทยเหลือเพียง 1.6% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เหลือ 1.8%
จึงเหมือนเสียงสะท้อนว่ารัฐบาลจะต้องหามาตรการอะไรสักอย่างมาดูแลเศรษฐกิจไทยปี 2568 เพื่อบรรเทาปัญหาให้ได้มากที่สุด
คอนเซ็ปต์แรกๆ คือการกระตุ้นเศรษฐกิจและเติมสภาพคล่องในธุรกิจ แต่การที่รัฐบาลจะกระตุ้นให้เกิดเป็นใหญ่ก็จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก จึงมีกระแสว่าจะต้องใช้เงินมากถึง 5 แสนล้านบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้
แล้วเงินมากถึง 5 แสนล้านบาทรัฐบาลจะหามาจากไหน?
มีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะทำการกู้เงิน แต่ทำได้ยาก เพราะเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาทเท่ากับ 3% ของจีดีพี ที่ผ่านมาสถานการณ์การคลังของรัฐบาลก็ทำงบประมาณขาดดุลมาตลอด และเป็นการกู้ขาดดุลที่ค่อนข้างสูง
ในช่วงโควิดปี 2565 มีการกู้ขาดดุล 7 แสนล้านบาท ปี 2566 ตั้งงบฯ ขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท ปี 2567 ตั้งงบฯ ขาดดุล 6.93 แสนล้านบาท ปี 2568 ตั้งงบฯ ขาดดุล 8.65 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งงบฯ ชดเชยการขาดดุลสูงสุดที่ 4.5% ของจีดีพี และปี 2569 ตั้งงบฯ ขาดดุลลงที่ 8.6 แสนล้านบาท ซึ่งหนี้ทั้งหมดที่กู้ไปก็จะนับอยู่ในหนี้สาธารณะ
ขณะเดียวกันหนี้ของรัฐบาลชุดก่อนที่หาเงินมาใช้แก้วิกฤตช่วงโควิด-19 ก็สูงเช่นกัน มากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลในตอนนั้นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ของจีดีพี
ปัจจุบันหนี้สาธารณะ ณ เดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ 12.08 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 64.42% ต่อจีดีพี และหากมีเพียงแผนการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล สิ้นปีงบประมาณ 2568 หนี้จะเพิ่มไปอยู่ที่ 65.5% และปีงบประมาณ 2569 จะเพิ่มเป็น 67.3% ซึ่งก็ปริ่มๆ เพดาน
แล้วถ้าจีดีพียังคงขยายตัวต่ำต่อไป ก็ไม่เพียงพอสำหรับการกู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท
หลังเกิดกระแสว่าจะกู้เงินนั้น ทางด้านฝ่ายค้าน อย่าง ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน ระบุว่า กระแสการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทของรัฐบาล เหมือนโยนหินถามทางเรื่องการกระตุ้นการบริโภค การให้สินเชื่อดอกเบี้ย แต่จากสถานภาพการคลังของประเทศ หากรัฐจำเป็นต้องกู้ 5 แสนล้านบาทจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากพื้นที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เพียงพอ เพราะรัฐก็ต้องกู้เพิ่มชดเชยขาดดุลงบประมาณประจำปี 2569 ด้วย
ศิริกัญญาไม่ได้คัดค้านการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทของรัฐบาล เพราะมองว่าสภาพความเป็นจริงไม่ช้าก็เร็ว ต้องมีการหาเม็ดเงินมารองรับวิกฤต ฉะนั้น จำเป็นที่จะต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ มิเช่นนั้นก็จะไม่มีงบประมาณมากเพียงพอที่จะไปใช้ในการอุดหนุนเงินให้กับแผนเยียวยา กระตุ้น และปฏิรูปประเทศได้
ด้าน อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า การกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทของกระทรวงการคลังเพื่อนำมาใช้จ่ายดูแลเศรษฐกิจ ต้องเน้นไปที่การลงทุน ส่วนมาตรการประชานิยมพักหนี้ แจกเงิน อาจไม่ได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบยั่งยืน เพียงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ บรรเทาปัญหาวิกฤตหนี้สิน
