
การเมืองเหลว-เหลว | สถานีคิดเลขที่12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่12 | สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
การเมืองเหลว-เหลว
พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2568 ระหว่างวันที่ 28-30พฤษภาคม 2568 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ประกาศออกมาแล้ว
น่าสังเกต ว่า เรื่องพ.ร.บ.งบฯนี้ จากกระแสที่เคยเรียกร้อง ให้ทุกฝ่ายมา”สุมหัว” เพื่อปรับการใช้งบประมาณให้รับมือกับ”วิกฤตเศรษฐกิจ”อย่างเท่าทัน และเหมาะสม ซึ่งถือเป็นเรื่อง”สร้างสรรค์”จางหายไปแทบจะสิ้นเชิง
พ.ร.บ.งบฯ ที่ถูกกล่าวขานถึงอย่างร้อนแรงตอนนี้
กลายเป็นเรื่อง “ผ่าน”หรือ”ไม่ผ่าน”เท่านั้น
สะท้อน การให้น้ำหนักไปที่ “วิกฤตการเมือง” มากกว่า”วิกฤตเศรษฐกิจ”แจ่มชัด
วิกฤตการเมือง นั่นก็คือ พรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือไม่ จะแทงข้างหลังกันหรือเปล่า
แม้จะมีการประเมินกันว่า เรื่องพ.ร.บ.งบฯคงไม่ไปไกลถึงขั้นแตกหัก จนมีการยุบสภา ล้างไพ่กันใหม่
แต่เราก็จับอุณหภูมิการเมืองอันร้อนแรงได้ชัดเจน
ชัดเจนถึง ความไม่ลงรอย และมีการต่อรองกันอย่างเข้มข้นภายใต้รอยยิ้ม และการกุมมือของ ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะในปีกรัฐบาล
สะท้อนถึง ภาคการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ บอบบาง อ่อนไหว อย่างมาก
มากจนทำให้ การทุ่มเททำงานเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆของประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ที่ตอนนี้ หนักหนาสากรรจ์ น้อยอย่างยิ่ง
พรรคการเมืองต่างๆ ตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย
คิดถึงกลเกมเพื่อรับมือ”การเมือง” มากกว่า คิดถึงการแก้ไขปัญหาของประเทศ
ซึ่งถือเป็นเวรกรรม ของคนไทย ที่”ติดหล่ม”การเมือง จนขับเคลื่อนไปไหนไม่ได้ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านรุดหน้าไปเรื่อยๆ แต่เราจมลงไปเรื่อยๆเช่นกัน
มีการวิพากษ์วิจารณ์ในทางร้าย ว่าไทยกำลังก้าวเข้าไปสู่ภาวะ “รัฐที่ล้มเหลว”
แม้มีฝ่ายไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าประเทศยังไม่มหาวิกฤตถึงขนาดนั้น
หากจะล้มเหลว ก็เป็น รัฐบาลที่ล้มเหลว หรือ พูดให้กว้างขึ้นอีกหน่อย นั่นก็คือ การเมืองที่ล้มเหลว มากกว่า
เพราะตอนนี้ มองเข้าไป ที่ตัวละครสำคัญ คือพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ล้วนอยู่ในภาวะระส่ำระสายโดยถ้วนหน้า
พรรคเพื่อไทย นอกจากไม่สามารถผลักดันนโยบายเรือธงได้แล้ว
ปัญหากรณี”ชั้น14″ก็ทวีความซับซ้อนมากขึ้น จนอาจชี้เป็นชี้ตายทางการเมือง ด้วยมันพันลึกถึงการ”จัดสรรอำนาจ”ที่ไม่ลงตัวและมีการถ่วงดุลอย่างเข้มข้นตลอดเวลา
พรรคภูมิใจไทย แม้จะโดดเด่นว่าอาจเป็นตัวเลือกใหม่ และปูฐานอำนาจไว้หนาแน่ทั้งในวุฒิสภาและฝ่ายราชการ แต่ในความโดดเด่นดังกล่าวก็มีช่องโหว่ และจุดบกพร่อง ทำให้มีโอกาสหัวคะมำได้ตลอดเวลา กรณีฮั้วส.ว.คือ”วิกฤต”ที่แฝงในความ”โดดเด่น”อย่างปฏิเสธได้ยาก
ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอื่นทั้ง รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ ภาวะระสำระสายก็ปรากฏให้เห็นโดยตลอด
ด้านพรรคกล้าธรรม แม้ไฟสปอร์ตไลท์จะฉายจับการเติบโต
แต่ก็เป็นการเติบโตแบบการเมืองเก่าและแอบอิงกับผลประโยชน์เดิมๆซึ่งไม่ได้สร้างความหวังใหม่ๆนอกจากเป็น “คณิตศาสตร์การเมือง”เพื่อช่วงชิงอำนาจเท่านั้น
ส่วนพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาชน ตกเป็นเป้าหมายแห่งการถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่พลังประชารัฐ ก็อ่อนเปลี้ยเพลียแรงลุงป้อม ลงไปเรื่อยๆ
ภาวะที่พรรคการเมืองอยู่ในภาวะที่ล้มเหลว จนขับเคลื่อนไปไหนไม่ได้ แถมยังต้อง”ตีกันในเข่ง”เพื่อเอาตัวรอด เช่นนี้
ทำให้เราคาดหวัง กับ”พรรคการเมือง”ไม่ได้
ซึ่งนั่นหมายถึง ไม่อาจคาดหวังว่า”วิกฤตชาติ”ในทุกด้านจะได้รับการแก้ไขด้วย
ภาวะ”เหลว-เหลว”เช่นนี้จะไปเข้าทางใคร และ นำไปสู่การเรียกร้องการแก้ไขด้วยวิธีพิเศษเดิมๆอย่างไร
ชวนให้ฟุ้งซ่านในความสิ้นหวังอยู่ไม่น้อย
———————