

หมายเหตุ : บทความ นาทีชีวิต 19 กันยายน 2549 วันเปลี่ยนประเทศ : โลกในห้องแคบ (5) เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
การปฏิวัติในยุคโลกาภิวัตน์ ฝ่ายไหนสามารถเข้าถึง “สื่อ” ได้ก่อน ฝ่ายนั้นมีโอกาสชนะสูง
ในฝั่งรัฐบาล มีรัฐมนตรีคุมสื่ออยู่ 2 คน
คนหนึ่งคือ นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน)
อีกคนหนึ่งคือ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.)
พอเริ่มข่าวลือเรื่องการรัฐประหารและมีเค้าลางว่าจะเป็นจริง นายสุรนันทน์ได้สั่งให้รถถ่ายทอดสด และรถโอบีออกนอกสถานี เพื่อไปสแตนด์บายในที่ปลอดภัยตั้งแต่ 6 เดือนก่อนรัฐประหาร
นายสุรนันทน์ : “ทีแรกข่าวค่อนข้างชัดว่าฝ่ายปฏิวัติจะลงมือวันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน 2549 หรือไม่ก็วันเสาร์-อาทิตย์ เพราะจากประวัติศาสตร์การปฏิวัติที่ผ่านมาทั้งหมด จะมีการนำรถถังออกมาเป็นวันเสาร์ หรือไม่ก็อาทิตย์เสมอ”
แต่แล้ว ประเพณีปฏิบัติก็ถูกฉีกทิ้ง เมื่อทหารตัดสินใจ “ก่อการใหญ่” ในวันอังคารที่ 19 กันยายน 2549
21.00 น.เศษ “ผู้คุมสื่อของรัฐ” ได้รับโทรศัพท์จาก น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำลังไปรับแฟกซ์ “เอกสารลับ” ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
“ผมอยู่ทำเนียบฯ คุณเอารถโอบีตามไปที่ บก.สส. เลย เราจะไปตั้งกองบัญชาการต้านปฏิวัติกันที่นั่น” คำสั่งจาก “นายกฯ น้อย” ลอดผ่านหูโทรศัพท์
หลังวางสายจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรี “สุรนันทน์” โทรศัพท์ไปถามเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่คุมรถโอบี
คำตอบที่ได้รับก็คือ “นำรถออกไปแล้วครับ”
ทว่า หลังจากนั้นไม่นาน “นายปราโมช รัฐวินิจ” ผู้ตรวจราชการกรมประชาสัมพันธ์ก็โทรศัพท์รายงานว่าทหารยึดช่อง 11 แล้ว
ไม่มีการติดต่อระลอกใหม่จาก น.พ.พรหมินทร์
มีเพียง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้นำการรัฐประหารโทรศัพท์ตรงเข้า “มือถือ” ของ “สุรนันทน์”
“รัฐมนตรีอยู่ที่ไหน”
เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า “อยู่เฉยๆ”
ในอีกมุมหนึ่ง “เนวิน ชิดชอบ” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ดูแล บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) กำลังหาหนทางเพื่อแพร่คำสั่งปลด พล.อ.สนธิ
นายเนวินรับคำสั่งที่บัญชการผ่านโทรศัพท์จาก น.พ.พรหมินทร์ตั้งแต่ช่วง 20.00 น.
