

บทความในประเทศ
Failed Politics
น้ำเงิน-ส้ม-แดง ระส่ำ
คําว่า Failed State ถูกใช้เป็นครั้งแรกๆ ในการวิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ที่รับมือวิกฤตโควิด
หลังจากนั้นเป็นต้นมา คำนี้ก็ติดหูคนไทย ไว้ใช้วิจารณ์ผู้มีอำนาจบริหารประเทศ เมื่อรู้สึกว่าภาพรวมของประเทศดูตีบตัน หมดหวังการบริการสาธารณะ และผู้บริหารประเทศ
แล้วคำนี้ก็ถูกนำมาใช้อีกครั้งช่วงเดือนที่ผ่านมา จนเป็นที่ถกเถียงอย่างหนัก ตั้งแต่ความผิดถูกเชิงทฤษฎี ความเหมาะสม ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจกว่านิยามความถูกต้องตามทฤษฎีก็คือ “ความรู้สึกถึงปัญหาเบื้องหลัง” อันเป็นที่มาของ “การตั้งคำถาม” ที่ทำให้คำว่า Failed State มันแพร่กระจายต่างหาก
นั่นคือ คำถามมันเกิดขึ้นเพราะปัญหามันมีอยู่จริง และคนส่วนใหญ่ต้องประสบพบเจอถ้วนหน้าด้วยตัวเอง
1.ปัญหาเศรษฐกิจ ระดับย่อยคือชาวบ้านไม่มีเงินในกระเป๋า สถิติหนี้ครัวเรือนระดับสูงลิบ มาตรการแก้หนี้ก็แทบไม่ช่วย ปัญหาคนว่างงาน ตกงานแล้วหางานทำยาก
ระดับโครงสร้างคือรัฐบาลผลักดันนโยบายปฏิรูปภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจไม่ได้ นโยบายเรือธงทางเศรษฐกิจบ้างถูกบล็อก บ้างขาดทรัพยากรดำเนินการ เมื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ช้า คนไม่มีเงินในกระเป๋า ประเทศขาดเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ๆ สุดท้ายตามเทรนด์เศรษฐกิจโลกไม่ทัน
ซ้ำร้ายถูกซ้ำเติมด้วยสงครามการค้า ยิ่งทำเศรษฐกิจไทยที่อ่อนไหวอยู่แล้วเปราะบางเข้าไปอีก นโยบายแจกเงินหมื่นเกิดขึ้นอย่างกระท่อนกระแท่น ทำได้เพียงเติมเงินเข้ากระเป๋าคนบางส่วน ที่ผ่านมาสะท้อนแล้วว่า แทบไม่เกิดผลขยับระดับมหภาคแต่อย่างใด
2. ปัญหาสังคม ลามมาจากปัญหาเศรษฐกิจส่งผลต่อเนื่องกัน เมื่อคนไม่มีเงิน ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ก็ยิ่งส่งผลจิตวิทยาเป็นปัจจัยสำคัญให้คนก่ออาชญากรรม เจ้าหน้าที่เข้มงวดแค่ไหนก็เอาไม่อยู่ ยิ่งอยู่ในรัฐราชการที่ปรับตัวช้า
ปัญหาทุนสีเทาครอบประเทศ สารพัดขบวนการหลอกลวง ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ปัญหาชายแดนใต้ก็ระอุ (ทำได้เพียงมอบนโยบายราชการไปนำแก้ปัญหาแบบเดิม)
3. ปัญหาการเมือง จากมรดกโครงสร้างการเมืองที่ออกแบบโดยรัฐบาลรัฐประหารกลายเป็นกติกาหลักครอบงำสังคมชนิดไม่สามารถรื้อถอนได้
แม้รัฐบาลพลเรือนเต็มขั้นเข้ามามีอำนาจ 2 ปีก็ยังแตะต้องไม่ได้ (ซ้ำยังถูกเล่นงานจนต้องเปลี่ยนผู้นำมาแล้วหนหนึ่ง)
ผลพวงรัฐธรรมนูญ เห็นชัดว่าวันนี้เป็นต้นเหตุก่อให้เกิดวิกฤตการเมือง แถมยังไม่สามารถเดินหน้าแก้ไขได้ เอาแค่กฎหมายประชามติวันนี้ก็ยังไม่คืบไปไหน (จึงไม่จำเป็นต้องพูดถึงกฎหมายก้าวหน้าอื่นๆ)
