เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

90 ปีถนนขึ้นสู่ ‘วัดอรหันตา’ (วัดดอยสุเทพ) (30 เมษายน 2478-30 เมษายน 2568) ความหมายต่อชาวพุทธและก้าวต่อไป | ธเนศวร์ เจริญเมือง

21.05.2025

บทความพิเศษ | ธเนศวร์ เจริญเมือง

 

90 ปีถนนขึ้นสู่ ‘วัดอรหันตา’ (วัดดอยสุเทพ)

(30 เมษายน 2478-30 เมษายน 2568)

ความหมายต่อชาวพุทธและก้าวต่อไป

 

30 เมษายน 2478 สำคัญอย่างไร 30 เมษายน 2568 หรือ 90 ปีเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็มีความสำคัญยิ่งกว่าหลายสิบร้อยเท่าต่อชาวพุทธและสังคมไทยโดยรวม

600 กว่าปีที่แล้ว พญากือนา (พ.ศ.1898-1928) กษัตริย์แห่งล้านนาได้รับพระบรมสารีริกธาตุมาจากพระสุมนเถระที่อัญเชิญมาถวายจากมอญผ่านสุโขทัย เมื่อพระบรมสารีริกธาตุองค์นั้นมาถึงล้านนาก็แบ่งองค์จาก 1 เป็น 2 องค์ ผลคือนอกจากพญากือนาผู้ฝักใฝ่พุทธศาสนาจะยกวังสวนดอกขะยอมให้เป็นวัดสวนดอกขะยอม เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์แรกมาประจำวัดนี้

ท่านยังได้ให้ช้างนำพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์หนึ่งเดินขึ้นดอยด้านทิศตะวันตกของเมือง หยุดที่ไหนบนดอยก็ให้สร้างวัดสำหรับพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์หนึ่ง ณ ที่นั้น

เมื่อช้างขึ้นไปหยุดที่ยอดดอยหนึ่งซึ่งสูงสุดเมื่อมองจากตัวเวียงเชียงใหม่ พุทธศาสนิกทราบว่าพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์หนึ่งได้ขึ้นประทับบนที่สูงแล้ว ความเห็นร่วมก็คือ วัดใหม่สมควรได้ชื่อว่า “วัดอรหันตา”

คำว่า “อรหันต์ หมายถึง ผู้ห่างไกลจากกิเลส หมดสิ้นสังสารวัฏ และเป็นอริยบุคคลขั้นสูงสุด” แต่เนื่องจากดอยลูกนั้นในอดีต สุเทวฤๅษี เคยบำเพ็ญบุญที่นั่น คนแถวนั้นจึงเรียกแบบคุ้นเคยว่าวัดดอยสุเทพหลังจากพญากือนาให้สร้างวัดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอีก 1 องค์ที่นั่นในปี พ.ศ.1914

ยามนั้น เมื่อ 600 กว่าปีที่แล้ว ท่ามกลางไม้ใหญ่ไพรหนาบนดอยสูง การได้สร้างวัดสำคัญบนสถานที่สูงย่อมถือว่ายิ่งใหญ่มากแล้ว ต่อเมื่อ 100 กว่าปีมานี้ โลกได้เข้าสู่ยุคไฟฟ้าและเทคโนโลยี วัดเริ่มมีพระสงฆ์จำพรรษาที่นั่น

พุทธศาสนิกชนรุ่นใหม่จึงปรารถนาถวายไฟฟ้าให้วัด แต่ในปี 2477 รัฐบาลสยามแจ้งว่าไม่มีงบประมาณเพื่อการนั้น เจ้าหลวงเชียงใหม่ (เจ้าแก้วนวรัฐ) และ ส.ส.เชียงใหม่คนแรก (หลวงศรีประกาศ) จึงไปขอพึ่งบุญจากครูบาศรีวิชัย ครูบาฯ จึงไปสำรวจสภาพของวัดอรหันตาและเส้นทางขึ้นไป

