

ชวนคุยเรื่องพืชตระกูลถั่ว ที่หลงลืม?
ถั่วซะแดด เป็นชื่อที่เรียกกันในภาคอีสาน ภาคกลางเรียก ถั่วลาย และในจังหวัดปราจีนบุรีเรียกคล้ายภาคอีสานว่า ถั่วสะแดด ฝรั่งตั้งชื่อสามัญภาษาอังกฤษเพราะๆ ว่า Butterfly pea และเรียกชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Centrosema pubescens Benth.
ถั่วซะแดด เป็นไม้เถา อายุหลายปี ลักษณะลำต้นเลื้อยพัน ลำต้นอ่อนไม่มีเนื้อไม้ สีเขียวเข้มแกมน้ำตาล มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงคลุมประปราย ใบประกอบแบบขนนก มี 3 ใบย่อย ใบย่อยรูปไข่ โคนใบแหลม ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบบางค่อนข้างเหนียว ใบสีเขียว ผิวใบทั้งสองด้านมีขนสั้นนุ่มคลุมประปราย หูใบ รูปขอบขนาน หรือคล้ายหนาม สีน้ำตาล
ช่อดอกแบบช่อกระจะออกที่ซอกใบ ดอกย่อยรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ กลีบกลางรูปไข่กว้าง ปลายกลีบมน กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปท้องเรือ
ผลแบบแห้งแตก เป็นฝักรูปขอบขนานแบน ยาว
ฝักดิบสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาล รอยคอดระหว่างข้อฝักไม่ชัดเจน
เมล็ดมีหลายเมล็ด รูปรี
เรารู้จักกันทั่วไปว่าถั่วหลายชนิด คือ แหล่งอาหารที่ดีของของมนุษย์ เมล็ดของถั่วซะแดดก็เช่นกันอุดมไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเส้นใย สามารถนำมาต้มใส่น้ำตาลกินเล่น หรือจะนำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู หรือจะต้มทำซุป ทำไส้ขนม หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ซอสถั่ว และถั่วเน่าก็ได้
เมื่อค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว รายงานว่าถั่วชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้แล้วมีการนำเข้าไปปลูกในแอฟริกา อินเดีย เมียนมา จีนตอนใต้ กัมพูชา มาเลเซียและอินโดนีเซีย ในประเทศต่างๆ เหล่านี้ก็นิยมปลูกถั่วซะแดดทำกินได้ทั้งอาหารคน และยังใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงด้วย
แต่ที่น่าแปลกใจในฐานข้อมูลระดับโลกของสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว ไม่ปรากฏว่ามีถั่วซะแดดอยู่ในประเทศไทย แต่มีรายงานข้อมูลในฐานของหอพรรณไม้ของประเทศไทย ในประโยชน์ทางยาสมุนไพรกล่าวไว้ว่า เมล็ดต้มกินช่วยกระตุ้นการขับถ่าย แก้อาการท้องผูก ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร รักษาระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคเบาหวาน ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยลดความอ้วน ช่วยให้ร่างกายสมส่วน เสริมสร้างการเติบโต และซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
ในบางประเทศของแอฟริกา เช่น ไนจีเรีย มีการใช้ถั่วซะแดดเป็นพืชสมุนไพรที่สำคัญชนิดหนึ่งนำมาใช้รักษาโรคเกี่ยวกับผิวหนัง และนำฝักถั่วซะแดดมาทำซุปผสมกับพริกให้ผู้หญิงหลังคลอดกินเพื่อช่วยดูแลมดลูก
ในประเทศลาวมีรายงานว่ามีการใช้สารสกัดของถั่วซะแดดเป็นยาแก้พิษที่ดี โดยเฉพาะแก้พิษแมลงกัด ที่น่าสนใจพบรายงานศึกษาวิจัยจากประเทศอังกฤษแสดงให้เห็นว่าน้ำที่สกัดได้จากเมล็ดของถั่วซะแดด ใช้แก้พิษจากการถูกแมงป่องและงูกัดได้เป็นอย่างดี สารสกัดนี้มีสารออกฤทธิ์ในการรักษาบาดแผล
และยังพบว่ายังมีประเทศต่างๆ หลายประเทศใช้ประโยชน์จากถั่วซะแดดอย่างแพร่หลาย และสารสกัดจากใบถั่วซะแดดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีด้วย
ในเมืองไทยยิ่งมีความน่าสนใจกับถั่วชนิดนี้อย่างยิ่ง สืบค้นในภูมิปัญญาอีสานมีการใช้ถั่วซะแดดในตำรับยาพื้นบ้านอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะยาแก้ไข้ มีการบันทึกไว้ในใบลานไม่น้อยกว่า 100 ตำรับ เช่น เมื่อจับไข้หนักจนไม่สามารถอ้าปากได้ เรียกว่า “ยาแก้คางเข้ากับ” ในตำรับยาให้เอา ฮากหมากแคว้ง ฮากผักหวาน เอาถ่านไฟแดง เข้าจ้าว ถั่วซะแดด ตำตองเอาน้ำให้กินสะน่อย สีไจตีนใจมือดีแล ถอดแปลเป็นภาษาไทยกลางได้ว่า “ให้เอารากมะเขือพวง รากผักหวาน ถ่านไฟที่ยังติดไฟอยู่ ข้าวเจ้า ถั่วซะแดด นำสมุนไพรทั้งหมดมาตำรวมกัน แล้วกรองเอาแต่น้ำมากินและนำมาทาที่ฝ่าเท้าและฝ่ามือ”
เมื่อเป็นไข้มีอาการคัดอก “ยาให้เอายอดกล้วยหอม บาท 1 เปลือกหมากเกลี้ยง บาท 1 เข้าจ้าว บาท 1 ถั่วซะแดด 1 บาท บดใส่น้ำให้กินแลฯ” ถอดแปลได้ว่า “ให้เอายอดกล้วยหอม 1 บาท เปลือกส้มโอ 1 บาท ข้าวเจ้า 1 บาท ถั่วซะแดด 1 บาท นำสมุนไพรทั้งหมดมาตำรวมกันกับน้ำ ให้ผู้ป่วยกิน” หรือ “ยาแก้ไข้ออกเกี้ยวดำ เอา ใบส้มพอ ใบทัน ใบหญ้าขัด ใบหญ้าลับลืน ถั่วซะแดด ผักตำนิน เข้าจ้าว ตำดอมกันคั้นหัวดีฯ” หมายถึง เมื่อเป็นไข้หมากไม้ชนิดที่มือกำแน่นจนเป็นสีดำ ยาให้เอา ใบข่อย ใบพุทรา ใบหญ้าขัด ใบชุมเห็ดไทย ใบถั่วซะแดด ใบตำลึง ข้าวเจ้า นำสมุนไพรทั้งหมดมาตำรวมกันแล้วนำไปพอกบนหัว เป็นต้น
ด้วยเหตุใดไม่ทราบหรืออาจเป็นเพราะสมุนไพรชนิดนี้ไม่ปรากฏในตำรายาไทย ตำรายาหลวง จึงไม่ได้รับความสนใจ แต่ในเวลานี้พบว่าประเทศรอบบ้านเรามีการวิจัยและนำไปใช้ประโยชน์พอสมควร
ถั่วซะแดด เป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย จึงควรส่งเสริมให้ปลูกและใช้ประโยชน์ในครัวเรือน เป็นอาหารที่ดีและเป็นยาพื้นฐานช่วยแก้พิษสัตว์กัดต่อยได้แล้ว และมีศักยภาพพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สร้างเศรษฐกิจได้ด้วย •
สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต


