เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)

จดหมาย | ประจำวันที่ 16-22 พฤษภาคม 2568 

 

 

• “ศรีบูรพา” และ “ยังศรีบูรพา”

ไปงานของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เมื่อ 5 พฤษภาคม 2568

ได้รับวารสารปากไก่ (ราคา 150 บาท) และหนังสือจำชื่อไม่ได้ เกี่ยวกับรางวัลศรีบูรพา

ใครไม่มีควรหามาไว้ในครอบครองนะ

เห็น “ลาว คำหอม” นั่งรถวีลแชร์ มีลูกสาวเข็นมา อายุกว่า 90 ปี มารับรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ

ชื่นใจ เพราะไม่ได้ข่าวมานานแล้ว ดูหน้าตาสดใส

เห็นแล้วอยากเสนอว่าสมาคมน่าจะมีกองทุนอะไรที่ช่วยสมาชิก/นักเขียนอาวุโส ให้ดีกว่าที่เป็นปัจจุบัน

คอลัมนิสต์ของมติชนสุดสัปดาห์ อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ได้รับรางวัลศรีบูรพา เช่นกัน ควงคู่มากับศรีภริยา ท่านเป็นรุ่นพี่ธรรมศาสตร์

อีกท่านที่ได้รับรางวัล คือ บัญชา อ่อนดี

งานดี อาหารดี อร่อย สนุก แม้ว่าผู้มาร่วมงานจะเสียงดัง เพราะอยากคุยกันมากกว่า

สัญญาว่าจะไปอีกปีหน้า

มิตรวรรณกรรม/มิตรน้ำหนึก

 

มติชนสุดสัปดาห์ ขอร่วมแสดงความยินดีย้อนหลังกับผู้ได้รับรางวัลทุกท่าน

1) นายคำสิงห์ ศรีนอก หรือ “ลาว คำหอม” ได้รับ “รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ”

2) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ได้รับ “รางวัลศรีบูรพา” ประจำปี 2568 เป็นคนที่ 35

3) นายบัญชา อ่อนดี ได้รับ “รางวัลรพีพร”

“รางวัลศรีบูรพา” ก่อตั้งขึ้นโดยนายสุวัฒน์ วรดิลก หรือ “รพีพร” เมื่อปี 2531

เพื่อรำลึกและเผยแพร่เกียรติประวัติของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ – “ศรีบูรพา” (พ.ศ.2448-2517) นักประชาธิปไตย นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทยและของโลก

โดยรางวัลนี้มอบให้กับศิลปิน นักคิด นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ ผู้มีผลงานอันทรงคุณค่า

มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตที่ดีงาม และแบบฉบับการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคม

ส่วน “รางวัลรพีพร” เป็นรางวัลที่ สุวัฒน์ วรดิลก หรือ รพีพร เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นเช่นกัน

เพื่อสนับสนุนนักเขียนที่มีชีวิตที่เข้มข้น ต้องต่อสู้กับการใช้ชีวิต

จึงมอบรางวัลนี้เป็นกำลังใจและมีความพร้อมที่จะทำงานต่อไป

และในวาระครบรอบชาตกาล 120 ปี ศรีบูรพา

คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา แจ้งว่าจะมีการประกวดวรรณกรรมรางวัล “ยังศรีบูรพา” (Young Sriburapha) ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 ขึ้น

เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมในแนวทางเดียวกับ “ศรีบูรพา”

โดยปีแรกนี้จะเป็นการประกวดเรื่องสั้น ความยาวประมาณ 6-8 หน้า

เขียนตามแนวคิดของศรีบูรพาที่ว่า

“ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น”

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook กองทุนศรีบูรพา

เปิดรับผลงานถึง 31 กรกฎาคม 2568

มีรางวัลทั้งหมด 8 รางวัล คือ

รางวัลชนะเลิศ มี 1 รางวัล เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัล

รางวัลรองชนะเลิศ มี 2 รางวัล เงินรางวัลละ 7,500 บาท พร้อมโล่รางวัล

รางวัลชมเชยมี 5 รางวัล เงินรางวัลละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร

ประกาศผลการตัดสินและรับรางวัล ในเดือนตุลาคม 2568

สนใจเชิญ!!