สรุปว่า ทางเดินขึ้นวัดอรหันตาในอดีตตลอด 560 ปีที่ผ่านมา (1914-2477) ทั้งคับแคบและสูงชัน เป็นทางเดินของชาวบ้าน ที่ลัดเลาะขึ้นดอยต่อจากถนนสุเทพด้าน รพ.นครเชียงใหม่, วัดสวนดอก, กาดขะยอม, คณะเกษตร และวิศวฯ มช. สูงๆ ขึ้นไป ในอดีตไม่เคยมีพระสงฆ์จำพรรษาที่นั่น ครูบาฯ จึงเห็นว่าการสร้างถนนสายใหม่สำหรับยวดยานเป็นงานจำเป็นและสำคัญมากกว่าโครงการเสาและสายไฟฟ้าที่ย่อมจะตามมาภายหลัง

ความสำคัญของ 30 เมษายน

และ 90 ปีถนนขึ้นดอย

ตั้งแต่ปี 2463 ที่ครูบาฯ ถูกทางการสยามเชิญตัวไปไต่สวนที่กรุงเทพฯ ครั้งแรกในข้อหาไม่ยอมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองสงฆ์ พ.ศ.2445 ที่รวมอำนาจสงฆ์ทั้งหมดอยู่ใต้ส่วนกลาง ซึ่งอาจเป็นแบบอย่างให้พระสงฆ์รูปอื่นๆ และภูมิภาคอื่นๆ เลียนแบบ โดยเฉพาะข้อกำหนดที่ว่าพระสงฆ์ที่มีสิทธิบรรพชาสามเณรและภิกษุได้จะต้องเป็นพระที่มหาเถรสมาคมสยามแต่งตั้งเท่านั้น ซึ่งขัดกับแนวทางการทำงานของสงฆ์ในล้านนาที่เป็นอิสระต่ออำนาจรัฐตลอดมาในประวัติศาสตร์

หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวให้กลับคืนล้านนาในปีนั้น ครูบาศรีวิชัยก็ได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการไปรับนิมนต์เพื่อช่วยบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ในล้านนา รวมหลายร้อยวัดในช่วงทศวรรษ 2460-2476

เมื่อรัฐไม่มีงบฯ ให้ ครูบาศรีวิชัยจึงใช้วิธีขอรับการร่วมแรงร่วมใจกันของพุทธศาสนิกทั่วแผ่นดินเพื่อสร้างทางขึ้นสู่ “วัดอรหันตา” เริ่มวันลงจอบแรก วันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 ที่เชิงดอยสุเทพ ที่เจ้าเมืองนำหน้า, ส.ส. ข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ พ่อค้า และประชาชนทุกสาขาอาชีพทยอยกันมาร่วมงาน

ใครมีแรงออกแรง ใครมีเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ใครมีข้าว ผักปลาอาหารใด ก็นำมาสนับสนุนงานนี้กันอย่างคึกคัก บางคนมาช่วยงาน 3-4 วัน บางคนมาเป็นเดือน

หนังสือชื่อ “คนบะเก่าเล่าเรื่องครูบาฯ” จัดทำโดยมูลนิธิครูบาฯ ในปี 2462 มีเรื่องเล่าสนุกๆ หลายชิ้นเกี่ยวกับการร่วมกันสร้างทางขึ้นดอยฯ คราวนั้น

เมื่อจำนวนผู้คนเข้ามามากขึ้นๆ (คงหวังที่จะให้งานเสร็จสิ้นก่อนฤดูทำนาจะมาเยือน) ในที่สุดด้วยกำลังแรงงานที่ทยอยกันมาราว 2 แสนคนเศษ งานสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ระยะทางราว 12 กิโลเมตร ก็สำเร็จในวันที่ 30 เมษายน 2478 ใช้เวลา 5 เดือนเศษ

เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เพราะทั้งหมดนั้นไม่มีการใช้งบฯ ของรัฐเลย

และนี่น่าจะเป็นการรวมตัวกันทำงานของคนจำนวนมากที่สุดในสยามยุคกึ่งเมืองขึ้นที่ไม่เคยมีความขัดแย้งใดๆ กันทางการเมือง-เศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นระหว่างสยามกับต่างชาติ หรือความขัดแย้งภายใน

