

บทความพิเศษ | สุภา ปัทมานันท์
วันเด็กญี่ปุ่น (こどもの日)
กับสถานการณ์เด็กเกิดน้อย
วันหยุดยาวช่วงโกลเด้นวีกของญี่ปุ่นปีนี้ยาวต่อเนื่องถึง 11 วัน สำหรับคนที่ใช้วันหยุดของตัวเองเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน ถึงวันที่ 6 พฤษภาคม มีวันหยุดรำลึกถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระจักรพรรดิสมัยโชวะ วันรัฐธรรมนูญ วันสีเขียว (みどりの日) ให้ความสำคัญกับพืชพรรณธรรมชาติ และวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเด็กผู้ชาย (端午の節句) และวันเด็ก (こどもの日) ด้วย แต่วันเด็กผู้หญิง (ひな祭り) วันที่ 3 มีนาคม ไม่ใช่วันหยุด
“วันเด็ก” ของญี่ปุ่นประจำปีนี้ กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร (総務省) รายงานสถิติเกี่ยวกับเด็ก ณ วันที่ 1 เมษายน ญี่ปุ่นมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น จำนวน 13.66 ล้านคน ลดลงจากปีที่แล้ว 3.5 แสนคน ต่ำกว่า 14 ล้านคนเป็นครั้งแรก และเป็นจำนวนที่ลดลงติดต่อกันมาถึง 44 ปี และทำสถิติจำนวนต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1950
ปีนี้ มีเด็กผู้ชาย 6.99 ล้านคน เด็กผู้หญิง 6.66 ล้านคน เด็กผู้ชายมีมากกว่าเด็กผู้หญิง 3.3 แสนคน มีเด็กอายุ 12-14 ปี 3.14 ล้านคน อายุ 0-2 ปี 2.22 ล้านคน เห็นได้ว่าเด็กเล็กมีจำนวนน้อยกว่าเด็กโต นั่นคือ มีเด็กเกิดใหม่น้อยลงทุกปี
จำนวนประชากรเด็กมีสัดส่วน 11.1% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนลดลงติดต่อกันมาถึง 51 ปี ตั้งแต่ปี 1975 เป็นต้นมา
จังหวัดที่มีประชากรเด็กมากที่สุด คือ โอกินาวา มี 15.8% จังหวัดที่มีประชากรเด็กน้อยที่สุด คือ จังหวัดอาคิตะ อาโอโมริ และฮอกไกโด ตามลำดับ
สถานการณ์เด็กเกิดน้อย (少子化) ที่เป็นปัญหาใหญ่ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามส่งเสริมให้คู่แต่งงานวัยหนุ่มสาว มีลูกเพิ่มขึ้นด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การให้เงินอุดหนุนเลี้ยงดูบุตร นอกจากนี้ ส่วนท้องถิ่นแต่ละจังหวัดก็มีมาตรการจูงใจให้สร้างครอบครัว มีลูก เพื่อให้อยู่ในท้องถิ่น ไม่ย้ายไปอยู่เมืองใหญ่ และยังจูงใจให้คนมีครอบครัวใหม่จากที่อื่นๆ ย้ายเข้าอาศัยในพื้นที่
เรียกได้ว่าเป็นการแย่งชิงประชากรกันเอง แต่ละท้องถิ่นก็คิดหามาตรการจูงใจ และสร้างสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ เพื่อเอื้อต่อการเลี้ยงดูสมาชิกตัวน้อย
ที่เมืองซาคาอิ จังหวัดอิบารางิ เมืองเล็กๆ ที่มีประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 23,000 คน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เล็งเห็นปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อขายแพง ค่าเช่าแพงและมีขนาดเล็ก ทำให้คู่แต่งงานต่างก็ถอดใจที่จะมีลูก หรือที่มีลูกแล้ว ก็มีเพียงคนเดียว ไม่กล้าคิดมีครอบครัวใหญ่ เพราะพื้นที่คับแคบไม่เหมาะแก่การเลี้ยงดูเด็กเล็ก
เทศบาลเมืองซาคาอิ นอกจากการจัดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลฟรีสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 20 ปี และมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ แล้ว ยังจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางและรายได้ส่วนท้องถิ่น นำมาช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย
โดยสร้างบ้านเดี่ยวขนาด 3 ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ครัว และส่วนรับประทานอาหาร (3LDK) ให้ครอบครัวที่มีลูก หรือคู่แต่งงานที่แต่งงานเกิน 5 ปี ได้เช่าในราคาถูก เดือนละ 5.8 หมื่นเยน
และที่จูงใจมาก คือ หากอยู่ยาวต่อเนื่องถึง 25 ปี จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้านหลังนั้น
ถ้าลองคำนวณค่าเช่ารวมตลอด 25 ปีแล้ว นับว่าเป็นราคาที่ถูกมากสำหรับการเป็นเจ้าของบ้านเดี่ยวขนาดดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่มีผู้สนใจเข้าจองคิวขอเช่าจำนวนมากในทันทีที่สร้างบ้านเสร็จ
หนึ่งในผู้เข้าพัก ชายหนุ่มวัย 32 ปี พร้อมภรรยาและลูก 2 คน ย้ายมาจากจังหวัดคานากาวา ห้องที่พักอยู่เดิมแคบเกินไปสำหรับ 4 คน และไม่มีที่วิ่งเล่นให้ลูก เคยคิดล้มเลิกจะมีลูกคนที่ 3 ไปแล้ว ยอมรับว่าโชคดีมากที่ได้บ้านพักที่ใหญ่ขึ้นกว่าที่เดิม ในราคาถูก แม้ว่าตัวเองต้องใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานขึ้น
แต่แลกกับการให้ลูกได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ท่ามกลางครอบครัวเพื่อนบ้านที่เลี้ยงลูกในวัยไล่เรี่ยกันด้วย จึงตั้งใจจะอยู่ที่นี่จนกว่าจะได้รับกรรมสิทธิ์แน่นอน
พ่อเมืองซาคาอิ ชื่นชมกับความสำเร็จของนโยบายนี้ หวังว่าคู่แต่งงานที่เข้ามาอยู่ พร้อมจะมีลูกคนที่ 2 และ 3 สร้างความมีชีวิตชีวาและเพิ่มจำนวนประชากร และปักหลักตั้งถิ่นฐานที่เมืองซาคาอิต่อไป
นอกจากนี้ เมืองเกียวโต ยังมีนโยบายเร่งปรับปรุงห้องพักในแมนชั่นที่บริหารโดยเทศบาลเมือง มีสภาพเก่าแก่ทรุดโทรม และร้างผู้พักอาศัย มาปรับปรุงให้น่าอยู่ มุ่งเน้นปรับสภาพให้เหมาะแก่การดูแลเด็กเล็ก เช่น ผนังป้องกันเสียง พื้นห้องใช้วัสดุปลอดภัยสำหรับเด็ก ที่ชั้นล่างของอาคารมีห้องเด็กให้เด็กๆ มาเล่นได้
มีการรับฟังความคิดเห็นของคู่แต่งงานวัยหนุ่มสาวเกี่ยวกับรูปแบบห้องพักที่อยากได้ เหมาะแก่การใช้ประโยชน์ เมื่อปรับปรุงเสร็จแล้ว ทางเทศบาลเมืองให้เช่าในราคาถูกกว่าแมนชั่นที่เป็นของเอกชน เพื่อจูงใจคนวัยสร้างครอบครัวและมีงบประมาณจำกัด สิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อนบ้านวัยเดียวกัน เมื่อมีลูกก็มีเพื่อนเล่นด้วย
อันที่จริงรัฐบาลญี่ปุ่นก็เล็งเห็น ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยคับแคบเกินไปสำหรับการเลี้ยงเด็กเล็กเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หนุ่มสาวไม่อยากมีลูก จึงพยายามกระตุ้นให้แต่ละท้องถิ่นใช้งบประมาณปรับปรุงเรื่องที่พักอาศัย โดยรัฐบาลส่วนกลางจะมอบเงินช่วยเหลือส่วนหนึ่ง หรือหากที่พักที่บริหารโดยเอกชนต้องการปรับปรุงบ้านร้างให้มีสภาพน่าอยู่ได้ ก็สามารถยื่นของบช่วยเหลือได้จากท้องถิ่น
และที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ รัฐบาลจะช่วยเหลือสำหรับการผ่อนบ้านหรือห้องพักในแมนชั่น คิดดอกเบี้ยเงินกู้ราคาถูกเป็นพิเศษ โดยพิจารณาจากจำนวนบุตรเป็นสำคัญ
ยิ่งมีลูกหลายคน ก็ยิ่งได้ดอกเบี้ยเงินกู้ผ่อนที่อยู่อาศัยในอัตราพิเศษ มีที่ไหนคิดนโยบายนี้ได้บ้างไหม?
จูงใจกันขนาดนี้ หนุ่มสาวญี่ปุ่นจะอยากมีลูกหลายคนไหม?
ต้องดูกันต่อไป…
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022