เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ทรัมป์-สี จิ้นผิง : เกมนี้ต้องมีผู้ชนะ-ผู้แพ้เท่านั้นหรือ?

13.05.2025

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

ทรัมป์-สี จิ้นผิง

: เกมนี้ต้องมีผู้ชนะ-ผู้แพ้เท่านั้นหรือ?

 

พอเกิดสงครามการค้ารอบใหม่ที่ดูจะดุเดือดและรุนแรงกว่ารอบแรก ผมก็พยายามจะหาคำตอบว่าการเผชิญหน้าระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับ สี จิ้นผิง รอบนี้จะยืนยันทฤษฎีของหนังสือชื่อดังในอดีตเล่มนี้หรือไม่

Destined for War : Can America and China Escape Thucydides’s Trap? ของ Graham Allison ที่โด่งดังเมื่อสิบกว่าปีมาก่อน

หนังสือเล่มนี้มีแนวทางวิเคราะห์ว่า “เบอร์หนึ่ง” อเมริกาจะไม่มีวันยอมให้ “เบอร์สอง” อย่างจีนแซงหน้าเป็นอันขาด

ดังนั้น วอชิงตันจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อสกัดกั้นการเติบใหญ่ของปักกิ่ง

แม้จะต้องถึงขั้นทำสงครามใหญ่ก็ตาม

ในการเจาะลึกถึงสัมพันธ์ระหว่าง “มหาอำนาจที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง” กับ “มหาอำนาจที่เป็นเจ้าผู้ครองโลกอยู่” อลิสันหยิบยกแนวคิดจากนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกโบราณชื่อทิวซิดิดีส (Thucydides) ที่ตั้งทฤษฎีว่า “เมื่ออำนาจใหม่กำลังผงาดขึ้นมาแทนที่อำนาจเดิม ความขัดแย้งและสงครามมักจะตามมา”

แม้อาจารย์ฮาร์วาร์ดคนนี้จะย้ำว่าสงครามไม่ใช่เส้นทางตายตัวที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ แต่เขาเตือนว่าบทเรียนประวัติศาสตร์บอกเราว่ามันมีความเสี่ยงอันใหญ่หลวงที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าโดยไม่ตั้งใจของทั้งสองฝ่าย

หนังสือเล่มนั้นเน้นเรื่องความขัดแย้งทางทหาร แต่ผมลองขยับแว่นขยายไปพิเคราะห์ “สงครามการค้า” ที่กำลังเดือดพลุ่งพล่านวันนี้ระหว่างจีนกับสหรัฐ ก็ได้ข้อคิดที่น่าสนใจหลายประการ

ข้อแรกที่น่าวิเคราะห์คือ “กับดักของทิวซิดิดีส” คือสาเหตุแห่งความหวาดระแวงเชิงยุทธศาสตร์ของเบอร์หนึ่งกับเบอร์สอง

เมื่ออำนาจเก่าหวาดกลัวว่าอำนาจใหม่จะมาแทนที่ตน ก็ไม่ต่างกับที่สปาร์ตาหวาดระแวงเอเธนส์ในอดีต

ไม่ต้องสงสัยว่าทุกวันนี้ ทรัมป์ก็กำลังตื่นตระหนกต่อการผงาดขึ้นของจีนในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และอิทธิพลระหว่างประเทศ

สงครามการค้าระหว่างสองยักษ์ระดับโลกเริ่มต้นในรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก และดำเนินต่อมาภายใต้รัฐบาลชุดต่อๆ มาแม้ในยุคโจ ไบเดน เป็นตัวอย่างของการเผชิญหน้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ทางทหาร แต่สะท้อนถึงความกลัวว่าจีนจะมาแทนที่สหรัฐ ในฐานะผู้นำโลกผ่านระบบการค้าที่ทรัม์ปเห็นว่าอเมริกา “ถูกเอาเปรียบจากทุกคน, ไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู”