สะท้อนให้เห็นศักยภาพของคนไท/ไทยที่พร้อมจะเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ รวมทั้งการเรียนรู้ข่าวสาร/การเปลี่ยนแปลง/แนวความคิดใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมให้บ้านเมืองดีขึ้นเป็นลำดับ ฯลฯ

563 ปีผ่านไป

: จากวัดอรหันตาในยุคพญากือนา

สู่ยุคครูบาฯ (พ.ศ.1914-2477)

โลกก้าวไปข้างหน้า ความรู้ของผู้คนก็ควรจะก้าวไปด้วย การได้รับพระบรมสารีริกธาตุอันล้ำค่าจากมอญ-สุโขทัย มาถึงเชียงใหม่เมื่อ 565 ปีก่อน และพญากือนาใช้ช้างและผู้คนอัญเชิญสิ่งล้ำค่านั้นขึ้นไปสร้างวัดสำคัญบนยอดดอยในป่าทึบต้องถือเป็นงานใหญ่มาก

ต่อเมื่อครูบาฯ และคณะเดินขึ้นวัดบนยอดดอยในปี 2477 เพื่อนำไฟฟ้าขึ้นไปและจัดทำเสาไฟฟ้าตามที่เจ้าเมืองและ ส.ส. มาขอให้ช่วย ผลของการออกสำรวจ ทำให้ครูบาฯ ได้ตระหนักถึงเส้นทางการแสวงหาหลักธรรมที่พระตถาคตค้นพบ ความรู้ด้านพุทธศาสนาของครูบาฯ ที่ท่านได้เรียนมา ก็ทอแสงประกาย

นั่นคือ บนเส้นทางไปหาพระอรหันต์นั้น มีสังโยชน์ (หรือกิเลส) ที่ผูกมัดใจคนและสัตว์ให้ตกอยู่ในห้วงทุกข์ไว้ก่อนที่จะถึงนิพพาน ถึง 10 ข้อด้วยกัน

ผู้ก้าวข้าม สังโยชน์ 3 ด่านแรก จะได้เป็น โสดาบัน สังโยชน์ ทั้ง 3 นั้น ได้แก่

1. สักกายทิฏฐิ (การยึดติดกับการมีตัวตน)

2. วิจิกิจฉา (สงสัยลังเลในพระรัตนตรัยและกุศลธรรมทั้งหลาย)

3. สีลัพพตปรามาส (การยึดมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในโลก)

สังโยชน์ ขั้นที่ 2 มี 2 ด่าน ผู้ก้าวข้ามทั้ง 2 ด่านนี้ได้ จะเป็น สกิทาคามี หรือ สกทาคามี แปลว่า ผู้กลับมาได้อีกเพียงครั้งเดียว ซึ่งหมายถึงการบรรลุธรรมในระดับที่ 2 ด่าน 2 ขั้นนี้ ได้แก่

1. กามราคะ (พอใจในการได้เสพรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสต่างๆ) และ

2. ปฏิฆะ (คือความรู้สึกขุ่นเคือง หงุดหงิด เมื่อมีสิ่งใดมากระทบกระทั่งต่อใจ)

สังโยชน์ ขั้นที่ 3 มี 5 ด่าน ผู้ก้าวข้ามทั้ง 5 ด่านนี้ได้ จะเป็น อนาคามี แปลว่า ได้บรรลุธรรมในขั้นที่ 3 แล้ว สังโยชน์ ขั้นสูง 5 ด่าน ได้แก่

1. รูปราคะ (ความพอใจในรูปธรรม) 2. อรูปราคะ (ความพอใจในอรูปธรรม)

3. มานะ (ความสำคัญตนว่าเป็นนั่น เป็นนี่) 4. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่านของจิต)

และ 5. อวิชชา (ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ 4 หนทางดับทุกข์ ซึ่งได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)

และเมื่อก้าวข้ามสังโยชน์ทั้ง 10 ด่านนี้ไปได้ ก็จะได้เป็น อรหันต์ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง

 