เช่นเดียวกับ ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ระบุว่า ในช่วงที่โลกคับขันขนาดนี้และจะคับขันอย่างนี้ต่อไป เราต้องรักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี โดยเฉพาะพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากหากเราไม่สามารถเก็บเงินไว้ อย่างที่เห็นในช่วงโควิด-19 ที่สามารถนำเงินออกมาใช้ได้เพราะเก็บเอาไว้มานาน และกู้เงินต่ำกว่าเพดานหนี้
“ขณะนี้กำลังเกินเพดานอยู่แล้ว ต้องพยายามรักษาไว้ให้ได้ อย่าใช้อะไรที่เกินกว่าเพดาน เพราะอีกไม่นานต้องเข็นออกมาใช้มากๆ แน่นอน ขอฝากกระทรวงการคลังว่าต้องมีภูมิคุ้มกันในเรื่องพื้นที่ทางการคลังให้มาก” นายศุภชัยระบุ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่มีใครออกมายืนยันว่าจะใช้ช่องทางการกู้เงินหรือไม่ โดยกระทรวงการคลังยังไม่ได้สรุปเรื่องการเดินหน้ากู้เงิน 5 แสนล้านบาท
ขณะนี้โดยกระทรวงคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงภาคเอกชน กำลังพิจารณามาตรการรับมือนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกา ตลอดจนวงเงินที่ชัดเจน สำหรับวงเงินที่จะมาใช้ทำมาตรการนั้น ยังหาได้จากหลายช่องทาง อาทิ งบประมาณปีปัจจุบัน หรือเม็ดเงินใหม่ เช่น งบประมาณปี 2569 เป็นต้น ดังนั้น แนวทางสุดท้ายที่จะพิจารณาคือ การกู้เงิน
สำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในมือรัฐบาลนั้น ที่โดดเด่นคือ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงิน 1 หมื่นบาท รัฐบาลกำลังดำเนินเฟสที่ 3 สำหรับกลุ่มอายุ 16-20 ปีที่ยืนยันไว้ว่าจะแจกภายในไตรมาสที่สองนี้ ส่วนโครงการในเฟสต่อไปนั้น ยังไม่มีรายละเอียด
โดย พิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า จะนำโครงการกลับมาทบทวนอีกครั้ง สวนทางกับ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันเดินหน้าต่อตามปกติ
ทั้งนี้ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงิน 1 หมื่นบาท คือการสานต่อจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมีการแจกเงินสำเร็จไปแล้ว 2 เฟส คือ เฟสแรก เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (บัตรคนจน) และผู้พิการ 14.5 ล้านคน และเฟสสอง คือกลุ่มผู้สูงอายุ 3.02 ล้านคน คิดเป็นเงินที่ใช้ไปแล้วราว 1.75 แสนล้านบาท
ส่วนเฟสสาม และส่วนที่เหลือยังคงต้องการเงินอีกประมาณมากกว่า 2 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลกันสำหรับโครงการนี้เพียง 1.5 แสนล้านบาท
สถานการณ์ด้านรายได้ของรัฐบาลไม่ได้สู้ดีนัก ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567-มีนาคม 2568) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.195 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับประมาณการ ส่วนรายจ่ายปัจจุบันในงบประมาณนั้นก็ใช่ว่าจะตัดออกได้ง่ายๆ เพราะเป็นรายจ่ายประจำเสียส่วนใหญ่
เมื่อรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย และรายจ่ายก็สำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนหนี้ก็ยังสูง แม้มีวินัยชำระคืนอยู่บ้าง แต่ไม่ได้แปลว่าจะชำระหมดในเร็ววัน
สมการนี้ต่อให้เซียนการเงินก็แก้ยาก มาลุ้นกันว่ารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022