ความพยายามของ “เนวิน” และคณะสัมฤทธิ์ผล เมื่อรถถ่ายทอดสดของช่อง 9 วิ่งออกจากสำนักงาน อสมท. ย่านถนนพระราม 9 จากนั้นสามารถเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท กลางกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้
22.15 น. ขณะที่หน้าจอโทรทัศน์ทุกช่องเตรียมพร้อมสำหรับการออกประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)
แต่ “โมเดิร์นไนน์” กลับปรากฏภาพนิ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณเต็มจอ
พร้อมด้วยอักษรประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครครึ่งจอโทรทัศน์
แต่ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะอ่านบรรทัดสุดท้ายเพื่อ “ปลด ผบ.ทบ.” และแต่งตั้ง “ผบ.สส.” เข้าควบคุมสถานการณ์ สัญญาณก็ถูกตัดขาด
หน้าที่ในการปฏิบัติการต้านปฏิวัติของนายเนวินยุติลงตั้งแต่นาทีนั้น
นายสุรนันทน์ : “ผมได้รับโทรศัพท์จาก “ผู้ใหญ่” ที่เตือนให้หาที่ปลอดภัยอยู่ เพราะเวลานั้นไม่รู้ว่าใครเป็นใคร กลัวว่าจะมีอันตราย”
เพราะ “สุรนันทน์” กำกับทั้งกรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงบประมาณ ซึ่งกุมเงินของรัฐ
ในการปฏิวัติทุกครั้ง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณจึงมักถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ
“สุรนันทน์” หลบไปกบด้านอยู่ที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค ถนนสุขุมวิท โดยใช้ชื่อ “นายกณพ เกตุชาติ” เลขานุการ รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เช็กอินทั้งหมด เพราะไม่ต้องการปรากฏชื่อในลิสต์ของโรงแรม
“หิวก็ต้องสั่งอาหาาจากโรงแรมขึ้นมากินที่ห้อง พอพนักงานมาเสิร์ฟก็ต้องหลบอยู่ในห้องน้ำ เสื้อผ้าก็ไม่ได้เอาไปเลย ต้องให้เลขานุการไปซื้อมาให้ ใส่เสื้อกับกางเกงขาสั้นเหมือนกัน 2 คนเลย เป็นเสื้อทีมไปเลย”
ระหว่างนั้น “รมต.” กำกับสื่อ” เปิดสายรับโทรศัพท์จาก “สื่อ” หลายคน
“ประมาณตีหนึ่งของวันที่ 20 กันยายน เจ๊หน่อย (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) โทร.มาหาผมบอกว่า ปุ้ม เรายังมีเครือข่ายวิทยุชุมชนหรืออยู่เปล่า จะใช้สื่ออะไรได้บ้าง ผมก็บอกว่าเราคุมสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยไม่กี่ร้อยสถานี ยังทำอะไรไม่ได้เลย แล้วนี่จะมาใช้วิทยุชุมชน” เขาหัวเราะ “… ยังอุตส่าห์นะ”
“สุรนันทน์” ใช้ชีวิตอยู่ ณ โรงแรมหรู 3 วันจึงกลับบ้าน
หลังผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้น เขามีโอกาสปะหน้า น.พ.พรหมินทร์ โดยมีการสรุปบทเรียนและความผิดพลาดครั้งนั้นร่วมกัน
“โดยธรรมชาติถ้ารู้แน่ชัดว่ามีรัฐประหาร แล้วทหารเข้ายึดสถานีได้ ก็เป็นอันว่าจบข้าราชการก็จะวางตัวนิ่งเฉย” นายสุรนันท์ว่า
บทสรุปในบรรทัดสุดท้ายของเรื่องนี้คือ “เราถูกเจ้าหน้าที่คุมรถจีโอบีหลอก”!
ในขณะที่ “สุรนันทน์” ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายหลักของ คมช. กำลังซุ่มเงียบอยู่ในโรงแรมชั้นหนึ่ง
ชะตาชีวิตของ “หมอมิงค์” และ “เนวิน” กลับดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม
