เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

อินเดีย-ปากีสถาน กับสงครามนิวเคลียร์

19.05.2025

บทความต่างประเทศ

 

อินเดีย-ปากีสถาน

กับสงครามนิวเคลียร์

 

โลกจะให้ความสนใจต่อสงคราม “ย่อม-ย่อม” ระหว่างอินเดียกับปากีสถานเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาน้อยกว่านี้ หากปราศจากข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งอินเดียและปากีสถาน ต่างเป็นชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง

ความสูญเสียจากศึกแคชเมียร์ครั้งล่าสุดนี้ ไม่ได้ลุกลามขยายวงไปถึงขั้นนั้น แต่ก็กลายเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกได้เป็นอย่างดีว่า จริงๆ แล้ว สงครามนิวเคลียร์นั้น อาจเกิดเป็นจริงขึ้นได้โดยง่ายดายเพียงใด

การลุกลามบานปลายของเหตุปะทะกันครั้งนี้ ถูกระงับยับยั้งโดยการเข้าแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา นำไปสู่การประกาศหยุดยิงกันขึ้นเมื่อ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางอาการอกสั่นขวัญแขวนของนานาประเทศว่าอาจนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบระหว่างคู่กรณีทั้งสอง

แต่ก่อนที่จะหยุดยิง ทางการปากีสถานนอกจากจะประกาศการตอบโต้ทางการทหารโดยปกติแล้ว ยังประกาศเรียกประชุมสำนักงานบัญชาการแห่งชาติ (เอ็นซีเอ National Command Authority-NCA) ที่ทำหน้าที่ควบคุมและตัดสินใจในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในคลังแสงของตน

ไม่ว่าการเรียกประชุมดังกล่าวนี้จะเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์ เชิงยุทธศาสตร์ หรือเป็นไปเพื่อดำเนินการจริงก็ตามที

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงสะท้อนว่า สงครามนิวเคลียร์อาจเกิดขึ้นได้ง่ายมากเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมายังแสดงให้เห็นว่า โลกหลีกเลี่ยงหายนภัยศึกนิวเคลียร์ได้อีกครั้งอย่างหวุดหวิด จวนเจียนเต็มที

เพราะเพียงไม่นานถัดมา นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ก็ออกมาประกาศอย่างเต็มปากเต็มคำว่า อินเดียจะไม่อดทนกับ “การใช้นิวเคลียร์มาแบล็กเมล์”

และใครก็ตามที่ใช้เรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างข่มขู่ “จะถูกโจมตีตอบโต้อย่างแหลมคมและเด็ดขาด”

 

จากข้อมูลที่องค์กรวิชาการอิสระอย่าง “สถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ สตอกโฮล์ม” เก็บรวบรวมเอาไว้และเผยแพร่ออกมาหลังสุดเมื่อ 24 มกราคม 2024 โลกเรามีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ประมาณ 12,121 หัวรบ

ส่วนใหญ่ คือ 9,585 หัวรบ เป็นหัวรบที่จัดเก็บอยู่ในคลังสรรพาวุธทางทหาร อีก 3,904 หัวรบ คือส่วนที่ติดตั้งอยู่ในจุดประจำการทางทหารพร้อมใช้งาน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจาก 1 ปีก่อนหน้านั้นถึง 60 หัวรบ

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ จากจำนวนทั้งหมดทั่วโลกเหล่านั้น มีที่ประจำการอยู่ในอินเดียและปากีสถานอยู่ประมาณชาติละ 170 หัวรบด้วยกัน แถม คริสโตเฟอร์ แคลรี ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการทหารของมหาวิทยาลัย แอลแบยี ในสหรัฐอเมริกาบอกด้วยว่า ทั้งอินเดียและปากีสถาน ต่างก็มีขีดความสามารถในการยิงหัวรบนิวเคลียร์ทั้งจากบนบก, ทางอากาศ และจากทางน้ำ เหมือนๆ กันด้วยอีกต่างหาก

แคลรีระบุว่า อินเดียอาจมีศักยภาพในการโจมตีด้วยนิวเคลียร์จากทางอากาศและทางน้ำ เหนือกว่าปากีสถาน

ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นเพราะนโยบายหรือหลักการนิวเคลียร์ (nuclear doctrine) ของทั้งสองประเทศแตกต่างกัน

หลังการทดลองนิวเคลียร์ครั้งล่าสุดในปี 1998 อินเดียประกาศใช้หลักการ “ไม่เป็นผู้เริ่มใช้อาวุธนิวเคลียร์” อย่างเป็นทางการ

ก่อนจะลดหย่อนลงมาในปี 2003 ด้วยการสงวนสิทธิ์ที่จะใช้นิวเคลียร์ตอบโต้การโจมตีด้วยอาวุธเคมี หรืออาวุธชีวภาพ

ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดทางให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการโจมตีก่อนโดยมีเงื่อนไขนั่นเอง

