เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

กำเนิดจริยศาสตร์เชิงวิวัฒนาการ (3) การก่อตัวของลัทธิดาร์วินเชิงสังคม

14.05.2025

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

กำเนิดจริยศาสตร์เชิงวิวัฒนาการ (3)

การก่อตัวของลัทธิดาร์วินเชิงสังคม

 

“One general law, leading to the advancement of all organic beings, namely, multiply, vary, let the strongest live and the weakest die.” Charles Darwin, On the Origin of Species, chapter VII : Instinct

 

สิ่งมีชีวิตหรืออินทรียภาพ (Organism) คายตะขาบไปสู่ทายาทด้วยการส่งผ่านยีน (Gene) พูดง่ายๆ ก็คือลูกหลานได้รับลักษณะทางพันธุกรรมมาจากพ่อแม่นั่นเอง

ยีนเป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอ (DNA) ส่วนดีเอ็นเอคือกรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิกที่บรรจุรหัสพันธุกรรมอยู่ ดีเอ็นเอเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครโมโซมซึ่งมีโครงสร้างคล้ายเส้นด้ายประกบกันเป็นคู่เหมือนปาท่องโก๋

โครโมโซมของมนุษย์มี 46 ตัว จับคู่กันอยู่ 23 คู่ ทำหน้าที่เก็บหน่วยพันธุกรรมและส่งข้อมูลพันธุกรรมเหล่านี้ไปสู่ทายาท โดยลูกได้รับโครโมโซมมาจากพ่อและแม่คนละครึ่ง ลูกจึงมีลักษณะผสมระหว่างพ่อกับแม่

โครโมโซมมี 2 แบบคือ X และ Y หาก X จับคู่กับ Y จะเป็นเพศชาย แต่ถ้า X จับคู่กับ X จะเป็นเพศหญิง

ดังนั้น ผู้หญิงจึงมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากโครโมโซมของแม่เป็น XX ส่วนพ่อเป็น XY ปริมาณ X จึงมีมากกว่า Y ในอัตราส่วน 3 ต่อ 1

สิ่งมีชีวิตแต่ละตัวมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับยีนเรียกว่าจีโนไทป์ (Genotype) อันเป็นลักษณะเฉพาะที่ไม่ได้ปรากฏออกมาให้เห็นภายนอก

ส่วนลักษณะที่แสดงออกมาให้เห็นภายนอกเรียกว่าฟีโนไทป์ (Phenotype) เช่น สีผม สีผิว สีตา ฯลฯ

พันธุกรรมทำให้สิ่งมีชีวิตมีความหลากหลายไม่ซ้ำแบบกัน รูปลักษณ์ที่ประจักษ์แก่สายตานั้นมีต้นตอที่ลึกลงไปถึงภายในเซลล์ คือมีทั้งลักษณะเด่น (Dominant) และลักษณะด้อย (Recessive) แล้วส่งทอดจากบรรพบุรุษไปสู่ทายาทผ่านพันธุกรรมอันได้แก่ ยีนเด่น (Dominant genes) และยีนด้อย (Recessive genes)

โดยยีนเด่นแสดงลักษณะออกมาได้เหนือกว่ายีนด้อย

 

ในยุคสมัยเดียวกับชาร์ลส์ ดาร์วิน นั้นไม่ได้มีแต่เพียงความรู้ทางชีววิทยาเท่านั้นที่ก้าวหน้า แต่องค์ความรู้ของศาสตร์ด้านอื่นก็เจริญรุ่งเรืองด้วย เนื่องจากช่วงเวลานั้นผ่านทั้งเหตุการณ์ปฏิวัติวิทยาศาสตร์และปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว

ขาใหญ่ในวงการชีววิทยาตอนนั้นคือดาร์วิน และ “อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ” (Alfred Russel Wallace, 1823-1913)

ขณะเดียวกันในแวดวงพันธุศาสตร์ด้านพืชก็มี “เกร์โกร์ เมนเดล” (Gregor Mendel, 1822-1884) ชาวออสเตรีย ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งพันธุศาสตร์

เมนเดลอยู่ร่วมสมัยเดียวกับนักชีววิทยาทั้งสอง เขาอายุน้อยกว่าดาร์วิน 13 ปี และเกิดก่อนวอลเลซเพียงปีเดียว

