
งานหนัก เครียด-ป่วย-ซึมเศร้า วิกฤต พงส.บนความบ้อท่ารัฐบาล ระบบสอบสวนกำลังล่มสลาย

บทความโล่เงิน
งานหนัก เครียด-ป่วย-ซึมเศร้า
วิกฤต พงส.บนความบ้อท่ารัฐบาล
ระบบสอบสวนกำลังล่มสลาย
ปัญหาพนักงานสอบสวน (พงส.) ขาดแคลนเรื้อรัง อยู่ในสภาพเครียด ป่วย หลายคนซึมเศร้า
ถือว่า ท่าดีทีเหลวจริงๆ กับการหาทางออก จนกลายเป็น “วิกฤต พงส.” ให้ไปย้อนดูข่าว ผ่านมากี่ยุค กี่ยุค มีแค่ลมปาก ไร้ความคืบหน้า
เป็นความบ้อท่าของผู้บริหารองค์กรสีกากี ไปจนถึงผู้นำรัฐบาลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
พอเกิดเหตุ พงส.เครียด ป่วย ทำอัตวินิบาตกรรมที งัวเงียตื่นแล้วเล่นใหญ่รัชดาลัยเธียเตอร์ ทำเป็นขึงขังแก้ปัญหาที
แต่พอกระแสเงียบ ทุกอย่างคืนสู่สภาวะปกติ เสมือนกลับไปหลับอุตุ เป็นทองไม่รู้ร้อนต่อ
ล่าสุด พ.ต.อ.พิสุทธิ์ จันทรสุวรรณ ผกก.สภ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี ออกมาสะท้อนประสบปัญหา ไม่แคล้ววนลูปเดิมอีก
ผกก.ชี้ให้เห็นปริมาณงานท่วมท้น ขณะนี้กำลังพลขาดแคลน จนทำให้งานสอบสวนโรงพักโอเวอร์โหลดเกินกว่า พงส.จะรับไหว
กลายเป็นความเครียดสะสม ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากันหลายนาย บางรายถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย
สถานการณ์รุนแรง เรียกว่า หนักมาก ถ้าเป็นคนป่วย เข้าขั้นไอซียู
ปกติ พงส. 1 นายรับทำคดี 70 สำนวนถือว่ามีประสิทธิภาพ โหลดได้ถึง 120 สำนวน
แต่ขณะนี้หนักถึงขนาด 200 กว่าสำนวน
บางที่ไปถึง 500 ยังไม่รวมคดีฉ้อโกงออนไลน์ล้นทะลักโรงพัก
เสียงสะท้อนไปถึง “ปทุมวัน” พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร.ในฐานะ ผบช.กำลังพล
ระบุ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร.กำชับให้ผู้บัญชาการ (ผบช.), ผู้บังคับการ (ผบก.) ตรวจสอบสถานภาพกำลังพล และขวัญกำลังใจ พงส.
โดยให้ปรับเกลี่ยโรงพักคดีน้อยไปช่วยเสริมโรงพักคดีมาก
ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งทีมแก้ปัญหา พงส.เป็นการเฉพาะ
อัตรา พงส.มีอยู่ 18,000 นาย ทำงานจริงอยู่ 11,000 กว่านาย ในโรงพัก 1,484 แห่งทั่วประเทศ
พร้อมทั้งอัพเดตว่า เร็วๆ นี้จะมีความคืบหน้าการปรับตำแหน่ง ให้ลื่นไหลเติบโตตามหน้าที่การงาน พัฒนาประสิทธิภาพงานสอบสวน และขวัญกำลังใจ
ต่อมา พล.ต.ต.กิตติ์ธเนศ ธนนันท์ทวีสิน ผบก.ภ.จว.นนทบุรี ได้ตอบรับแนวทางแก้ปัญหาส่วนกลางแนะนำ
ด้วยการสั่งโยกตำรวจระดับ “ผกก.-รอง ผกก.” 5 นาย เสริมทัพช่วยโรงพักรัตนาธิเบศร์ไปพลางก่อน
ขณะที่ตำรวจภูธรภาค 2 พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผบช.ภ.2 ได้กำชับให้ ผบก.ภ.จังหวัดและหัวหน้าสถานี สำรวจความพร้อม พงส.
