

เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายก่อนเปิดเทอม 1 ปีการศึกษา 2568 มีหลายเรื่องที่โรงเรียนต้องเร่งเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจเรื่องพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มมาตรการสอดส่องดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะนอกจากมีโทษวินัย แล้วผู้ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ยังถือว่ามีความผิดกฎหมายอาญา มีสิทธิออกจากราชการได้เลย
ส่วนเด็กนักเรียน ก็ชัดเจนว่า ส่งผลต่อสุขภาพอย่างหนัก โดยเฉพาะข้อมูลล่าสุดที่พบว่า เด็กเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ชั้นประถมต้น…
ล่าสุด พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ (ศธ.) จัดสัมมนา เพื่อหาทางออกเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยย้ำว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นปัญหาหลักของสังคมไทย เพราะสามารถหามาสูบได้ง่าย และหากติดตามข่าวสารก็จะพบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีลูกเล่นมากขึ้นเพื่อดึงดูดให้คนมาใช้งาน ซึ่งเด็กมีความอยากรู้อยากลอง
ดังนั้น จึงอยากให้มีการทบทวนและหาวิธีป้องกันบุหรี่ไฟฟ้ารวมถึงยาเสพติดต่างๆ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ศธ.ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า สร้างความตระหนักเท่าทันพิษภัยและโทษของบุหรี่ไฟฟ้าทั้งต่อสุขภาพร่างกายและโทษทางอาญาให้แก่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารทุกระดับ และเจ้าหน้าที่ อาทิ สอดแทรกเนื้อหาหรือหลักสูตรการเรียนการสอน กิจกรรม และสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ
“ผมยังให้ผู้รับผิดชอบสถานศึกษาหรือสถานที่ทำงาน จัดให้มีเครื่องหมายแสดงไว้ให้เห็นได้โดยชัดเจนว่าเป็นเขตปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมไปถึงให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นสอดส่อง ดูแลหรือป้องกันมิให้นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ เข้าไปเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าทั้งการสูบ จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือสนับสนุนอย่างหนึ่งอย่างใด และหากมีกรณีตรวจพบ หรือมีการร้องเรียนกล่าวหา หรือกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหาร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ทันที”
พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว
ในปีการศึกษานี้ ศธ.จะมีมาตรการแก้ไขที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า แต่รวมไปถึงสิ่งอบายมุขต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กนักเรียน
โดยเจ้าหน้าที่พนักงาน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนนักศึกษา (พสน.) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการกวดขันปัญหาต่างๆ ของนักเรียนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองในพื้นที่ด้วย
และที่สำคัญไม่อยากให้เรื่องของการเอาผิดครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือข้าราชการผู้บริหารกระทรวงที่มีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ครอบครองจะโดนโทษวินัยเป็นเพียงคำพูดลอยๆ เท่านั้น แต่จะต้องดำเนินการเอาผิดลงโทษทางวินัยอย่างจริงจังเป็นตัวอย่างให้เห็นด้วย เช่น การเพิ่มช่องทางให้มีคนร้องเรียน เป็นต้น
ทั้งนี้ จากสถิติจากปีที่ผ่านมาตั้งแต่ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการมาในการจับกุมกวาดล้างจะพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำลายบุหรี่ไฟฟ้าได้มากถึง 10 เท่า ซึ่งเมื่อต้นทางสามารถดำเนินการทำลายแหล่งจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าได้จึงคาดว่าปัญหาในเด็กนักเรียนต้องลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการแก้ไขบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ศธ. และหน่วยงานในสังกัดทำมาตั้งแต่ปี 2567 แล้ว และจากการสำรวจพบว่า เราแก้ปัญหานี้ได้อย่างจริงจังและบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาลดลง
ดังนั้น ขอฝากให้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างสถานศึกษาให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่สีขาวของนักเรียนด้วย
ขณะที่นักวิชาการอย่าง นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา โรงเรียนต่างๆ ก็ขานรับกับนโยบายดังกล่าว แต่อยากให้เพิ่มมาตรการที่เน้นให้เด็กดูแลกันเอง เช่น ให้กลุ่มเพื่อนที่ไม่สูบบุหรี่ คอยสอดส่องกลุ่มที่มีปัญหา เพื่อหนุนเสริมกับอำนาจของโรงเรียนในการตรวจจับบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ไม่ใช่การจับผิด แต่เป็นการรณรงค์และให้ความรู้เพื่อน ที่สำคัญควรจะมีการทำงานร่วมกับผู้ปกครอง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการป้องกัน และรายงานให้กับสถานศึกษารับรู้ปัญหา เพื่อช่วยกันแก้ไขอย่างจริงจัง
“ส่วนตัวผมมองว่า ศธ.คงจะทำหน้าที่ในการป้องกันและดูแลไม่ได้มากไปกว่านี้ แต่ถ้าอยากให้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาลดลงควรจะเน้นการปราบปรามตั้งแต่ต้นทาง คือ ไม่ให้มีการลักลอบเข้ามาจำหน่ายหรือมีการผลิตขึ้นมา ซึ่งเรื่องนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้ให้ความสำคัญ แต่ควรจะมีมาตรการระดับประเทศที่จริงจังมากขึ้นโดยอาจจะมีการเพิ่มโทษทางกฎหมายให้มีความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อลดการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าจากต้นทาง” นายอดิศรกล่าว
ส่วนที่ ศธ.มีการขออำนาจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ทำลายบุหรี่ไฟฟ้ากับทางกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ส่วนตัวมองว่าไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระงานให้ครู เพราะความเป็นครูไม่ได้มีหน้าที่สอนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูแลชีวิตของเด็กนักเรียนให้มีสุขภาพกายและใจที่ดีด้วยเช่นกัน ฉะนั้น การให้มีอำนาจเพิ่มเติมไม่ใช่การเพิ่มภาระงานให้กับครู แต่เป็นการให้อำนาจในการทำลายโดยถูกต้องตามกฎหมาย
ถือเป็นงานหนักของโรงเรียน ที่ต้องเป็นหัวเรือใหญ่ช่วยสอดส่องเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะหากปล่อยปละละเลยให้เด็กเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า หรือยาเสพติดประเภทอื่นๆ แล้ว ย่อมส่งผลต่ออนาคตของนักเรียน และอนาคตของประเทศอย่างแน่นอน
และคงจะเป็นเรื่องดี หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพิ่มโทษทางกฎหมายให้เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะผู้ค้าซึ่งเป็นตัวการทำคัญ!! •
| การศึกษา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022