เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

The Imaginary | จิตวิทยาเพื่อนในจินตนาการ

18.05.2025

จินตนาการ (The Imaginary) เป็นหนังการ์ตูนญี่ปุ่นวาดด้วยมือปี 2023 ของสตูดิโอ Ponoc สร้างจากนวนิยายปี 2014 ของ A.F. Harold ลำพังว่าวาดด้วยมือในยุคสมัยนี้ก็ต้องดูแล้ว อีกทั้งยังเป็นงานของพอนน็อกซึ่งผลิตผลงานดีๆ ออกมาเงียบๆ เป็นระยะๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องยาวเรื่องที่สองนับจาก Mary and the Witch’s Flower ปี 2017

หนังเข้าใจไม่ยาก เริ่มต้นด้วยเสียงเล่าของโรเจอร์ ซึ่งใครๆ เรียกว่ารัตเจอร์ “ไม่ใช่โรเจอร์นะคะ รอหันตอเอจอออรอการันต์รัตเจอร์” เป็นคุณแม่ของอะแมนดาพยายามอธิบายให้คุณแม่ของตัวเองคือคุณยายของอะแมนดาฟัง แม่อดเป็นห่วงมิได้ที่อะแมนดาลูกสาวมีเพื่อนในจินตนาการนายรัตเจอร์คนนี้นานเกินไปเสียแล้ว

รัตเจอร์เล่าให้คนดูฟังว่าเขาเกิดขึ้นได้เพราะอะแมนดาจินตนาการเขาขึ้นมา บางคนเรียกเขาว่าเพื่อนในจินตนาการ ศัพท์แพทย์เรียกว่า Imaginary Companion

และเขียนย้ำว่ามิใช่เรื่องผิดปกติที่เด็กคนหนึ่งจะมีเพื่อนในจินตนาการ แต่เวลาเราพบเด็กพูดคนเดียวนานๆ เรามักอดหวาดหวั่นมิได้ “เด็กเป็นอะไรมากหรือเปล่า”

เรื่องน่าสนใจในยี่สิบนาทีแรกมีมากมาย รัตเจอร์รู้ดีว่าเขาเป็นอะไร แต่เขาอดไม่ได้ที่จะอยาก ปรารถนา และขออะแมนดาให้เพื่อนๆ ของอะแมนดามองเห็นเขาบ้าง เขาจะได้คุยด้วย

หนังเล่นแบบนี้ทำให้เพื่อนในจินตนาการของเด็กๆ ดูเป็นเนื้อเป็นตัวเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นเป็นอันมาก มันขอเกินตัวได้ด้วย! แต่ว่าแค่นี้ก็ชวนขนลุกได้แล้ว

รัตเจอร์เป็นเด็กผมทองน่ารัก เขาไม่เคยแสดงความก้าวร้าวหรือล่วงเกินอะไร เป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจอะแมนดาแท้ๆ

เขาสองคนมีกติกาสามข้อ “ไปด้วยกัน อย่าทิ้งกัน และห้ามร้องไห้” ช่างเป็นกติกาที่เรียบง่ายและทรงพลังจริงๆ

ในทางจิตวิทยาอะแมนดาไม่จำเป็นต้องขอกติกาเหล่านี้ เด็กทุกคนที่สร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาก็ด้วยวัตถุประสงค์สามข้อนี้อยู่ก่อนแล้ว เป็นเพื่อนกัน อย่าหายไป และคอยปลอบโยนกันเมื่อเศร้าสร้อย

รัตเจอร์ถูกจินตนาการขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เราจะพบสามคำนี้อีกครั้งเมื่อถึงไคลแมกซ์

แต่อะแมนดารู้ดีว่าวันหนึ่งรัตเจอร์จะหายไป เมื่อคนดูทราบข้อนี้ก็สบายใจมากขึ้นว่าเธอไม่มีอะไรผิดปกติ เธอโตพอจะรู้เรื่องว่าเธอสร้างรัตเจอร์เอง และเมื่อเธอเติบโตขึ้นถึงขีดหนึ่ง เธอจะพบเพื่อนจริงๆ ตัวเป็นๆ เธอจะสร้างแม่ที่มีอยู่จริงสำเร็จเรียบร้อยในวันหนึ่ง สร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงทนทานมากในวันหนึ่ง แล้วสายสัมพันธ์นั้นจะมากเหลือล้นจนเอาไปเชื่อมต่อ (connect) กับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนได้ ถึงเวลานั้นมิใช่รัตเจอร์จะหายไปเอง แต่เขาจำเป็นต้องหายไปเพื่อหลีกทางให้อะแมนดาเติบโต

คือชะตากรรมของรัตเจอร์ เพื่อนในจินตนาการ เพราะอะแมนดาเป็นเด็กฉลาดมากพอที่จะล่วงรู้ข้อเท็จจริงนี้ เธอจึงร้องไห้และไล่รัตเจอร์ออกนอกห้องในคราวหนึ่ง

งานวิจัยด้านสมองสมัยใหม่พบว่าเพื่อนในจินตนาการมิได้เกิดขึ้นเพราะเด็กเหงาดังที่เคยเข้าใจ แต่เกิดขึ้นเพราะเป็นขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการความจำใช้งาน (working memory) ส่วนความจำเสียง เรียกว่า phonological loop ความจำใช้งานส่วนความจำเสียงนี้มีลักษณะเป็นเปลือกหอยที่หมุนเป็นเกลียว (เป็นโมเดลใช้อธิบาย มิได้มีเปลือกหอยจริงๆ)

เด็กบางคนชอบฟังนิทานเรื่องเดิมซ้ำๆ พูดอะไรซ้ำๆ เรียกว่า private speech สองอย่างนี้เพื่อพัฒนาและเสริมความแข็งแรงของความจำใช้งานด้านเสียง ซึ่งเป็นหนึ่งในสองส่วนที่สำคัญยิ่งยวดของระบบความจำใช้งาน (อีกส่วนหนึ่งคือความจำใช้งานด้านภาพ เรียกว่า visuospatial sketchpad ซึ่งมีโมเดลเป็นกระดานชนวน)

อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กบางคนแล้ว ลำพังฟังนิทานซ้ำๆ พูดคนเดียวซ้ำๆ ก็ไม่พอที่จะพัฒนาความจำใช้งานด้านเสียง จึงจินตนาการเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนมีแขนมีขาและมีชื่อเสียงเรียงนามเรียบร้อย

แม่ของอะแมนดาไม่เห็นรัตเจอร์ ฉากที่ดีมากๆ คือตอนที่เด็กสองคนทำบ้านเปียกน้ำเพราะเล่นน้ำฝนมา แม่กลับมาบ้านพอดีบ่นเป็นกระบุงพร้อมเปิดตู้เสื้อผ้าที่ซึ่งอะแมนดาซ่อนรัตเจอร์พร้อมร่มเปียกน้ำหยดติ๋งๆ เอาไว้ (ในความเป็นจริง อะแมนดาแค่ต้องการซ่อนร่มเปียกน้ำเพราะแม่ไม่มีทางเห็นรัตเจอร์อยู่แล้ว) พลันที่แม่เปิดตู้เธอเห็นแต่ร่มไม่เห็นรัตเจอร์ที่ห้อยต่องแต่งน่ารักน่าเอ็นดูตรงหน้า เพื่อนในจินตนาการเป็นของเด็กที่จินตนาการขึ้นมาเท่านั้น

แม้อะแมนดาอยากให้รัตเจอร์คุยกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนก็ทำไม่ได้ อันที่จริงเธอ “ห้าม” รัตเจอร์ไปโรงเรียนด้วยซ้ำเพราะกลัวเพื่อนๆ จะเห็นเธอพูดคนเดียวแล้วว่าเธอบ้า แต่ทำไมต้องห้าม? รัตเจอร์ไปเองมิได้อยู่แล้วนี่นา เอ๊ะ หรือว่าได้

“ไม่ใช่โรเจอร์นะคะ รอหันตอเอจอออรอการันต์รัตเจอร์” แม่พูดกับยายเรื่องอะแมนดามีเพื่อนในจินตนาการ “รัตเจอร์ไม่มีจริงหรอกค่ะ” แม่กระซิบหวังปลอบยาย หลานไม่ได้บ้า ปรากฏว่ายายหัวเราะกลับมาทางสาย “แม่หัวเราะอะไร” ยายเฉลยว่า “เรื่องรัตเจอร์ชวนให้คิดถึงครั้งที่ลูกเรียกเขาว่าฟริดจ์” หนังฉายภาพแม่ตาเหลือกโดยมีแบ็คกราวนด์เป็นตู้เย็น (refrigerator, fridge)

ที่แท้ตอนแม่เป็นเด็กแม่ก็มี “ฟริดจ์” เหมือนกัน!

หนังเขียนบทได้ดี อย่าพลาดพบกับฟริดจ์ในตอนไคลแมกซ์ ทำไมมันชื่อฟริดจ์

วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ใส่ใจแนวคิดเรื่องการพัฒนาความจำใช้งานมากกว่าเรื่องเด็กเหงา เด็กเหงาเป็นสภาพจิต แต่ความจำใช้งานเป็นชีววิทยา ส่วนนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แม่ของอะแมนดาก็เคยมีเพื่อนในจินตนาการและวันนี้เธอลืมฟริดจ์ไปแล้ว

เหมือนวันนี้ที่อะแมนดานั่งร้องไห้เพราะเธอฉลาดพอจะรู้ว่าวันหนึ่งไม่เพียงรัตเจอร์จะหายไป

เธอจะลืมรัตเจอร์ด้วย! หยุดตรงนี้ นั่งคิดสักพัก พวกเราลืมเพื่อนในจินตนาการกันหรือเปล่า? อย่าเพิ่งเถียงว่าไม่เคยมี

แล้วเด็กสองคนก็เผชิญเด็กสาวคนหนึ่งซึ่งอยู่ข้างชายแก่ลึกลับคนหนึ่ง ไม่มีใครเห็นเด็กสาวคนนั้นแต่อะแมนดาและรัตเจอร์เห็น มันน่ากลัวมาก ขอบตาสีดำเหมือนผีเลย มันเป็นใคร หรือมันคือเพื่อนในจินตนาการที่ไม่สามารถหายไปได้สักทีของชายแก่ที่มาด้วยกัน

หนังการ์ตูนเรื่องนี้พูดญี่ปุ่น ตัวละครชื่ออังกฤษผมสีทอง เหมือนหลายเรื่องของจิบลิ อะไรที่เล่ามาเพิ่งจะยี่สิบนาทีเท่านั้นครับ •

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568