โดยให้ตรวจสอบแต่ละโรงพักมีเพียงพอสอดคล้องกับปริมาณงานหรือไม่
ที่สำคัญต้องให้ความสำคัญสุขภาพ ภาวะเครียด พงส. โดยให้พิจารณาปรับเกลี่ยให้เหมาะสม และต้องดูแลขวัญกำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชา
เพื่อให้งานด้านอำนวยความยุติธรรมของโรงพักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่หนีไม่ออกเลย คือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ที่ดูแลกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงประเทศไทย
ตำรวจที่ปฏิบัติงานจริงมีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของกรอบอัตรากำลัง เรียกว่า ขาดแคลนทุกสายงาน
ไหนจะต้องรับผิดชอบภารกิจพิเศษ, ไหนจะต้องดูแลความเรียบร้อยการชุมนุม แต่ละครั้งกำลังกองร้อยควบคุมฝูงชนมีไม่พอต้องดึงตำรวจท้องที่มาเสริม
ทั้ง 88 สน. ต้องรับทุกคดี รวมทั้งฉ้อโกงออนไลน์ด้วยเฉียด 1,000 คดีต่อนาย
ไม่สามารถเกลี่ยอัตรากำลังพลได้ตามนโยบายสำนักงานตำรวจแห่งชาติเลย
เพราะทุกโรงพัก พงส.ขาดแคลน อยู่ในสภาพตึงหมด ทุก สน.มีตำรวจเครียด จนถึงป่วยซึมเศร้าเช่นกัน
มีการแชร์ข้อความที่อ้างว่ามาจาก พงส.ในโลกออนไลน์
“เรื่องจริง… พนักงานสอบสวนหลายโรงพัก…
เครียด เป็นโรคซึมเศร้า
ผลพวงจากงานหนัก
คดีมาก คนน้อย งานล้นมือ มีแต่คนสั่ง ไม่มีคนช่วยทำ…
คดียาเสพติด สอบขยายผลถึงใครบ้าง
คดีออนไลน์ ทำถึงไหน ออกหมายจับใครบ้าง
ชาวบ้านแจ้งความลักทรัพย์ ทำอะไรไปบ้าง รู้ตัวคนร้ายยัง…
ลูกจ้างโกงบริษัท ตรวจสอบบัญชียัง…
รถชนใครผิดใครถูก
รถชนแล้วหนี รู้ตัวยัง…
ผัวเมียทะเลาะ หมาขี้หน้าบ้าน
เสพยาเมาเหล้าก่อกวนเพื่อนบ้าน รังควานผู้หญิง
ด่าทางเฟซทางไลน์
บุกรุกป่า รู้ตัวยัง…
ฯลฯ
แจ้งความแล้ว ทำไม่ทัน คดีไม่คืบหน้า ถูกร้องเรียน ถูกด่า ถูกตั้งกรรมการ
เครียด…
ต่อไปยังจะหนักกว่านี้ มีพวกโลกสวย แก้ไข ป.วิ.อาญา
เพิ่มงานให้พนักงานสอบสวนอีก… จะออกหมายเรียก จะออกหมายจับ…
ต้องทำรายงานเสนออัยการ
ท้องที่ไกล ขับรถเป็นร้อยกิโลเมตร มานั่งเฝ้ากันเป็นวันอีก
จะเพิ่มทั้งผู้ว่าฯ ทั้งอัยการ มาควบคุมพนักงานสอบสวนอีก…
เพิ่มความเครียดขึ้นไปอีก…
อาจมีข่าวพนักงานสอบสวนเครียด ยิงผู้ว่าฯ ยิงอัยการ…
พนักงานสอบสวน ใครไม่ไหว อย่าคิดสั้น…
ลาออกไปเป็นอินฟลูฯ สร้างตัวตนให้ดัง
จูงมือผู้เสียหายไปแจ้งความตามโรงพัก
รายได้ดี ไม่ต้องเหนื่อยทำสำนวน
เห็นรวยๆ ตั้งมูลนิธิเพื่อสังคม รับเงินบริจาคกันหลายคน
มีรายได้จากสื่อโชเซียล เผลอๆ มีนักการเมืองมาสนับสนุนตั้งบริษัทให้…
#สู้กันต่อไป
ถ้าระบบแท่งพนักงานสอบสวนไม่กลับมา
มีแต่คนหนี มีแต่คนอยากได้ตำแหน่งแต่ไม่ทำงานสอบสวน
คนที่อยู่ก็เหนื่อยกันต่อไป…”
เสียงสะท้อนนี้ ในแวดวงสีกากีรับรู้กันดี
ต่อมามี ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการเลือกตั้ง ช่วงปลายรัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
ทั้ง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์, พล.ต.อ.วินัย ทองสอง ที่เป็น ก.ตร. ต่างได้สะท้อนปัญหาพร้อมเสนอแนวทางต่อที่ประชุม ก.ตร. ต่อเนื่องมาถึง “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน”
อาทิ อบรมและแต่งตั้งพนักงานสอบสวนใหม่ปีละ 1,000 คน รวม 4 ปี 4,000 คน, เพิ่มค่าตอบแทนและค่าสำนวน, แต่งตั้งผู้ช่วย พงส.เพิ่ม
และตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ตร. พัฒนางานสอบสวนเพื่อติดตาม ผลักดันนโยบายอย่างต่อเนื่อง
ขณะนั้นอนุฯ ก.ตร.มีไอเดียจะแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจปี 2565 เพื่อกำหนดเส้นทางเจริญก้าวหน้า พงส.เฉพาะ
แต่หลังจากเปลี่ยน “ผู้นำรัฐบาล” ปรากฏว่าไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณและกำลังคน ทำให้องค์กรสีกากีทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ระบบสอบสวน ซึ่งเป็นต้นธารกระบวนยุติธรรม กำลังค่อยๆ เดินไปสู่ความล่มสลาย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022