
ศิริกัญญา เบรกรัฐบาลตีปี๊บ กางตัวเลขชัดๆ ทำไมจีดีพีไตรมาสแรกโต จึงไม่ใช่เรื่องน่าดีใจ

เผ่าภูมิโชว์สถิติรัฐบาลแพทองธาร GDP โตกว่า 3% ติดต่อกัน 3 ไตรมาส ครั้งแรกในรอบ 7 ปี เกิดขึ้นเพียง 7 ครั้งในประวัติศาสตร์ไทย ด้าน ศิริกัญชา ชี้ เศรษฐกิจโต บนความจริงน่ากังวลอย่างยิ่งต่างหาก
กรณี นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า ภายใต้รัฐบาลนายกฯแพทองธารบริหารเศรษฐกิจตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในไตรมาส 3 ปี 2567
GDP ไตรมาส 3 ปี 2567 โต 3.0%
GDP ไตรมาส 4 ปี 2567 โต 3.3%
GDP ไตรมาส 1 ปี 2568 โต 3.1% (ที่สภาพัฒน์เพิ่งประกาศ)
การขยายตัวของ GDP มากกว่าร้อยละ 3 ติดต่อกัน 3 ไตรมาสนี้ แสดงถึงโมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่ดีเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และในประวัติศาสตร์ไทยมีเพียง 7 ครั้งเท่านั้นที่เกิดขึ้น โดยที่สถิติสูงสุดของประเทศเกิดขึ้นในรัฐบาลนายกฯทักษิณ ที่การขยายตัวของ GDP มากกว่าร้อยละ 3 ติดต่อกันถึง 22 ไตรมาส
“เราเริ่มต้นได้ดี แต่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความไม่แน่นอนมากขึ้นจากนโยบายด้านการค้าและภาษี ซึ่งเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุมและกระทบทั่วทั้งโลก รัฐบาลให้คำมั่นสัญญามาตรการรองรับสถานการณ์จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สอดรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สุด รัดกุมที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ” รมช.คลังกล่าว
ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์ข้อความระบุว่า การเติบโตของ GDP ไทยไตรมาสแรกปี 2568 ที่ 3.1% นั้น ไม่ได้เป็นสัญญาณที่ดีอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะมีแรงหนุนจากปัจจัยชั่วคราว และฐานที่ต่ำในปีก่อน
การส่งออกดูเหมือนจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยโตถึง 13.8% โดยเฉพาะตลาดสหรัฐที่ขยายตัวถึง 25% ซึ่งอาจมาจากการเร่งส่งออกก่อนการขึ้นภาษี อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมในประเทศแทบไม่โต ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าสินค้าที่ส่งออกจำนวนมากนั้นผลิตมาจากไหน หรือเป็นการ “สวมสิทธิ์” ส่งออกจากประเทศอื่นผ่านไทย
ในส่วนของการลงทุน ภาพรวมดูเหมือนฟื้นตัวที่ +4.7% แต่หากแยกดูพบว่าเอกชนยังหดตัวต่อเนื่องถึง -0.9% การเติบโตเกิดจากภาครัฐที่เร่งเบิกจ่ายงบล่าช้าจากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเพียงผลชั่วคราว
การท่องเที่ยวซึ่งเคยเป็นแรงส่งหลักก็เริ่มชะลอตัว การเติบโตของการส่งออกบริการลดลงจากปีที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ ขณะจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มแผ่ว โดยเฉพาะจากจีนและมาเลเซีย
สรุปคือ การเติบโตของ GDP ที่ดูดีในไตรมาสแรก แท้จริงแล้วมาจากปัจจัยไม่ยั่งยืน หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งปีหลัง.
มีรายละเอียดดังนี้
GDP ไตรมาส 1 โต 3.1% มาจากไหน มาดูกันค่ะ
ส่งออกเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย?
– แน่นอนว่าการส่งออกโตดีมาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่โต 13.8% ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมีการเร่งส่งออกเพื่อหนีการขึ้นภาษีของสหรัฐ สอดคล้องกับการส่งออกไปตลาดสหรัฐที่โต 25%! ในไตรมาส 1
– แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ ภาคอุตสาหกรรมที่แทบไม่โตเลย (+0.6%) แสดงว่าแทบไม่ได้มีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในประเทศเพิ่มขึ้นเลย แล้วเราเอาสินค้าจากไหนไปส่งออก?