ด้วยตระหนักใน 10 ด่านที่จะต้องก้าวข้าม เพื่อไปบรรลุอรหันต์ ที่ วัดอรหันตา ครูบาศรีวิชัยจึงได้เห็นความสำคัญของการสร้างถนนเพื่อเชื่อมร้อยโลกอดีตกับปัจจุบัน โดยอาศัยรถยนต์และเสาไฟฟ้าเป็นตัวเชื่อมในขณะนั้น

ขณะเดียวกัน ก็สร้าง 3 วัดขึ้นมาบนเส้นทางสายนี้ ก่อนที่จะเดินทางไปถึงวัดอรหันตา ให้เป็น 4 ระดับขององค์ความรู้สำคัญยิ่งของพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกทั่วไปและผู้สนใจพึงเรียนรู้และตระหนักเสมอๆ

ทั้งนี้ ก็เพื่อย้ำเตือนพุทธศาสนิกและคนทั้งปวงที่ผ่านทางสายนี้ว่า นี่คือเส้นทางธรรม แต่ละวัดมีเรื่องและภาพกิเลสที่คนเราต้องเผชิญและเราจะฝ่าข้ามแต่ละด่านไปอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ของแต่ละคน และการที่แต่ละวัดจะมีข้อมูลและองค์ความรู้อย่างไรบ้างเพื่อให้การศึกษาแก่ผู้คนที่แวะเวียนผ่านไปมาในปัจจุบัน ด้วยจำนวนผู้คนและความเร็วที่ไม่อาจเทียบได้เลยกับยุคแรกของการสร้างวัดในสมัยพญากือนา 500 กว่าปีก่อน

จากคำบอกเล่าที่สืบต่อกันมา การที่วัดโสดาบันอยู่ใกล้กับจุดเริ่มต้นของงานสร้างถนนมากตลอดจนวัดสกิทาคามี ที่ห่างออกไปเป็นลำดับที่ 2 ก็อยู่ไม่ไกลนัก งานสร้างวัดจึงคืบไปอย่างรวดเร็ว และพัฒนาเรื่อยมา

การที่วัดสกิทาคามี มีพุทธศาสนิกชาวม่าน (พม่า) และไต (ไท-ใหญ่) ที่มีฐานะดีเข้าไปมีบทบาท วัดจึงมีสิ่งก่อสร้างที่งดงามและเป็นแบบม่าน-ไต อีกทั้งที่นั่นเป็นที่ตั้งของหน้าผาที่ลาดชันและน้ำตกที่งดงาม และยังเป็นจุดพักสำคัญของการเดินขึ้นลงดอยสุเทพเนิ่นนานนับแต่สมัยพญากือนาเรื่อยมา

วัดนี้จึงเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “วัดผาลาด” ของผู้คน

ส่วนในระยะหลังจากครูบาศรีวิชัยถูกเรียกไปไต่สวนครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ ในช่วงปี 2478-2479 หลังสร้างทางเสร็จไม่นาน มีข่าวลือสารพัดที่เชียงใหม่-ลำพูนว่าท่านอาจจะไม่ได้กลับขึ้นเหนืออีกเลย

ขณะเดียวกัน พระสงฆ์ สามเณรจำนวน 100 กว่าวัดที่มาชุมนุมกันในวันลงจอบแรก (9 พฤศจิกายน 2477) และได้ร่วมกันประกาศดังๆ ต่อหน้าผู้มาร่วมงานลงจอบแรกทั้งหมดว่า ต่อจากนี้ จะขอฟังคำสั่งของครูบาศรีวิชัยเท่านั้น จะไม่ขอขึ้นต่อมหาเถรสมาคมที่กรุงเทพฯ อีก โดยไม่มีการบอกกล่าวแก่ครูบาฯ มาก่อน

ส่งผลให้หลังจากครูบาฯ ถูกส่งตัวไปไต่สวน พระสงฆ์-สามเณรเหล่านั้นก็ถูกตามมาไต่สวนในแต่ละท้องถิ่น หลายรูปหลบหนีภัยไปฝั่งเชียงตุงหรือแสนหวี หลายรูปถูกถอดออกจากตำแหน่งในวัด หรือต้องลาสิกขา หรือยอมรับผิดต่อสิ่งที่ได้ทำมาก่อนหน้า และสาบานว่าจะขออยู่กับมหาเถรสมาคมตลอดไป

