

เมนูข้อมูล | นายดาต้า
พึงใจในผลงานที่ชวน ‘ร้องไห้’
การตระหนักรู้ถึงความจำเป็นต้องพาผู้คนของประเทศก้าวข้ามปัจจุบันไปสู่โลกอนาคต เพื่อประคองความเป็นชาติผู้นำโลก หรืออย่างน้อยคงสถานะพัฒนาแล้วไว้ ดูจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ เมื่อได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง “โดนัลด์ ทรัมป์” ต้องยอมแลก “ความเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก” กับ “การฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ที่เสื่อมทรุด และหารายได้เพื่อชำระล้างหนี้สินที่ล้นสถานะทางการคลังให้อเมริกา
ลดการขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ด้วยมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้รุนแรง ยอมให้ถูกมองภาพใช้อำนาจอย่างเห็นแก่ได้ แทนชื่อเสียงในฐานะ “พี่ใหญ่” ที่ดูแล ช่วยอุ้มประเทศที่โอกาสในการพัฒนามีน้อยกว่า ทั้งที่รู้ว่าเสี่ยงที่จะปิดทางให้ประเทศคู่แข่งอย่าง “จีน” และ “สหภาพยุโรป” ก้าวขึ้นสู่ความยอมรับในความยิ่งใหญ่เทียบเท่า
เพราะถึงวันนี้ เครือข่ายเพื่อนมหาเศรษฐีของ “ทรัมป์” รู้ว่า “สหรัฐ” กำลังเป็นประเทศที่ไส้ในกลวงโบ๋ เริ่มจากความรู้ความสามารถของบุคลากรประเทศหลุดสู่ความล้าหลังต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ สภาพความเป็นอยู่มีแนวโน้มไปในทางเลวร้ายรุนแรงขึ้น ขณะที่รัฐต้องหมดงบประมาณไปกับการจ่ายสวัสดิการทั้งข้าราชการ และประชาชนท่วมหัวท่วมหู จนเป็นภาระที่รับไหวยากขึ้นทุกปี แต่คนเร่ร่อนเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาลุกลามเรื้อรัง โดยที่หน่วยงานรัฐเห็นได้ชัดว่าอ่อนด้วยประสิทธิภาพในการคลี่คลาย หรือหาทางทำให้ดีขึ้น
ผู้นำประเทศชุดใหม่จำเป็นต้องสร้างผลงานภายใต้ภารกิจ “Make America Great Again”โดยเรียกประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้สยบยอมในอำนาจ เข้าแถวไปเจรจาเรื่อง “ดุลการค้า” กันใหม่
นั่นเป็นสิ่งที่โลกทั้งโลกเรียกหรือรับรู้ว่าเป็น “ผลงานทรัมป์”
ขณะที่ผู้นำประเทศต่างๆ พยายามสร้างผลงานให้ประชาชนได้เห็นว่ามีความรู้ความสามารถในการคลี่คลายวิกฤตที่ “ทรัมป์” ทำให้เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร
ประเทศไทยเรา ท่ามกลางเสียงถามหาผลงาน หรือกระทั่งความรับผิดชอบต่อปัญหาสารพัดที่รุมเร้าหนักหน่วงจากการบริหารจัดการประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ “จิรายุ ห่วงทรัพย์” ในฐานะโฆษกรัฐบาล ไปแคะเอาผลสำรวจของ “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” มาแถลงเป็น “ความเห็นประชาชนต่อผลงานรัฐบาลในรอบ 6 เดือน” ด้วยความชื่นชมยินดีว่าประชาชนมากถึงร้อยละ 71.6 พึงพอใจ “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่”, ร้อยละ 55.33 ชอบ “แจกเงินคนละ 10,000 บาทกระตุ้นเศรษฐกิจ”, ร้อยละ 41.3 ชอบ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม”, ร้อยละ 32.6 ชอบ “ลดค่าไฟ ค่าพลังงาน”, ร้อยละ 30.3 ชอบ “ส่งเสริมการท่องเที่ยว”
โลกที่การสื่อสารออนไลน์ครอบคลุมทั่วถึงสร้างประชาคมใหม่ที่ผู้คนมีความรู้ความคิดทั้งกว้างไกล ลึกซึ้ง เท่าทันกับพัฒนาการของอนาคตโลก ไม่ว่าใครก็ย่อมรู้ว่า “อนาคตที่จะทำพาประเทศให้พัฒนาไปได้” คือ “โลกแห่งเทคโนโลยี” ซึ่งชั่วโมงนี้มีการชี้ชวนให้พากันก้าวสู่ “ยุค AI” ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนมีเสียงเตือนจากทั่วโลกว่าประเทศไหนตามไม่ทันชีวิตประชาชนจะถูกปล่อยให้ทุกข์ยากเดือดร้อนอยู่กับความล้าหลัง