ด้านพรรคการเมืองไทยวันนี้จึงอ่อนแอหนัก ผลจากกติกาการเมืองที่ออกแบบระบบกลไกการเมืองทั่วไปอยู่ใน “สถานะเปราะบาง”
ฝ่ายบริหารเกิดรัฐบาลผสม ต้องแชร์อำนาจ อำนาจการตัดสินใจไม่เด็ดขาด เกิดการต่อรองสูง สุดท้ายก็ต้องเล่นเกมการเมือง ต่างฝ่ายต่างถือมีดไว้ข้างหลัง
มีโอกาสก็พร้อมใช้อาวุธสาดใส่กันไปมา โดยใช้เครื่องมือที่ออกแบบมรดกสมัยรัฐประหาร ไม่มีใครคิดแก้ไข ตัวใครตัวมัน
ฝ่ายค้านก็อ่อนแอ เจอนิติสงครามเล่นงาน อนาคตแขวนบนเส้นด้าย จะเดินหน้าการเมืองก็ดูนับวันเหมือนจะอ่อนแอไร้พลัง
เจาะไปที่ระดับพรรคการเมือง “ความระส่ำ” ของเพื่อไทย แม้จะเป็นแกนนำรัฐบาล ครองเก้าอี้นายกฯ เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว แต่เห็นชัดว่าใช้อำนาจได้เพียงน้อยนิด
โครงสร้างอำนาจบริหารติดหล่ม เจอสถานการณ์แทงข้างหลัง (และแทงตรงๆ) จากฝ่ายร่วมรัฐบาลด้วยกันเองไม่เว้นแต่ละวัน
วันนี้เห็นตรงกันแล้วว่าขั้วสีน้ำเงินมีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงมากกว่าขั้วสีแดง เมื่อใดที่ขั้วสีแดงมีข้อเสนอการเมืองใด หากขั้วสีน้ำเงินไม่เอาด้วย ท้ายที่สุดสีแดงต้องใส่เกียร์ถอย
ทั้งๆ ที่ถือไพ่อนุรักษนิยมอยู่ในมือ เพื่อไทยยังถูกนิติสงครามเล่นงาน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าหากวันใดเพื่อไทยใช้ประโยชน์ได้น้อยลง ก็เสี่ยงจะถูกรุกคืบ (กระทั่งรุกฆาต) ในทางการเมืองได้
วันนี้ได้เห็นแล้วว่าขบวนการอนุรักษนิยม-ไล่ทักษิณ กล้าปรากฏตัวมากขึ้น กลับมาทำกิจกรรม กระทั่งลงถนนแล้วในกรณีต้านกาสิโน
นายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะจิตวิญญาณแห่งเพื่อไทยวันนี้ก็ “ระส่ำ” นอกจากถูกฝ่ายขวาถล่ม จะไปต่างประเทศหวังจะคุยเจรจาเพื่อส่วนรวมแท้ๆ ยังไปไม่ได้
วันนี้ยังเจอมรสุมลูกใหญ่ กรณีชั้น 14 ถาโถมเข้าใส่อย่างหนัก ยิ่งเดินเกมชนแพทยสภายิ่งมีแต่เสีย (แต่ก็จำเป็นต้องสู้เพราะถูกต้อนให้จนมุมแล้ว) หากอนาคตผลการพิจารณาเป็นไปในทางลบ แน่นอนย่อมส่งผล “อย่างหนัก” ต่อการเมืองในพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เองก็อยู่ในสถานการณ์ไม่ดี อำนาจที่มีจริงๆ ในมือไม่ได้เอื้อให้ทำอะไรได้มาก ต่อให้มีเจตนาดีก็ผลักดันอะไรได้ยาก แถมยังเจอไฟแค้นจากคู่อริการเมืองเก่าของพ่อจ้องเล่นงาน
การเมืองเรื่องมุ้งในพรรคเพื่อไทยยิ่งปวดหัว หากมุ้งก๊กก็เริ่มมีปัญหากันเอง ชวนให้คิดว่าหากวันใดนายทักษิณอ่อนพลัง หรือถูกเล่นงาน เพื่อไทยจะตรึงสารพัดบ้านใหญ่ไว้ได้มากแค่ไหน เลือกตั้งครั้งหน้าบ้านใหญ่จะใส่เสื้อแดงอยู่หรือ?
