

บทความพิเศษ | ธงชัย วินิจจะกูล
ชาญวิทย์ ศาสตราจารย์พิเศษ (และไม่พิเศษ)
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นคนธรรมดามีจุดอ่อนข้อเสียเป็นปกติ ทำผิดพลาดมามากมายไม่ต่างอะไรกับเราท่านทุกคน
แต่ผมมั่นใจว่าคนไทยจำนวนมากรู้จักชื่อของเขามากพอสมควร และมีคนที่รักชอบเคารพนับถือเขามากกว่าคนที่ไม่ชอบ
ทำไม?
เพราะชาญวิทย์บ่มเพาะคนหลายรุ่น – ให้เป็นปัญญาชนสาธารณะที่ขยันขันแข็ง-ที่มีความคิดเสรีนิยมหรือก้าวหน้าสนับสนุนประชาธิปไตย-อย่างที่เขาเป็น
มีนักวิชาการจำนวนมากที่มีคุณสมบัติหนึ่งหรือสองอย่างในย่อหน้าข้างบนนี้
แต่คนที่มีทั้งสี่อย่างหาได้ยากอย่างยิ่ง
บ่มเพาะคนหลายรุ่น – ข้อนี้ไม่แปลกนัก มีนักวิชาการและครูบาอาจารย์หลายคนทำมาตลอด
ปัญญาชนสาธารณะที่ขยันขันแข็ง – มิใช่หมายถึงแค่นักวิชาการที่มีบทบาททางสังคม แต่รวมถึงปัญญาชนนอกวงวิชาการด้วย เช่น สื่อมวลชนทุกประเภท กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมทั้งหลาย ศิลปิน นักโฆษณา ฯลฯ
มีสักกี่คนที่บ่มเพาะศิษย์ที่มีบทบาทสำคัญในวงการนั้นๆ หลายคนหลายรุ่น
และยิ่งมีจำนวนน้อยลงไปอีกที่เป็นแรงบันดาลใจให้ศิษย์มีความคิดเสรีนิยมสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งในสังคมไทยถือเป็นความคิดที่ก้าวหน้า หลายคนมีบทบาทต่อสู้ผลักดันความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อีกด้วย
เขาเองก็เป็นนักวิชาการมีฝีมือที่มีบทบาททางสังคมการเมืองทั้งในและนอกห้องเรียนตลอดชีวิตการเป็นปัญญาชนของเขา
ชาญวิทย์ทำได้อย่างไรกัน?
เพราะเขามีคุณสมบัติที่เหมาะเจาะเอื้ออำนวยให้เขาทำเช่นนั้นได้
1. เขามีความรู้และนิสัยทางปัญญาที่ไม่หยุดนิ่ง สนใจโลกกว้างขวาง ติดตามความเปลี่ยนแปลง รับฟังหลายฝ่าย
นิสัยทางปัญญาที่ไม่หยุดนิ่งเป็นคนละอย่างกับการสนใจติดตามทฤษฎี วิธีวิทยา หรือแนวโน้มใหม่ๆ ในทางวิชาการ ชาญวิทย์ไม่ได้ดีเด่นแบบนั้นแม้จะเป็นวิสัยปกติของนักวิชาการก็ตาม
บางครั้งผมเองยังไม่เห็นด้วยกับหนังสือที่เขาเลือกให้คนแปลและตีพิมพ์เพราะมันเป็นงานที่พ้นสมัยไปแล้วในทางวิชาการ
ถ้า…นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นปัญญาชนแนวหน้าผู้มีความคิดใหม่ๆ เป็นเลิศทั้งในงานวิชาการและในการวิเคราะห์วิจารณ์สังคม ตั้งคำถามทะลุทะลวงชนิดที่สังคมไทยไม่เคยคิด นี่เป็นเสน่ห์ให้คนจำนวนมากติดตามเป็นศิษย์อย่างไม่เป็นทางการของนิธิ
แต่ข้อเด่นของชาญวิทย์ไม่ใช่ตรงนั้น
