

เทศมองไทย
วิกฤตต้มยำกุ้งกลับด้าน
เมื่อเอเชียทิ้ง ‘ดอลลาร์’
รายงานข่าวของรอยเตอร์ เมื่อ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมาน่าสนใจอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงเพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันอยู่กับไทยเราด้วยเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะนี่คือปรากฏการณ์ใหม่เอี่ยมอ่องที่ไม่มีใครคาดคิดกันมาก่อนว่าจะได้เห็นกันกระจะแก่ตาเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้
รอยเตอร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “วิกฤตเอเชียกลับด้าน” แต่เพื่อความเข้าใจได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ผมขอเรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้งกลับด้าน” เพื่อเชื่อมโยงไปถึงอดีตเมื่อครั้งเกิดวิกฤตค่าเงินในไทยและอีกหลายประเทศในเอเชียในช่วงปี 1997 และ 1998 จะเข้าใจกันมากกว่าและง่ายขึ้นกว่าเดิม
รอยเตอร์ระบุว่า ปรากฏการณ์วิกฤตต้มยำกุ้งกลับด้านนี้ ปรากฏให้เห็นในรูปของการเทขายเงินสกุลดอลลาร์เป็นระลอกใหญ่ในหลายประเทศในเอเชีย ดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ขุมพลัง” แห่งการส่งออกสินค้าของโลก ซึ่งกำลัง “กังขา” กับแนวปฏิบัติที่ผ่านมาซึ่งสืบต่อกันมานานหลายต่อหลายทศวรรษ ว่าด้วยการนำส่วนเกินที่ได้จากการค้าไปลงทุนในสินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา
ตามรายงานบอกว่า การเทขายนี้เริ่มที่ไต้หวัน เมื่อมีการเทขายดอลลาร์ออกมาตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ต่อด้วยระลอกใหญ่อีกระลอกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา แล้วส่งผลสะเทือนกระเพื่อมไปถึงประเทศอื่นๆ โดยรอบ
ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์, วอนเกาหลีใต้, ริงกิตมาเลเซีย, หยวนจีน และดอลลาร์ฮ่องกง พากันแข็งค่าขึ้นพรวดพราดเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
“ความเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนสำหรับเงินสกุลดอลลาร์ เพราะเป็นแนวโน้มที่ชี้ให้เห็นว่า กระแสเงินกำลังไหลเข้ามายังเอเชียในปริมาณมหาศาล และเสาหลักสำคัญที่เคยค้ำยันเงินดอลลาร์อยู่กำลังสั่นคลอน”
ผลที่เป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นกับตาก็คือ ค่าเงินไต้หวันดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นวันละ 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อเนื่องกันใน 2 วันทำการ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวันดอลลาร์กับดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ในขณะที่สิงคโปร์ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูงที่สุดในรอบกว่าสิบปีเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์
ส่วนริงกิต, หยวน, บาท และวอน ก็ถีบตัวแข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงเช่นเดียวกัน
หลุยส์-วินเซนต์ เกฟ หุ้นส่วนผู้ก่อตั้งบริษัทวิจัย กาเวคัล รีเสิร์ซ บอกกับรอยเตอร์ว่า ถ้าพิจารณาจากปริมาณและความเร็วของความเคลื่อนไหวของกระแสเงินในครั้งนี้ ก็สามารถบอกได้ว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ วิกฤตการณ์ทางการเงินแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในเอเชียในปี 1997 และ 1998 เพียงแต่กลับด้าน สวนทิศทางกันเท่านั้นเอง
เมื่อครั้งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง กระแสเงินไหลออกจากไทย อินโดนีเซียและเกาหลีใต้ ในปริมาณมากและในระดับความเร็วที่สูงมากพอๆ กับในหนนี้
ผลจากการเกิดวิกฤตครั้งนั้น ทำให้บรรดาประเทศในเอเชียพากันสะสมเงินดอลลาร์เอาไว้ในคลังเป็นจำนวนมาก สำหรับใช้เป็น “กระสุน” ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุทำนองเดียวกันขึ้นอีก และนิยมนำเงินดอลลาร์ที่ได้ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ปัญหาก็คือ จู่ๆ โดยปัจจุบันทันด่วน ทุกอย่างก็กลับตาลปัตรเป็นตรงกันข้าม
นักค้าเงินในไต้หวันยอมรับกับรอยเตอร์ว่า ลำบากมากในการซื้อขายเงินตราในขณะนี้เพราะมีเพียงแค่การเทขายดอลลาร์ออกมาฝ่ายเดียวเท่านั้น แถมยังมีการ “เล่าลือ” กันในแวดวงการซื้อขายด้วยว่า ธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติของไต้หวัน ก็ “สนับสนุน” การเทขายครั้งนี้ด้วยอีกต่างหาก
ดีลเลอร์หลายๆ เจ้าในหลายๆ ประเทศในเอเชียก็บอกตรงกันว่า ปริมาณการเทขายในตลาดเอเชียก็หนาแน่นเช่นเดียวกัน
นักวิเคราะห์บอกกับรอยเตอร์ว่า ปรากฏการณ์ทิ้งดอลลาร์ เลิกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ ชนวนเหตุน่าจะเป็นนโยบายภาษีแบบแข็งกร้าวของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เขย่าความเชื่อมั่นต่อตัวเงินสกุลดอลลาร์และถล่มการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐไปแบบถอนรากถอนโคน
รายงานของโกลด์แมน แซกส์ วาณิชธนกิจชื่อดังเมื่อ 6 พฤษภาคม ระบุว่า นักลงทุนพากันทำในสิ่งตรงกันข้ามกับที่เคยทำ กล่าวคือ แทนที่จะทำชอร์ตเซลส์เก็งกำไรกับเงินหยวน กลับมาทำชอร์ตเซลส์กับค่าเงินดอลลาร์ โดยกะเก็งกันว่า ดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงไปอีก
ขณะที่อีกบางรายระบุว่า ทั้งหลายทั้งปวงนั้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า แรงหนุนต่อค่าเงินดอลลาร์กำลังเปลี่ยนแปลงในทางที่ลดต่ำลง หรือพูดง่ายๆ ว่า ดอลลาร์กำลังถูกทิ้ง
หลายคนตระหนักดีว่าอะไรเกิดขึ้นกับประเทศอย่างไทย อินโดนีเซีย หรือชาติเอเชียอื่นๆ เมื่อเกิดต้มยำกุ้งหลายสิบปีก่อน ครั้งนี้รอยเตอร์ไม่ได้บอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกา
เราคงทำได้แค่จับตาดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมาเมื่อวิกฤตต้มยำกุ้งเกิดกลับด้านขึ้นมาเช่นนี้ครับ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022