เป็นอันว่า 2 ปีของรัฐบาลเพื่อไทยก็ยังกู้ศรัทธาการเมืองกลับมาไม่ได้ ในด้านผลงานก็ไม่เห็นเป็นรูปธรรม
สารพัดเรือธงกลับลอยหายเงียบไปเฉยๆ บ้างก็ล่ม บ้างก็ยังไร้อนาคต
ส่วนความระส่ำของ “สีน้ำเงิน” วันนี้ก็เจอสงครามการเมืองสู้กลับอย่างหนักจากเพื่อไทย
ในระดับท้องถิ่น เจอสัญญาณทวงคืนเก้าอี้จากขั้วสีแดงจนแพ้ไปหลายที่ ในระดับประเทศ ส.ว.สีน้ำเงิน เครื่องมือทางการเมืองสำคัญก็ “ถูกรุกคืบอย่างหนัก” จากดีเอสไอ
แม้จะพยายามใช้กลไกมหาดไทยป้องกัน แต่ก็ปฏิเสธกฎหมายของดีเอสไอไม่ได้ ต่อให้มีข่าวดีกรณี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ถูกสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ด้านที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากระบวนการเอาผิด ส.ว.สีน้ำเงินยุติ
ไม่นับกรณีเขากระโดง กรณีรีสอร์ตเขาใหญ่ที่ก็ยังเป็นชนักติดหลังที่ค่ายสีแดงเอามาขึงไว้ข่มขู่
ในมิติการเมือง แม้ขั้วสีน้ำเงินจะได้เปรียบเชิงอำนาจต่อรองในรัฐบาล แต่ในด้านผลงานการเมือง นโยบายต่างๆ ยังไม่ปังเท่าที่ควร
เทียบผลงานสีน้ำเงินช่วงอยู่กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังจับต้อง เอาไปหาเสียงได้มากกว่า
ถามว่าสำคัญอย่างไร คำตอบคือสำคัญต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า เมื่อไม่มีผลงานไปหาเสียง งานหนักก็จะไปตกอยู่กับผู้สมัครรายเขต
สถานการณ์สีน้ำเงิน โดยพรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล วันนี้ก็ยังเปราะบาง แม้จะยังมีอำนาจต่อรองมากก็ตาม
ขณะที่ “ความระส่ำ” ขั้วสีส้ม ภายใต้การนำของณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ วันนี้ชัดเจนว่ายังคงพ่ายแพ้สนามเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ได้เก้าอี้เทศบาลระดับนครเลยสักแห่ง (แม้มีพัฒนาการดีขึ้น แต่ยังน้อยไป) ยิ่งแพ้ต่อเนื่องติดต่อกัน ก็ถูกพูดถึงในด้านลบไปด้วย
ยิ่งมาพลาดเรื่องซ้ำๆ กรณีผู้สมัครขาดคุณสมบัติจนเป็นข่าวดัง ยิ่งสะท้อนการคัดเลือกนักการเมืองของพรรคส้มยังบกพร่อง
ล่าสุด ข่าวการถูกดูด ส.ส.ชลบุรี ยิ่งทำให้น่าเห็นใจชาวศรีราชาที่ต้องเจองูเห่าจากการเลือกพรรคส้มซ้ำถึง 2 ครั้ง จนบางคนสรุปไปแล้วว่าเลือกคนไหนก็เป็นงูเห่า?
ล้วนเป็นภาพด้านลบต่อคนในพื้นที่และคนในประเทศ
แม้รอบนี้หัวหน้าพรรคจะแก้สถานการณ์ได้ดี แต่ก็หนีไม่พ้นข้อสรุปเรื่องปัญหาในกระบวนการคัดสรรผู้สมัคร
ความระส่ำสุดท้ายของพรรคส้มจะเกิดขึ้นรุนแรงอีกรอบ จากกรณี 44 ส.ส.ยื่นแก้ไข ม.112 หากศาลตัดสินว่าผิด นี่จะเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองใหญ่อีกครั้ง
ทั้งหมดคือความอ่อนแอที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยผ่านตัวละครคือพรรคการเมือง 3 ขั้วหลัก
จะถอดสลักระเบิดด้วยการปรับ ครม.ก็เอาไม่อยู่ จะยุบสภา เพื่อไทยและภูมิใจไทยก็ยังไม่พร้อม ต้องจับมือฝ่าดงระเบิดไปด้วย พร้อมๆ ไปกับการเล่น “สงครามตัวแทนทางการเมือง” ใส่กันไปด้วย ต่อรองกันไปด้วย ค้านบ้างหนุนบ้าง ชุลมุน วนเวียนกันไป
การเมืองติดกับดัก เศรษฐกิจติดหล่ม สังคมและอนาคตประเทศตกอยู่ในหลุมลึก ไม่รู้จะปีนขึ้นมายังไง
วันนี้ต้องยอมรับว่า ระบบการเมืองไทยเราล้มเหลวแล้ว พลังการเมืองต่างๆ ก็ล้มเหลวที่จะทำหน้าที่ที่พึงกระทำ
รัฐล้มเหลว เป็น Failed State หรือเปล่าไม่รู้
แต่ที่แน่ๆ เราอยู่ในภาวะ Failed Politics กันแล้ว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022