เมนเดลลุ่มหลงโลกของพืชเป็นอย่างมาก เขาทุ่มเทและเพียรพยายามค้นคว้าทดลองเพาะพันธุ์พืชชนิดต่างๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน จนกระทั่งประสบผลสำเร็จในที่สุด โดยสามารถสรุปรูปแบบที่ชัดเจนแน่นอนของการส่งต่อลักษณะทางพันธุกรรมของพืชจากรุ่นสู่รุ่นออกมาได้

และกลายเป็นทฤษฎีอันเลื่องชื่อในสาย “พันธุศาสตร์เมนเดล” (Mendelism หรือ Mendelian inheritance)

ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตครอบคลุมไปถึงอินทรียภาพทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือมนุษย์ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันทั้งนั้น ความรู้ของมนุษยชาติได้เดินมาถึงจุดที่ไขปริศนาของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดด้วยคำอธิบายที่สอดคล้องกัน มนุษย์ สัตว์ และพืชต่างก็ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดและสืบทอดมรดกจากรุ่นสู่รุ่น จากบรรพบุรุษไปสู่ทายาท และต่อมาทายาทก็กลายเป็นบรรพบุรุษที่คายตะขาบไปสู่ทายาทอีกรุ่นหนึ่ง ส่งต่อกันไปเช่นนี้ไม่มีสิ้นสุด

ความรู้เรื่องการปรับตัวในกระบวนการวิวัฒนาการ พันธุกรรม ยีน ลักษณะเด่นและด้อยต่างๆ ใช้ได้ทั้งกับคน พืช และสัตว์

รวมทั้งการเกิดสปีชีส์ใหม่ (Speciation) การเปลี่ยนแปลงภายในสปีชีส์เดิม (Anagenesis) การกลายพันธุ์ (Mutation) และการสูญพันธุ์ (Extinction)

 

สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมไม่ได้ หรือปรับตัวอย่างเชื่องช้าไม่ทันเวลาก็จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด

เช่น สมันที่ปกป้องตัวเองจากการถูกไล่ล่าไม่ได้จนสูญพันธุ์จากประเทศไทยในปี พ.ศ.2481

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าได้เข้ามาอธิบายธรรมชาติแทนศาสนา วิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่พระเจ้า ผู้คนเริ่มหันออกจากศรัทธาในกฎศักดิ์สิทธิ์ (Divine Law) มาสู่กฎธรรมชาติ (Natural Law) ที่สามารถอธิบายสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างมีหลักฐานและเป็นเหตุเป็นผล

ทั้งยังขยายคำอธิบายจากกลไกธรรมชาติไปสู่กลไกทางสังคม โดยผสมผสานแนวคิดทางสังคมเข้ากับวิทยาศาสตร์

ทฤษฎีวิวัฒนาการได้ถูกประยุกต์ใช้ด้วยการควบรวมกับแนวคิดทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ นำโดย “เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์” (Herbert Spencer, 1820-1903) นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ สเปนเซอร์เป็นนักคิดที่มีชื่อเสียงและอยู่ร่วมสมัยเดียวกับดาร์วิน เขาอายุน้อยกว่าดาร์วิน 11 ปี แต่แก่กว่าเมนเดล 2 ปี และแก่กว่าวอลเลซ 3 ปี การที่ทุกคนอยู่ร่วมยุคสมัยก็ทำให้งานของแต่ละคนต่างส่งผลต่อกัน

นอกจากวิทยาศาสตร์แล้ว ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ก็ขยายตัวขึ้นมาก กระทั่งเดินทางมาพบกันในที่สุด จากการที่สเปนเซอร์นำแนวคิดของดาร์วินมาผนวกรวมกับแนวคิดทางสังคมและเศรษฐกิจ

ก่อนหน้าดาร์วินจะเกิดเล็กน้อยก็มีความคิดทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองสายเสรีนิยมชาวอังกฤษผู้หนึ่งแพร่หลายอยู่แล้ว นั่นคือแนวคิดเศรษฐศาสตร์คลาสสิค (Classical Economics) ของ “โธมัส โรเบิร์ต มัลธัส” (Thomas Robert Malthus, 1766-1834) ซึ่งสนับสนุนเศรษฐกิจเสรี (laissez-faire) ตลาดเสรี (free market) การค้าเสรี (free trade) และการควบคุมประชากร

มัลธัสคิดว่าปริมาณคนจะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณโดยธรรมชาติ ทำให้ทรัพยากรไม่เพียงพอต่อการบริโภค เกิดความขัดแย้ง ขาดแคลนอาหาร อดอยาก สงคราม ฯลฯ