– คนอาจจะคิดว่ามาจากการเอาสินค้าในสต๊อกไปขาย ซึ่งไตรมาส 1 สต๊อกก็ลดลงไปค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมีส่วนเพิ่มของการส่งออกที่อธิบายไม่ได้อยู่ดีว่ามาจากไหนกันนะ
– สมมุติฐานหนึ่งคือ มาจากสินค้าสวมสิทธิ์ ไม่ได้ผลิตในไทย แต่มาส่งออกจากไทยนั่นเองที่ดันตัวเลขส่งออกไทยให้พุ่งทะยานขนาดนี้
– ซึ่งหมายความว่า ต่อจากนี้การส่งออกในช่วงหลังของปีก็คงไม่ดีเหมือนเดิมเพราะเร่งส่งออกไปเยอะแล้ว แถมภาษีนำเข้าก็จะเริ่มเก็บจริงแล้ว มิหนำซ้ำหากเราปราบปรามสินค้าสวมสิทธิ์ได้หมดสิ้น ตัวเลขส่งออกเราก็จะยิ่งแย่กว่าเดิมอีก แต่เราก็จะเห็นภาพการส่งออกไทยที่แท้จริงที่สะท้อนการผลิตสินค้าภายในประเทศด้วย
– ยังไม่ต้องพูดถึงสงครามการค้า ที่สภาพัฒน์คาดว่าน่าจะทำให้มูลค่าส่งออกทั้งปีโต 1.8% แค่นี้ก็ทำให้ต้องหั่น GDP ออกไป 1% จากที่คาดว่า ปี 2568 จะโต 2.8% เหลือแค่ 1.8%
ผลของงบ 67 ออกล่าช้า
– เนื่องจากตัวเลขการเติบโต การลงทุนรวม +4.7% อาจทำให้เราหลงดีใจเก้อว่าการลงทุนกลับมาแล้ว
– ที่กลับมาจริง คือการลงทุนภาครัฐ (+26.3%) ที่เป็นผลมาจากงบ 67 ที่ออกล่าช้าจำกันได้มั้ยคะ ทำให้ไตรมาส 1 ปีที่แล้วเรายังเบิกจ่ายงบลงทุนกันไม่ได้อยู่เลย พอปีนี้กลับมาเป็นปกติก็เลยโตแบบพุ่งๆ เพราะฐานต่ำ
– ถ้าดูการลงทุนภาคเอกชนอย่างเดียวจะพบว่า…. ติดลบ -0.9% และหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 แล้ว
– เฉพาะแค่การลงทุนภาครัฐอย่างเดียวที่โตกระฉูดเพราะงบออกล่าช้า ส่งผลให้ GDP โตขึ้นถึง 1.5%
– ผลของงบ 67 ล่าช้า จะเกิดไตรมาสนี้ไตรมาสสุดท้ายแล้ว เพราะงบออกเดือนเม.ย.67 หลังจากนี้ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติตามยถากรรม
ท่องเที่ยวกำลังหมดแรง
– ตัวเลขท่องเที่ยว เราจะดูจากการส่งออกบริการซึ่งโต +7% ซึ่งไม่เลวเลย
– แต่พอเหลือบไปดูตัวเลขท่องเที่ยวปีที่แล้ว เคยโตเฉลี่ยตั้ง +25% ที่เป็นแบบนี้เพราะการท่องเที่ยวที่เพิ่งฟื้นตัวจากโควิด กำลังค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไปที่จุดเดิม (40 ล้านคนต่อปี) พอใกล้ถึงยอดเดิมก็จะค่อยๆ โตช้าลงๆ
– ดังนั้นการเติบโตจากการท่องเที่ยวจะไม่ได้ฟู่ฟ่าเหมือนปี 2 ปีที่ผ่านมาแล้วอันนี้ต้องทำใจ และจะเป็นแรงส่งให้ GDP ไทยน้อยลงกว่าเดิมมากๆ
– แต่ที่จะแย่ไปกว่าเดิมเพราะหลังจากไตรมาส 1 เราเริ่มเห็นสัญญาณนักท่องเที่ยวที่แผ่วลงกว่าเดิม ทั้งจากจีน และมาเลเซีย ที่เคยเป็นกลุ่มหลัก สุ่มเสี่ยงว่าปีนี้อาจจะมีนักท่องเที่ยวมาต่ำกว่าเป้าที่ 39 ล้านคน
สรุป
ไม่ใช่เรื่องน่าดีใจใดๆ ทั้งสิ้น ที่เศรษฐกิจ 3 เดือนแรกที่โตเกิน 3% เพราะมาจากพื้นฐานที่เปราะบางกว่าฟองสบู่ และเศรษฐกิจทั้งปีที่จะโตเหลือแค่ 1.8% เท่ากับว่าไตรมาสหลังๆ อาจจะเจอเศรษฐกิจหดตัว หรือเกิดเศรษฐกิจถดถอย 2 ไตรมาสติด (technical recession) ก็เป็นไปได้ หวังว่ารัฐบาลจะมีแผนการเตรียมพร้อมรับมือ ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ที่จะมาถึง
ส่วนที่อ้าง 7 ครั้งในประวัติศาสตร์ โหลด excel สภาพัฒน์ไปดูเองเถอะว่าอ้างแบบนี้มันตลกขนาดไหน