

บทความเศรษฐกิจ
วิบากกรรม
‘เศรษฐกิจไทย’ ยุค 2025
เครื่องยนต์ ‘ส่งออก-ท่องเที่ยว’ ติดๆ ขัดๆ
เศรษฐกิจไทยในตอนนี้ยังหนีไม่พ้นปากเหว มีความเสี่ยงปัจจัยลบให้ต้องติดตามเป็นรายวัน โดยเฉพาะเครื่องยนต์สร้างรายได้เข้าประเทศหลัก ทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบแบบพร้อมเพรียงกัน
วิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ แตกต่างจากช่วงเกิดโควิด-19 ระบาด เพราะผลกระทบในตอนนั้นเกิดขึ้นกับภาคบริการเป็นหลัก เนื่องจากคนเดินทางไม่ได้ การท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักไป ตำแหน่งพระเอกของเศรษฐกิจไทยอย่างภาคการท่องเที่ยวจึงสั่นคลอน
แต่ตอนนี้สวนทางกัน เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศตั้งกำแพงภาษี (ตอบโต้) สินค้านำเข้าจากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย เจออัตราระดับ 36-37% และมีความไม่แน่นอนด้วยว่า จะเก็บในอัตราที่สูงกว่านี้หรือไม่
ทำให้ภาคการส่งออกไทยกลับมาระส่ำระส่ายอีกครั้ง จากที่ช่วงโควิด ภาคการผลิตของไทยยังสามารถเดินหน้าต่อได้
แนวโน้มการส่งออกในปี 2568 นี้ ทุกสายตามองว่าน่าจะไม่สดใสมากนัก โดยเฉพาะครึ่งหลังของปี 2568 ที่อาจเผชิญมรสุมความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกมากกว่าเดิม อย่างไม่สามารถเลี่ยงได้
แตกต่างจากภาคการท่องเที่ยวที่เปรียบเหมือนเดินลุยไฟมาตั้งปีก่อนหน้า เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นอย่างการกราดยิงที่สยามพารากอน ก็มีความพยายามในการสื่อสารด้านความปลอดภัยออกไป
แต่ดูเหมือนจะสู้กระแสความหวาดกลัว ความไม่เชื่อมั่น และกระแสเชิงลบไม่ไหว
โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นในประเทศติดต่อกันเป็นระลอกๆ ทำให้การสื่อสารเชิงบวกดูไม่มีผลบวกอย่างที่ควรนัก
อีกทั้งภาคเอกชนและนักวิชาการ ยังประเมินกรณีแบบนี้ การทำงานของรัฐบาลขยับตัวช้าเกินไป
เราไม่มีแผนรับมือและตอบโต้กับกรณีไม่คาดฝันที่เกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบที่จะตามมาเลย ทั้งที่เรารู้อยู่แล้วว่าอย่างไร ต้องมีผลกระทบแน่นอน ไม่ว่าจะมากหรือน้อย เพราะไม่ใช่จะไม่เคยเกิดขึ้น ไม่เคยมีบทเรียนให้เรียนรู้
แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยถอดบทเรียนกับเหตุการณ์ร้ายๆ มาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเรียนรู้จากกรณีไม่คาดฝันลักษณะแบบนี้เมื่อใดด้วย
ภาคบริการหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ วันนี้เป็นอย่างไร
อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) สะท้อนว่า ความกังวลในการทำตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะตลาดระยะใกล้ที่มีสัดส่วนเป็นลูกค้าหลักมากกว่าตลาดระยะไกลทั้งยุโรป สหรัฐ และอื่นๆ ซึ่งตลาดที่เป็นลูกค้าหลักจริงๆ คือ ตลาดจีน ที่นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ถึงปัจจุบัน มีการรายงานข่าวโดยใช้คำว่า จีนเทา หรือจีนทำร้ายคนไทย ทำให้ในโลกออนไลน์ของจีนเกิดความรู้สึกว่า ประเทศไทยไม่มีความยินดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนแล้วใช่หรือไม่ จึงมีความกังวลในเรื่องประเด็นความรู้สึกเชิงลบระหว่างกัน อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมความสัมพันธ์ของไทยและจีนได้
โดยเรื่องความปลอดภัยในส่วนของเจ้าหน้าที่ อาทิ ตำรวจท่องเที่ยวพยายามทำหน้าที่ได้ดีมาก แต่สิ่งที่ขาดคือ การสื่อสาร ทำอย่างไรให้เกิดทัศนคติที่ดีมากขึ้น เผยแพร่การยกระดับความปลอดภัยของไทยออกไป
อาทิ กรุงเทพฯ มีกล้องวงจรปิด 63,927 ตัว รวมกล้องเอไออีก 17,000 ตัว สะท้อนถึงกรุงเทพฯ มีความปลอดภัยสูงมาก แต่สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ไม่ได้ถูกสื่อสารออกไป
ที่ผ่านมาการขยับตัวของภาครัฐอาจช้าเกินไป ทำให้กระแสข่าวเชิงลบในโลกออนไลน์ของทั้งไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะจีนลุกลามมาจนเกินความควบคุม
