

การต่อสู้ในเรื่องเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนผ่านพื้นที่ตามกระบวนการแห่งมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
ได้เสนอปัญหาอันแหลมคมและอ่อนไหวยิ่งในทางการเมืองเข้ามาเมื่อผลคือ ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ
18.00 น.ของวันที่ 11 มิถุนายน ไม่เห็นด้วยอาจอยู่ที่ร้อยละ 52.65 เห็นด้วยอาจอยู่ที่ร้อยละ 47.35 ใกล้เคียงกันอย่างชนิดหายใจรดต้นคอ
แต่เมื่อเข้าสู่เวลา 10.00 น.ของวันที่ 12 มิถุนายน คะแนนที่สะท้อนผ่านไม่เห็นด้วยก็ทะยานไปสู่ร้อยละ 66.93 ขณะที่คะแนน เห็นด้วยลดลงมาเป็นร้อยละ 33.07
จากนั้นคะแนนก็สะท้อนออกอย่างเข้มข้นบนทิศทางที่ไม่เห็นด้วยครองความเหนือกว่า และยิ่งใกล้จะหมดเส้นตายก็ยิ่งทิ้งห่างกันเป็นลำดับและมากยิ่งขึ้น
ถามว่าคะแนนของทั้งฝ่ายไม่เห็นด้วยและเห็นด้วยมีรากฐานในการบริหารจัดการหรือไม่ ตอบได้เลยว่าแต่ละฝ่ายล้วนมีฐานอันเป็นของตนทั้งสิ้น
เพียงแต่คะแนนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเหนือกว่าเห็นด้วยเท่านั้น
การวิเคราะห์และทำความเข้าใจต่อรากฐานแห่งคะแนนเสียงของแต่ละฝ่ายมีความจำเป็นและมีความสำคัญ เพื่อจะได้เป็นบทเรียน ต่อไปในการเคลื่อนไหว
จะประเมินว่าเป็นผลจากปฏิบัติการ IO ทางด้านข่าวสารก็ย่อมได้ จะประเมินว่าเป็นเรื่องในทางเทคนิคก็ย่อมได้
แต่ที่ต้องยอมรับร่วมกัน นั่นก็คือ สะท้อนการจัดการเป็นไปได้ว่ารากฐานของฝ่ายที่”ไม่เห็นด้วย”ดำเนินไปอย่างมีศูนย์บัญชาการที่แน่นอน อาจจะเป็น 1 หรือ 2 หรือ 3 แต่ดำรงอยู่ภายใต้”ธง”เดียวกัน
ขณะที่รากฐานของฝ่ายที่”เห็นด้วย”ดำเนินไปอย่างมีศูนย์บัญชาการเช่นเดียวกัน เพียงแต่การประสานและร่วมมือเป็นไปอย่างเคร่งเครียดและจริงจังเพียงใด
หากผลในการแสดง”ความเห็น”ออกมาด้วยตัวเลขอย่างไรทุกฝ่ายน่าจะมีคำตอบและมองเห็นปัญหา
การเคลื่อนไหวทางการเมืองอันมีจุดเริ่มอย่างเป็นธรรมชาติและเป็นไปเองตลอดปี 2563 อาจทำให้เกิดความโน้มเอียงหนึ่ง
นั่นก็คือ ความตื่นเต้นในลักษณะอันเป็นไปเองลักษณะอันเป็นไปเองของมวลชนอาจเป็นความงามสะท้อนถึงความเป็นอิสระ เสรี แต่ในที่สุดแล้วที่เห็นว่าอิสระ เสรีนั้นก็ยังมีจุดร่วม มิได้เป็นไปอย่างกระจัดกระจาย
เพียงแต่ว่าจะบริหารจัดการลักษณะอันเป็นไปเองอย่างไรจึงจะดำรงอยู่อย่างมีทิศทางเดียวกันและก่อให้เกิดพลังขึ้นได้