เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

หวั่น ‘ทรัมป์’ ทำวิกฤตลากยาว ธุรกิจตั้งการ์ดสูง ‘กำเงินสด’ ‘ดัชนีมาม่า’ โตสวนเร่งลงทุนเพิ่ม

13.05.2025

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

หวั่น ‘ทรัมป์’ ทำวิกฤตลากยาว

ธุรกิจตั้งการ์ดสูง ‘กำเงินสด’

‘ดัชนีมาม่า’ โตสวนเร่งลงทุนเพิ่ม

 

มาตรการกำแพงภาษีของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่กำลังสะเทือนเศรษฐกิจการค้าทั่วโลก ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ทั้งโลกยืนอยู่บนความไม่แน่นอนต่อไปอีกนานและลุกลามมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยดูจะมีความเปราะบางต่อสถานการณ์มากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

โดยธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2568 เหลือโตเพียง 1.6% ผลจากสงครามการค้าและความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน

และเมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s) ก็ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่มุมมอง “เชิงลบ” (Negative) จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable) การเปลี่ยนมุมมองครั้งนี้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทยจะอ่อนแอลง อย่างไรก็ดี Moody’s ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไว้ที่ระดับเดิม ( Baa1)

ดูเหมือนมีแต่ข่าวร้ายที่ถาโถมประเทศไทย ขณะที่แผนรับมือ หรือมาตรการต่างๆ จากฝั่งรัฐบาลก็ยังไม่มีความชัดเจน

ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็บอกว่าการเจรจาเรื่องภาษีกับสหรัฐยังบอกไม่ได้ เป็น “ดีลลับ”

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO) ระบุว่า คลื่นลูกที่สองจาก Reciprocal Tariffs คือ ภาคเศรษฐกิจจริงจะเป็นกลุ่มต่อไปที่โดนผลกระทบรุนแรง โดย “ตลาดทุน” คือด่านแรกที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ เมื่อทรัมป์ประกาศภาษีตอบโต้ เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่อ่อนไหวสุด ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ลดลงฮวบฮาบ

และสถานีต่อไปที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ “ภาคธุรกิจ” หรือ “ภาคการผลิต” ที่กำลังรับผลของความปั่นป่วนนี้

ดร.กอบศักดิ์ระบุว่า หลังจากนี้มาตรการภาษีจะส่งผลกระทบต่อ 1) ผู้บริโภคในสหรัฐจะไม่มีสินค้า หรือสินค้าจะราคาแพงขึ้น และ 2) ผู้ผลิตในจีน มีข่าวว่าขณะนี้บางโรงงานต้องหยุดจ้างงาน ลดคนงานไปครึ่ง บางโรงงานตัดสินใจหยุดการผลิต และกำลังหาตลาดใหม่ในยุโรป และในประเทศอื่นๆ

“คลื่นยักษ์ลูกที่สอง” ของมาตรการภาษีทรัมป์ ที่จะกระแทกธุรกิจจริงและภาคการผลิตกำลังเกิดขึ้น ไม่เฉพาะประเทศจีน รวมทั้งประเทศไทยที่ถือเป็นหนึ่งในซัพพลายเชนของโลก ที่ภาคส่งออกถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย

“วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” ประธานกรรมการ บริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชัดเจนว่าจะขยายตัวลดลง แน่นอนว่าสำหรับภาคธุรกิจ “มีความกังวล” เพราะจะมีผลให้กำลังซื้อในประเทศลดลง ขณะที่การส่งออกถูกกระทบจากภาษีทรัมป์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการชะลอการจ้างงานหรือการลงทุนใหม่

ภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัวทั้งในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ผ่านการใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลช่วยคาดการณ์ตัวเลขการขายที่แม่นยำ ซึ่งจะมีผลต่อสต๊อกสินค้า รวมถึงการมองหาตลาดใหม่โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ยังมีการเติบโต เช่น อาเซียน ตะวันออกกลาง หรือแอฟริกา รวมถึงการปรับสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งในแง่ของราคา คุณภาพ และความยั่งยืน

ขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังจากภาครัฐในการเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุด เช่น การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ ดูแลสนับสนุนเอสเอ็มอี เสริมสภาพคล่อง และฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งภาครัฐ เอกชน และประชาชนต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทุกฝ่ายต้องเร่งปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง

 

ด้านธุรกิจประกันรายใหญ่ ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TIPH) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย (TIP) กล่าวว่า ขณะนี้เห็นสัญญาณชัดเจนถึงความสับสน นักลงทุนลังเลที่จะลงทุน และพูดถึงให้ “เก็บเงินสด” เอาไว้เพื่อรอดูท่าที

รวมทั้งในส่วนผู้ประกอบการธุรกิจก็เริ่มระมัดระวังการใช้จ่าย ผลกระทบจากการหดตัวของทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและการลงทุน ทำให้ภาพโดยรวมกดดันเศรษฐกิจชะลอตัวลง เช่นเดียวกับธุรกิจประกันภัยตอนนี้เห็นชัดเจนว่าผู้บริโภคเริ่มรัดเข็มขัด เปลี่ยนประเภทการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยเท่าที่จำเป็น

ดังนั้น ในส่วนของ บมจ.ทิพย กรุ๊ป ก็มีนโยบายระมัดระวังเรื่องการลงทุนมากขึ้น จากเมื่อต้นปี 2568 ตั้งงบฯ ลงทุนไว้ 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีแผนซื้อกิจการในกัมพูชา และลงทุนโครงการอื่นๆ ในปีนี้ ปัจจุบันได้สั่งให้ชะลอแผนลงทุนออกไป เก็บเงินสดไว้ และค่อยมาประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หลังพ้น 90 วัน ที่ทรัมป์จะประกาศเรื่องการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้กับไทยและประเทศต่างๆ

 

ทั้งนี้ จากที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก จากมาตรการภาษีทรัมป์ ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงเข้าสู่โหมดระมัดระวัง รักษาตัวให้รอดปลอดภัยจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ นอกจาชะลอการลงทุน-เก็บเงินสด ก็คือลดต้นทุน ควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ และบางรายระบุว่าพยายามไม่ก่อหนี้เพิ่ม เพราะมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง เสี่ยงที่จะเป็นวิกฤตที่ลากยาวต้องตั้งรับดูแลตัวเองให้ดี

แต่สำหรับธุรกิจ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ที่ถือเป็นสินค้ายามยาก เพราะเป็นสินค้าที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริง จนมีการใช้เป็นดัชนีชี้ภาวะเศรษฐกิจ คือในสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัว จะพบว่ายอดขายบะหมี่สำเร็จรูปอย่างมาม่าและแบรนด์อื่นๆ จะขายดีหรือมียอดขายเติบโตอย่างน่าสนใจ

เรื่องนี้นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้เงินในกระเป๋าของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องคัดเลือกสินค้าที่จะซื้อมากขึ้น แต่สำหรับ “มาม่า” เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ระดับราคาจับต้องง่าย

ปัจจุบันความต้องการ (ดีมานด์) ยังล้น แม้บริษัทจะใช้กำลังผลิตของโรงงานจนเต็มแล้ว ก็ยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากความต้องการมีการเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้น นับตั้งแต่ปี 2568 ไปอีก 2-3 ปี จะเป็นช่วงเวลาของการลงทุนขยายกำลังผลิตของบริษัททั้งในไทยและต่างประเทศ

สำหรับในไทยบริษัทเตรียมเพิ่มเครื่องจักรอีก 3-4 เครื่อง เพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น หลังเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเพิ่มไลน์ผลิตใหม่อีก 1 ไลน์ ส่วนต่างประเทศกำลังสร้างโรงงานในกัมพูชา ขณะที่โรงงานในเมียนมาเริ่มเดินเครื่องแล้ว ทั้งนี้ เพื่อรองรับโอกาสที่จะเข้ามาได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดีมานด์ในประเทศ หรือการขยายตลาดในต่างประเทศ

ข้อมูลจากผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ระบุว่า ปี 2567 ตลาดบะหมี่และเส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทยเติบโตแข็งแกร่ง ด้วยมูลค่าตลาดรวม 22,778 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% จากปีก่อนหน้า โดย “มาม่า” ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วน 48.6% และปัจจุบันคนไทยกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉลี่ยปีละ 54 ซอง

และนี่คืออีกหนึ่งดัชนีเศรษฐกิจไทย



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568