นายแพทย์พรหมินทร์ : “ประมาณ 09.00 น. รถสิงห์ทะเลทรายมาเลย ตามด้วยรถฉลามบก ส่วนรถที่ผมนั่งกับ พล.ต.อ.ชิดชัยอยู่ตรงกลาง และมีรถปิดท้ายอีกคัน ระหว่างนายทหารตะเบ๊ะขบวนกันปั๊บๆๆ ทั้งที่พวกเราเป็นผู้ต้องหา”
บนเนื้อที่กว่า 2 ไร่ของ ศรภ. ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างสำคัญ 4 ส่วนคือ 1. ตัวบ้านพักของ ผบ.ศรภ. 2. โรงรถใหญ่ 3. ห้องประชุมใหญ่จุได้ 30-40 คน และ 4. บ้านพักของนายทหารที่คอยควบคุมตัวผู้ต้องหาใหญ่
“นายทหารที่มาเฝ้าเรามีประมาณ 1 หมวดเห็นจะได้ ผมยังบอกคนคุมเลยว่านี่การควบคุมผม 2 คน เสียกำลังไปกว่าหมวดเลยเหรอ แต่เขาบอกว่าที่หมอเห็นนี่นิดเดียวเท่านั้น ข้างนอกมีอีกเยอะ”
“สำหรับในบ้านที่ผมพักมี 4 ห้องนอน พล.ต.อ.ชิดชัย นอนห้องใหญ่ ส่วนผมนอนห้องเล็ก อีกห้องหนึ่งให้ พล.ต.ชวลิต จารุจินดา รอง ผบ.ศรภ. ซึ่งเคยเป็น ทส.ของ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก รุ่นเดียวกับ พล.อ.วินัย ท่านต้องนอนเป็นเพื่อนเราทุกวัน ไม่เว้นแม้กระทั่งวันเสาร์-อาทิตย์ เหมือนติดอยู่กับพวกเราเลย และเหลือห้องว่างอีก 1 ห้อง มีห้องรับแขกแยกห้องกันเลย”
“นอกจากนี้ ในบ้านยังมีลู่วิ่ง 2 ลู่ ราคา 5 แสนบาท ก็เอามาจาก ศรภ. อาหารการกินก็ดีขนาดเราว่าดีแล้ว พล.อ.ไวพจน์ ยังดุลูกน้องเลยว่า ทำไมเอาจานอย่างนี้มา ต้องขออภัยด้วย ทั้งๆ ที่ใช้ชุดอาหารเหมือนกับอยู่บ้าน ซึ่งท่านจะมาเกือบทุกวัน มานั่งทานข้าวตอนเช้ากับเรา”
ตลอดระยะเวลาที่อยู่ใน “บ้านพัก” ทั้ง พล.ต.อ.ชิดชัย และ น.พ.พรหมินทร์ถูกถ่ายทำแบบเดียกวับ “เรียลิตี้โชว์” โดยไม่รู้ตัวล่วงหน้า ผ่านกล้องวงจรปิดรอบบ้าน
“ท่านชิดชัยไม่เคยออกจากบ้านเลย เต็มที่ก็ออกมานั่งหน้าบ้าน ท่านเอาแต่เดินสายพานวันละ 2 รอบ เช้าเดิน 1 ชั่วโมง บ่ายเดินอีก 1 ชั่วโมง ผมเดินแค่ 10 นาทีก็เหนื่อยจะตายแล้ว แต่ผมซน ใส่รองเท้าวิ่งไปวิ่งมารอบๆ บ้าน ผมมมารู้จากเพื่อนคนหนึ่งเป็น พ.อ.พิเศษ มาบอกผมหลังจากออกมาแล้วว่า ขอโทษด้วยนะที่เราไม่ได้ไปทักนาย แต่เราคอยดูนายอยู่ตลอด ผมเลยถามว่า เฮ้ย! ดูทางไหนวะ เขาบอกว่าดูทางจอมอนิเตอร์”
สารพัดวิธี การเจรจาทั้งแบบซึ่งหน้า และการเปล่งเสียงให้อีกฝ่ายได้ยินความต้องการ
ทีแรกห้องนอนผมเปิดหน้าต่างได้ แต่เขาคงเห็นผมเปิดหน้าต่าง วันรุ่งขึ้นเลยเอาสก๊อตเทปมาปิดจากข้างนอกเลย ผมเลยแกล้งแหย่ไปว่า โอ้โห! พอเห็นผมเปิดหน้าต่างหน่อย ปิดเลยนะวันรุ่งขึ้นหน้าต่างก็เปิดได้อีก”
แสง-สี-เสียง-ภาพถูก “บันทึก” ไว้ทุกความเคลื่อนไหว
“สำหรับเรื่องโทรศัพท์ พล.อ.ไวพจน์ บอกว่า ความจริงผู้ใหญ่สั่งให้เก็บ แต่เขาใช้ระบบโอนเนอร์ซิสเต็ม ซึ่งเขาติดระบบแจมเมอร์ทั้งข้างบนและข้างล่าง จะรู้เลยว่าเราเปิดโทรศัพท์เมื่อไหร่ แต่เรื่องแจมนี่เห็นเบื้องต้น เข้าใจว่าเขาจะดักฟังด้วย ผมก็โทรศัพท์ไปเรื่อย ใครโทร.มา ผมก็รับหมด”
อดีตนายสถานี “ดาวเทียม” คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าอย่าง “รู้ทัน” เครือข่ายของ “ทหาร”
“นึกหรือว่าผมไม่รู้ว่าถูกดักฟัง ดังนั้น ผมจะให้เขาฟังอย่างที่ผมอยากให้ฟัง ผมคิดไว้หมดแล้ว ผมสังเกตดูว่าถ้าไฟที่เครื่องเป็นสีเขียวแสดงว่าเราเปิดไม่ได้ แต่ถ้าเป็นสีแดงเราเปิดได้ผมสังเกตดูมีอยู่ 2 เครื่อง ติดไว้ข้างบนและข้างล่างชั้นละเครื่อง บางทีพอข้างล่างแดง ผมบอกท่านชิดชัยว่าวันนี้มันแดง เราเปิดไม่ได้ พอวิ่งไปดูข้างบนมันเปิดสีเขียวข้างบน มันแจมข้างล่างคือผลัดกัน 2 ตัวให้เราจำไม่ได้ คงกลัวเราสั่งการ”