ในปี 2016 ทุกอย่างดูคลุมเครือมากยิ่งขึ้น เมื่อ มโนหาร ปาร์ริการ รัฐมนตรีกลาโหม แสดงความเห็นว่า อินเดียไม่ควรถูกผูกมัดด้วยนโยบายที่ว่านี้ แม้จะอธิบายเสริมในเวลาต่อมาว่าเป็นความเห็นส่วนตัวก็ตาม

 

ปากีสถานกลับตรงกันข้าม ไม่เคยประกาศหลักการนิวเคลียร์ของตนเองออกมาอย่างเป็นทางการ

เพียงมีการพูดพาดพิงถึงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงเท่านั้น อาทิ คาหลิด คิดะวาอี หัวหน้าแผนกแผนยุทธศาสตร์ประจำสำนักงานนิวเคลียร์แห่งชาติ ที่ระบุเมื่อปี 2001 ว่า ปาถีสถานจะใช้นิวเคลียร์ก็ต่อเมื่อเกิดการสูญเสียดินแดน, ถูกบีบคั้นทางด้านเศรษฐกิจ และถูกบีบคั้นทางการเมือง

ต่อมาในปี 2002 เพอร์เวซ มูชาร์ราฟ ประธานาธิบดีปากีสถานในเวลานั้น ออกมายืนยันชัดแจ้งว่า อาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถาน “พุ่งเป้าไปที่อินเดียเท่านั้น”

และจะใช้ก็ต่อเมื่อ “ความเป็นรัฐชาติ” ของปากีสถานตกเป็นเดิมพันเท่านั้น

 

ว่ากันว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายร่ำๆ จะเปิดศึกนิวเคลียร์กันขึ้นมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งหรือสองครั้ง

ไมค์ ปอมเปโอ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยไว้ในบันทึกความทรงจำของตัวเองว่า คืนหนึ่งเมื่อปี 2019 ระหว่างการเผชิญหน้าของสองประเทศ ตนถูกปลุกด้วยโทรศัพท์จากอินเดีย แจ้งให้ทราบถึงความกังวลว่า ปากีสถานกำลังเตรียมการใช้อาวุธนิวเคลียร์

อีกครั้ง ระหว่างเกิดสงครามอินเดีย-ปากีสถานเมื่อปี 1999 ที่เรียกว่า สงครามคาร์กิล ชัมชาด อาเหม็ด รัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถานในเวลานั้น แถลงเตือนว่า ปากีสถานจะ “ไม่ลังเลที่จะใช้อาวุธชนิดหนึ่งชนิดใด” ในการปกป้องดินแดนของตนเอง

อีกหลายปีต่อมา บรูซ รีดเดล เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐอเมริกา ออกมาเปิดเผยว่า มีข่าวกรองในช่วงเวลานั้นที่แสดงว่าปากีสถานกำลังเตรียมการนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าประจำการเพื่อใช้งาน

กระนั้น ทั้งสองกรณีนี้มีผู้เชี่ยวชาญออกมาปฏิเสธกันอยู่บ่อยครั้ง โดยเชื่อว่า ไมค์ ปอมเปโอ น่าจะขยายบทบาทของฝ่ายอเมริกันเกินจริงไปมาก หรือในกรณีของสงครามคาร์กิล ปากีสถานเองก็ตระหนักดีว่า ไม่มีการล้ำแดนเข้ามาจากทางฝ่ายอินเดีย

ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว ชนวนเหตุที่จะก่อศึกนิวเคลียร์ระหว่างสองประเทศนี้มีน้อยมาก และยังเสี่ยงสูงมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอันตรายจากภาวะหลังการระเบิดของนิวเคลียร์ ที่เรียกว่า นิวเคลียร์ แฮงก์โอเวอร์ ซึ่งจะก่ออันตรายต่อทั้งสองประเทศที่ตั้งอยู่ติดกัน

ดังนั้น นิวเคลียร์ของปากีสถานและอินเดีย จึงเป็นเรื่องของการ “ป้องปราม” มากกว่าอย่างอื่น

 

ทว่า นั่นไม่ได้หมายความว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดศึกนิวเคลียร์ในเอเชียใต้จะหมดไปโดยสิ้นเชิง

เพราะนิวเคลียร์อาจเกิดขึ้นได้แม้แต่จากอุบัติเหตุ

ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนมีนาคม 2022 ที่อินเดียบังเอิญยิงขีปนาวุธที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ ข้ามแดนไปยังปากีสถานถึง 124 กิโลเมตร ก่อนตกลงทำความเสียหายให้เกิดขึ้นกับทรัพย์สินพลเรือนด้วยอีกต่างหาก

โชคดีที่ในเวลานั้นความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศอยู่ในระดับดี และไม่มีเหตุลุกลามบานปลายใดๆ เกิดขึ้น หลายเดือนต่อมา นายทหารอากาศอินเดีย 3 นาย ถูกไล่ออกจากราชการเพราะเหตุนี้

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมในทุกๆ ที่ที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ จึงเต็มไปด้วยอันตรายอยู่เสมอมา



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568