เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

ลิซ่ากับกฎทอง (Lisa and The Golden Rule)

20.05.2025

ปรัชญา-คำ-‘นึง | พิพัฒน์ สุยะ

 

ลิซ่ากับกฎทอง

(Lisa and The Golden Rule)

 

การปรากฏตัวของลลิษา มโนบาล หรือลิซ่าแห่งวงแบล็คพิงค์ ในงาน MET GALA 2025 ซึ่งจัดขึ้นที่พิพิธภณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน แห่งมหานครนิวยอร์กเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้สร้างเสียงฮือฮาพอสมควรจากชุดเสื้อผ้าหน้าผม

มีเสียงชื่นชมลิซ่ามากมายตามมา และแน่นอนเช่นกันว่า เมื่อมีเสียงชื่นชมก็ย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจนถึงก่นด่าเลยด้วยซ้ำถึงความเหมาะสมของชุดที่ลิซ่าสวมใส่ในวันนั้น

และเป็นธรรมดาที่กระแสสื่อโซเชียลออนไลน์ทั้งหลายจะกระหน่ำถกเถียงกันไปมาแบ่งเป็นฝักฝ่ายกันชัดเจน

เรื่องมาหนักขึ้นถึงขั้นสุดเมื่อมีแร็พเปอร์ นักร้อง นักแต่งเพลง นักแสดงสาวชาวอเมริกันชื่อ เอซีเลีย เอแมนดา แบงก์ส (Azealia Amanda Banks) ออกมาโพสต์ข้อความในเอ็กซ์วิจารณ์ลิซ่าว่าเหมือนกะเทย แถมยังดูเหมือนมีลูกกระเดือก อะไรทำนองนี้ รายละเอียดผู้อ่านทุกท่านคงหาได้เองอยู่แล้ว

ผลที่ตามมาคงไม่เกินความคาดหมายของหลายคนเท่าไหร่นัก เพราะคำพูดดังกล่าวของเอซีเลีย แบงก์ส ไม่ได้เหยียดแค่เพียงแต่ลิซ่า แต่ยังเลยเถิดมาเหยียดพี่น้องชาวแอลจีบีทีคิวพลัสเข้าไปอีก

และก็ตามระเบียบที่นักร้องสาวคนนี้จะมีทัวร์แวะเวียนไปลงอย่างไม่ขาดสาย

เรื่องราวยังไม่ได้จบลงแต่เพียงเท่านี้ เมื่อมีอดีตนักร้องดัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก แซะเอซีเลีย แบงก์ส ทำนองที่ว่า “กอริลลาเหยียดมนุษย์ได้เหรอ”

นัยว่าแบงก์สเหยียดลิซ่าว่าเป็นกะเทย แต่แบงก์สเป็นผู้หญิงผิวสีมีรูปร่างท้วม นักร้องดังคนดังกล่าวอาจจะกระแหนะกระแหนเธอว่าคล้ายกับกอริลลา จึงโพสต์เสียดสีกลับทำนองที่ว่า เป็นกอริลลามาเหยียดคนหรือลิซ่าได้อย่างไร และมีคนมาแสดงความคิดเห็นในทางเห็นด้วยอีกมากมาย

ข้อความดังกล่าวมีความหมายเหยียดหรือดูถูกอย่างแน่นอน นี่ยังไม่รวมความเห็นที่ขยายความเพิ่มเติมจนกลายเป็นความเกลียดชังไปแล้วด้วยซ้ำ

ผู้เขียนก็ได้แต่คิดว่า ท่าทีแบบ “เขาแรงมาเราก็แรงกลับ” แบบที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ บ้างก็พูดเล่น บ้างก็ยึดถือจริงจัง มันจะเป็นท่าทีแบบที่เราต้องการจริงๆ

หรือเราจะกลายกลับไปสู่สังคมแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน กันอย่างนั้นหรือ

 

ในทางปรัชญา หรือกล่าวเฉพาะเจาะจงลงไปว่าในทางจริยศาสตร์ เราจะมีหลักการพื้นฐานอย่างหนึ่งซึ่งเป็นแนวทางพื้นฐานให้เรายึดถือเพื่อใช้ในการปฏิบัติต่อคนอื่น หลักการที่ว่านี้ เราเรียกว่า “กฎทอง” (the golden rule) หรือมักจะรู้จักกันอีกชื่อก็คือ “จริยศาสตร์ของการต่างตอบแทน” (ethic of reciprocity)

บางครั้งกฎทองนี้จะได้รับการอธิบายในทำนองที่ว่าเป็น “หลักการทางจริยศาสตร์สากล” (universal ethical principle) ที่ว่า “เราจงปฏิบัติต่อผู้อื่นในสิ่งที่เราปรารถนาให้ผู้อื่นมาปฏิบัติแก่เราในแบบเดียวกัน”

