

บทความพิเศษ
คัดลอก แต่งเติม
เขียน ประวัติศาสตร์ ใหม่
บทบาท ‘นาย กุ’
ในความเห็นของ เกร็ก เรย์โนลด์ แห่งออสเตรเลีย ประสานเข้ากับการตรวจสอบของ ชัยอนันต์ สมุทวณิช แห่งไทย
ประมวลออกมาอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน
งานของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่มีมากที่สุด ได้แก่ การเขียนพงศาวดารและประวัติบุคคลสำคัญ และเป็นงานที่เขาได้รับการวิจารณ์ในเชิงตำหนิมากที่สุด แม้กระนั้นก็อาจกล่าวได้ว่า การพิมพ์พงศาวดารและประวัติบุคคลสำคัญออกเผยแพร่นับว่าเป็นผลงานของเขาที่มีคุณค่าต่อวงการวรรณกรรมอย่างหนึ่ง
ทั้งนี้ เนื่องจากคนไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติไทยมากเท่าใดนัก
พงศาวดารและจดหมายเหตุต่างๆ ยังคงเก็บอยู่ที่หอหลวง มิได้ถูกนำออกมาเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้อ่านและคัดลอกเอกสารเก่าๆ เหล่านี้ไว้เกือบทั้งหมด
นอกจากนั้น ยังได้สะสมหนังสือภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสที่เขียนเกี่ยวกับเมืองไทยสมัยอยุธยาไว้อีกด้วย
การที่วิทยาการแผนใหม่ช่วยให้การพิมพ์หนังสือเป็นไปได้และมีตัวพิมพ์ภาษาไทย ก.ศ.ร.กุหลาบ จึงได้อาศัยวิทยาการแผนนี้นำเอาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความรู้เรื่องต่างๆ มาเผยแพร่
จนเป็นเหตุให้ถูกสอบสวนในฐานที่แต่งประวัติสมเด็จพระสังฆราชผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริง
ความผิด จากแต่งเติม
เปลี่ยน ประวัติศาสตร์
การถูกไต่สวนครั้งนั้นทำให้ ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้ชื่อว่าเป็น “นักกุ” คือ แต่งเติม เสริมต่อ ตัดทอนประวัติศาสตร์ จนกลายเป็นเรื่องที่พูดกันทั่วไปจนถึงสมัยปัจจุบันว่า ก.ศ.ร.กุ หลาบ เป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้
และหนังสือ “สยามประเภท” ของเขาก็กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้งานของ ก.ศ.ร.กุหลาบ จึงไม่ได้รับความสนใจและศึกษามากเท่าที่ควร
มีข้อคิดว่า การที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ แต่งเติมหรือเปลี่ยนศักราชในประวัติศาสตร์บางตอนนั้นก็เนื่องมาจาก ก.ศ.ร.กุหลาบ รู้ดีว่าเอกสารในหอหลวงนั้นเป็นของทางราชการ การนำมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิด
เพื่อป้องกันความผิดนี้เขาจึงเปลี่ยนแปลงข้อความหรือเปลี่ยนศักราชเสีย
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจหนังสือ “สยามประเภท” ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เมื่อเทียบเคียงเรื่องเหล่านี้กับพงศาวดารและจดหมายเหตุที่พิมพ์เผยแพร่ในเวลาต่อมาพบว่า
โดยทั่วไปแล้วสิ่งที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ เขียนไว้เป็นการคัดลอกเอกสารจากหอหลวงมานั่นเองแต่มิได้อ้างแหล่งที่มาอย่างชัดเจน
ดังเช่นคำตอบปัญหาที่มีผู้เขียนถามว่า บุคคลควรประพฤติกาย วาจา ใจอย่างไรจึงจะเจริญนั้น ก.ศ.ร.กุหลาบ นำมาจาก “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม”
แม้ว่าจะอ้างหลักการประพฤตินี้เรียกว่า “พิชัยเสนานุวัติ” ก็ตาม แต่เขาก็มิได้บอกไว้ว่า “ตำราพิชัยเสนา” นี้อยู่ใน “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม”
อนึ่ง “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” นี้เพิ่งจะมีการค้นพบเมื่อ พ.ศ.2482 หลังจากที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้เคยอาศัยเอกสารนี้มาเผยแพร่ใน “สยามประเภท” เป็นเวลาเกือบ 80 ปี
นอกจากเอกสารที่เป็นของไทยแล้ว ก.ศ.ร.กุหลาบ ยังได้ใช้เอกสารภาษาอื่นอีก เช่น หนังสือของ “บาทหลวงตาชา” (Tachard) ซึ่งบรรยายเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
จดหมายเหตุภาษาฝรั่งเศสของ “บาทหลวงชาน์เลซ์” ซึ่งเป็นล่ามออกไปฝรั่งเศสกับโกษาปาน
ก.ศ.ร.กุหลาบ มีหนังสือของ “ตาชา” และได้แจ้งไว้ว่า ถ้าผู้ใดต้องการดูก็จะขอยืมดูได้เพียง 24 ชั่วโมง แต่ผู้นั้นจะต้องเป็นสมาชิก “สยามประเภท”
คงจะมีผู้สงสัยว่าเอกสารฝรั่งเศสนี้มีอยู่จริงหรือไม่
ดังนั้น ก.ศ.ร.กุหลาบ จึงต้องยืนยันหลายครั้งหลายหนและนำรูปภาพตราแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มาพิมพ์ไว้ด้วย
เอกสารภาษาต่างประเทศเหล่านี้เข้าใจว่า ก.ศ.ร.กุหลาบ คงได้มาจากสังฆราชปาเลอกัวซ์ เพราะมีอยู่หลายครั้งที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ กล่าวถึงในหนังสือ “สยามประเภท” และเคยอ้างว่าเป็นศิษย์
นอกจากภาพตราแผ่นดินสมัยพระนารายณ์แล้ว ก.ศ.ร.กุหลาบ ยังได้ตีพิมพ์ภาพอีกหลายภาพ
เช่น ภาพเหรียญเงินที่ระลึกซึ่งสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 แห่งกรุงโรมพระราชทานแก่ทูตของสมเด็จพระนารายณ์ โดยบอกวันเวลาที่ราชทูตเข้าเฝ้าสันตะปาปาไว้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีภาพการแต่งกายของขุนนางสมัยอยุธยาจนถึงปลายสมัยอยุธยา
อ่าน รวบรวม ตำรา
หลายพันเล่ม เสนอ
การเทียบเคียงข้อเขียนที่เกี่ยวกับพงศาวดารและประวัติศาสตร์ใน “สยามประเภท” กับพงศาวดารและจดหมายเหตุทั้งไทยและต่างประเทศที่มีการพิมพ์เผยแพร่ในเวลาต่อมาแสดงให้เห็นว่า ก.ศ.ร.กุหลาบ มิใช่นักแต่งพงศาวดารขึ้นเอง
ข้อความส่วนใหญ่ใน “สยามประเภท” ที่เกี่ยวกับพงศาวดารไทยเป็นข้อความที่นำมาจากเอกสารของหอหลวงโดยรักษาเนื้อหาไว้
นอกจากนั้น ก.ศ.ร.กุหลาบ ยังได้เพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาไว้ด้วย โดยการนำเอกสารต่างประเทศมาแปลและพิมพ์เผยแพร่ใน “สยามประ เภท”
ในขณะที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ ออกหนังสือ “สยามประเภทสุนทโรวาทพิเศษ” นั้นเขามีอายุได้ 63 ปี
แต่ได้กล่าวไว้ในคำนำของ “สยามประเภท” ฉบับแรกว่า ได้คิดที่จะออกหนังสือนี้มาเป็นเวลา 30 กว่าปีแล้ว ในระยะเวลา 30 กว่าปีนี้ได้อ่านและรวบรวมตำราหลายพันเล่ม
มีทั้งตำราทางไสยศาสตร์ จดหมายเหตุโบราณทั้งของไทยและต่างประเทศ
เก็บเนื้อความจากพระราชพงศาวดารหลายสิบประเทศ ตลอดจนได้เลือกคัดย่อข้อความจากคำกลอน คำกาพย์ คำพากย์ คำฉันท์ คำโคลง คำร่าย และคำร้อยแก้ว
ความมุ่งหมายในการรวบรวมเรื่องต่างๆ นำมาพิมพ์เผยแพร่นี้ ก.ศ.ร.กุหลาบ ชี้แจงว่า
ก็เพื่อให้สมความปรารถนาที่จะให้เป็นประโยชน์ “แก่เพื่อนมนุษย์บุรุศย์สัตว์ที่เกิดร่วมชาติศาสนามาด้วยกันที่ไม่ทราบ จะได้ประพฤติวิธีที่มีมาแต่โบราณของชาวสยามเราท่าน
โดยลักษณะกระทำการมงคลและอัปมงคลต่างๆ นั้นๆ เนื่องออกมาจากคติตำราไสยศาสตร์นำมาปะปนระคนกับคติบรมพระพุทธศาสน์ ทุกสิ่งทุกอย่างต่างๆ แต่ล้วนทำการอันใด
ก็นำพุทธกับไสยปนกันเจือกันเสมอสืบมาแต่โบราณ”
คำนำของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ใน “สยามประเภท” มีความสำคัญมากเพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายในการจัดพิมพ์ “สยามประเภท”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022