แต่ในแง่ความสนใจโลก ติดตามความเปลี่ยนแปลง รับฟังหลายฝ่าย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ แถมเปิดใจเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่รวมทั้งจากศิษย์ นี่คือนิสัยทางปัญญาที่ไม่หยุดนิ่ง
ชาญวิทย์ไม่เป็นสองรองใครในคุณสมบัติข้อนี้
2. อีโก้ของชาญวิทย์ไม่สูง ซึ่งออกจะผิดปกติสำหรับนักวิชาการอาวุโสระดับเขา
คุณสมบัติข้อนี้สำคัญมาก ถ้าหากอีโก้มากเกินไป เป็นชาล้นถ้วยที่ไม่เปิดรับความคิดใหม่ๆ หรือพยายามให้โลกหมุนรอบตัวเรา ย่อมไม่มีทางมีคุณสมบัติในข้อที่หนึ่งและอีกหลายข้อข้างล่างนี้
3. ชาญวิทย์มองคนในแง่ดีและถือว่าคนที่เขาคบหาเป็นคนดีไว้ก่อน (จนกว่าจะเจอว่าไม่ใช่)
เขาจึงผูกมิตรและทำงานกับคนอื่นได้กว้างขวาง (จนกว่าจะเจอว่าไม่ง่ายอย่างที่เขาคิด)
เขาชอบให้นักศึกษามาทำงานกับ/ให้เขาเพราะเชื่อว่านักศึกษาน่าจะพอใจที่อาจารย์ไว้ใจให้โอกาส (ส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น แต่บางคนไม่ใช่)
4.ชาญวิทย์อาจมีความคิดไปในทางเสรีนิยมแบบฝรั่ง แต่ในความสัมพันธ์กับผู้คนและลักษณะการทำงานของเขายังเป็นไทยอยู่มาก
ที่สำคัญคืออาศัยเครือข่ายเพื่อนฝูงและคนที่รู้จักเต็มไปหมดเพื่อผลักดันกิจกรรมต่างๆ แต่เขาไม่ใช้เส้นสายแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกระทำสิ่งที่ผิด
พฤติกรรมอย่างหนึ่งของชาญวิทย์ที่ผมสังเกตเห็นบ่อยๆ ในระหว่างการสนทนาเรื่องหนึ่ง ๆ ก็คือ เขามักแทรกขึ้นมาว่าเขารู้จักคนนั้นคนนี้เต็มไปหมด แทนที่จะสนทนากันในสาระของเรื่องนั้นๆ ให้สิ้นความ
พฤติกรรมเช่นนี้ไม่แปลกเลยสำหรับคนไทยทั้งชนชั้นนำและคนทั่วไปซึ่งมักจะโม้ถึงเส้นสายที่ตนมี
เพราะสังคมไทยถือว่าเส้นสายเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งที่มีค่าไม่น้อยไปกว่าทรัพย์จริงๆ และอำนาจได้ (แม้ว่าหลายคนที่ชอบพูดถึงเส้นสายของตนอาจจะไม่มีทรัพย์หรืออำนาจสักเท่าไรก็ตาม ซึ่งคงรวมทั้งชาญวิทย์ด้วย)
ลักษณะการทำงานแบบไทยๆ อีกอย่างก็คือเป็นผู้ใหญ่มักออกปากขอให้มิตรสหายและนักศึกษาช่วยทำโน่นนี่ โดยมากยินดีทำอย่างสมัครใจ
หลายคนกล้าออกปากปฏิเสธ (เช่น ผม) ซึ่งไม่เคยเห็นว่าจะทำให้ชาญวิทย์หงุดหงิดหรือโกรธขึ้งแต่อย่างใด อย่างมากที่สุดก็แค่บ่น
แต่ว่าหลายคนอาจไม่กล้าปฏิเสธ บางคนเก็บความอึดอัดไว้โดยไม่พูดออกมา จึงอาจสะสมกลายเป็นความไม่พอใจในเวลาต่อมา
5. ข้อเด่นในวิชาชีพของเขาคือการสอนระดับปริญญาตรี (มิได้หมายความว่าเขาบกพร่องใดๆ ในการสอนระดับหลังปริญญาตรี) ทำไม?