บางคนเรียกสงครามการค้าวันนี้ว่าเป็น “ศึกที่ไร้เลือดแต่เต็มไปด้วยแผลที่บาดลึก”

แม้ไม่มีการใช้กระสุนหรือขีปนาวุธแต่สงครามการค้าก็สร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วงรุนแรง

ไม่ว่าจะเป็นการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก การขึ้นราคาสินค้า และการตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีทั้งสองฝ่าย

ทรัมป์ชี้นิ้วใส่สี จิ้นผิง กล่าวหาจีนว่าค้าขายไม่เป็นธรรม ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และใช้รัฐสนับสนุนธุรกิจเกินขอบเขต

จึงตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจีนมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์

มีหรือที่สี จิ้นผิง จะยอมสยบ จึงตอบโต้ด้วยมาตรการด้านเกษตรกรรมและเทคโนโลยี

 

การเปิดหน้าชกเช่นนี้สอดคล้องกับตรรกะแบบ “ได้-เสีย” ซึ่งอลิสันเตือนว่าอาจนำไปสู่การปะทะที่รุนแรงเกินความสามารถที่จะควบคุมได้หากไม่มีความยับยั้งชั่งใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง…หรือทั้งสองฝ่าย

ที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือสนามรบในสงครามการค้านั้นสามารถขยายแนวรบไปได้อย่างกว้างขวางไร้ขอบเขต เช่น การฟาดฟันกันด้านเทคโนโลยี

ยิ่งนับวันยิ่งชัดแจ้งว่าสงครามการค้าในยุคนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สินค้า แต่ลุกลามไปสู่สนามเทคโนโลยี

ซึ่งอาจมีเดิมพันที่สูงกว่าสงครามใดๆ ในอดีต

สหรัฐจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน เช่น ชิพเซมิคอนดักเตอร์ อีกทั้งยังห้ามการใช้ผลิตภัณฑ์ของ Huawei และพยายามบังคับให้จีนขายหุ้น TikTok ออก

ส่วนหนึ่งเพราะกังวลว่าจีนจะเป็นผู้นำในด้าน AI, 5G และคอมพิวเตอร์ควอนตัมจนอเมริกาตามไม่ทัน

คำถามที่สำคัญอย่างยิ่งยวดวันนี้ก็คือยังสามารถหลีกเลี่ยงสงครามได้หรือไม่?

 

ประวัติศาสตร์ชี้ว่าความขัดแย้งระหว่างอำนาจใหม่กับอำนาจเก่ามักนำไปสู่สงคราม แต่อลิสันก็นำเสนอว่าโลกจะต้องมีความหวังว่ามนุษย์จะไม่ทำลายล้างกันเองจนเกิดหายนะระดับสากล

หลายกรณีในอดีตก็ชี้ว่าคู่กรณีในความขัดแย้งสามารถหลีกเลี่ยงสงครามได้

ด้วยการเจรจาต่อรองผ่านการทูต ความยืดหยุ่น และท้ายที่สุดต้องยอมรับการดำรงอยู่ของกันและกัน

เพราะนี่ไม่ใช่ Zero Sum Game ที่ฝ่ายหนึ่งชนะอีกฝ่ายหนึ่งต้องแพ้ราบคาบอย่างหมดสภาพ

เป็นไปได้หรือไม่ที่จีนกับสหรัฐจะตระหนักถึงความจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติเพราะต่างคนต่างต้องพึ่งพากัน หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ

ในอดีต ทั้งวอชิงตันกับปักกิ่งอาจจะไม่ต้องพึ่งพากันทางเศรษฐกิจกันมากเท่าทุกวันนี้

แต่โลกเล็กลงเพราะเทคโนโลยี และไม่ว่าทรัมป์จะยอมรับหรือไม่อเมริกากับจีนมีความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง

ต่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันซึ่งเป็น “กันชน” ที่ช่วยลดแรงกระแทก และเป็น “จุดเปราะบาง” ที่อ่อนไหวต่อแรงกดดัน

