เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ที่มาศึกแคชเมียร์ คือความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด

11.05.2025

บทความต่างประเทศ

 

ที่มาศึกแคชเมียร์

คือความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด

 

เหตุการณ์กองกำลังติดอาวุธโจมตีประชาชนในเมืองปาหัลกัม ในพื้นที่แคว้นแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย ลุกลามขยายตัวอย่างรวดเร็วกลายเป็นวิวาทะทางการทูตระหว่างอินเดียกับปากีสถาน คู่ขนานไปกับการระดมยิงเข้าใส่กันข้ามแนวควบคุม (Line of Control) และตามมาด้วยการลดระดับทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศลง

จนในที่สุดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางการอินเดียก็ตัดสินใจส่งกำลังทั้งทางบกและทางอากาศ ตามปฏิบัติการ “สินธูร์” (Operation Sindoor) พุ่งเป้าโจมตีเป้าหมาย 9 จุด ทั้งในปากีสถาน และในพื้นที่จัมมู-แคชเมียร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ในแคว้นแคชเมียร์ส่วนที่อยู่ภายใต้การปกครองของปากีสถาน

สถานการณ์ตึงเครียดอย่างหนัก กลายเป็นการปะทะกันครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างประเทศทั้งสองนับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

จนหวั่นเกรงกันว่าจะลุกลามต่อเนื่องกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบขึ้นมา

 

รากเหง้าแห่งความขัดแย้งในแคชเมียร์มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งอินเดียที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ประกาศเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษในปี 1947 โดยมีการแยกส่วนหนึ่งซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนามุสลิมออกไปตั้งเป็นประเทศปากีสถาน หลงเหลือเพียงแคว้นจัมมู และแคชเมียร์ ที่มีผู้นับถือศาสนาผสมผสานกันไป ปล่อยให้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกขึ้นอยู่กับประเทศใด

มหาราชาผู้ครองแคว้นแคชเมียร์แต่เดิมคิดจะประกาศตนเป็นอิสระ แต่ในที่สุดตัดสินใจร้องขอขึ้นอยู่กับอินเดียเพื่อแลกกับความช่วยเหลือ เมื่อปรากฏกองกำลังจากปากีสถานรุกคืบเข้ามา

เหตุการณ์เลวร้ายลงกลายเป็นสงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถานในช่วงระหว่างปี 1947-1948 กระทั่งมีการทำความตกลงยุติความรุนแรงขึ้นในปี 1949 เรียกว่า “ความตกลงการาจี” ที่มีการกำหนดเส้นแบ่ง “แนวควบคุม” ขึ้น มีทหารจากชาติสมาชิกสหประชาชาติเข้ามากำกับดูแล

กระนั้นความตึงเครียดก็ยังคงอยู่ และระเบิดเป็นสงครามอีกครั้งในปี 1965 และสงครามย่อยๆ อีกครั้งในปี 1971 ในพื้นที่ปากีสถานตะวันออก ที่อินเดียเข้าไปช่วยให้ได้ชัยชนะในสงครามปลดแอก

ส่งผลให้เกิดการสถาปนา “บังกลาเทศ” ขึ้นตามมา

 

ถัดมา ความสัมพันธ์ทวิภาคี อินเดีย-ปากีสถาน ดีขึ้น มีการเจรจาทางการทูตเกิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้เกิดความตกลงสิมลา ขึ้นในปี 1972 โดยแบ่งแคชเมียร์ออกเป็น 2 ส่วนตาม “แนวเส้นควบคุม” ที่คงอยู่มาถึงปัจจุบัน

ต่อมาในปี 1974 ความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้ก็มีมิติใหม่เกิดขึ้น เมื่ออินเดียประสบผลสำเร็จในการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่ปากีสถานก็เร่งพัฒนาจนสามารถมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองได้เช่นกันในอีก 2 ทศวรรษต่อมา

ในช่วงระยะเวลาต่อมา เกิดขบวนการต่อต้านอินเดียขึ้นในเขตแคชเมียร์-อินเดีย หลายกลุ่ม เปิดโอกาสให้ปากีสถานเข้าแทรกแซง เพื่อบ่อนทำลายการปกครองของอินเดีย

ความตึงเครียดก่อตัวขึ้นอีกครั้ง จนเกิดเป็นการสู้รบ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ตัวอย่างเช่น “สงครามคาร์กิล” เมื่อปี 1999 ที่ทหารปากีสถานข้ามแนวเส้นควบคุมเข้ามา

และแม้ทั้งสองฝ่ายจะทำความตกลงหยุดยิงกันขึ้นอีกครั้งในปี 2003 แต่ก็มีการละเมิดกันขึ้นเป็นระยะๆ โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวหาอีกฝ่ายว่าละเมิดความตกลงและฝ่ายตนจำเป็นต้องยิงเพื่อตอบโต้การโจมตี

เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2008 ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุด เมื่อกองกำลังติดอาวุธบุกยึดนครมุมไบ เป็นเวลา 3 วัน มีผู้เสียชีวิตมากถึง 166 รายรวมทั้งอเมริกัน 6 ราย อินเดียและสหรัฐอเมริกาเชื่อว่าเป็นฝึมือของกองกำลังติดอาวุธแอลอีที ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับไอเอสไอ หน่วยสืบราชการลับของปากีสถาน