เพราะชาญวิทย์สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาและเยาวชนรุ่นหลังได้รุ่นแล้วรุ่นเล่า
คุณสมบัติข้อนี้ไม่ใช่จะสามารถหาได้ในครูอาจารย์ทุกคน ยิ่งนักวิชาการมหาวิทยาลัยที่อาจเก่งกาจในการวิจัยสร้างความรู้ใหม่ แต่อาจสอนหนังสือไม่เก่งหรือไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ศิษย์ได้
แต่ชาญวิทย์ไม่ใช่ผู้นำแบบเข้มแข็งดูมีบารมีโดดเด่นจนเยาวชนหลงใหลติดตามแบบ “ฟ้ารักพ่อ” แม้แต่น้อย
แล้วเขาเป็นแรงบันดาลใจในแง่ไหนกัน?
ชาญวิทย์มีความสามารถทำให้นักศึกษาเยาวชนอยากรู้อยากเห็นและตื่นตาตื่นใจที่จะเรียนรู้สารพัดเรื่อง เหมือนอย่างที่ตัวเขาเองก็เป็นเช่นนั้น
เขาแสดงความตื่นเต้นอยากรู้เสมอ แถมดูเหมือนไฟความอยากเรียนรู้จะไม่ลดน้องลงตามอายุเสียด้วย
ความตื่นตาตื่นใจอยากเรียนรู้ของชาญวิทย์เสมือนเป็นโรคติดต่อ แพร่ไปยังนักศึกษาของเขาหลายคนในทุกรุ่น
ยิ่งคนที่มีโอกาสได้ทำงานกับเขาจะรับเชื้อความอยากรู้อยากเห็นกันงอมแงม (แน่นอนว่าปัญญาชนมีหลายแบบ ความอยากรู้สารพัดเช่นนั้นอาจจะไม่ใช่หนทางสู่ความคิดที่เข้มแข็งลึกซึ้งสำหรับบางคน)
6. กิจกรรมที่ชาญวิทย์ทำสอดคล้องเหมาะเหม็งกับคุณสมบัติที่กล่าวมา คือทำงานวิชาการแบบสาธารณะจำนวนมาก เช่น พูดเขียนออกสื่อ (ตั้งแต่ก่อนมีโซเชียลมีเดีย) จัดเวทีถกเถียงเรื่องต่างๆ ตีพิมพ์หนังสือ หรือจัดทัวร์ ฯลฯ เขาชอบพบปะผู้คน เขาชอบออกงาน
ข้อเด่นของชาญวิทย์ที่หาใครเทียบยากคือเขาทำให้ประเด็นวิชาการลงถนนและเรื่องในถนนมาอยู่ในห้องเรียนและห้องสัมมนา ทำนองเดียวกับที่สุจิตต์ วงษ์เทศ กระทำกับความรู้ประวัติศาสตร์โบราณคดี แต่ด้วยกิจกรรมและบทบาทคนละอย่างกัน
7.ตามประวัติศาสตร์ของระบบอุดมศึกษาไทย ชาญวิทย์เป็นหนึ่งในอาจารย์รุ่นแรกๆ ที่เป็นนักวิชาการอาชีพและสังกัดมหาวิทยาลัยอย่างเต็มเวลา ต่างจากอาจารย์มหาวิทยาลัยรุ่นก่อนหน้านั้นซึ่งมักเป็นข้าราชการระดับสูงที่ได้รับเชิญมาสอน จึงมักไม่สามารถทุ่มเทให้กับนักศึกษาได้ เพราะความรับผิดชอบหลักอยู่ที่กรมกองของตน อีกทั้งส่วนมากมักได้รับเชิญมาเพียงระยะหนึ่ง
ต่างจากนักวิชาการอาชีพซึ่งทำงานต่อเนื่องกันหลายทศวรรษ การฝึกฝนเป็นนักวิชาการอาชีพก็ต่างจากผู้เชี่ยวชาญประจำหน่วยราชการหรือครูผู้ที่สามารถสอนสารพัดวิชา
การเป็นคนรุ่นแรกๆ หรือรุ่นบุกเบิก (Trailblazer) ทำให้คุณสมบัติอย่างเขาเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน จนเป็นที่ยอมรับนับถือจากทั้งนักศึกษาและอาจารย์รุ่นต่อๆ มา (ขออภัยสำหรับใครก็ตามที่อาจมีคุณสมบัติทำนองนี้ในรุ่นถัดมา เพราะคุณอาจจะไม่ได้รับการยกย่องเท่ากับรุ่นบุกเบิก)
8. แต่ที่ผมอธิบายไม่ได้และคงต้องถามชาญวิทย์เอง (ถ้าเขารู้) ก็คือ อะไรเป็นอิทธิพลที่ทำให้เขายืนหยัดรักษาความคิดเสรีนิยม (ซึ่งจัดว่าค่อนข้างก้าวหน้าสำหรับสังคมไทย) ได้ตลอดทั้งชีวิตแม้ในสังคมไทยที่อนุรักษนิยมจัด และหลายครั้งเขาก็เจ็บตัวด้วยก็ตาม
อิทธิพลของ “บุปผาชน” และนักศึกษาในตะวันตกยุค 60 หรือ? น่าจะมีเหตุปัจจัยอื่นอีกกระมัง
ได้แต่คิดว่าเป็นโชคดีสำหรับผู้รักประชาธิปไตยที่มีชาญวิทย์อยู่ข้างเราเสมอ (สารภาพก็ได้ว่าผมเคยเกรงว่าเขาจะเป็นพวก “รู้ทันทักษิณ” จนเป๋ไปเห็นว่าการรัฐประหารให้แสงสว่างปลายอุโมงค์ แต่ผมผิดจังๆ!)
