
อ.ธำรงศักดิ์ เปิดผลสำรวจ เห็นควรให้ยกเลิกข้อห้ามซื้อขายเหล้าเบียร์ในวันเลือกตั้ง ร้อยละ 33.14

ผลสำรวจ เห็นควรให้ยกเลิกข้อห้ามซื้อขายเหล้าเบียร์ในวันเลือกตั้ง ร้อยละ 33.14
ยังให้มีข้อห้ามนี้ต่อไป ร้อยละ 29.55: ‘อาจารย์ธำรงศักดิ์โพล’
วันเลือกตั้ง สส. วันเลือกตั้งเทศบาล อบต. อบจ. กทม. เมืองพัทยา เลือกตั้งซ่อมทุกประเภท ห้ามขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตเลือกตั้งในระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ วันอาทิตย์ 11 พฤษภาคม 2568 จะเป็นวันเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลเกือบทั้งประเทศ ซึ่งมีเทศบาลรวมทั้งสิ้น 2,474 แห่ง
งานวิจัยส่วนบุคคลของ รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคนทั้งประเทศ จำนวน 6,614 คน เก็บแบบสอบถามระหว่าง 5-20 เมษายน 2568 โดยนักศึกษาปริญญาตรี-โท-เอก คณะรัฐศาสตร์ 168 คน และเครือข่ายอาจารย์และเพื่อนในจังหวัดต่างๆ เก็บแบบสอบถามใน 51 จังหวัด 115 อำเภอ
“ท่านคิดว่า วันที่มีการเลือกตั้ง (ทุกการเลือกตั้ง) ควรยกเลิกข้อห้ามการซื้อขายเหล้าเบียร์ ได้แล้วหรือยัง”
ผลการวิจัยพบว่า (มี 6,567 คนตอบคำถามข้อนี้)
ควรยกเลิก ร้อยละ 33.14 (2,176 คน)
ยังไม่ควรยกเลิก ร้อยละ 29.55 (1,941 คน)
ยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ร้อยละ 15.67 (1,029 คน)
ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 21.64 (1,421 คน)
คำสัมภาษณ์เชิงลึก
ที่เห็นควรยกเลิกข้อห้ามการซื้อขายเหล้าเบียร์ในวันเลือกตั้ง ให้คำอธิบายสำคัญว่า การเลือกตั้งต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของประชาชนทุกอาชีพ, วันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์ ห้ามกันตั้งแต่เย็นวันเสาร์ ร้านค้าร้านอาหารก็เหงาหงอยขาดทุน, เลือกตั้งเป็นสิทธิเสรีภาพ การใช้ชีวิตก็เป็นสิทธิเสรีภาพ ดังนั้น เลือกตั้งต้องไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในทุกด้าน, คนไทยส่วนใหญ่เป็นคนแบบสังคมเมืองไปแล้ว ไม่ใช่สภาพสังคมชนบทห่างไกลแบบเมื่อ 40 ปีก่อน, เป็นกฎหมายข้อห้ามที่ดูหมิ่นดูถูกคนไทย, พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ที่เห็นว่ายังไม่ควรยกเลิกข้อห้ามการซื้อขายเหล้าเบียร์ในวันเลือกตั้ง ให้คำอธิบายสำคัญว่า ชาวบ้านบางคนเห็นแต่แก่กินดื่มฟรี, เมื่อก่อนนั้นเลือกตั้งทีไรหัวคะแนนเลี้ยงกันแบบเทน้ำเทท่า, ผู้สมัครอาจใช้เหล้าเบียร์เพื่อโน้มน้าวใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง, จะได้ไปเลือกตั้งอย่างมีสติ, เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในวันเลือกตั้ง, ลดเหตุที่ชาวบ้านอาจทะเลาะวิวาทในวันเลือกตั้ง, เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้ง, ป้องกันการมีอิทธิพลต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ผลการสำรวจที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากวันเลือกตั้ง อาทิตย์ 11 พฤษภาคม 2568 นั้นเป็นวันพระวันวิสาขบูชาด้วย ซึ่งก็มีกฎหมายอันเป็นผลพวงรัฐประหาร 2549 ออกข้อห้ามซื้อขายเหล้าเบียร์ไว้ว่า ตั้งแต่เที่ยงคืนถึงเที่ยงคืนอีกวันทั้งประเทศ ยกเว้นในสนามบินนานาชาติ ในโรงแรม และที่กำหนดไว้ ดังนั้น ร้านค้าร้านอาหารและวิถีชีวิตของคนในเขตเทศบาลจะถูกห้ามซื้อขายเหล้าเบียร์รวม 2 วัน จากวันเลือกตั้งและวันพระวันหยุด คือ ตั้งแต่ค่ำคืนวันเสาร์และคืนวันอาทิตย์ ไปโดยปริยาย
ผลสำรวจ “ธำรงศักดิ์โพล” (3 ธันวาคม 2565, เก็บแบบสอบถามทั้งประเทศ 412 คน) คน Gen Z ส่วนใหญ่เห็นว่าควรยกเลิกข้อห้ามการซื้อขายเหล้าเบียร์วันพระที่เป็นวันหยุด ร้อยละ 53.2 (219 คน) รองลงมาเห็นว่า ควรยังต้องมีข้อห้ามการซื้อขายเหล้าเบียร์ ร้อยละ 30.6 (126 คน) ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 16.2 (67 คน)
ผลสำรวจ “ธำรงศักดิ์โพล” (16 กุมภาพันธ์ 2568, เก็บแบบสอบถามทั้งประเทศ 4,679 คน) เห็นควรยกเลิกข้อห้ามการซื้อขายเหล้าเบียร์ในวันพระที่เป็นวันหยุด ร้อยละ 38.75 (1,804 คน) ยังไม่ควรยกเลิก ร้อยละ 37.56 (1,749 คน) ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 23.69 (1,103 คน)
ข้อมูลพื้นฐานของผู้ตอบแบบสอบถาม
เพศ : หญิง 3,580 คน (54.13%) ชาย 2,694 คน (40.73%) เพศหลากหลาย 340 คน (5.14%)
อายุ : Gen Z (18-28 ปี) 3,304 คน (49.96%) Gen Y (29-45 ปี) 1,713คน (25.90%) Gen X (46–60 ปี) 1,118 คน (16.90%) Gen Baby Boomer ขึ้นไป (61 ปีขึ้นไป) 479 คน (7.24%)
การศึกษา : ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 473 คน (7.15%) มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 1,645 คน (24.87%) อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 853 คน (12.90%) ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 3,233 คน (48.88%) สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 410 คน (6.20%)
อาชีพ : นักเรียนนักศึกษา 2,504 คน (37.86%) เกษตรกร 497 คน (7.52%) พนักงานเอกชน 749 คน (11.32%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 648คน (9.80%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 740 คน (11.19%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 931 คน (14.08%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 351 คน (5.30%) อื่นๆ 194 คน (2.93%)
รายได้ต่อเดือน : ไม่มีรายได้ 1,426 คน (21.56%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 1,443 คน (21.82%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 1,932 คน (29.21%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 908 คน (13.73%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 408 คน (6.17%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 497 คน (7.51%)
เขตที่อยู่อาศัย : อบต. 1,766 คน (26.70%) เทศบาลตำบล 1,872 คน (28.30%) เทศบาลเมือง 977 คน (14.77%) เทศบาลนคร 371 คน (5.61%) กรุงเทพมหานคร 1,516 คน (22.92%) เมืองพัทยา 112 คน (1.70%)