

บทความพิเศษ | ภาสกร ประมูลวงศ์
Songs in The Key of Life
: ฝัน (ร้าย) รสหวาน
ยังจำได้ ผมอายุประมาณสิบปลายๆ ต่อยี่สิบต้นๆ ตอนเพลงนี้ฮิตระเบิดดังถล่มเกาะอังกฤษ Sweet Dreams (Are Made of This) จากวงอิเล็กทรอนิกส์หัวก้าวหน้า Eurythmics (ชื่อวงมาจากคำพ้องเสียง Europe Rhythm และ Electronics) มันฮิตหนักถึงข้ามฟากไปขึ้นอันดับหนึ่งที่อเมริกาหน้าตาเฉย
วงประกอบด้วยสมาชิกสองคนเท่านั้น เดฟ สจ๊วต (Dave Stewart) และแอนนี่ เลนน็อกซ์ (Annie Lennox) โดยมีภาพจำป้าแอนในมิวสิกวิดีโอ ตัดผมสั้นติดหัวแถมย้อมสีส้มแปร๊ด สวมถุงมือดำในมือถือไม้เท้าใส่สูทแนบตัวท่วงท่าประมาณผู้นำเผด็จการ
ต่อด้วยขึ้นหน้าปกนิตยสารชื่อดัง Smash Hits กับป๋าเดฟ สจ๊วต (ผมเคยเจอตัวจริง ลุงบอกว่านามสกุลแกต้องอ่านว่า “สตี-จเวิร์ด” แบบออกเสียงเร็วๆ) แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเท่าใด สองคนก็ยังเท่ไม่หยอกในสายตา ไม่เสียทีที่เมียลุงสวยหยาดเยิ้มทุกคน
เหตุการณ์ชัดเจนเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน เพลงนี้ถูกวางจำหน่ายช่วงต้นของปี 1983 (12 มกราคม) ท่ามกลางกระแสดนตรีซินธ์ป๊อปโดยมี Yazoo กรุยทางนำหน้ามาก่อน (ป๋าวินซ์ คล้าก กับป้าอลิสัน โมเยต์ ก็ดูดีมีสไตล์ไม่แพ้กัน)
เอาจริงๆ เดฟกับแอนนี่หาใช่คนแปลกหน้าสำหรับวงการเพลง สองคนเคยร่วมวง The Tourists มีเพลงฮิตบ้างไม่ฮิตบ้างจนมาเริ่มเป็นที่รู้จักก็ตอนเป็นวงเปิดให้ Roxy Music ของป๋าไบรอัล เฟอร์รี่ สมัยทำ Australia Tour
แต่ก่อนที่จะโด่งดังมากไปกว่านี้วงก็ดันแตกเสียก่อน นั่นคือที่มาของวง Eurythmics
“ป้าอยู่มุมห้องจมกับกองหนี้สิน” แอนนี่กล่าว “ประจันหน้ากับอสูรร้ายแห่งแวดวงดนตรี ป้าเหนื่อยล้าหมดแรง สิ้นหวังและไม่มีความสุข” เธอแหงนหน้ามองเพดานเหมือนพยายามปะติดปะต่อถ่ายทอดเรื่องราวจากความทรงจำผ่านหน้ากระดาษของ The Guardian
“ที่แย่คือเราดันมีลมหายใจ ชีวิตตอนนั้นลำบากมาก เหมือนอยู่ในโลกแห่งความฝันที่ถึงแม้จะพยายามไล่ตามแต่ฝันนั้นก็ดูยิ่งไกลห่างออกไปไกลแสนไกล”
ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของวงดนตรีเล็กๆ ในระยะเริ่มต้น
นั่นคือ เล่นในคลับเล็กๆ คนดูหยิบมือ มีความมานะตั้งใจ มีความหวังจะเซ็นสัญญากับบริษัทแผ่นเสียง ขัดแย้งทางความคิด พยายามจะทำเพลงให้เป็นที่รู้จัก
และยังไม่ประสบความสำเร็จ
คืนหนึ่งขณะสองคนนั่งจมกองทุกข์รายรอบไปด้วยเครื่องดนตรีซินธิไซเซอร์
เดฟเล่นคีย์เปล่าลักษณะเป็นท่วงทำนองวนไปๆ มาๆ แก้เบื่อโลก
“ใช้ได้ว่ะ” แอนนี่สบถ เธอเริ่มเขียนเนื้อร้องไล่ไปตามแกนเสียงเพลง ซึ่งแน่นอน มันไม่ได้เป็นเพลงที่พูดเรื่องความสุขแถมเนื้อร้องสั้นมาก นัวร์จัดจนฟังแทบไม่รู้เรื่องประหนึ่งกลอนเปล่าที่เขียนไว้ตอกย้ำตัวเอง
ทว่า มันคือความจริงเสียยิ่งกว่าจริง
ไม่เชื่อลองดูประโยค Sweet Dreams are made of this who am I to disagree? ผมไม่ได้ถามป้าแกว่ามันมาจากชีวิตคู่ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าหรือเปล่าเพราะกลัวแกด่าแม่เอา (แอนนี่กับเดฟเคยนอนเตียงเดียวกัน ภายหลังเลิกราและตกลงให้ความสัมพันธ์เป็นแค่เพื่อนร่วมงาน)
โดยถ้าจับเนื้อร้องมาแยกท่อน เราจะเห็นโลกจำลองใบเล็กๆ ที่ทุกวันนี้เราก็ยังอาศัยอยู่ในนั้น อะไรบ้างล่ะ? ความหลอกลวง การถูกหลอกใช้และการหลอกใช้ การแก่งแย่งแข่งขัน การค้นหาที่ล้มเหลวในฝันที่ไม่มีใครรู้ว่าความฝันนั้นเกิดขึ้นเมื่อยามหลับหรือยามตื่นกันแน่
บิงโก! ด้วยส่วนผสมในบริบทชีวิตที่ไม่มีใครอยากเจอกลายเป็นเพลงซินธ์ป๊อปที่บรรเลงด้วยเสียงทุ้มต่ำ
Sweet Dreams กระโดดออกมาจากวังวนแห่งความน่าเบื่อสู่แห่งหนของผู้แสวงหา
“เรากำลังเปิดการแสดงอยู่ที่ซานฟรานซิสโก เมื่อรู้ว่าเพลงขึ้นอันดับหนึ่งเราสองคนกระโดดตัวลอย นี่คือเพลงที่เปลี่ยนชีวิต” เดฟกล่าวเสียงอ่อย
อันฝันหวาน กระนั้นหรือ คือหลายอย่าง ต้องเดินทาง เจ็ดย่านน้ำ ตามให้ไหว
หาอยู่นาน จากที่เห็น และเป็นไป กลับหาใช่ เพราะคนดัน มี “ฝันปลอม”
ยังมีผู้ ถูกกระทำ อย่างซ้ำซาก บ้างถูกพราก โดยความจริง สิ้นทั้งผอง
หมดเรี่ยวแรง นอนสิ้นท่า น้ำตานอง เฝ้าประคอง ลมหายใจ ไว้กับตัว
โลกโหดร้าย ผู้คนจึง พึ่งสมมุติ เป็นอาวุธ ใช้ทิ่มแทง แสงสลัว
เดินหน้าไป ด้วยสายตา อันพร่ามัว พลางนึกกลัว ในเค้าลาง ทางที่ไป
หากเราไม่ ตายเสียก่อน ต้องย้อนสู้ ให้มันรู้ ความทุกข์เข็ญ เป็นไฉน
ถึงผจญ ผู้แยบยล กลอุบาย ให้ฝันร้าย ยังดีกว่า … ถ้าไม่มี
“นึกๆ ไปก็ประหลาดนะ” ป้าแอนนี่สารภาพกับหนังสือพิมพ์ The Independent ในปี 2017
“เหมือนมองย้อนออกไปนอกกำแพง เราจะเห็นโลกหลายใบวางเรียงรายซ้อนกันไม่รู้จบ โลกที่ไม่มีใครในนั้นรู้จักเรา พลันประตูเปิดออกเราก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง นั่นแหละคือประเด็นของ Sweet Dreams อาจฟังดูประชดประชัน ทว่า เป็นสัจธรรมประจำวันที่เกิดกับทุกคน”
Sweet Dreams เป็นมากกว่าแค่หมุดหมายทางดนตรีช่วงต้นทศวรรษที่ 80’s มันส่งข้อความถึงคนหนุ่มสาวให้แยกแยะความจริงกับความฝัน (และเหมารวมถึงความหวัง)
เป็นเพลงชาติคุ้นหูแกะออกยากสำหรับมนุษยชนผู้ซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อเมริกา แผ่นดินปราบเซียนของศิลปินจากเกาะอังกฤษ มันผิดแผกแตกต่างกับบ้านเกิดที่เป็นเกาะซึ่งเทรนด์มาเร็วไปเร็ว
แต่กับอเมริกาอันเป็นพื้นที่ใหญ่ ในช่วงทศวรรษที่ 80’s กว่าเพลงจะกระจายทั่วประเทศได้ก็นานเต็มแก่
แต่ก็นั่นแหละครับ ถ้าเพลงไหนติดหูก็ฟังกันไปยาวๆ มากกว่าใดๆ Sweet Dreams ถูกหยิบยกให้อยู่กับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางสังคม โดยเฉพาะ 1983 ขวบปีที่โลกได้รู้จักกับโรคเอดส์ และ 8 ปีเต็มๆ ที่ประชาชนถูกทิ้งขว้างจากรัฐบาลกับภาวะของประธานาธิบดีที่ชื่อโรนัลด์ เรแกน
วินาทีนั้นผู้คนเริ่มจำแนกไม่ออกระหว่างความจริงกับความฝัน ฝันดีกับฝันร้าย ฝันในยามหลับหรือฝันในยามตื่น
และที่ต้องล้อมกรอบเป็นวรรคทอง เจ้าป้าแอนนี่ เลนน็อกซ์ ถือเป็นนักร้องสตรีที่พลิกภาพลักษณ์ของ “พลังหญิง” ให้ดูแตกต่างจากที่เราเคยเห็น
เธอปรากฏตัวในร่างทรงของผู้หญิงตัวเล็กๆ ทว่า เข้มแข็ง ตัดผมสั้นกุดติดหัว (เคยไว้ผมยาวอยู่พักหนึ่ง ผมเจอแกคราวก่อนกลับมาตัดสั้นอีกแล้ว) เคยสวมบราขึ้นเวทีคอนเสริ์ต เป็นต้นแบบให้กับซีเนต โอ’คอนเนอร์ ผู้ล่วงลับ
ว่ากันว่า เกรซ โจนส์ (Grace Jones) นางพญายุค 80’s ก็เคยแอบขโมยสไตล์ของป้าแอนนี่ไปใช้บ่อยๆ
“ฉันอยากให้มันเป็นภาพจำไปเลยว่ะ” แกให้สัมภาษณ์กับเคิร์ต ลอเดอร์ (Kurt Loder) ตีพิมพ์ในนิตยสาร Rolling Stone ปี 1983
“ความตั้งใจคือให้มันเป็นฝั่งตรงข้ามไปเลยกับภาพลักษณ์นักร้องหญิงในแบบดั้งเดิม คุณเข้าใจไหมค่ะ ฉันอยากมีภาพแห่งความเข้มแข็งเพื่อให้เท่าเทียมกับเดฟยามอยู่บนเวที ปลดปล่อยตัวเองจากเสื้อผ้าสวยๆ มาเป็นใส่อะไรที่มันจริงๆ หน่อย” แกว่างั้น
“เห็นครั้งแรกอกอีแป้นจะแตก” ซินดี้ ลอว์เปอร์ (Cyndi Lauper) แม่ย่านางจากยุค 80’s อีกรายหล่นความเห็นกับ Pitchfork สื่อออนไลน์
“ยิ่งตอนเธอมองกล้อง หน้าของเธอ สีผมของเธอ ท่วงท่าของเธอ มันทำให้เกมของสตรีในวงการเพลงเปลี่ยนไปตลอดกาล”
จริงครับ ! Eurythmics ยังเป็นครูใหญ่ของ Synth Pop และนิวเวฟ ผู้ที่เอ่ยคำนี้คือโค้ชร้องเพลงชื่อดังนามเคน เทมพลิน (Ken Tamplin)
“พวกเขาสร้างไลน์ดนตรีที่แตกต่าง บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตที่มากกว่าแค่ฉันรักเธอ/เธอรักฉัน เพลงพวกเขาบอกกับคนฟังว่า วงแนวนิวมิวสิกที่ใช้เสียงสังเคราะห์ก็สามารถทำเพลงแนว Progressive ได้ในแบบกลายๆ”
ทุกอย่างมีเวลาและที่ทางของมัน
Eurythmics ก็เช่นกัน หลังทัวร์ในปี 1990 วงก็สวมคอนเวิร์สแยกทางอย่างถาวรครึ่งไม่ถาวรครึ่ง
ป้าแอนนี่ย้ายไปอยู่อเมริกายึดอาชีพศิลปินเดี่ยวมีเพลงฮิตพอเป็นกระสาย
ส่วนลุงเดฟก็หาอะไรทำไปเรื่อยตามประสาคนมีตังค์แล้ว
ผมเห็นแกไปจอยกับทอม เพ็ตตี้ อยู่อัลบั้มหนึ่ง มีเพลง Don’t Come Around Here No More ออกมาให้แฟนๆ หายคิดถึง รวมถึงโปรดิวซ์อัลบั้ม Three Hearts In The Happing Ending Machine ให้แดรี่ ฮอลล์
ว่ากันว่านี่คือ Eurythmics ในเวอร์ชั่นนักร้องชาย
หรือร่วมงานกับบริษัทกล้องถ่ายรูปชื่อดังจากญี่ปุ่น ถ้า Print Ad เป็นฝีมือการกดของลุงก็ต้องนับว่าแกเป็นคนที่นอกจากหูจะดีแล้ว ยังมีลูกตาที่ดีอีกด้วย
ป้าแอนนี่กับลุงเดฟทั้งคู่กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในปี 1999 ในอัลบั้มแก้คิดถึง Peace มีเพลง 17 Again สุดไพเราะออกมาให้รำลึกถึง Sweet Dreams
ทุกวันนี้ป้าแอนนี่อยู่นิวยอร์ก เลิกกินเนื้อสัตว์และหันมาเป็นนักกิจกรรมทางสังคม
“แรกเริ่มเลย ป้าทำดนตรีเพื่อสะท้อนตัวตนในแง่มุมความคิดที่อยากจะเล่า ตอนนี้เวลาไปไหนแล้วมีคนมาทัก ป้าโคตรจะดีใจ ผ่านมาตั้งหลายสิบปีแสดงว่าเราเองก็ต้องทำอะไรที่มันถูกต้องกับเขาบ้างแหละวะ”
นักร้องสตรีผู้คว้ารางวัล Brit Awards มากที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีกล่าวทิ้งท้าย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022