ผู้คนโดยเฉพาะ “รุ่นใหม่” เฝ้ามองการสร้างผลงานของรัฐบาลที่จะนำไปสู่ “ชีวิตแห่งอนาคต”
เมื่อ “โฆษกรัฐบาล” ดีอกดีใจกับประชาชนที่พอใจในผลงานอย่าง “30 บาทรักษาทุกที่” และอะไรต่ออะไร ซึ่งสร้างมาสมัยรัฐบาล “พรรคไทยรักไทย” จนวันนี้ก็ไปไหนไม่ได้ ทำได้แค่ต้องยอมมา “ขายกิน” แบบมองไม่เห็นผลงานในความหวังที่สร้างใหม่เพื่อโลกอนาคต
เมื่อลงไปในรายละเอียดของผลสำรวจชิ้นนี้
เมื่อพิจารณาความพึงพอใจต่อผลงานรัฐบาลจำแนกเป็นรายภาค ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนสูงที่ร้อยละ 40.1 รองมาคือ ภาคเหนือ ที่ร้อยละ 28.5 ภาคกลาง ร้อยละ 24.7 ภาคใต้ ร้อยละ 20.1 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 14.7
และเมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มอายุ พบว่าประชาชนในกลุ่มอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ร้อยละ 31.5
เรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ การควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ร้อยละ 86.7 รองลงมาได้แก่ ลดภาระค่าใช้จ่าย ด้านพลังงาน เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา น้ำมันเชื้อเชื้อเพลิง อยากให้ทำต่อเนื่อง ร้อยละ 67.5 การแก้ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 43.0 การแก้ปัญหาหนี้สิน ร้อยละ 35.5 และเพิ่มสวัสดิการ เช่น เงินผู้มีรายได้น้อย การรักษาพยาบาลการศึกษา ร้อยละ 30.3
สำหรับในช่องทางที่ประชาชนสนใจติดตาม รับรู้ มากที่สุดยังเป็นทางโทรทัศน์ ร้อยละ 68.4 รองลงมาได้แก่ สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ติ๊กต็อก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ร้อยละ 59.6 และญาติหรือคนรู้จัก ร้อยละ 16.9
ทั้งกลุ่มคน ความต้องการ และวิถีชีวิตของผู้คนที่สำนักงานสถิติแห่งชาติให้เป็นฐานข้อมูล เพื่อให้รัฐบาลสร้างผลงานให้ตรงความต้องการนี้ สะท้อนชัดเจนถึงทิศทางของการพัฒนาประเทศว่าจะเดินไปแบบไหน จะไปในพัฒนาการที่โลกชี้ให้เห็นว่าจะเป็นโอกกาสสร้างอนาคตร่วมกันของประชาคมที่พัฒนาแล้วหรือไม่
และที่สำคัญคือจะสะท้อน “วิชั่น” ของผู้บริหารประเทศว่าเหมาะสมกับการมารับผิดชอบต่อการสร้างประเทศในโลกยุคใหม่หรือไม่
ผู้นำทั่วโลกต่างรู้ว่าจะเป็นต้องการจัดการประเทศพัฒนาไปในทิศทางสร้างให้มีการใช้ “เทคโนโลยีที่ทันสมัย” ทั้งการลงทุนสร้างบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือ เครือข่าย และระบบปฏิบัติการ ซี่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหารายได้มาชัดงบประมาณให้เหมาะสม ซึ่งชัดเจนว่าจะต้องใช้เงินจำนวนมาก
แต่ในความเป็นจริงที่เห็นกันอยู่ของประเทศไทยเรา ทุกนโยบายหรือโครงการที่รัฐบาลคิดจัดทำเพื่อเพิ่มรายได้ประเทศ ล้วนถูกขัดขวาง ไม่สามารถดำเนินการได้
การกระตุ้นให้ประชาชนส่วนใหญ่ชื่นชมยินดีกับการได้รับดูแลช่วยแก้ปัญหาปากท้อง ให้พอประคับประคองชีวิตให้พออยู่กันได้ไปวันๆ โดยไม่ต้องนึกถึงอนาคตของประเทศที่ควรจะพัฒนาให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก
จึงเป็นผลงานที่ทำให้ “รัฐบาลพอใจแล้ว”
ด้วยรับรู้ว่าคำถามต่อ “อนาคตของประเทศ” นั้น อันตรายเกินไปสำหรับการรักษาอำนาจ ในโครงสร้างที่เจตนา “สืบทอดการแช่แข็งประเทศ”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022