จนกระทั่งในที่สุดจำนวนประชากรจะลดลงจากภาวะวิกฤต อันนำไปสู่แนวคิดเรื่องการควบคุมอัตราการเกิดของประชากร

 

สเปนเซอร์และนักคิดจำนวนหนึ่งในอังกฤษซึ่งต่างก็อยู่ในยุคที่แนวคิดเศรษฐกิจเสรีกำลังเป็นที่นิยม ได้เสนอทัศนะซึ่งกาลต่อมารู้จักกันในชื่อ “ลัทธิดาร์วินเชิงสังคม” (Social Darwinism) ด้วยการประกอบทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การคัดสรรตามธรรมชาติ” ให้เข้ากับ “สังคมเสรี” ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในตลาดเสรี การควบคุมประชากร และเสรีนิยมทางการเมือง

กำเนิดเป็นจริยศาสตร์แนวใหม่ที่สอดคล้องไปกับ “จริยศาสตร์ประโยชน์นิยม” (Utilitarianism) ของ “จอห์น สจ๊วต มิลล์” (John Stuart Mill, 1806-1873) ซึ่งมีสาระสำคัญคือ “หลักมหสุข” (The Greatest Happiness Principle) อันได้แก่ประโยชน์สุขที่มากที่สุดแก่คนหมู่มากที่สุดคือสิ่งที่ดีที่สุด

มิลล์มีอายุไล่เลี่ยกับดาร์วิน เขาอายุมากกว่าดาร์วิน 3 ปี และมากกว่าสเปนเซอร์ 14 ปี มิลล์ไม่ใช่คนแรกที่คิดค้นจริยศาสตร์แบบประโยชน์นิยม แต่พัฒนาแนวคิดนี้ให้รัดกุมเป็นระบบ และสร้างชื่อเสียงให้โด่งดังขึ้นจากรากฐานเดิมที่ “เจเรมี เบนธัม” (Jeremy Bentham, 1747-1748) และ “เจมส์ มิลล์” (James Mill, 1773-1836) ซึ่งเป็นพ่อของเขาได้วางรากฐานเอาไว้

สเปนเซอร์เติบโตในตอนที่ประโยชน์นิยมเป็นที่ยอมรับอย่างมาก จึงไม่แปลกที่เขาจะนำประโยชน์นิยม ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน รวมทั้งแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองและการควบคุมประชากรของมัลธัส มาผสมผสานเข้าด้วยกันจนบังเกิดเป็นลัทธิดาร์วินเชิงสังคมขึ้นมาได้

ต่อมาลัทธิดาร์วินเชิงสังคมก็ก่อตัวขึ้นอย่างจริงจังและแพร่ขยายออกไปเรื่อยๆ โดยมองมนุษย์ในสังคมว่าอ่อนแอก็แพ้ไป ผู้ชนะคือผู้ที่อยู่รอด นำไปสู่การขยายอำนาจของผู้ที่แข็งแรงกว่า เกิดการคัดเลือกผู้คนอย่างจงใจและปรับปรุงพันธุ์มนุษย์ (Eugenics) การบังคับทำหมัน การการุณยฆาตโดยไม่สมัครใจ การเหยียดเพศ การเหยียดเชื้อชาติ กระทั่งนำไปสู่การอ้างความชอบธรรมในการก่อสงครามและลัทธิจักรวรรดินิยม

อ่านต่อฉบับหน้า



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

พระพิมพ์กลีบบัว เนื้อดินเผา วัตถุมงคลเก่าแก่ของวัดลิงขบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เสก
ร้อนสุดขั้ว ‘สะท้านโลก’
อสังหาฯ ปรับแผนเปลี่ยนกลยุทธตลาด
‘โจบ’ บนเส้นทางเดียวกับ ‘จู๊ด’ แต่อยากยิ่งใหญ่ในแบบของตัวเอง
ชัยชนะของ AIS-GULF-JAS คนไทยเฮพร้อมดูบอลไทยลีกฟรี!
ยำรวมมิตร (กินกับข้าวต้ม)
เจาะลึกสถานการณ์ค่าย ‘NETA’ กับอนาคตตลาดรถ EV เมืองไทย
ดาวกับดวงวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2568
จดหมาย
กลาก สังคัง ฮ่องกงฟุต มะเขือขื่นตอบโจทย์ได้
เดินตามดาว | ศรินทิรา
ขอแสดงความนับถือ