
เครื่องรางเสื้อยันต์วิรุฬจำบัง หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พระเกจิอัมพวา-ลุ่มแม่กลอง

“พระอุปัชฌาย์คง” หรือ “หลวงพ่อคง ธัมมโชโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
เป็นพระเกจิอาจารย์ลุ่มแม่น้ำแม่กลองอีกรูปที่มีวัตรปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ไม่แพ้หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร วัดพวงมาลัย
วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังทุกรุ่นได้รับความนิยม เป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะ “เสื้อยันต์วิรุฬจำบัง”
ลักษณะเป็นเสื้อกั๊ก ส่วนมากมักจะทำเสื้อด้านนอกเป็นสีดำหรือกรมท่าเข้ม ส่วนด้านในเป็นสีขาว เย็บเป็น 2 ชั้น จากนั้นจึงนำไปให้ลงจารอักขระด้วยตัวท่านเองเป็นหมึกจีนสีดำ ลายมือสวยเป็นที่เลื่องลือมาก
“วิรุฬจำบัง” เป็นตัวละครยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์ มีเวทมนตร์กำบังตัวเอง ทำให้คนอื่นไม่สามารถมองเห็นตัวได้
กล่าวกันว่า วิชาเสื้อยันต์นี้ ร่ำเรียนมาจากหลวงพ่อปาน วัดโรงธรรม โดยนำเสื้อมาลงยันต์และเพิ่มยันต์เกราะแก้ว เขียนอักขระว่า “พุทธัง เพชรคงคัง อิมัง พันธัง อธิษฐามิ” เข้าไปด้วย อักขระมีทั้งแบบหมึกและดินสอ
บรรดาศิษย์ที่อยากได้เสื้อยันต์ จะบอกให้คนที่จะให้ไปตัดเสื้อที่ร้านที่เคยตัดให้ แต่ถ้าไม่บอกให้ไปตัดมา ก็จะไม่ได้เสื้อยันต์นี้
เสื้อวิรุฬจำบัง มีคุณวิเศษด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาด นอกจากนี้ ถ้ากลัดกระดุมเสื้อแล้วคนจะมองไม่เห็น จึงได้ชื่อว่า “เสื้อวิรุฬจำบัง”
ปัจจุบัน เสื้อยันต์ของแท้ หาได้ยากมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลาน ซึ่งจะเก็บรักษาไว้อย่างดีและหวงแหนกันมาก

เสื้อวิรุฬจำบัง หลวงพ่อคง
อัตโนประวัติ เกิดในสกุล จันทร์ประเสริฐ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2407 ณ ต.บางสำโรง อ.บางคณฑีหรือบางคนที จ.สุมทรสงคราม
บิดา-มารดา ชื่อ นายเกตุ และนางทองอยู่ จันทร์ประเสริฐ
เล่ากันว่าเกิดในเรือนแพ ซึ่งมีความเชื่อกันว่า ถ้าใครถือกำเนิดในห้องเล็กที่ใต้เรือนแพ จะต้องเป็นผู้ชายและครองสมณเพศเป็นพระภิกษุตลอดชีวิต โดยบิดา-มารดาซื้อเรือนนี้มาอีกทอดหนึ่ง
พออายุได้ 12 ปี บรรพชาที่วัดเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ระหว่างเป็นสามเณรมีความสนใจในวิชาเมตตามหานิยม
กระทั่งอายุได้ 19 ปี ลาสิกขาเพื่อไปช่วยครอบครัวประกอบอาชีพ
ครั้นเมื่อมีอายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดเหมืองใหม่ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนสิงหาคม 2427 มีพระอาจารย์ด้วง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการจุ้ย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการทิม วัดเหมืองใหม่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ธัมมโชโต แปลว่า ผู้รุ่งเรืองในธรรม
จำพรรษาอยู่ที่วัดเหมืองใหม่ คอยอุปัฏฐากรับใช้พระอุปัชฌาย์ ด้วยอุปนิสัยที่รักการศึกษาเล่าเรียน ศึกษาเล่าเรียนทั้งทางคันถธุระ วิปัสสนาธุระ กับพระอุปัชฌาย์เป็นพื้นฐาน ต่อมาได้ไปศึกษากับพระเถระชื่อดังในยุคนั้นอีกหลายรูป
ได้ศึกษาคัมภีร์มูลกัจจายน์ ซึ่งเป็นตำราเรียนบาลีไวยากรณ์ในสมัยโบราณ กับอาจารย์นก ซึ่งเป็นอุบาสกในละแวกนั้นเป็นเวลา 13 ปี จนมีความคล่องแคล่วสามารถแปลธรรมบทตลอดจนคัมภีร์ต่างๆ ได้
นอกจากนี้ ยังสนใจการศึกษาวิทยาคม โดยร่ำเรียนกับพระเกจิชื่อดัง เริ่มแรกศึกษาคัมภีร์นี้กับพระอาจารย์ด้วง ซึ่งท่านเชี่ยวชาญการลบผงวิเศษ เป็นที่นับถือในสมัยนั้น ต่อมาเล่าเรียนกับหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง พระเถระผู้ที่มีวิทยาคมอันแก่กล้า โดยเฉพาะวิชานะปัดตลอด
อีกทั้งยังได้ไปศึกษากับหลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก ผู้เชี่ยวชาญในพระกัมมัฏฐาน

