

ในช่วงเลือกตั้งอย่างนี้ ขออนุญาตนำเนื้อหาของบทความวิชาการชิ้นหนึ่งมาเล่าสู่กันฟัง
บทความชิ้นดังกล่าวมีชื่อว่า “ทัศนะจากล่างขึ้นบน : แนวการศึกษาทางมานุษยวิทยาว่าด้วยเพศสภาพและรัฐ” เขียนโดย แคทเธอรีน เอ. บาววี แห่งภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ซึ่งแปลจากบทความ “The View from the Bottom-Up : Anthropological Approaches to Gender and the State.” โดย ยุกติ และ ฆัสรา มุกดาวิจิตร
บทความทั้งสองชิ้นนี้ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ “รัฐจากมุมมองของชีวิตประจำวัน” จัดพิมพ์โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ขอเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า
อาจารย์บาววี ซึ่งเคยมีหนังสือวิชาการเล่มสำคัญชื่อ “Rituals of National Loyalty : An Anthropology of the State and the Village Scout Movement in Thailand” (พิธีกรรมแห่งความจงรักภักดีต่อชาติ : มานุษยวิทยาว่าด้วยรัฐและขบวนการลูกเสือชาวบ้านในประเทศไทย) ตั้งคำถามในบทความ “ทัศนะจากล่างขึ้นบนฯ” ว่า ผู้หญิงไทยเริ่มได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อใด?
คนส่วนใหญ่คงตอบว่าเป็นปี พ.ศ.2475 (ค.ศ.1932) อย่างไรก็ตาม เมื่ออาจารย์บาววีกลับไปย้อนดูกฎหมายการปกครองท้องถิ่นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ได้พบกับคำตอบอันน่าเหลือเชื่อ
เพราะจากบันทึกลายลักษณ์อักษรที่สืบค้นได้ ผู้หญิงไทยได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งระดับหมู่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ.2440 (ค.ศ.1897)
ซึ่งถือว่าเร็วมาก หากเทียบกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เพิ่งมาถกเถียงกันว่าผู้หญิงควรจะได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือไม่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ขณะที่สตรีชาวอเมริกันและอังกฤษก็เพิ่งได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เมื่อปี ค.ศ.1920 และ ค.ศ.1928 ตามลำดับ
ถามต่อว่า เหตุใดผู้หญิงไทยจึงได้รับสิทธิเลือกตั้งพร้อมๆ กันกับผู้ชาย?
คำตอบส่วนหนึ่ง อาจระบุว่าเป็นเพราะพระปรีชาสามารถของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในยุคนั้น
แต่สิ่งที่อาจารย์บาววีทำต่อไปก็คือ การสืบค้นกลับไปยังประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่เริ่มขยายสิทธิการเลือกตั้งให้แก่สตรีในปี ค.ศ.1893 โดยมีองค์กรทางคริสต์ศาสนาชื่อ “สหภาพสตรีคริสเตียนผู้ละเว้นสิ่งมึนเมาแห่งโลก” คอยแสดงบทบาทสำคัญในการรณรงค์เพื่อสิทธิการเลือกตั้งของสตรีชาวนิวซีแลนด์
องค์กรดังกล่าวเป็นหน่วยงานระดับนาชาติของ “สหภาพสตรีคริสเตียนผู้ละเว้นสิ่งมึนเมา” ที่เป็นขบวนการเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของสตรีในประเทศสหรัฐอเมริกา
(หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไมองค์กรสตรีคริสเตียนที่มีแนวทางรณรงค์ต่อต้านสิ่งมึนเมากลุ่มนี้ ถึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องสิทธิเลือกตั้ง คำตอบก็ได้แก่ การเข้าถึงสิทธิเลือกตั้งนั้นจะมีความข้องเกี่ยวกับความต้องการในการควบคุมนโยบายสาธารณะเรื่องสุรานั่นเอง)
อาจารย์บาววีพบว่ามิชชันนารีคนหนึ่งของ “สหภาพคริสเตียนผู้ละเว้นสิ่งมึนเมา” ชื่อ “เจสซี่ แอคเกอร์แมน” เคยเดินทางมาที่สยาม และเคยเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาแล้ว ขณะที่เธอมีอายุเพียง 29 ปี