 

จากซ้ายไปขวา – ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, นายคำสิงห์ ศรีนอก หรือ “ลาว คำหอม” และนายบัญชา อ่อนดี

 

• “เหล็ก”

ขอสนับสนุนแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรม

ในการยกเลิกการใช้เตาอินดักชั่น (Induction Furnace – IF) สำหรับการผลิตเหล็กในประเทศไทย

เนื่องจากเตา IF มีข้อจำกัดสำคัญในการควบคุมคุณภาพของเหล็กให้ได้มาตรฐานตลอดชิ้นงาน

ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในโครงสร้างอาคาร

โดยเฉพาะในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุไม่คาดฝัน

ในอดีต มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของประเทศไทยกำหนดให้การผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างสามารถใช้ได้เฉพาะกระบวนการถลุงเหล็กหรือเตาหลอมไฟฟ้า (Electric Arc Furnace – EAF) เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 มีการปรับมาตรฐานให้สามารถใช้เตา IF ได้

ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศจีนมีนโยบายปิดโรงงาน IF เพื่อควบคุมมลภาวะจากวัตถุดิบคุณภาพต่ำ

ทำให้โรงงานจำนวนหนึ่งย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนบางประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

แม้เตา IF จะเหมาะสมกับการผลิตเหล็กชนิดพิเศษ เช่น เหล็กหล่อ หรือสเตนเลส ซึ่งต้องการการควบคุมทางเคมีอย่างแม่นยำ

แต่เมื่อนำมาใช้กับการผลิตเหล็กก่อสร้างที่ใช้เศษเหล็กทั่วไปเป็นวัตถุดิบ

เตา IF ไม่สามารถกำจัดสารเจือปนในระดับที่ปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับเตา EAF

ซึ่งอาจส่งผลให้เหล็กที่ได้มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ และไม่สามารถรับแรงได้ตามที่ออกแบบไว้

ล่าสุดในการประชุมสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม ซึ่งมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธาน

ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นดังกล่าวอย่างเข้มข้น

และเน้นย้ำว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย

ต้องมุ่งสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง แข็งแรง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณเหล็กที่ใช้ และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในระยะยาว

ความมั่นใจในคุณภาพของเหล็กจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน

ทั้งนี้ กระบวนการผลิตที่ใช้เตา EAF มีศักยภาพในการควบคุมสารปนเปื้อนได้ดีกว่า

โดยสามารถปรับคุณภาพของน้ำเหล็กให้เหมาะสมกับการผลิตเหล็กเส้นที่มีความแข็งแรงและทนทาน เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย

ผู้ผลิตเหล็กที่ใช้เทคโนโลยี EAF มีจำนวนและกำลังการผลิตเกินพอรองรับความต้องการของตลาดในประเทศไทย อีกทั้งการผลิตเหล็กยังครอบคลุมหลากหลายประเภท ไม่จำกัดเฉพาะเหล็กเส้น

ดังนั้น การยกเลิกเตา IF จะไม่ส่งผลให้สินค้าเหล็กขาดแคลนสินค้าเหล็กอย่างใด

นายวิกรม วัชระคุปต์

กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

 

การรื้อซากปรักหักพังของตึก สตง.

เพิ่งเสร็จสิ้นไป

แต่ที่ยังไม่เสร็จสิ้น

คือ เหตุผลที่ตึกพังถล่มลงมา

ประเด็น “คุณภาพเหล็ก”

คือสิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุด

ข้อเสนอยกเลิกการใช้ “เตา IF”

เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาและควรร่วมกันเอาใจใส่อย่างจริงจัง

เพราะกระทบกับคนไทยในวงกว้าง

และไม่ควรปล่อยให้เกิดกรณี สตง.ถล่ม

ด้วยสาเหตุเหล็กด้อยคุณภาพ? (ซึ่งต้องพิสูจน์)

ซ้ำขึ้นมาอีก!! •

 

 

 



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

พระพิมพ์กลีบบัว เนื้อดินเผา วัตถุมงคลเก่าแก่ของวัดลิงขบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เสก
ร้อนสุดขั้ว ‘สะท้านโลก’
อสังหาฯ ปรับแผนเปลี่ยนกลยุทธตลาด
‘โจบ’ บนเส้นทางเดียวกับ ‘จู๊ด’ แต่อยากยิ่งใหญ่ในแบบของตัวเอง
ชัยชนะของ AIS-GULF-JAS คนไทยเฮพร้อมดูบอลไทยลีกฟรี!
ยำรวมมิตร (กินกับข้าวต้ม)
เจาะลึกสถานการณ์ค่าย ‘NETA’ กับอนาคตตลาดรถ EV เมืองไทย
ดาวกับดวงวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2568
จดหมาย
กลาก สังคัง ฮ่องกงฟุต มะเขือขื่นตอบโจทย์ได้
เดินตามดาว | ศรินทิรา
ขอแสดงความนับถือ