อันที่จริงกฎทองนี้มีมานานแล้วและพบได้ในหลายวัฒนธรรม คล้ายเป็นหลักการที่มนุษยชาติมีร่วมกัน ไม่ว่าจะพบร่องรอยความคิดทำนองนี้ในจารึกของชาวบาบิโลนโบราณ ที่ชัดเจนมากขึ้นก็พบได้ใน คัมภีร์ไบเบิล

เช่น “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่พวกท่านต้องการให้พวกเขาปฏิบัติต่อท่าน เพราะนี่คือธรรมบัญญัติและคำสั่งสอนของบรรดาผู้เผยพระวจนะ”- มัทธิว 7:12 หรือ “จงปฏิบัติต่อคนอื่นเหมือนอย่างที่พวกท่านปรารถนาให้เขาปฏิบัติต่อท่าน” – ลูกา 6:31

จะเห็นว่าข้อความทั้งสองจากพระคัมภีร์ก็มีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน

ในทางปรัชญาเราเรียกกฎทองที่กล่าวมาข้างต้นว่า เป็นกฎทองในรูปแบบเชิงบวก (positive form)

แต่กฎทองยังสามารถปรากฏในทำนองตรงกันข้ามคือรูปแบบเชิงลบ (negative form) ได้ด้วย หรือบางคนก็เรียกว่า กฎเงิน (silver rule) ที่ว่า

“อย่าปฏิบัติต่อผู้อื่นในสิ่งที่ท่านไม่ต้องการให้เขามาปฏิบัติต่อท่าน” ซึ่งกฎรูปแบบลักษณะนี้จะพบได้แพร่หลายในความคิดแบบตะวันออก เช่น ในคัมภีร์อัลกุรอานก็มีข้อความทำนองนี้

ส่วนฮินดูก็จะปรากฏข้อความทำนองนี้ในมหาภารตะ และสำหรับขงจื๊อก็ปรากฏความคิดลักษณะนี้ในคัมภีร์หลุนอี่ว์ เล่มที่ 15 บทที่ 23 มีข้อความดังนี้ “จื่อก้งถามว่า ‘มีคำคำเดียวไหม สามารถเป็นหลักปฏิบัติไปตลอดชีวิต’ อาจารย์กล่าวว่า ‘คือซู่มิใช่หรือ?’ สิ่งใดตนไม่ปรารถนา สิ่งนั้นอย่าทำกับผู้อื่น”

ตรงนี้น่าสนใจมากว่า เพราะเหตุใดแนวคิดตะวันออกจึงคิดถึงกฎทองในรูปแบบเชิงลบเสียเป็นส่วนใหญ่

 

กฎทองนั้นไม่ว่าจะปรากฏอยู่ในรูปแบบเชิงบวกหรือลบก็ตาม ดูเหมือนจะใช้เป็นแนวทางควบคุมกำกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกันในสังคมได้เป็นอย่างดี ถึงแม้มันอาจจะไม่ชัดเจนหรือมีรายละเอียดมากนัก แต่กฎทองก็มีแนวทางมากพอที่จะเป็นพื้นฐานให้เราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งปฏิบัติกับมนุษย์อีกคนหนึ่งโดยที่เราอาจจะไม่รู้จักกันดีพอหรือต่อให้สนิทคุ้นเคยก็ตาม กฎทองจึงเป็นแนวทางคร่าวๆ ให้เราเลือกยึดถือใช้ไปก่อนได้ดีที่สุดแนวทางหนึ่งเลยก็ว่าได้

อย่างกรณีของลิซ่า พวกเราชาวลิลลี่หรือต่อให้ไม่เป็นแฟนคลับของลิซ่าก็ตาม แต่หากไม่เห็นด้วยกับการที่นักร้องแร็พคนนั้นดูถูกลิซ่า ไม่ชอบการพูดจาเหยียดหยามของเขา เราก็ไม่ควรไปเหยียดหรือพูดจาดูถูกเขากลับ

ก็ในเมื่อเราไม่ชอบการเหยียด แต่เรากลับเหยียดเสียเอง อันนั้นจึงขัดทั้งกับกฎทอง หรือแม้กระทั่งขัดกับเหตุผลพื้นฐานเสียด้วยซ้ำ

กล่าวคือ ในเมื่อเราไม่เห็นด้วยกับการพูดจาเหยียด แต่เราก็ใช้คำพูดเหยียดยามเขากลับ เท่ากับเราทำลายหลักการของเราเอง

การใช้ถ้อยคำพูดจาเหยียดหยามกันไปมา รังแต่จะนำไปสู่ประทุษวาจา (hate speech) มากยิ่งขึ้นไปอีก

และสุดท้ายจะนำเราเข้าไปสู่สงครามแห่งความเกลียดชัง

และที่สุดก็จะจบลงด้วยความรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นมานักต่อนักแล้วในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

 

กฎทองจึงค่อนข้างเป็นแนวทางพื้นฐานในการประพฤติปฏิบัติของผู้คนในสังคม เป็นหลักการแรกๆ ที่เราพอจะนึกขึ้นมาได้ หากเราไปยังในที่ที่ไม่มีกฎเกณฑ์หรือระเบียบที่ออกไว้ชัดเจน กฎทองจึงเป็นสิ่งที่เราควรยึดไว้ก่อน

