
วีระยุทธ ชี้ ไทยอยู่แบบเดิมไม่ได้ ถึงเวลาร่วมกันจินตนาการ สร้างสังคมที่ดีขึ้นใหม่

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคฝ่ายยุทธศาสตร์การเมืองและที่ปรึกษาด้านนโยบายพรรคประชาชน แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็น “รัฐล้มเหลว” และการพัฒนาประเทศไทยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องยืนหยัดบนเส้นทางประชาธิปไตย พร้อมตั้งคำถามสำคัญต่อระบบอุปถัมภ์ หากหวังจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
วีระยุทธ อ้างอิงบทสนทนาระหว่างผู้สื่อข่าว BBC Thai กับ ศ.เจมส์ โรบินสัน นักรัฐศาสตร์ผู้ร่วมเขียนหนังสือ Why Nations Fail โดยชี้ว่า การเติบโตสู่ประเทศรายได้สูงในกรณีของเกาหลีใต้และไต้หวัน เกิดขึ้นได้หลังจากที่ทั้งสองประเทศผ่านพ้นระบอบเผด็จการและเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างมั่นคงในช่วงกลางทศวรรษ 1990
“เกาหลีใต้และไต้หวันล้วนผ่านความขัดแย้งและแรงต้านจากระบอบเผด็จการมาแล้วทั้งสิ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้เผด็จการอาจเกิดขึ้นในช่วงต้น แต่สุดท้ายมันนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำและการเรียกร้องเสรีภาพ หากมาเลเซียสามารถขยับขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงในไม่กี่ปีข้างหน้า ก็จะเป็นอีกหนึ่งหลักฐานยืนยันว่า โค้งสุดท้ายของการพัฒนา ต้องเกิดบนพื้นฐานของประชาธิปไตย” วีระยุทธกล่าว
นอกจากประเด็นประชาธิปไตย เขายังเสนอให้สังคมไทย “จินตนาการอนาคต” ของประเทศให้ชัดเจน โดยเสนอภาพฝันของประเทศไทยในแบบที่ผสมผสานจุดแข็งของประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย ได้แก่ “ญี่ปุ่นที่จัดจ้าน เกาหลีที่เท่าเทียม และสิงคโปร์ที่สนุก”
“เราสามารถเป็นญี่ปุ่นที่ไม่แข็งทื่อ แต่มีชีวิตชีวา เป็นเกาหลีที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ทิ้งความเท่าเทียม และเป็นสิงคโปร์ที่เคารพกติกาแต่มีเสน่ห์แบบไทย ๆ” วีระยุทธ ระบุ
อย่างไรก็ตาม วีระยุทธเตือนว่า อุปสรรคสำคัญของประเทศไทยคือ “ระบบอุปถัมภ์” ซึ่งยังฝังลึกอยู่ในทุกระดับของเศรษฐกิจและการเมือง โดยยกคำของโรบินสันที่ว่า “ระบบอุปถัมภ์ตอบโจทย์ระยะสั้น แต่ทำให้รัฐและสังคมอ่อนแอลงพร้อมกัน”
เขาระบุว่า บริษัทเอกชนไทยจำนวนมากเลือกลงทุนในสายสัมพันธ์มากกว่าการวิจัยและนวัตกรรม ขณะที่นักการเมืองและข้าราชการจำนวนมากยังต้องพึ่งพาอิทธิพลส่วนบุคคลมากกว่าความสามารถจริง สิ่งเหล่านี้ทำให้ศักยภาพของประเทศถูกจำกัด
“ระบบอุปถัมภ์ไม่เคยรับประกันความเป็นธรรม มันไม่มีกติกากลาง ไม่มีใครมั่นใจได้ว่า อำนาจหรือทรัพย์สินในวันนี้จะไม่ถูกแย่งไปในวันหน้า เพราะตัวเกมมันขึ้นอยู่กับว่าใครมีอำนาจมากกว่าเท่านั้น”
วีระยุทธทิ้งท้ายว่า หากสังคมไทยไม่สามารถรวมตัวกันเป็น “แนวร่วมกว้าง” ที่เห็นพ้องว่าการอยู่กับระบบอุปถัมภ์แบบเดิมนั้น “อยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว” ประเทศไทยก็จะยังติดหล่มของความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาแบบชะงักงันไปอีกยาวนาน
อ่านข้อความทั้งหมด …
บทสนทนาระหว่างคุณปณิศาแห่ง BBC Thai กับเจมส์ โรบินสัน เรื่อง “รัฐล้มเหลว” ไม่เพียงแต่ชวนให้เราคิดเรื่องอนาคตของประเทศอย่างจริงจังเท่านั้น แต่ยังนำประสบการณ์สากลมายกระดับข้อถกเถียงในสังคมไทยด้วย
หลังอ่านจบด้วยความตื่นเต้นแล้ว ผมมีประเด็นชวนสนทนาต่อ 3 ข้อดังนี้ครับ
