

มีทั้งความอาลัยและยินดี ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้
อาลัย คงเป็นการอาลัยต่อการลาจากของ “จอน อึ๊งภากรณ์”
ซึ่ง “ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี” แห่งคอลัมน์ “ฝนไม่ถึงดิน” พาเรารำลึกถึงจอน อึ๊งภากรณ์
ในฐานะผู้สู้เพื่อรัฐสวัสดิการไทย
ดั่งเสียงของอาจารย์จอน ที่ก้องในใจของอาจารย์ษัษฐรัมย์ตลอดมา
“หากมีมนุษย์ต่างดาวมาอยู่ที่โลกมนุษย์ สิ่งที่พวกเขาจะแปลกใจที่สุดก็คือความเหลื่อมล้ำ”
และความเหลื่อมล้ำหนึ่งที่อาจารย์จอนบันทึกไว้ในสังคมไทย
นั่นคือภาพยนตร์สารคดี “การต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า” (Hara Factory Workers Struggle)
ทำไมอาจารย์จอนถึงเป็นนักทำหนัง
คอลัมน์ “ยิ้มเยาะเล่นหวัว เต้นยั่วเหมือนฝัน” ของ “คนมองหนัง” มีคำตอบ
และคำตอบนั้นถือเป็นการอาลัย “จอน อึ๊งภากรณ์” ที่สมควรต้องอ่าน
จากการอาลัย ไปสู่ความยินดี
ยินดีที่ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ แห่งคอลัมน์ “ตุลวิภาคพจนกิจ”
ไปรับรางวัล “ศรีบูรพา” เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา
ในวันดังกล่าว อาจารย์ธเนศได้กล่าวคำตอบรับเกียรติที่ได้รับนั้น
และนำคำตอบรับมาเผยแพร่ เพื่อผู้อ่านมติชนสุดสัปดาห์ ในคอลัมน์ “ตุลวิภาคพจนกิจ” ฉบับนี้ด้วย
โดยยกบทบาทสำคัญของศรีบูรพา หรือกุหลาบ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ขึ้นมาแสดง
หนึ่งในนั้นคือ คุณูปการต่อการสร้างความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย
“กุหลาบ สายประดิษฐ์…เป็นนักคิดนักเขียนที่ก้าวหน้ากว่าระบบการเมืองที่รองรับอยู่
เขาจึงเป็นนักคิดประชาธิปไตยก่อนนักการเมืองและชนชั้นปกครอง
ถ้าเช่นนั้นอะไรคือจิตใจแบบประชาธิปไตย
ตัวอย่างที่หาได้จากกุหลาบ สายประดิษฐ์
คือจิตใจที่คิดถึงคนอื่นนั่นเอง
การคิดถึงผู้อื่นอย่างที่เขามีศักดิ์ศรี มีความเป็นมนุษย์ ต้องการความเป็นธรรม และความเจริญก้าวหน้า…”
ขณะที่อาจารย์ธเนศ ยกย่อง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะนักประชาธิปไตย
พลิกไปที่หน้า 34-35
จะพบกับข้อเขียนของ “ธงชัย วินิจจะกูล” เรื่อง “ชาญวิทย์ ศาสตราจารย์พิเศษ (และไม่พิเศษ)”
แน่นอน ย่อมมิใช่ “ชาญวิทย์” ไหน
หากแต่คือ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่เพิ่งจะฉลองอายุครบ 84 ปีเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
“…ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นคนธรรมดา
มีจุดอ่อนข้อเสียเป็นปกติ
ทำผิดพลาดมามากมายไม่ต่างอะไรกับเราท่านทุกคน
แต่ผมมั่นใจว่าคนไทยจำนวนมากรู้จักชื่อของเขามากพอสมควร
และมีคนที่รักชอบเคารพนับถือเขามากกว่าคนที่ไม่ชอบ
ทำไม?”

จอน อึ๊งภากรณ์
แน่นอน หนึ่ง ในคำตอบ ทำไม? ที่ธงชัย วินิจจะกูล ยกเป็นตัวอย่าง
นั่นคือบทบาทของอาจารย์ชาญวิทย์ ที่บ่มเพาะคนหลายรุ่น
และหลายรุ่นนั้น มิใช่หมายถึงแค่นักวิชาการที่มีบทบาททางสังคมเท่านั้น
แต่รวมถึงปัญญาชนนอกวงวิชาการ สื่อมวลชนทุกประเภท กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมทั้งหลาย ศิลปิน นักโฆษณา ฯลฯ
“…มีสักกี่คนที่บ่มเพาะศิษย์ที่มีบทบาทสำคัญในวงการนั้นๆ หลายคนหลายรุ่น
และยิ่งมีจำนวนน้อยลงไปอีก
ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ศิษย์มีความคิดเสรีนิยมสนับสนุนประชาธิปไตย
ชาญวิทย์ทำได้อย่างไรกัน?…”
แน่นอน เราย่อมได้คำตอบ
หลังจากอ่านบทความของ “ธงชัย วินิจจะกูล”
เช่นเดียวกับหลังจากได้เห็นความเป็นนักประชาธิปไตยของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หลังจากอ่านข้อเขียนของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
รวมถึงบทความของ “ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี” และ “คนมองหนัง”
ที่อาลัยต่อการจากไปของจอน อึ๊งภากรณ์
จอน อึ๊งภากรณ์ ที่แจ่มชัดในการต่อสู้เพื่อคนที่ด้อยโอกาส และสู้เพื่อประชาธิปไตยในแนวทางที่ตนเองเชื่อมาโดยตลอด •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022