9. ชาญวิทย์เป็นคนมีความหวัง จะเรียกว่าความเชื่อสวยหรูว่าโลกย่อมดีขึ้นก็คงไม่ผิด ความเชื่อข้อนี้กับการมีความหวังกับคนรุ่นใหม่เกี่ยวพันแยกกันไม่ออกสำหรับเขา
เขาตื่นเต้นมากเมื่อคนรุ่นใหม่อยากได้รัฐธรรมนูญ อยากสร้างฟ้าสีทองผ่องอำไพ จนถึงอยากให้จบในรุ่นเรา
แต่เขาไม่สิ้นความหวังเมื่อทั้งหมดนั้นจบลงอย่างไม่สวยหรู
น่าจะเป็นเพราะความหวังของชาญวิทย์หล่อเลี้ยงด้วยความฝันของเยาวชน รุ่นแล้วรุ่นเล่า จึงไม่มีทางดับลงสนิท
โปรดสังเกตว่าชาญวิทย์มิได้มีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผมเข้าใจว่าเขาไม่ได้อยู่ในสภามหาวิทยาลัยหรือเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ไหนเลย ซึ่งผิดกับอดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์คนอื่นๆ
ข้อนี้ไม่น่าแปลกใจเลยสำหรับคนที่มีคุณสมบัติและความคิดอย่างเขา แต่อยู่ในสังคมไทย
คุณสมบัติทั้งหลายที่กล่าวมาล้วนมีข้อจำกัด มีด้านตรงข้าม และมีผลกระทบโดยไม่เจตนา คนที่รับผลที่ตนไม่ชอบย่อมไม่พอใจ อีกทั้งเขาย่อมเคยทำผิดบกพร่องใหญ่เล็ก แต่ใครเล่าในหมู่พวกเราที่ไม่เคยเช่นนั้น ใครเล่าหลีกเลี่ยงไม่ให้คุณสมบัติของเรากระทบกระทั่งคนอื่นได้
ผมหวังว่าการประเมินและความเห็นต่อชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่กล่าวมานั้นแฟร์พอควร ผมเชื่อว่าอาจารย์ชาญวิทย์ไม่ต้องการให้คำสรรเสริญบูชาครูตามสูตรสำเร็จ
เราท่านทุกคนสามารถสร้างคุณูปการแก่สังคม โลก และมนุษยชาติได้ในบทบาทต่างๆ กัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้วิเศษ ไม่ต้องเป็นอภิมนุษย์หรือเป็นเทพ ไม่ต้องเป็นคนที่ดีไปหมด
ชาญวิทย์สร้างคุณูปการด้วยการเป็นคนธรรมดาสามัญที่สร้างสิ่งดีๆ มากมายที่สอดคล้องกับคุณสมบัติและโอกาสที่เขาจะทำได้
สังคมไทยโชคดีมากที่มีคนอย่าง…ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ผมโชคดีที่มีโอกาสเป็นศิษย์ของเขา
(เขียนขึ้นในโอกาสอาจารย์อายุครบ 84 ปี)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022