ในสภาพดังกล่าว คณะสงฆ์ที่วัดโสดาบัน จึงตัดสินใจเชิดชูเกียรติครูบาฯ ที่เคารพด้วยการเปลี่ยนชื่อว่า “วัดศรีโสดา” แทนโสดาบัน ตามชื่อ “ศรีวิชัย” ของผู้นำการสร้างถนนสายนี้

ส่วนครูบาศรีวิชัยหลังการไต่สวนที่กรุงเทพฯ ก็กลับคืนเมืองลำพูนในเดือนมิถุนายน 2479 และมิได้หวนกลับมาที่เวียงเชียงใหม่อีกเลยจนอาพาธและละสังขารในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2482

พระสงฆ์บางท่านเล่าว่า วัดอนาคามี อันเป็นวัดที่ 3 อยู่ในระยะก่อนที่จะถึงวัดอรหันตาในราว 3-5 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ม่อนพญาหงส์ มีการปักหมุดหมายสร้างวัดไว้ตั้งแต่การสร้างเส้นทางนี้ในช่วงปี 2477-2478 และยังได้สร้างพระธาตุองค์เล็กๆ ด้วย ณ ที่นั้นและยังคงอยู่

บัดนี้ 90 ปีการสร้างถนนสายสำคัญผ่านไปแล้ว ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของครูบาศรีวิชัยได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมา ทั้งในวาระ 90 ปีนี้ และอีก 10 ปีข้างหน้า และที่สำคัญ ครบรอบวาระชาตกาล 150 ปี (11 มิถุนายน 2421-11 มิถุนายน 2571) หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนก็กำลังร่วมกันเสนอต่อองค์การยูเนสโกให้มอบตำแหน่ง “ครูบาศรีวิชัย-บุคคลสำคัญของโลก”

 

คำส่งท้าย

เรามีวัดมากมายในประเทศนี้ (ราว 43,000 วัด) วัดจำนวนมากเน้นการทำบุญสุนทานและการสร้างถาวรวัตถุ หลายวัดมีจุดเด่นมากที่ให้การศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์-โบราณคดีและพุทธศิลป์แก่ผู้ไปชม

ผมใคร่เรียนเสนอ 3 ข้อนี้ ให้ล้านนาและสังคมไทยได้พิจารณา

1. ในสถานการณ์ที่ไม่มีวัดไหนรวม 4 วัดเข้ามารวมกันเป็นชุดประวัติศาสตร์ล้านนาและพุทธศาสนาที่ชัดเจนเช่นนี้ ขอเสนอทั้ง 4 วัดถือเอาประวัติศาสตร์และจุดเน้นของเส้นทางการไปสู่พระอรหันต์เป็นงานหลักของทั้ง 4 วัดเพื่อให้การศึกษาที่สำคัญยิ่งแก่พุทธศาสนิกชนที่ไปเยือนอย่างเข้มข้น

2. รื้อพื้น วัดอนาคามี ตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมของครูบาศรีวิชัย ก็จะเป็นกุศลผลบุญที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมา 90 ปี ยังไม่มีการสร้างหรือปรับปรุงสิ่งใด ณ วัดดังกล่าว ขณะที่อีก 3 วัด อาจมีการสร้างบางส่วนที่ห่างจากเจตนารมณ์ 90 ปีไปบ้างหรือไม่

คณะสงฆ์ของเชียงใหม่-ลำพูนและทั่วล้านนาจะจัดทำโครงการ “อนาคามีศึกษาและ 4 วัดศึกษา” อย่างไรพร้อมกับขอรับฟังความเห็นจากทุกๆ ฝ่ายทั่วประเทศเพื่อสร้างวัดอนาคามีในยุคหลัง 90 ปีนี้ให้เป็นแบบอย่างตามเจตนารมณ์ของครูบาศรีวิชัย-พระสงฆ์ผู้เป็นแบบอย่างของชาวล้านนาและชาวพุทธทั้งหลาย

