
ธำรงศักดิ์ เปิดผลสำรวจคนกรุงเทพฯ เห็นควรให้ ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขตมาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 73.21ให้มีสมาชิกสภาเขตเลือกตั้ง ร้อยละ 57.76

ผลสำรวจคนกรุงเทพฯ เห็นควรให้ ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขตมาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 73.21ให้มีสมาชิกสภาเขตเลือกตั้ง ร้อยละ 57.76
: ‘อาจารย์ธำรงศักดิ์โพล’
กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ 1,568 ตร.กม. มีประชากรตามทะเบียนบ้าน 5.34 ล้านคน แบ่งเป็น 50 เขต คาดว่ารวมประชากรแฝงจะมีถึงกว่า 10 ล้านคน ผู้อำนวยการเขตเป็นข้าราชการประจำ สำหรับสมาชิกสภาเขตที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2528 มีจำนวนอย่างน้อยเขตละ 7 คน และมีสมาชิกสภาเขตเพิ่มขึ้น 1 คนเมื่อมีประชากรทุก 1 แสนคน มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี แต่ได้ถูกยกเลิกโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล คสช. ปี 2562
งานวิจัยส่วนบุคคลของ รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคนกรุงเทพฯ จำนวน 1,557 คน เก็บแบบสอบถามระหว่าง 5-24 เมษายน 2568 โดยนักศึกษาปริญญาตรี-โท-เอก คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต
ข้อ 1 คำถามว่า
“ท่านคิดว่า ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ควรเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในเขตหรือไม่”
ผลการวิจัยพบว่า (มี 1,553 คนตอบคำถามข้อนี้)
ควรมาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 73.21 (1,137 คน)
ไม่ควร ร้อยละ 5.54 (86 คน)
ยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ร้อยละ 9.21 (143 คน)
ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 12.04 (187 คน)
ข้อ 2 คำถามว่า
“ท่านคิดว่าทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ควรคืนการมีสมาชิกสภาเขตที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในเขตหรือไม่”
ผลการวิจัยพบว่า (มี 1,553 คนตอบคำถามข้อนี้)
ควรมีสมาชิกสภาเขต ร้อยละ 57.76 (897 คน)
ไม่ควรมี ร้อยละ 8.82 (137 คน)
ยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ร้อยละ 16.03 (249 คน)
ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 17.39 (270 คน)
ข้อมูลสัมภาษณ์เชิงลึก
คำอธิบายของฝ่ายที่ต้องการให้มีผู้อำนวยการเขตที่มาจากการเลือกตั้ง ที่สำคัญ ได้แก่ เขตในกรุงเทพฯ โดยส่วนใหญ่มีประชากรเท่ากับระดับการเป็นเทศบาลนคร ซึ่งต้องมีผู้บริหารเขตที่มาจากเลือกตั้ง, ผู้บริหารเขตที่มาจากเลือกตั้งจะกระตือรือร้นต่อการลงพื้นที่และดูแลแก้ไขปัญหาในเขตอย่างตรงจุดและรวดเร็ว, แม้ผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่มาจากการเลือกตั้งคนนี้จะขยันขันแข็ง แต่ก็คงดูแลสั่งการให้ผู้อำนวยการเขตที่เป็นข้าราชการประจำให้ทำงาน ทำงาน ทำงาน ได้ไม่ทั่วถึง, ข่าวการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ ชี้ว่าผู้อำนวยการเขตอาจละเลยหรือปิดตากับปัญหา, เราต้องการความใกล้ชิดและเข้าถึงง่ายกับผู้บริหารเขต, ดูอย่างการซ่อมแซมฟุตบาทตามเขตต่างๆ ที่ไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยของประชาชนคนเดินถนน ย่อมแสดงถึงการละเลยตรวจสอบหรืออยู่แต่ในห้องแอร์ของผู้อำนวยการเขตที่เป็นข้าราชการประจำ, ผู้บริหารเขตเมื่อมาจากเลือกตั้งก็จะมีระบบตรวจสอบเร่งรัดถ่วงดุลโดยสมาชิกสภาเขต
คำอธิบายของฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีผู้อำนวยการเขตที่มาจากการเลือกตั้ง ที่สำคัญ ได้แก่ เปลืองเงินเลือกตั้ง, พรรคการเมืองจะเข้ามาแสวงหาประโยชน์, เปิดช่องทางให้นักการเมืองโกงกินเพิ่มขึ้น, กรุงเทพฯต้องเป็นหนึ่งเดียวไม่ควรถูกแบ่งแยก, เลือกตั้งทำให้บ้านเมืองแตกแยกไม่สมานฉันท์สามัคคี
ข้อมูลพื้นฐานของผู้ตอบแบบสอบถามกรุงเทพมหานคร 1,557 คน
เพศ : หญิง 827 คน (53.12%) ชาย 653 คน (41.94%) เพศหลากหลาย 77 คน (4.94%)
อายุ : Gen Z (18-28 ปี) 745 คน (47.85%) Gen Y (29-45 ปี) 432 คน (27.75%) Gen X (46-60 ปี) 252 คน (16.18%) Gen Baby Boomer ขึ้นไป (61 ปีขึ้นไป) 128 คน (8.22%)
การศึกษา : ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 64 คน (4.11%) มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 269 คน (17.28%) อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 158 คน (10.15%) ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 963 คน (61.85%) สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 103 คน (6.61%)
อาชีพ : นักเรียนนักศึกษา 535 คน (34.36%) เกษตรกร 14 คน (0.9%) พนักงานเอกชน 311 คน (19.97%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 141 คน (9.06%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 196 คน (12.59%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 201 คน (12.91%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 113 คน (7.26%) อื่นๆ 46คน (2.95%)
รายได้ต่อเดือน : ไม่มีรายได้ 277 คน (17.79%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 288 คน (18.50%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 411 คน (26.40%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 299 คน (19.20%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 143 คน (9.18%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 139 คน (8.93%)
#กรุงเทพมหานคร #เลือกตั้ง #ผู้อำนวยการเขต #สมาชิกสภาเขต