

บทความพิเศษ | พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
อาเซียนเบอร์ 2
ลองเยี่ยมอาเซียนเบอร์ 1
ในช่วงเวลาที่อาเซียนกำลังถูกทดสอบจากแรงปะทะของระเบียบโลกที่สั่นคลอน-สงครามภาษี การเปลี่ยนขั้วอำนาจ และความไร้เสถียรภาพของกลไกระหว่างประเทศ
ผมมีโอกาสเดินทางไปอินโดนีเซีย เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของอาเซียน พบกับสองบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยอินโดนีเซีย
อดีตประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน (SBY) และ ดร.มาร์ตี นาตาเลกาวา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ
บทสนทนานั้นไม่ได้เป็นแค่การย้อนรำลึกถึงอดีต แต่เป็นกระจกที่ทำให้ผมมองเห็นประเทศไทยชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะคำถามสำคัญว่า :
ทำไมประเทศที่ก็เคยปัญหาที่คล้ายๆ ไทย พร้อมปัจจัยที่อาจจะท้าทายมากกว่าเราด้วยซ้ำ กลับลุกได้ไว และเดินหน้าไปได้ไกลกว่าเรา?
ปัญหาสองระดับของไทย
: บนโต๊ะ-ใต้โต๊ะ
ประเทศไทยวันนี้เผชิญกับปัญหาสองระดับที่ต้องรีบแก้ไขเร่งด่วนเฉพาะหน้า :
– บนโต๊ะ – (trade negotiation on the table) วิกฤตการค้าระหว่างประเทศ เช่น สงครามภาษีที่ไทยต้องเผชิญจากการส่งออกไปสหรัฐ และแนวโน้มกีดกันการค้าในหลายอุตสาหกรรม
– ใต้โต๊ะ – (corruption under the table) ระบบราชการรวมศูนย์ อำนาจดุลพินิจสูง และโครงสร้างผูกขาดที่ก่อให้เกิดคอร์รัปชั่นซ้ำซาก
ปัญหาใต้โต๊ะนี้ทำให้ไทยไม่มี “หลังบ้าน” ที่มั่นคงพอ
ไม่มี domestic capability ที่จะเป็นฐานในการวางแผนเจรจาระดับโลก global challenges หรือปรับตัวเชิงยุทธศาสตร์อย่างทันท่วงที
เมื่อมาเยือนอินโดนีเซีย ผมได้บทเรียนจากการพูดคุยกับอดีตผู้นำของเขาดังต่อไปนี้ครับ
President SBY
: นายพลที่ปลดอำนาจตนเอง
อินโดนีเซียเคยผ่านยุคมืดของระบอบซูฮาร์โตที่รวมศูนย์อำนาจเบ็ดเสร็จถึง 32 ปี หลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 ประเทศนี้เกือบจะกลายเป็นรัฐล้มเหลว แต่กลับฟื้นได้เพราะผู้นำที่กล้าสลายอำนาจเก่าเพื่อสร้างระบบใหม่
ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน (SBY) เป็นนายพลผู้เลือกจะ “ลดอำนาจตนเอง” เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคง เขาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลายประการ :
– ยุติระบบ Dwifungsi ABRI ตัดบทบาททหารออกจากการเมือง
– กระจายอำนาจ (Decentralisasi) ไปยังท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ
– เสริมความเป็นอิสระให้ศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการปราบปรามคอร์รัปชั่น (KPK)
– วางรากฐานเศรษฐกิจมหภาคใน “ทศวรรษทอง” (Masa Keemasan) ที่ GDP โตเฉลี่ย >5% ต่อปี แม้เผชิญวิกฤตการเงินโลกในปี 2008
เหนือสิ่งอื่นใด SBY แสดงให้เห็นว่า ความมั่นคงของสถาบัน คือพื้นฐานที่ทำให้การต่างประเทศมีทิศทางและความน่าเชื่อถือ
ดร.มาร์ตี
: การต่างประเทศที่มีสมรรถภาพ
ไม่ใช่แค่จุดยืน
ดร.มาร์ตี นาตาเลกาวา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ผู้เป็นสัญลักษณ์ของการทูตแบบมีอุดมการณ์ เป็นเขยของประเทศไทย-โดยสมรสกับบุตรสาวของอาจารย์ศักดิชัย บำรุงพงศ์ นักเขียนระดับตำนาน เจ้าของนามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์” ผู้เขียน ปีศาจ และ สายสีมา นิยายที่เป็นที่รู้จักของผู้อ่านสายก้าวหน้า และเป็นชื่อที่คุ้นเคยของผู้อ่านสำนักพิมพ์มติชนมายาวนาน
ในเวทีโลก อินโดนีเซียไม่ได้เลือกข้างในมหาอำนาจ แต่เลือก “สร้างสมรรถภาพของตัวเอง” ดร.มาร์ตีเรียกสิ่งนี้ว่า Neutrality as Capability – ความเป็นกลางไม่ใช่ท่าที หากแต่คือขีดความสามารถที่ต้องออกแบบและฝึกฝน
นโยบายนี้ทำให้อินโดนีเซีย :
– เดินสายเชื่อม G20, BRICS และ East Asia Summit ได้อย่างกลมกลืน
– เจรจาการค้ากับสหรัฐ ได้เร็วกว่าประเทศที่ตกเป็นเป้าโดยตรง
– ใช้ยุทธศาสตร์ “เพิ่มการนำเข้า-ลดแรงต้าน” จากวอชิงตัน ควบคู่กับการสร้างพันธมิตรด้านแร่นิกเกิลในโครงการ EV
ตัวเลขไม่โกหก
: อินโดนีเซียมีภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจที่เหนือกว่าไทย
ข้อมูลปี 2024 ชี้ชัดว่า อินโดนีเซียมีฐานะการคลังและเศรษฐกิจที่พร้อมรับแรงกระแทกได้มากกว่าไทย :
ตัวชี้วัด อินโดนีเซีย ไทย
Trade-to-GDP ~41% ~129%
Public Debt-to-GDP ~40% ~62%
GDP Growth (2024) 4.8-5.0% 1.8-2.5%
GDP Size ~$1.4 trillion ~$505 billion
Trade Surplus with U.S. ~$19 billion >$43 billion
สรุปว่าอินโดนีเซียไม่เพียงแต่ใหญ่กว่าไทยถึง 3 เท่า แต่ยังเติบโตเร็วกว่า และมีพื้นที่การคลังมากกว่า ทำให้สามารถเคลื่อนไหวทางนโยบาย และเจรจาทางการค้าได้ไวกว่า ทั้งๆ ที่เขาเดือดร้อนน่าจะน้อยกว่าเรา
ถามกลับมาที่ไทย
: แล้วเราพร้อมแค่ไหน?
เราไม่มีผู้นำที่ยอมลดอำนาจของตนเองเพื่อให้ระบบเติบโต
เราไม่มีนโยบายต่างประเทศที่ใช้ “สมรรถภาพ” มากกว่าท่าที
และเราไม่มีภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจที่จะเจรจาอย่างมั่นใจในโลกที่เต็มไปด้วยแรงเสียดทาน
ขณะที่อินโดนีเซียเรียนรู้จากอดีต สร้างสถาบัน และปลดล็อกการรวมศูนย์
ไทยยังติดอยู่ใน “ทุนนิยมแบบสีเขียวขี้ม้า” khaki capitalism และระบบราชการที่ใช้การไม่ได้ในเวทีโลก
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022