อันที่จริงกฎทองก็ไม่ต่างจากสำนวนไทยที่เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยครั้งที่ว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” หรือสำนวนฝรั่งที่บอก “ลองใส่รองเท้าของคนอื่นดูบ้าง” (put yourself in someone’s shoes) ก็หมายถึงคนเราควรนึกถึงความรู้สึกของคนอื่นนั่นเอง

แต่แน่นอนว่า กฎทองไม่ใช่กฎที่สมบูรณ์แบบอะไร ย่อมมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง

ข้อวิจารณ์หลักข้อหนึ่งต่อกฎทองนี้ก็คือว่า ดูเหมือนกฎทองนี้จะยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง (egocentrism) มากเกินไป

กล่าวคือ เมื่อเรากล่าวว่า “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นในสิ่งที่เราอยากให้คนอื่นมาปฏิบัติต่อเรา” แล้วเราจะล่วงรู้ได้อย่างไรว่าคนอื่นอยากให้เราทำหรือปฏิบัติต่อเขาในแบบที่เราต้องการ ในทำนองเดียวกันเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เขาหรือคนอื่นไม่อยากให้เราทำต่อเขาจะเป็นอย่างเดียวกันกับสิ่งที่เราไม่อยากให้เขาทำกับเรา

ปัญหามันจึงไม่ง่ายอย่างที่เรากล่าวมาข้างต้น คนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎทองคำจึงกล่าวหาคนที่ยึดถือในกฎทองนั้นเป็นพวกเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราอาจจะมีความจำเพาะ ประวัติศาสตร์ บริบทความคิดความเชื่อ ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่มันเป็นความแตกต่างกันในเชิงปริมาณหรือรายละเอียด หาใช่แตกต่างกันในเชิงประเภทหรือคุณภาพ คือคงไม่ใช่แตกต่างกันคนละขั้วไปเลย

ผู้เขียนยังเชื่อว่ามนุษย์เราไม่แตกต่างกันในแบบหลังนี้ หากเมื่อเราส่งความรัก ความปรารถนาดีให้กัน ต่อให้แตกต่างกันขนาดไหน เราก็น่าจะรับรู้ความปรารถนาดีนั้นได้

ในทำนองกลับกันต่อให้เราเหมือนกันขนาดไหน แต่ทว่าเรามีความประสงค์ร้ายหรือเจตนาไม่ดีเสียแล้ว การกระทำหรือพฤติกรรมใดแม้ว่าจะถูกห่อหุ้มด้วยทองคำส่องแสงสุกปลั่งขนาดไหน มนุษย์เราก็ย่อมรับรู้ได้อยู่ดีว่านั่นเป็นก้อนหินสกปรกที่ไร้ค่า ขว้างกลับไปยังที่เดิม ยังไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่จะอยากรับก้อนหินก้อนนี้



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

เมื่อ AI รับตำแหน่ง CEO!
ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา จากแว่นของสหรัฐอเมริกาและจีน
เจาะโครงการ ‘น้ำ-คมนาคม’ ของบประมาณ 1.57 แสนล้าน เร่งปั๊ม ศก.-รักษาฐานเสียง รบ.
ชายแดนใต้ ‘เทศกาลอีดิ้ลอัฎฮา’ ระเบิด เชือดสัตว์พลีทาน และฟุตบอล
ลูกหลานเราจะเติบโตอย่างไร ถ้าเราดูแลครูของเราไม่ดี
MatiTalk ‘เสธ.หิ’ หิมาลัย ผิวพรรณ เปิดใจจุดพลิกผันในชีวิต จากทหารสู่เวทีการเมือง มองอนาคตพรรค ‘รทสช.’
‘ถกเขมรเถียงสยาม’ บทสนทนาสร้าง ‘สติ-ปัญญา’ ในภาวะขัดแย้ง ‘ไทย-กัมพูชา’
‘ครู นักเรียน และ AI’ แค่ไหนเรียกว่าโกง
ดาวกับดวง วันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2568 โดยพิมพ์พรร
“พีระพันธุ์” เรียกประชุมด่วน หลังอิหร่านเตรียมปิดช่องแคบฮอร์มุซเตรียมมาตรการรองรับทั้งด้านราคาและปริมาณสำรองหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น
พล.ท.ภราดร ชี้ครบ93ปีประชาธิปไตยไทย เดินสายพูดคุยปชช. พบสาเหตุที่ ปชต.อ่อนแอ
อดีต รมว.คลังชี้ช่วงนี้​ จะให้ศก.​เติบโต​สูงขึ้น ต้องปรับค่าเงินบาทลดลง​ ให้แข่งขันได้​ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือทางนโยบายของรัฐบาล​ ไม่ควรปล่อยให้ขึ้นๆลงๆ​ ตามนักเก็งกำไร