

บทความต่างประเทศ
‘เอฟเฟ็กต์หว่อง-ทรัมป์’
ชัยชนะอีกครั้งของ PAP
พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party – PAP) ของสิงคโปร์ คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลายอีกครั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นการขยายระยะเวลาการครองอำนาจติดต่อกันเป็นปีที่ 66 และถือเป็นแรงสนับสนุนครั้งใหญ่ต่อ “ลอว์เรนซ์ หว่อง” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ 1 ปี
จากการประกาศผลอย่างเป็นทางการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พรรค PAP ได้ที่นั่งในรัฐสภารวม 87 จากทั้งหมด 97 ที่นั่ง โดยในจำนวนนี้มี 5 ที่นั่งที่ไม่มีผู้สมัครฝ่ายค้านลงแข่ง ทำให้พรรคได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ขณะที่พรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคแรงงาน ยังคงรักษาไว้ได้เพียง 10 ที่นั่งเท่าเดิม
คะแนนเสียงรวมของพรรค PAP ในครั้งนี้อยู่ที่ 65.6% เพิ่มขึ้นจาก 61% ในการเลือกตั้งปี 2020 ซึ่งเป็นระดับต่ำเกือบที่สุดในประวัติศาสตร์พรรค
ผู้สนับสนุนพรรค PAP หลายพันคนรวมตัวกันในสนามกีฬา โบกธงฉลองชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่
นายลอว์เรนซ์ หว่อง วัย 52 ปี อดีตนักเศรษฐศาสตร์ที่เคยศึกษาที่สหรัฐอเมริกาและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามารถคว้าคะแนนเสียงสนับสนุนได้อย่างถล่มทลาย เพื่อเตรียมรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นภาษีการค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์อย่างหนัก โดยทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจและเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
“ผมรู้สึกซาบซึ้งและอ่อนน้อมกับความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้” หว่องกล่าว พร้อมยอมรับว่ามีความต้องการในสังคมที่อยากเห็นเสียงทางเลือกในรัฐสภาเพิ่มขึ้น “แต่การมีทีม PAP ที่แข็งแกร่งจะทำให้สิงคโปร์สามารถเผชิญกับโลกที่ปั่นป่วนได้ดียิ่งขึ้น”
หว่องเข้ารับตำแหน่งต่อจากนายลี เซียน หลุง ผู้นำสิงคโปร์ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมายาวนานเกือบ 20 ปี และลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2024 แต่ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโสในคณะรัฐมนตรี
การวางมือของเขาถือเป็นการสิ้นสุดยุคของตระกูลลี ซึ่งเริ่มต้นโดยนายลี กวน ยิว บิดาผู้ก่อตั้งประเทศ ที่นำพาสิงคโปร์จากอาณานิคมเล็กๆ สู่หนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก
แม้ PAP จะถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งเสถียรภาพและความมั่นคง แต่รัฐบาลภายใต้การควบคุมที่เข้มงวด ค่าใช้จ่ายในการครองชีพที่สูงลิ่ว ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และข้อจำกัดด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เริ่มตั้งคำถามกับพรรค
ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคแรงงาน ยังคงพยายามผลักดันแนวคิดว่าการมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็งจะนำไปสู่ระบบการเมืองที่สมดุลและความรับผิดชอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม พวกเขายังประสบปัญหาเรื่องทรัพยากร การสนับสนุนที่กระจัดกระจาย และการขาดเอกภาพ นักวิจารณ์บางรายชี้ว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้ PAP ได้เปรียบ
นายพริตัม ซิงห์ หัวหน้าพรรคแรงงาน กล่าวว่า แม้ผลจะไม่เป็นไปตามที่หวัง แต่พรรคจะยังคงเดินหน้าทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงต่อไป
“วันนี้เริ่มต้นใหม่ เราจะกลับมาสู้ต่อ” นายพริตัมกล่าว
ด้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีกับสิงคโปร์ โดยรัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์โค รูบิโอ ระบุว่า สหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์มีความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่งยาวนานเกือบ 60 ปี และยินดีที่จะสานต่อความร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ของหว่อง โดยเฉพาะในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และกลาโหมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ขณะที่บริดเจ็ต เวลช์ นักวิเคราะห์การเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แม้พรรคแรงงานไม่ได้เพิ่มจำนวนที่นั่ง แต่ก็สามารถรักษาฐานคะแนนเสียงไว้ในหลายพื้นที่ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านขนาดเล็กอื่นๆ ล้มเหลวในการสร้างแรงกระเพื่อม
เวลซ์วิเคราะห์ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโอนเอียงไปทาง PAP เพราะความต้องการเสถียรภาพท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก จากผลของนโยบายการค้าสหรัฐ อีกทั้งบุคลิกของหว่องที่เข้าถึงง่ายขึ้น และการนำผู้สมัครหน้าใหม่เข้ามาเกือบหนึ่งในสามของทีมก็ช่วยดึงดูดผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี
เวลซ์บอกว่า ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจมีส่วนเสริมความชอบธรรมให้หว่องอย่างชัดเจน
และเธอเรียกสิ่งนี้ว่า ‘เอฟเฟ็กต์หว่อง-ทรัมป์’
เครดิตภาพ “เอพี”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022