หลวงพ่อคง ธัมมโชโต
ในพรรษา 19 เกิดอาพาธ จึงหยุดพักผ่อน หันมาสอนสมถะกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานให้กับลูกศิษย์ลูกหา
เอาใจใส่การดูแลก่อสร้างเสนาสนะ เนื่องจากมีฝีมือในเชิงช่าง ในเบื้องต้นซ่อมแซมหอไตรที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมให้มีสภาพที่ดีขึ้น พร้อมกันนั้นก็ปั้นพระป่าเลไลย์ด้วยฝีมือตัวเอง
จนกระทั่งพรรษาที่ 21 ในปี พ.ศ.2448 ชาวบ้านใน ต.บางกะพ้อม อาราธนามาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งในขณะนั้นวัดบางกะพ้อมไม่มีสมภารปกครองวัดและวัดก็อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม
ฟื้นฟูบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัด ซึ่งชำรุดทรุดโทรม ด้วยมีฝีมือในการพัฒนาเป็นทุนเดิม จึงทำให้สร้างความเจริญแก่วัดสำเร็จลุล่วงในเวลาอันสั้น
พ.ศ.2464 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลบางกะพ้อม และแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
แม้จะมีภาระงานปกครองวัด แต่ในเดือน 4 ของทุกปี จะไปปักกลดในป่าช้าข้างวัดเป็นเวลาราว 1 เดือน เรียกกันว่า รุกขมูลข้างวัด ชำระจิตใจให้สะอาด หลังจากยุ่งกับเรื่องราวทางโลกเกือบตลอดทั้งปี
ช่วงบั้นปลายชีวิตอาพาธด้วยโรคชรา เนื่องจากมีงานอยู่หลายอย่างต้องทำ ด้วยเป็นกิจของสงฆ์ ทั้งงานการสร้างพระพุทธรูป การสร้างวัตถุมงคล ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2486 ขณะนั่งร้านเพื่อตกแต่งพระขนงพระพุทธรูปประธานองค์ใหม่ เมื่อสวมพระเกตุพระประธานแล้วเสร็จ ก็เกิดอาการหน้ามืด คล้ายจะเป็นลม แต่มีสติดี เอามือประสานในอิริยาบถนั่งสมาธิจนหมดลมถึงแก่มรณภาพในอาการอันสงบ
คณะศิษย์เห็นนั่งอยู่นาน จึงประคองร่างลงมาจากนั่งร้าน จึงรู้ว่ามรณภาพไปแล้ว
สิริอายุ 78 ปี พรรษา 58 •
โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022