เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
bg-single

สิริพรรณ เตือนอันตราย หากองค์กรอิสระถูกครอบงำ ปัญหาตามหลอกหลอน หากไม่แก้รธน.

19.05.2025

ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ได้เขียนข้อความเตือนถึงความพยายามผูกขาดองค์กรอิสระโดยกลุ่มการเมือง อาจทำให้องค์กรที่ควรเป็นกลาง กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ส่งผลให้การแข่งขันทางการเมืองไร้ความเป็นธรรม ขาดการตรวจสอบ และไร้ความรับผิดชอบ

โดยศ.ดร.สิริพรรณชี้ว่าโครงสร้างรัฐธรรมนูญไทยเปิดช่องให้วุฒิสภาชุดปัจจุบันมีอำนาจในการรับรองผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระถึง 33 จาก 42 ตำแหน่ง ในระยะ 5 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ซึ่งหากไม่แก้รัฐธรรมนูญ ปัญหานี้จะหวนกลับมาอีกใน 4 ปีข้างหน้า พร้อมเน้นย้ำบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาในการตรวจสอบกันเองตามมาตรา 82 เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของสภา และเตือนว่าหากปล่อยให้การแทรกแซงดำเนินต่อไป ความเสียหายทางการเมืองอาจฝังรากลึกในสังคมไทยอย่างยากเยียวยา

มีรายละเอียดดังนี้

มีความพยายามยึดกุมผูกขาดองค์กรอิสระโดยบุคคลและพรรคการเมืองจริงหรือไม่

อันตรายหากองค์กรอิสระกลายเป็น “องค์กรภายใต้กำกับ” แทนที่จะเป็นองค์กรตรวจสอบที่ “เป็นอิสระจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง” คือ พื้นที่การแข่งขันทางการเมืองจะปราศจากความเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่มีหลักประกันความพร้อมรับผิดของบุคลากรและองค์การทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้การเมืองไทยตกหล่มมาตลอดหลายปี

รัฐธรรมนูญไทย ออกแบบให้การรับรองและตรวจสอบเป็นวงจร การได้มาซึ่งองค์กรอิสระต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา เมื่อเข้ารับตำแหน่ง องค์กรอิสระมีอำนาจกำกับตรวจสอบวุฒิสภา

หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีก 4 ปีข้างหน้า ปัญหาเรื่องที่มาของวุฒิสภาและองค์กรอิสระ จะกลับมาหลอกหลอนเราอีก

ตลอดวาระ 5 ปีที่ดำรงตำแหน่ง วุฒิสภาชุดนี้มีอำนาจรับรอง/ปัดตก ผู้ทำหน้าที่ในองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถึง 33 จาก 42 ตำแหน่ง

ในระบบที่การคานอำนาจไม่สมดุล เป็นหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาที่จะตรวจสอบกันเองเพื่อธำรงรักษาศักดิ์ศรีของสภาที่ตนเป็นสมาชิก มาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญจึงเปิดช่องให้ 1 ใน 10 ของสมาชิกแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดสิ้นสุดลง

นอกจากการสอบสวนคุณสมบัติและการเลือกกันเอง ที่ดำเนินอยู่โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว การกระทำและพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงในเรื่องต่าง ๆ ที่สมาชิกด้วยกันสังเกตเห็นได้ ก็อาจนำมาใช้เป็นข้อมูล ในการเขียนคำร้องเพื่อยืนยันว่าสมาชิกวุฒิสภาได้ใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดหรือไม่

รัฐธรรมนูญ มาตรา 113 สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด ๆ
มาตรา 114 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใด ๆ

มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งใช้กับ ส.ส. สว. และคณะรัฐมนตรีด้วย “หมวดที่ 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์”

ข้อ 7 ต้องถือผลประโยขน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน

ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติกรรมที่รู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ความยากอยู่ที่

1) ประธานวุฒิสภาจะส่งคําร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญไหม

2) ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่

หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา และ “ปรากฏเหตุอันควรสงสัย”

ว่าวุฒิสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องจะมีคําสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทุกประการ หรือเฉพาะบางส่วน ตามที่ได้วางแนวคำวินิจฉัยไว้ในกรณีรัฐมนตรียุติธรรม คุณทวี สอดส่อง

ในประเด็นนี้ เห็นว่า ศาลตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะจำกัดขอบเขตอำนาจที่ใช้ เพื่อไม่สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองโดยไม่จำเป็น ซึ่งที่ผ่านมา ไม่ค่อยเห็น

มาตรา 27 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลใช้ระบบไต่สวนในการค้นหาความจริง

มีหลายท่าน “ได้ยินมากับหู” ว่าผู้อยู่เบื้องหลังมีปฏิบัติการอย่างไร แม้จะทำในที่เงียบ แต่เสียงกลับดังอื้ออึงได้ยินไปทั่ว

เรามีหน้าที่และสำนึกในความถูกต้อง ที่จะช่วยกันขยับเส้นที่ล้ำจากมาตรฐานการเมืองที่ดี ให้กลับมาตรง

มิเช่นนั้น ความเสียหายจะอยู่กับประเทศไทยยาวนานและยากเกินกว่าจะเยียวยาได้



เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต

“อนุทิน” ย้ำ หากถูกยึด มท. พร้อมเป็นฝ่ายค้าน – ประกาศก้อง ศักดิ์ศรีภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ใครปู้ยี้ปู้ยำ
ประเทศที่ (ยัง) ก่อสร้างไม่เสร็จ อ่านประเทศไทยผ่านงบฯ ปี’69 และช่องทางรับทรัพย์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ผลประโยชน์ของใครบ้าง?
ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้สมัคร 7 ราย ดีกรีไม่ธรรมดา ตัวจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!
เอกชนห่วง ‘เขย่า ครม.’ กลางคัน งานสะดุด-ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน
ชีวิตทางเลือก | ธงทอง จันทรางศุ
Songs in The Key of Life : ก่อนเวลาจะผ่านไป
จาก No Man’s Land สู่ This Land is My Land
เด็กที่ชินกับรสขม VS ผู้ใหญ่ที่สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลง
ปฏิทินกับประชาธิปไตย : เมื่อเสียงข้างมากปะทะกับสิทธิ์ข้างน้อย
ประเมินสถานการณ์ ไทย-กัมพูชาจาก RLI
ดาวกับดวง อังคารที่ 17 มิถุนายน 2568