ในหนังสือ “The World through a Woman’s Eyes” (โลกในสายตาผู้หญิงคนหนึ่ง) ของแอคเกอร์แมน มิชชันนารีผู้นี้บันทึกเอาไว้ว่า ตนเองมีโอกาสได้สนทนากับรัชกาลที่ 5 ในประเด็นเรื่องการศึกษาของสตรีสยาม
ยิ่งไปกว่านั้น แอคเกอร์แมนและองค์กรของเธอ ยังมีความใกล้ชิดกับมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบเทเรี่ยน ในกรุงเทพฯ ซึ่งสมาชิกคนแรกๆ และอาจมีความสำคัญสูงสุดของมิชชันนารีกลุ่มนี้ คือ “หมอบรัดเลย์” ที่มีจุดยืนในการสนับสนุนให้สตรีได้รับการศึกษาและมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเช่นกัน
เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ภรรยาของหมอบรัดเลย์และมิชชันนารีหญิงอีก 2 ราย ได้รับเชิญให้ไปทำหน้าที่สอนภาษาอังกฤษแก่สตรีในราชสำนักสยาม
ก่อนที่ “แอนนา ลีโอโนเวนส์” จะเข้ามารับหน้าที่ดังกล่าวในเวลาต่อมา แง่มุมหนึ่งซึ่งคนไม่ค่อยรู้กันเกี่ยวกับแหม่มแอนนา ก็คือ เธอเป็นผู้มีบทบาทในขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิเลือกตั้งของสตรีในประเทศแคนาดาภายหลังจากที่เดินทางออกจากสยามแล้ว
ตามความเห็นของอาจารย์บาววี จึงเป็นไปได้ว่า ราชสำนักไทยอาจเปิดรับแนวคิดก้าวหน้าเรื่องสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของผู้หญิงมาจากเหล่ามิชชันนารีและสตรีต่างชาติกลุ่มนี้
ทว่า มิใช่ “ปัจจัยภายนอก” เท่านั้นที่ช่วยขับเคลื่อนให้ไทยเป็นประเทศแรกๆ ของโลก ที่ขยายสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแก่สตรี เพราะส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าดังกล่าวอาจมาจาก “ปัจจัยภายใน” บางประการ
เมื่อประเด็นการศึกษาเดินทางมาถึงการเข้ามาสอนภาษาอังกฤษของมิชชันนารีและสตรีต่างชาติให้แก่บรรดาผู้หญิงในราชสำนักสยาม
อาจารย์บาววีจึงตั้งข้อสงสัยว่า “ราชสำนักฝ่ายใน” ของสยามนั้น อาจมิได้มีลักษณะเป็น “ฮาเร็ม”
เนื่องจากการไม่ต้องทำงานหนักเช่นผู้หญิงทั่วไป ได้ส่งผลให้สตรีในราชสำนักสามารถเอาใจใส่กับ “ความรู้ของบุรุษเพศ” และส่วนใหญ่อ่านออกเขียนได้ ขณะที่บางรายก็มีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษาของสตรี
ซึ่งนำไปสู่คำถามปลายเปิดอีกมากมาย อาทิ การส่งตัวผู้หญิงเข้าวังนั้น เป็นการตัดสินใจของฝ่ายพ่อหรือแม่กันแน่? หรือว่าจะเป็นฝ่ายตัวลูกสาวเองที่มองว่าราชสำนักเป็นโอกาสอันน่าเร้าใจทางการศึกษา เศรษฐกิจ และการเมือง?
รวมถึงฝ่ายศูนย์กลางอำนาจในราชสำนักเองก็อาจต้องพึ่งพาอำนาจส่วนหนึ่ง จากเหล่าสตรีในราชสำนักและเครือข่ายอันน่ายำเกรงของพวกเธอ อย่างสอดคล้องกับจารีตของสังคมไทย ที่ฝ่ายชายมักตั้งถิ่นฐานอยู่กับเครือญาติฝ่ายภรรยา
ด้วยเหตุนี้ พันธะหลักๆ ในหมู่บ้านชนบท จึงถูกสานต่อผ่านเครือญาติของฝ่ายหญิง และยังเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้จนถึงปัจจุบัน ทั้งเครือข่ายทางการเมืองของภรรยาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับต่างๆ ที่มีบทบาทอย่างสูงในการรณรงค์หาเสียงให้สามี ตลอดจนบทบาทในการเป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญของสมาคมแม่บ้านในแต่ละหมู่บ้าน
กล่าวให้รวบรัดได้ว่า “ปัจจัยภายใน” ที่กระตุ้นให้สิทธิการเลือกตั้งของสตรีไทย ถือกำเนิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คือลักษณะที่สืบทอดมาจากสังคมซึ่งมีผู้หญิงเป็นใหญ่
สิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงไทย ขบวนการเคลื่อนไหวของคณะมิชชันนารี และราชสำนักสยาม จึงถูกเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างน่าทึ่งในบทความขนาดสั้นๆ ของอาจารย์แคทเธอรีน เอ. บาววี