และสุดท้าย 3. นำเอาชื่อเดิมของทั้ง 4 วัดมาเป็นชื่อหลักของวัด ส่วนชื่อที่มีมาเดิมจะใส่วงเล็บต่อท้าย เพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ พร้อมกับเล่าเรื่องอันสำคัญนี้ในรูปแบบที่หลากหลายของสื่อยุคไฮเทคปัจจุบัน

โลกก้าวไป วัตถุขยายตัวออกไปมากขึ้นๆ แต่หลักสำคัญและจิตวิญญาณของพุทธศาสนานั้นยิ่งต้องตอกย้ำ และก็ไม่ควรถูกลดทอนหรือห่างหายไปไหนแม้แต่นิดเดียว

90 ปีการสร้างถนนขึ้นดอยจึงควรเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ของผองเราจะได้กลับไปศึกษาและทบทวน…

ชีวิต ผลงาน และความคิดตลอดจนวิถีธรรมอันทรงคุณค่าของครูบาศรีวิชัยโดยเฉพาะในวาระสำคัญ 90 ปี และ 150 ปีที่จะถึงจึงควรจะเป็นประทีปส่องทางเราชาวพุทธทั้งหลายได้ก้าวไปบนเส้นทางธรรมที่ท่านได้ปูทางไว้ให้…สาธุ

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

พล.ท.ภราดร ชี้ครบ93ปีประชาธิปไตยไทย เดินสายพูดคุยปชช. พบสาเหตุที่ ปชต.อ่อนแอ
อดีต รมว.คลังชี้ช่วงนี้​ จะให้ศก.​เติบโต​สูงขึ้น ต้องปรับค่าเงินบาทลดลง​ ให้แข่งขันได้​ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือทางนโยบายของรัฐบาล​ ไม่ควรปล่อยให้ขึ้นๆลงๆ​ ตามนักเก็งกำไร
รสนา ชี้กัมพูชาอ้างชุมนุม1.5 แสนคน เป็นแค่ราคาคุย ความจริงแค่หมื่นกว่าคนเท่านั้น
‘ลิณธิภรณ์’ จวก ‘ศุภชัย’ ร้อนรนเป็นฝ่ายค้าน ลืมอดีต เพื่อไทย เคยเสนอนำกัญชากลับบัญชียาเสพติด ย้ำรัฐบาล ‘แพทองธาร’ เร่งรื้อมรดก ‘ภูมิใจไทย‘ ทิ้งกัญชาเสรีทำลายสังคมไทย
มงคล ทศไกร ร่วมเปิดฟุตบอลคลินิก ให้เยาวชนคลองเตยและชุมชนเชื้อเพลิง โครงการ “BROS.CORE 2025 : เปิดเทอมเติมฝัน ปีที่ 2”
‘ใหม่-เต๋อ’ หมั้นแล้ว เปย์หนักแหวนเพชร 15 กะรัต ‘7 ปีกลัวที่สุด จับแต่งเลย จะได้ไม่ต้องเลิก’
ประเทศดี ที่มี ‘คนทุจริต’ กับ ‘อยุติธรรม’ อยู่อาศัย
93 ปี 24 มิถุนายน 2475 อาจต้องรอเกิน 100 ปี …จึงจะมีประชาธิปไตย
‘เครียด-จุดเดือดต่ำ-ซึมเศร้า’ บช.น.จัดคอร์สธรรมะขัดเกลาใจ สู้ความกดดันชีวิตอย่างมีสติ
จากการไล่ล่าผู้อพยพของ I.C.E. ในแอลเอ สู่การประท้วงใหญ่ ‘No Kings’ ทรัมป์ ทั่วอเมริกา
ขยายผลขบวนการค้า ‘ยาเสียสาว’ สวมชื่อ 370 คนตาย-สั่งซื้อ อย.แจ้งจับเพิ่ม 6 แพทย์ ร่วมทีม ‘หมอแอร์’ ใช้แฟลต ตร.ซุก 1.7 แสนเม็ด
ศึกอิหร่าน-อิสราเอล เมื่อ ‘คาเมนี’ ถูกต้อนเข้ามุม