ทั้ง “ทหารหญิง” และ “พลทหาร” ทั้งยศ “ร.ต.หญิง” และ “พ.ต.หญิง” นอกจากนี้ ยังมี “พล.ต.” และ ยศ “ส.ต.” นอนอยู่ด้วย อย่างน้อย 5 คน ประจำการอยู่รอบตัว 2 นักการเมือง
“มี 2 คนคอยดูแลเรา และเปิด-ปิดเรื่องแจมเมอร์ พอผมถามว่าไอ้น้องนี่อะไรล่ะ เขาตอบว่าอ๋อ บูธเตอร์ทีวีครับ”
“ผมกับท่านชิดชัยมองหน้ากันแล้วหัวเราะ”
แม้อยู่ในโลกใบเดียวกัน และอยู่สถานะของ “ผู้แพ้” เหมือนกัน
แต่ชีวิตของ “หมอมิงค์” กับ “เนวิน” กลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 หนึ่งในแผนปฏิบัติการ “ปฐพี 149” คือล่าตัว “นายเนวิน ชิดชอบ”
จากเหตุแห่งคำร่ำลือไปทั่วเมืองว่าเขาคือบุคคลที่ “สั่งการ” ให้ขนขบวน “ฝูงชน” จากภาคอีสานเข้าสมทบกับม็อบในเมือง และปะทะเดือดกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
คำร่ำลือ บอกเหตุ ถูกจัดทำรายงานเสนอ คปค. ว่า “มีการเตรียมปลุกม็อบประชาชนจากภาคเหนือ ภาคอีสาน เข้าสู่กรุงเทพฯ”
ชื่อ “นายเนวิน” ขุนพลคู่ใจ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงกลายเป็นนักการเมืองที่ คปค. ต้องการตัวมากที่สุด
เพราะเขาเป็น “เครื่องมือ” ที่ค้ำยัน “ฐานอำนาจ” ให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้แข็งแกร่งที่สุด
เป็น 1 ใน 3 ตัวการ ที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ “เป็นพิเศษ”
เป็นผู้สนับสนุนคาราวานคนจน ม็อบรถอีแต๋น กลุ่มสมาพันธ์พิทักษ์ประชาธิปไตย ชมรมคนรักชาติและชมรมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รวมทั้งเป็นเครือข่ายสนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ดังนั้น ตลอดทั้งวันที่ 20 กันยายน 2549 จึงมีกำลังทหารพลิกแผ่นดินเข้าตรวจค้นหาตัวนายเนวินในแทบทุกบ้านที่เขาเคยอยู่ทั่วทั้งกรุงเทพฯ แต่ไม่มีรายงานว่าพบ “ขุนพลทักษิณ” คนนี้แม้แต่เงา
คำสั่ง คปค.ที่ 9/2549 ถูก “พล.อ.สนธิ” เซ็นอนุมัติให้ประกาศทันที ว่า…
“คปค.ได้ยึดอำนาจไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อมิให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินของ คปค. จึงให้ นายเนวิน ชิดชอบ และ นายยงยุทธ์ ติยะไพรัช เข้ารายงานตัวต่อ คปค. ที่กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก ภายในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 21 กันยายน 2549″
ก่อนพระอาทิตย์ตรงศีรษะประมาณ 30 นาทีก่อนเส้นตาย คนทั้งประเทศจึงได้เห็นภาพ “เนวิน” ใส่เสื้อเหลือง สวมทับด้วยแจ็กเก็ตสีน้ำตาล พร้อมกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ น้องชาย และผู้ติดตาม 2 คน ผ่านภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวจากทุกสื่อ
“เนวิน” นั่งรถโตโยต้า อัลพาร์ดสีดำ เลขทะเบียน ศต 12 กทม. เดินทางมารายงานตัวตามคำสั่ง “ทหาร”
ทันที่เข้าถึงเขตทหาร สารวัตรทหารประจำประตูทางเข้า บก.ทบ. ด้านถนนราชดำเนิน สั่งให้รถหรูเปิดกระจกเพื่อรักษาความปลอดภัยระดับ “เข้มงวด”
สื่อมวลชนนับร้อยกรูเข้าไปรุมบันทึกภาพ “บุคคลอันตราย” แห่ง คปค.