แม้ว่าทรัมป์จะปากแข็ง และตอกย้ำเสมอว่า “จีนต้องการอเมริกามากกว่าอเมริกาต้องการจีน” แต่ในความเป็นจริงก็คือสหรัฐไม่อาจจะให้โรงงานอเมริกันที่ไปผลิตสินค้าต่างๆ ในต่างประเทศกลับบ้าน

เพราะค่าแรงและปัจจัยผลิตต่างๆ ของอเมริกาไม่สามารถแข่งขันกับจีนและประเทศอื่นๆ ได้อีกต่อไป

อีกทั้งสินค้าที่ผลิตในอเมริกาก็ต้องพึ่งพาตลาดจีนหากจะขยายการผลิตให้ได้ขนาดที่คุ้มค่ากับการลงทุนในอนาคต

 

อีกปัจจัยที่สำคัญต่อการตัดสินใจของทั้งทรัมป์และสี จิ้นผิง คือบทบาทของการเมืองภายใน

หนังสือเล่มนี้มุ่งเน้นวิเคราะห์ไปในแนวทางภูมิรัฐศาสตร์เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงทางทหาร แต่สงครามการค้ามีปัจจัยที่ซับซ้อนกว่ามากนัก

เพราะความขัดแย้งระดับสากลมักถูกขับเคลื่อนโดยการเมืองภายในประเทศ

มีทั้งแรงกดดันจากสังคม เสียงของประชาชน และความนิยมทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้ง

การเมืองจีนกับอเมริกามีความแตกต่างที่อาจจะเป็นทั้งด้านบวกและลบให้กับผู้นำทั้งสอง

แม้จะไม่มีการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองในประเทศ แต่สี จิ้นผิง ก็ต้องกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมจีนเพื่อพร้อมทำสงครามการค้ายืดเยื้อกับอเมริกา

ขณะที่ทรัมป์เจอแรงกดดันการเมืองในประเทศจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเดโมแครต, นักวิชาการ, สื่อและกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่ต่อต้านนโยบายหลายด้านของทรัมป์

อีกทั้งยังต้องกังวลกับโพลทั้งหลายที่คอยสะท้อนความรู้สึกของประชาชนต่อสิ่งที่ทรัมป์ทำหรือไม่ได้ทำใน 6 เดือนแรกของการดำรงตำแหน่งรอบสอง

มิหนำซ้ำยังต้องเผชิญกับความท้าทายของการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะมีขึ้นไปปีเศษๆ นี้

หากเกิดอาการพลาดท่าเสียทีในนโยบายหลักๆ บางเรื่อง พรรครีพับลิกันอาจจะเสียที่นั่งในสภาล่างและสภาบนในการเลือกตั้งระหว่างกาลที่สามารถพลิกเกมการเมืองในประเทศได้อย่างคาดไม่ถึงเช่นกัน



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

พระพิมพ์กลีบบัว เนื้อดินเผา วัตถุมงคลเก่าแก่ของวัดลิงขบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เสก
ร้อนสุดขั้ว ‘สะท้านโลก’
อสังหาฯ ปรับแผนเปลี่ยนกลยุทธตลาด
‘โจบ’ บนเส้นทางเดียวกับ ‘จู๊ด’ แต่อยากยิ่งใหญ่ในแบบของตัวเอง
ชัยชนะของ AIS-GULF-JAS คนไทยเฮพร้อมดูบอลไทยลีกฟรี!
ยำรวมมิตร (กินกับข้าวต้ม)
เจาะลึกสถานการณ์ค่าย ‘NETA’ กับอนาคตตลาดรถ EV เมืองไทย
ดาวกับดวงวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2568
จดหมาย
กลาก สังคัง ฮ่องกงฟุต มะเขือขื่นตอบโจทย์ได้
เดินตามดาว | ศรินทิรา
ขอแสดงความนับถือ