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในการสืบสวนสอบสวนระหว่างสองประเทศ จนสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ก็ช่วยให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีดีขึ้นได้อีกครั้ง

 

ปี 2014 นเรนทรา โมดี ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดีย และริเริ่มการเจรจาเพื่อสันติภาพระหว่างกันขึ้นอีกครั้ง

แต่ก็ต้องระงับไปในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันเมื่อข้าหลวงใหญ่ปากีสถานในอินเดียลักลอบพบปะกับผู้นำกองกำลังติดอาวุธ และในที่สุดการเจรจาสันติทั้งหมดก็พังครืนลงในปี 2016 เมื่อฐานที่มั่นของทหารอินเดียใกล้แนวควบคุมถูกกองกำลังติดอาวุธโจมตีเสียหายหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี

อินเดียกล่าวหากลุ่มติดอาวุธเจอีเอ็ม ที่เชื่อว่ามีสายสัมพันธ์อยู่กับไอเอสไอเป็นตัวการ และประกาศการโจมตี “ค่ายผู้ก่อการร้าย” ในเขตแคชเมียร์-ปากีสถานเป็นการตอบโต้

การปะทะกันที่เริ่มต้นขึ้นในปลายปีนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะๆ ไปจนกระทั่งถึงปี 2018 มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย ผู้คนเป็นเรือนหมื่นต้องหลบหนีออกจากสองฟากของแนวควบคุม

เฉพาะในปี 2017 ปีเดียว มีการโจมตีกันและกันขึ้นมากกว่า 3,000 ครั้ง ในขณะที่การรวมตัวประท้วงเพื่อแยกแคชเมียร์เป็นอิสระจากอินเดียก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ในเดือนพฤษภาคม 2018 อินเดียและปากีสถานทำความตกลงหยุดยิงขึ้น โดยหันไปยึดสารัตถะจากความตกลงปี 2003 เป็นหลัก

แต่ความสงบอยู่ได้ไม่นาน เดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 คอนวอยทหารอินเดียถูกโจมตีที่ปุลวามา ในแคชเมียร์-อินเดีย ทหารเสียชีวิตไปอย่างน้อย 40 นาย กลายเป็นการสูญเสียสูงที่สุดในรอบ 30 ปี กองกำลังติดอาวุธเจอีเอ็มอ้างความรับผิดชอบ

อินเดียตอบโต้ด้วยการส่งฝูงบินถล่มที่ตั้ง “ค่ายฝึกก่อการร้าย” ในเขตแคชเมียร์-ปากีสถาน จนกลายเป็นการโจมตีทางอากาศตอบโต้กัน ถึงขั้นมีการเปิดศึกประจัญบานกลางเวหาขึ้น เครื่องบินรบอินเดียถูกยิงตก 2 ลำ นักบินรายหนึ่งถูกจับ แต่ถูกปล่อยตัวในอีก 2 วันถัดมา

ทั้งสองฝ่ายระดมส่งกำลังทหารเข้าไปประจำการในแคชเมียร์หลายหมื่นนาย

 

หลังเกิดเหตุดังกล่าว ทางการอินเดียตัดสินใจตัดมาตรา 370 ในรัฐธรรมนูญว่าด้วยการให้สิทธิปกครองตนเองแก่แคชเมียร์ทิ้งไป ต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายและข้อบังคับของอินเดียอย่างเคร่งครัด

ปากีสถานกล่าวหาว่า การตัดมาตรการดังกล่าวไปแสดงเป็นนัยว่าอินเดียต้องการผนวกแคชเมียร์เป็นของตนเองตามลัทธิชาตินิยมฮินดู ซึ่งเป็น “อยุติธรรม” ขั้นสูงสุด

พื้นที่แคชเมียร์-อินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองอย่างเคร่งครัดจากอินเดีย ที่นอกจากจะพยายามกวาดล้างกองกำลังติดอาวุธแล้ว ยังเข้าควบคุม ปิดกิจการสื่ออิสระ ตัดอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายโทรศัพท์ อยู่นานเป็นปี มีผู้ถูกจับกุมคุมขังหลายพันคน ปรับเปลี่ยนเขตการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้สิทธิพิเศษแก่พื้นที่มีประชากรฮินดู

ในขณะที่การโจมตีแบบลอบสังหารชาวฮินดูเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การปราบปรามอย่างเด็ดขาดของอินเดียส่งผลให้เกิดการสู้รบย่อมๆ ระหว่างอินเดียกับปากีสถานขึ้นอีกครั้งในปี 2023 กระนั้นการลอบสังหาร การโจมตี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวฮินดู ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2024 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงเหตุการณ์เมื่อ 22 เมษายน 2025 ที่ขบวนนักท่องเที่ยวอินเดียถูกโจมตีในแคชเมียร์ ชาวอินเดียเสียชีวิต 25 ราย ชาวเนปาลอีก 1 ราย

และเป็นที่มาของการระเบิดศึกหนล่าสุดนี้ขึ้นตามมา



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568