ว่ากันว่านี่คือ กลยุทธ์เหนือชั้นของ “เนวิน”
เขาต้องการให้ทุกคนเห็นว่าเขาได้เข้าไปรายงานตัวแล้ว
การเปิดกระจก โผล่หน้าให้สื่อเห็นจึงเป็นการสร้างหลักฐานยืนยันเพื่อความปลอดภัยของเขา
นายเนวินยิ้มสู้ เยือกเย็น โบกมือทักทายสื่อมวลชน ก่อนที่จะมี “ฝูงชน” ไม่ทราบฝ่ายกรูเข้ามาสมทบ แล้วตะโกนด่าด้วยคำหยาบคาย ทำให้ผู้ติดตามต้องเร่งรีบปิดประตูรถแล้วซิ่งหนีหายเข้าไปใน บก.ทบ.
ภาพสุดท้ายของนายเนวินที่ปรากฏต่อสายตาคนทั่วโลกผ่านสำนักข่าวต่างประเทศคือ ภาพรองเท้าของใครคนหนึ่งที่ ลอยเคว้ง พุ่งเข้าใส่รถตู้สีดำมันวับของเขา
ตั้งแต่เที่ยงวัน คล้อยไปถึงช่วงบ่าย นานกว่า 3 ชั่วโมง นายเนวินจึงเข้าไปในห้องรับรองที่ บก.ทบ. เพื่อพบหน้า พล.อ.สนธิ เป็นครั้งแรก
เนวิน : “ผมบอกท่านสนธิว่าท่านชนะแล้ว ผมไม่สู้ท่านหรอก”
กว่าจะจบบทสนทนาที่แสนทิ่งแทงจิตใจชายชาติทหาร ก็พลบค่ำ นายเนวินถูกควบคุมตัวไปที่คุมขังในที่ที่เรียกว่า “คุกทหาร”
“ผมถูกจับไปขัง 10 วัน 11 คืน เป็นการขังเดี่ยวโดยไม่รู้ชะตากรรมครอบครัว ตลอดเวลาก็มีทหาร 4 คนสะพายเอ็ม 16 เอาข้าวถ้วยเล็กๆ กับถ้วยเล็กๆ มาให้วันละ 3 มื้อ อิ่มไม่อิ่มก็ต้องกินเท่านั้น”
“10 วัน 11 คืน ในคุกทหาร” ถูกบรรยายบนเวทีปราศรัยของพรรคพลังประชาชนที่จังหวัดบุรีรัมย์
เขาบอกว่าห้องที่ถูกทหารคุมขัง เป็นการขังเดี่ยวในห้องขนาด 4 คูณ 4 ตารางเมตร มีเตียงนอน มีห้องน้ำ ไม่มีหน้าต่าง มองไม่เห็นอะไรที่อยู่ภายนอก นอกเสียจากฝากับเพดานห้อง
ในแต่ละวันจะมีนายทหาร 4 คน ติดอาวุธครบมือนำอาหารที่เป็นถ้วยเล็กๆ มาให้วันละ 3 มื้อ อาทิ ข้าวสวย ผัดผัก ผัดปลาหมึก ฯลฯ
ไม่มีกิจกรรมอะไรทำ นอกจากทบทวนวิทยายุทธ์ที่เคยไปฝึกฝนมาจากประเทศอินเดีย นั่นคือ การนั่งสมาธิ เดินจงกรม และซักเสื้อผ้า เสื้อยืด กางเกงฟุตบอล 2-3 ตัวที่นำตัวติดมา แล้วตากในห้องน้ำ
นานๆ ครั้งก็เล่นเกมจิตวิทยากับพลทหารที่เฝ้าอยู่หน้า “คุก” ด้วยการส่งเสียงแซว ทำทีเห็นใจ
ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีหนังสือพิมพ์ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ
ลักษณะห้องที่ใช้กักบริเวณเขาเหมือนกับห้องที่ใช้คุมขัง นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ต่างจากห้องคุมตัวของ น.พ.พรหมินทร์ และ พล.ต.อ.ชิดชัย ที่ถูกโฆษณาว่าทั้ง 2 ได้พักในห้องรับรองอย่างดี รับประทานอาหารแบบบุพเฟ่ต์ ได้เสพสื่อครบทุกประเภท และสามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อโลกภายนอกได้