ยิ่งสื่อออนไลน์ของจีนมีความเข้มแข็งมาก เมื่อมีกรณีลบอะไรเกิดขึ้นก็จะวนเวียนฉายซ้ำอยู่นาน และความเห็นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายอะไรขึ้น สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การส่งหนังสือเวียนชี้แจ้งรายละเอียด ยืนยันความปลอดภัย เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา แต่หากมองย้อนไปในหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน เราไม่ได้ทำแบบนั้นเลย
ภาคการท่องเที่ยวไทย ขณะนี้ต้องอาศัยการกระตุ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศสอดคล้องกัน แต่การท่องเที่ยวในประเทศก็ไม่สามารถนำมาทดแทนต่างประเทศได้ เพราะมีสัดส่วนรายได้ที่มากกว่า โดยหนึ่งในมาตรการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยที่รัฐบาลประกาศออกมาเบื้องต้นคือ เที่ยวไทยคนละครึ่ง ซึ่งมองว่าอย่างช้าไม่ควรออกมาเกินเดือนพฤษภาคมนี้ แต่เมื่อช้าไปแล้วก็ต้องเร่งออกมาให้ทัน 1-2 เดือนนี้ เพื่อให้ทันช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ที่การท่องเที่ยวจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มเห็นการปรับลดลงแล้วหลังผ่านพ้นช่วงสงกรานต์ และเป็นสงกรานต์ที่ไม่ได้คึกคักมากอย่างที่คาดการณ์ไว้
บรรยากาศไม่สดใสแบบนี้รัฐบาลต้องเร่งลงมือได้แล้ว
ภาพไม่แตกต่างจาก เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ระบุว่า ขณะนี้โครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง สมาคมได้ร้องขอจากรัฐบาลให้เร่งทำออกมาตั้งแต่ตัวเองเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมช่วงแรกเลย แต่ตอนนี้ผ่านมาเป็นปีแล้วก็ยังไม่สามารถใช้ได้ ซึ่งความจริงน่าจะทำได้เร็วด้วย เพราะเคยมีรูปแบบเราเที่ยวด้วยกันที่ทำไว้แล้วหลายเฟสในช่วงที่ผ่านมา
ตอนนี้รัฐบาลจึงต้องเร่งประกาศกดปุ่มโครงการออกมาให้เร็วที่สุด แม้เบื้องต้นจะเลื่อนออกไปเริ่มในเดือนกรกฎาคมนี้ ก็อยากให้ประกาศชัดเจนออกมา เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมตัว และมีเวลาให้ประชาชนวางแผนเดินทางด้วย เพราะบรรยากาศที่มีแต่เหตุการณ์ร้าย อาจต้องใช้แรงกระตุ้นให้อยากออกเดินทางมากกว่าเดิม
“การกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศตอนนี้ ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงหลังไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ส่วนตัวมองว่าอยากให้เทศบาลกำหนดเงื่อนไขว่าเที่ยวที่ไหนก็ใช้สิทธิได้ เพราะถือว่าเงินจะหมุนในระบบเหมือนกัน และขอให้ออกไปใช้จ่ายนอกจังหวัดที่ตัวเองพักอาศัย เชื่อว่าจะกระตุ้นได้มากกว่า เพราะหากกำหนดเงื่อนไขที่เยอะมากกว่าเดิม ก็จะไม่จูงใจผู้ใช้สิทธิ รวมถึงไม่อยากให้ลดจำนวนสิทธิลง ตั้งไว้ที่ 1 ล้านสิทธิตลอดโครงการ ก็อยากให้ใช้ครบทั้งหมด เพื่อให้เม็ดเงินที่คาดว่าจะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจวิ่งได้ถึงเป้าหมายจริง” เทียนประสิทธิ์กล่าว
ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา เริ่มเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น อัตราการเข้าพักในโรงแรมโดยเฉลี่ยทั่วประเทศ 60% และตอนนี้เริ่มลดลงเหลือ 50% ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและนักท่องเที่ยวจีนเลือกไปเที่ยวที่อื่นแทน
แต่ในช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงสิงหาคมเป็นฤดูกาลที่นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางจะเข้ามาไทย เชื่อว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าของสหรัฐจะเข้ามาเติมเต็มนักท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่นได้ โดยมีความเข้าใจดีว่ารัฐบาลคงต้องเร่งดูแลภาคการผลิตและภาคส่งออกก่อนเพราะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้าที่ยังไร้ข้อสรุปว่าจะจบแบบไหน ส่วนการท่องเที่ยวมองว่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อมหลังจากทั่วโลกซบเซาอาจจะทำให้มาเที่ยวไทยน้อยลง ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นรัฐบาลคงสามารถมองผลกระทบออกได้
จากความเห็นของภาคเอกชน สะท้อนถึงความหวังเดียวในตอนนี้ที่มองว่ายังไปได้คือ ภาคการท่องเที่ยว หลายครั้งที่มีกลวิธียื่นให้ถึงมือภาครัฐว่า ควรเดินต่อไปอย่างไร
เหลือก็แต่รัฐบาลจะเอาด้วยหรือไม่เท่านั้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022