หนึ่ง โค้งสุดท้ายจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง ยังไงก็ต้องยืนหยัดเส้นทางประชาธิปไตย
สอง การ “จินตนาการ” ประเทศไทยในฝันจะทำให้เราเดินอย่างมีทิศทาง ผมเสนอว่าเราสามารถเป็น ญี่ปุ่นที่จัดจ้าน + เกาหลีที่เท่าเทียม + สิงคโปร์ที่สนุก
สาม คำถามเปลี่ยนประเทศคือ เราอยากให้ระบบอุปถัมภ์และการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เป็นแกนกลางสังคมไทยจริงๆ หรือ
1. โค้งสุดท้ายสู่ High income คือประชาธิปไตย
ความไม่หนักแน่นของสังคมไทยคือ เวลาการเมืองระบบรัฐสภาเกิดปัญหาง่อนแง่นแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ มักจะเกิดคำถามเสมอว่าควร (กลับไป) เลือกเส้นทางเผด็จการแทนดีไหม
โรบินสันยกตัวอย่างเกาหลีใต้และไต้หวันแบบสั้นๆ ผมขอขยายความเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันจะเติบโตสูงในช่วงที่ถูกปกครองด้วยเผด็จการทหาร
แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจช่วงเผด็จการก็สร้างความขัดแย้งในสังคมให้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ที่รัฐบาลใช้ทุกสรรพกำลังเพื่อสนับสนุนทุนใหญ่ (กลุ่มแชโบล) ให้กลายเป็นกิจการระดับโลก
โดยแลกมาด้วยการกดค่าแรงยาวนาน ธุรกิจขนาดเล็กไม่ได้รับการเหลียวแล ชนชั้นกลางก็กระอักกระอ่วน เพราะถึงแม้ชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น แต่แทบไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากการแข่งขันเข้มข้นเพื่อให้ได้เป็นมนุษย์เงินเดือนในแชโบลไม่กี่รายที่ครองตลาดแทบทุกตลาดในประเทศ
การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ที่ควังจูปี 1980 นำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรง แต่ชาวเกาหลีก็ไม่ย่อท้อ ต่อสู้กับระบอบทหารมาตลอดช่วงที่เป็นประเทศรายได้ปานกลาง
แรงเสียดทานในไต้หวันอาจจะน้อยกว่าเกาหลีใต้ แต่ก็มีการต่อสู้และต่อรองระหว่างประชาชนกับพรรคก๊กมินตั๋งอย่างต่อเนื่อง
สุดท้าย ทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันกลายเป็นประเทศ “พัฒนาแล้ว” หรือ High income ก็เมื่อกลางทศวรรษ 1990 ที่การเมืองเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว
หากมาเลเซียกลายเป็นประเทศรายได้สูงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก็จะเข้าสูตรเดียวกับเกาหลีใต้และไต้หวันเช่นกัน
นั่นคือ โค้งสุดท้ายสู่ High income จะเกิดบนเส้นทางประชาธิปไตย
นี่ควรเป็นบทเรียนสำคัญข้อแรกที่เราต้องช่วยกันยืนหยัด
2. ญี่ปุ่นที่จัดจ้าน เกาหลีที่เท่าเทียม สิงคโปร์ที่สนุก
ประชาธิปไตยอย่างเดียวย่อมไม่พอ มีประเทศประชาธิปไตยจำนวนมากที่ล้มลุกคลุกคลานเพราะไม่มีโมเดลเศรษฐกิจที่ชัดเจน
โรบินสันเสนอว่า สังคมต้องมองเห็นต้นแบบและมีความทะเยอทะยานที่เป็นรูปธรรมด้วย เหมือนที่ประธานาธิบดีพัคจุงฮีตอนทศวรรษ 1960 ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่า “ในหนึ่งชั่วอายุคน เกาหลีจะต้องเป็นเหมือนญี่ปุ่น”
ถ้าต้องชวนสังคมไทย “จินตนาการ” ว่า Best Possible Thailand ที่เราเป็นได้ มันจะมีหน้าตาแบบไหนกัน ผมขอลองเสนอว่า เราสามารถเป็นญี่ปุ่นที่แซ่บกว่าญีปุ่น เป็นเกาหลีที่เท่าเทียมกว่าเกาหลี และเป็นสิงคโปร์ที่สนุกกว่าสิงคโปร์
Spicy Japan – – เราสามารถผสมผสานทั้งคุณค่าแบบเดิม เพิ่มเติมเทคโนโลยีและความเป็นสากลแบบญี่ปุ่นได้ แต่ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็มาพร้อมความตายตัวแข็งเกร็ง เราสามารถ “จัดจ้าน” กว่าญี่ปุ่นได้ ทั้งในแง่ของอาหาร การเกษตร เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม
Equitable Korea – – เราสามารถสร้างบริษัทใหญ่ให้เป็นกิจการระดับโลก และเป็นผู้นำคลื่นวัฒนธรรมยุคใหม่แบบเกาหลีได้ โดยเรียนรู้ว่าเกาหลีมีจุดอ่อนที่ความสำเร็จเกิดขึ้นคู่กับความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายได้และระหว่างเพศ เราจึงควรระมัดระวังการหนุนทุนใหญ่แบบสุดโต่ง และเลือกโมเดลการพัฒนาที่ “เท่าเทียม” กว่าเกาหลีได้
Lively Singapore – – เราสามารถยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมในการจัดการเศรษฐกิจ และยึดบรรทัดฐานสากลในการสร้างและรักษาสัมพันธ์กับชาวโลกแบบสิงคโปร์ได้ ในขณะเดียวกัน ก็เพิ่มมิติของความสนุก ความมีชีวิตชีวาแบบไทยที่สามารถดึงดูดโลกได้มากกว่าสิงคโปร์
แน่นอนครับ โรบินสันเองก็ย้ำว่าแต่ละประเทศย่อมต้องเลือกทางเดินในแบบของตัวเอง การคัดลอกโมเดลจากต่างประเทศมาทั้งดุ้นคงไม่มีวันประสบความสำเร็จ
ผมก็คิดเช่นนั้น แต่การมีภาพฝันที่มองเห็นจับต้องได้ย่อมทำให้การออกแบบทางเดินของเราชัดเจนขึ้น
3. เราอยากให้ระบบอุปถัมภ์และการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เป็นแกนกลางสังคมไทยจริงๆ หรือ
ในบทความ BBC โรบินสันบอกไว้ว่า “ระบบอุปถัมภ์ตอบโจทย์ระยะสั้น แต่ทำให้ทั้งรัฐและสังคมอ่อนแอลงไปพร้อมกัน” เพราะระบบอุปถัมภ์ทำให้สังคมแตกแยก การเมืองกลายเป็นเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่มีใครทำอะไรเพื่อประโยชน์สาธารณะ
แม้โรบินสันจะยกตัวอย่างของอาร์เจนตินา แต่คำอธิบายข้างต้นดูเหมือนจะบอกเล่าสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองไทยได้เช่นเดียวกัน
ทุกวันนี้ บริษัทไทยที่อยากเติบโตเลือกลงทุนกับการสร้างคอนเน็คชั่น เพราะคุ้มกว่าไปลงทุนด้านนวัตกรรม
บริษัทที่ใหญ่อยู่แล้ว ก็รู้ตัวว่าได้ดีมาเพราะระบบอุปถัมภ์ จึงยิ่งต้องลงทุนด้านคอนเน็คชั่นเพื่อปกป้องสถานะผูกขาดให้อยู่ต่อไป
ฝ่ายการเมืองก็รู้ว่าการได้ตำแหน่งหรือความก้าวหน้าทางการงานขึ้นกับความพอใจของนาย ไม่ใช่ความรู้ความสามารถ
ระบบอุปถัมภ์ในด้านเศรษฐกิจก็คล้ายกับระบอบเผด็จการในด้านการเมือง คือทั้งคู่อาจทำงานได้ในช่วงที่ประเทศเพิ่งเริ่มพัฒนา คววามต้องการของคนและกลไกเศรษฐกิจยังไม่ค่อยซับซ้อน
แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ระบอบเผด็จการและระบบอุปถัมภ์จะกลายเป็นโซ่ตรวนฉุดรั้งไม่ให้สังคมไปไกลกว่านั้นได้
โรบินสันเสนอว่า ถึงที่สุดแล้วสังคมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ จำเป็นต้องมี broad coalition หรือ “แนวร่วมกว้าง” ว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมพร้อมจะเปลี่ยนหรือเปล่า
แปลงมาเป็นคำถามของประเทศไทยก็คือ เราอยากให้ระบบอุปถัมภ์เป็นแกนกลางสังคมไทยจริงๆ หรือ?
ในระบบแบบที่เป็นอยู่ ต่อให้รวยล้นฟ้าหรือมีอำนาจล้นมือในวันนี้ มีใครในประเทศไทยแน่ใจได้ว่า ลูกหลานจะไม่โดน “เครือข่ายอุปถัมภ์ใหม่” มารังแก ปล้นอำนาจและเงินทองนั้นไป
เพราะระบบอุปถัมภ์ไม่เคยการันตีความเป็นธรรม ไม่สนใจกติกา อำนาจคือตัวกำหนดเกม
ไม่ใช่แค่โรบินสัน แต่งานศึกษากับดักรายได้ปานกลางระยะหลังก็ได้ข้อสรุปตรงกันว่า ถ้าสังคมไหนไม่กล้าจัดการปัญหาการผูกขาดและการใช้คอนเน็คชั่นของชนชั้นนำที่กีดกันคนเก่งแล้ว สังคมนั้นก็ไม่มีทางขยับไปเป็นประเทศรายได้สูง
มีแต่ฉันทามติของสังคมว่า “อยู่กันต่อไปแบบนี้ไม่ได้แล้ว” เท่านั้น ที่จะเปลี่ยนประเทศไทยได้