สิ่งเดียวที่เหมือนกันของ “จำเลยทั้ง 4” คือ ความคิดที่ว่าคราวนี้คงต้อง “ตายแน่ๆ”
ครบ 11 วัน เขาไม่ตาย แต่รอดมาได้
“รุ่งเช้าตรู่ของวันที่ 11 ผมถูกนำตัวออกมาจากห้องขัง โดยทหารครบอาวุธ 30 คน เขาจับผมใส่รถตู้ที่ปิดม่าน มองไม่เห็นทาง ตระเวนอยู่ 2 ชั่วโมงครึ่ง นึกอย่างเดียวคงไม่มีโอกาสกลับมาเห็นหน้าลูกเมียพ่อแม่”
ทว่า ได้เกิดนาทีที่กลายเป็น “ตำนาน” ของ “นักโทษการเมือง” ยุค 19 กันยาฯ
“หลังจากรถวิ่งวนไปวนมา รถก็แล่นไปจอดข้าง ถนน บังคับให้ผมแก้ผ้า ค้นทุกอย่าง ทั้งที่ 10 วันก่อนหน้านั้นก็มีการค้นไปทุกอย่างแล้ว เสร็จแล้วก็เอาตัวผมทิ้งไว้ข้างถนน”
นายเนวินคิดคาดการณ์ในใจว่าที่ผ่านมา 11 วันคงสาสมใจฝ่ายตรงข้ามแล้ว คงไม่มีปัญหาอีกแล้ว แต่การณ์หาได้เป็นเป็นเช่นนั้นไม่
“ชีวิตไม่ได้เป็นอย่างที่คิด 1 ปี 6 วัน ผมถูกคุกคามข่มขู่ มีทหารไปเฝ้าบ้าน มีคนติดตามเวลาไปไหนก็มีคนมาดักถ่ายรูป ไปพบปะใครคนนั้นก็จะถูกนำไปสอบสวน กล่าวหาผมเหมือนที่กล่าวหาท่านทักษิณ”
การคืนเวทีการเมืองครั้งแรกของ “เนวิน” จึงดุเดือดเพราะทั้ง “ฉะ” และ “แฉ” ทหาร
“ขนาดที่ดินที่ผมอยู่ยืนอยู่ที่นี่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีคนอยู่กันทั้งหมู่บ้านเป็นตำบลมาเล่นงานผม หาว่าบุกรุกที่ดินรถไฟ หาว่าออกโฉนดปลอม”
“นอกจาก คมช. จะมาปล้นประชาธิปไตยแล้ว ยังปล้นงบประมาณของประชาชนไปด้วย”
พาดพิงไปถึงรัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” นายกรัฐมนตรี ในวันนั้น
“รัฐบาลนี้มึงมาพร้อมกับรถถังและหนี้ ยกเลิกโครงการเอสเอ็มแอล เงินกู้เพื่อการศึกษา พอนายกฯ ทักษิณทราบเรื่อง ก็เอาเงินจากมูลนิธิไทยคมมาช่วย ไอ้ คมช. เห็นว่าทักษิณจะได้คะแนน ก็อายัดเงิน จนเด็กคนจนต้องผูกคอตาย”
“ถ้าพี่น้องอยากได้นโยบายไทยรักไทยเดิม ก็ต้องสู้ ทางเดียวคือสู้โดยพลังประชาชน สู้โดยเลือก นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ เพื่อสานต่อนโยบาย”
และประโยคสำคัญบนเวทีเมื่อวันที่ “ความสัมพันธ์” ระหว่าง “ทักษิณ-เนวิน” ยังหวานอยู่
“1 ปี 6 วัน สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนใจให้ผมเลิกรัก และคิดถึงนายกฯ ทักษิณได้”
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต



