

บทความพิเศษ | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์
33 ปี ชีวิตสีกากี
พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ (124)
พนักงานสอบสวน
ต้องสู้กับความเย้ายวนผลประโยชน์
วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2536
วันนี้นำตัว ร.ต.อ.ปรเมศวร์ไปฝากขังไว้ในระหว่างสอบสวน และผมไปศาลทำบันทึกคัดค้านการประกันตัว
ตอนบ่ายผมได้ทำเรื่องเสนอขอให้พักราชการ ร.ต.อ.ปรเมศวร์
ตอนเย็นไปพบนางโง้ยเลี่ยน หรือหมะ พูนพานิช มารดาของโกซือที่ร้านศรีสะอาด และญาติๆ ที่ร้านสินเกียรติ
ช่วงเวลานั้น มีข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วตลาดเมืองสตูลว่า นางวัชรินทร์ หรือโอ๋ ไววิทยา ภรรยาของนายบุญลือหรือโกซือผู้ตาย ซึ่งตามปกติจะเป็นผู้ดูแลกิจการภายในร้านแทนผู้ตาย และควบคุมการเงินของทางร้านไว้ทั้งหมดจึงมีเงิน ได้ร่วมกับ ร.ต.อ.ปรเมศวร์ สิทธิผล ซึ่งทั้งสองคนตกเป็นผู้ต้องหาแล้ว ว่าจ้างให้นายสนิท พัทเต มือปืนที่ยิงนายบุญลือหรือโกซือนั้น ให้การรับว่า เป็นผู้ยิงเอง สาเหตุมาจากโกรธเคืองกันด้วยเรื่องส่วนตัวมาก่อน เป็นเรื่องการพนัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนางวัชรินทร์ หรือโอ๋ ไววิทยา กับ ร.ต.อ.ปรเมศวร์ สิทธิผล แต่อย่างใด
และหนังสือพิมพ์ยังได้นำข่าวลือเหล่านี้ไปรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ จึงยิ่งทำให้บรรดาญาติของผู้ตายรวมทั้งนางโง้ยเลี่ยน พูนพานิช มารดาของผู้ตาย เกิดความไม่สบายใจ เกิดความสงสัยว่าจะเป็นจริงตามข่าวหนังสือพิมพ์หรือไม่ หรือตำรวจจะเป็นอย่างไรบ้าง
สภาพเหตุการณ์เช่นนี้ ทางผู้สูญเสียคงต้องการความเชื่อมั่นว่าจะได้รับความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่ของบ้านเมือง และหวังว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นที่พึ่งได้ มีการดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา และจะไม่เกิดการพลิกทางคดีเหมือนเช่นที่มีข่าว
ดังนั้น ผมจึงได้เดินทางไปพบกับนางโง้ยเลี่ยน มารดาของผู้ตายรวมทั้งญาติๆ ผมยืนยันว่า ผมจะสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา ให้ความยุติธรรม ไม่ต้องกังวลกับข่าวลือที่ปล่อยออกมา และให้มั่นใจว่าพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ เพียงพอที่จะเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ทั้งหมด
ผมได้แสดงความจริงใจ เปิดเผย ไม่มีอาการลังเล หรือกลับไปกลับมา มั่นคง สม่ำเสมอ ทั้งยังหนักแน่น ยึดคำมั่น คำไหนคำนั้น
ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของผม คดีใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับคนที่มีฐานะ มีเงิน มีอำนาจ มีตำแหน่งหน้าที่ มีพวกพ้อง ก็จะมีข่าวทำนองนี้เสมอๆ ในระหว่างที่กำลังสอบสวน และอาจจะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
พนักงานสอบสวนจะได้รับความกดดันมากมาย หากไม่นิ่ง ไม่มั่นคง และถ้าคดีหละหลวม หลงทาง จะเพลี่ยงพล้ำให้กับฝ่ายคนทำผิดทันที เป็นการชิงไหวชิงพริบ บางครั้งเป็นการต่อสู้กันอย่างเงียบๆ แต่ทั้งเข้มข้น ทั้งดุเดือด เพราะถ้าพ่ายแพ้ เดิมพันของฝ่ายผู้ต้องหา คือ ชีวิตและอิสรภาพ จึงต้องทุ่มเททรัพยากรทุกสิ่งทุกอย่างของผู้ต้องหาที่มีอยู่ออกมาให้หมด
ช่วงความเป็นความตาย ถ้าพนักงานสอบสวนจิตใจหวั่นไหว หรือเห็นแก่ผลประโยชน์ หรือเกรงกลัวอำนาจที่เหนือกว่า จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและถูกบีบจากผู้มีอำนาจ จนต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตาม ตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ การไม่คัดค้านการประกันตัว จนไปถึงการล้มคดี หักหลังผู้เสียหาย ก็มีให้เห็นมากมาย
ผู้สูญเสียต้องการความเชื่อมั่น ความมั่นคง ความยุติธรรม พนักงานสอบสวนจะต้องเป็นผนังทองแดง กำแพงเหล็กให้กับความถูกต้อง ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง จะเป็นเครื่องหมาย การันตี รับประกันว่า จะไม่มีอำนาจหรือความเย้ายวนของผลประโยชน์ใดๆ มาทำลายกำแพงนี้ให้พังราบลงไปได้
นี่คือบทบาทของพนักงานสอบสวน ผู้เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ จะต้องแสดงออกมาอย่างจริงจัง จริงใจ เปิดเผย ไม่มีอาการรีๆ รอๆ และเมื่อพูดออกมาทุกครั้งก็ต้องเหมือนเดิมทุกครั้ง หนักแน่นดังหินผา
สิ่งที่สำคัญต้องอย่าลืมว่า ฝ่ายผู้ต้องหานั้น พยายามดิ้นรนให้พ้นผิดทุกวิถีทาง ทั้งทางข้อกฎหมายให้ทนายความงัดออกมาสู้ หรือวิ่งเต้นพนักงานสอบสวนให้ช่วยเหลือทางคดี สืบหาช่องทาง ติดต่อผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ส.ส. ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เพื่อบีบพนักงานสอบสวน และการต่อสู้ก็ไม่ใช่ระยะเวลาสั้นๆ แต่เป็นเวลาที่ยาวนานมาก นับเวลาเป็นปีๆ ช่วงเวลาที่ยาวนานขนาดนี้ พนักงานสอบสวนจะดูแลได้เพียงแค่ในระดับศาลชั้นต้น หลังจากนั้นเกินอำนาจหน้าที่แล้ว
พยานหลักฐานจึงต้องรวบรวมให้แน่นหนา มั่นคง
วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2536
ผมไปที่ร้านศรีสะอาดอีกครั้ง และไปตรวจค้นหาเอกสารเพิ่มเติม
พ.ต.ต.สัมบูรณ์ บัวสิงห์ ออกติดตามนายสนิท พัทเต
วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน 2536
นายสุชาติ คงชำนาญ โทรศัพท์มาแจ้งว่า นายสนิท พัทเต จะมามอบตัว โดยได้ติดต่อผ่านทาง พ.ต.ท.วิศิษฏ์ เกตทองสง สวญ.สภ.อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน 2536
ไปเยี่ยม พ.ต.ต.กำพล อิสสระเสรี ที่โรงพยาบาล ม.อ. ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถชนกันจาก อ.จะนะ จ.สงขลา
วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน 2536
ศาลจังหวัดสตูล ได้อ่านคำพิพากษา ตัดสินประหารชีวิต นายประชิต สว่างนิพันธ์ มือปืนที่ยิงนายจำลอง พ่วงพี จนถึงแก่ความตาย โดยยิงต่อหน้านางรุ่งอรุณ ช่วยปาน ซึ่งเป็นภรรยาผู้ตายและมาเป็นพยานในคดีนี้ด้วย ทำให้ผมโล่งใจ เพราะต้องติดตามและดูแลพยานมาโดยตลอด
วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2536
นายสนิท พัทเต ได้เดินทางเข้ามอบตัวกับ พล.ต.ต.อนันต์ เหมทานนท์ ผู้ช่วย ผบช.ภ.4 ที่ จ.สงขลา ผมพร้อมกับ พ.ต.ต.สัมบูรณ์ บัวสิงห์, ร.ต.อ.สุเทพ กุหลาบทอง, ด.ต.ไพรัช ไพมณี และ ส.ต.อ.วิศิษฏ์ พรรณราย ออกเดินทางไปรับตัวที่ จ.สงขลา เมื่อไปถึงได้จัดทำบันทึกการรับมอบตัว แต่เนื่องจากนายสนิท พัทเต มีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง เมื่อกลับมาถึง จ.สตูล ยังไม่ยอมให้การ จึงนำไปรักษาที่โรงพยาบาลสตูล
วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2536
ตอนเช้าผมได้พานายสนิท พัทเต ไปโรงพยาบาลสตูล เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง และต้องใส่เฝือกอ่อน
เมื่อกลับมาถึงโรงพัก จึงทราบว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เรียกสารวัตรใหญ่ไปพบสอบถามเรื่องคดีนี้ ในระหว่างนั้นผมได้เรียก จ.ส.ต.นิยม เจียนซี มาพูดคุยเป็นเวลาเดียวกันกับ พล.ต.ต.ศุภชัย ลิ่วเฉลิมวงศ์ ผบก.ภ.12 เดินทางมาตรวจสำนวนและสอบถามความคืบหน้าของคดี
ผมได้พา จ.ส.ต.นิยมไปชี้จุดต่างๆ จุดที่ จ.ส.ต.นิยมโยนหมวกกันน็อกที่นายสนิท พัทเต ใช้สวมใส่ขณะไปยิง ทิ้งที่คลองมำบังและทิ้งปลอกกระสุนปืน ไปที่บ้านของ จ.ส.ต.นิยม ที่เป็นบริเวณที่มีประชุมนัดหมายกัน
วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน 2536
นายสนิท พัทเต ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่มอบตัวยังไม่ยอมให้การใดๆ ยอมรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาแล้ว และยอมรับว่า มีการติดต่อจากญาติและพรรคพวกของนางวัชรินทร์หรือโอ๋ กับ ร.ต.อ.ปรเมศวร์ อย่าให้การซัดทอดว่ามีการจ้างให้ยิงโกซือในครั้งนี้
นายสนิทยังรับด้วยว่า หากนายสนิทไม่มอบตัวอาจจะเกิดอันตรายกับชีวิตได้ เพราะก่อนจะมามอบตัว ระหว่างที่นายสนิทหลบไปซ่อนตัวที่โรงแรมมีคนติดตามไปเพื่อจะฆ่าปิดปาก นายสนิทจึงหลบหนี แต่ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณหลังเพราะตกจากที่สูง จึงตัดสินใจเข้ามอบตัว
ผมได้สอบสวนนายสนิท พัทเต จนดึกมาก แต่ต้องยุติลงเมื่อเครื่องพิมพ์ดีดของผมเกิดชำรุดขึ้นมา แป้นพิมพ์อักษรตัว ง กระเด็นหลุดออกมา
https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


