
DPU คลินิกแพทย์แผนไทย แนะสมุนไพรไทย 29 ชนิด ต้านโควิด เสริมภูมิคุ้มกัน พร้อมเปิดตำรับยาไทยใช้ได้ทั้งป้องกันและรักษา ควบคู่ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม พักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

DPU คลินิกแพทย์แผนไทย แนะสมุนไพรไทย 29 ชนิด ต้านโควิด เสริมภูมิคุ้มกัน พร้อมเปิดตำรับยาไทยใช้ได้ทั้งป้องกันและรักษา ควบคู่ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม พักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
คลินิกการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) แนะนำแนวทางการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมโดยใช้ “สมุนไพรไทย” เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มกลับมาระบาดในหลายพื้นที่ โดยเน้นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บรรเทาอาการเจ็บป่วย เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค พร้อมแนะนำประชาชนใช้สมุนไพรอย่างมีสติเหมาะสมกับสภาพร่างกายของตนเอง
ดร.คณิศร์ณิชา ชาญภา รองคณบดี วิทยาลัยเฮลท์ แอนด์ เวลเนส และผู้อำนวยการ DPU คลินิกการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่าจากการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบพบว่าสารสำคัญในสมุนไพรกลุ่มฟลาโวนอยด์มีคุณสมบัติต้านเชื้อโควิดคือ SARS-CoV-2 ซึ่งปัจจุบันมีสมุนไพรไทย จำนวน 29 ชนิด ที่มีส่วนประกอบเป็นสารกลุ่มนี้และมีคุณสมบัติเด่นด้านการเสริมภูมิคุ้มกัน ต้านไวรัสและบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากโควิด-19 ได้ดีขึ้น โดยสามารถจำแนกสมุนไพรเป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มสมุนไพรที่มีวิตามินซีสูงและต้านอนุมูลอิสระ เช่น มะขามป้อม , สมอไทย , สมอพิเภก มีวิตามินซีสูงช่วยเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาว เพิ่มประสิทธิภาพการทำลายเชื้อโรค ดอกขี้เหล็ก, ยอดมะยม, ใบเหลียง, ยอดสะเดา, มะระขี้นก, ผักเชียงดา, ฟักข้าว, คะน้า ช่วยลดการอักเสบ เสริม T-cell และ B-cell , ผักแพว ช่วยรักษาหอบหืด แก้ไอ ลดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ กลุ่มที่มีสารต้านไวรัส (Quercetin, Hesperidin, Rutin) เช่น ฝักมะรุม , พลูคาว , หอมแดง ,หอมหัวใหญ่ , แอปเปิล มี Quercetin ช่วยยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัส เปลือกส้มซ่า , ใบหม่อน , มะนาว มี Hesperidin และ Rutin ป้องกันปอดอักเสบจากไวรัส
“กลุ่มเสริมภูมิคุ้มกันเฉพาะทาง เช่น ฟักทอง มีสารเบต้ากลูแคน ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ลูกหม่อน มีสารแอนโทไซยานิน ป้องกันเซลล์เสื่อม เสริมภูมิในผู้สูงวัย ลูกมะกรูด ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ บำรุงระบบหายใจ กลุ่มรสเผ็ดร้อน ลดไข้ ขับเสมหะ เช่น ขิงแห้ง , ข่า , พริกขี้หนู , พริกไทยดำ , ใบกะเพรา ลดการอักเสบในลำคอ ขยายหลอดลม ขับเหงื่อช่วยให้ร่างกายต้านทานการติดเชื้อได้ดีขึ้น ใบมะขาม มีรสเปรี้ยว ช่วยถอนพิษ กระตุ้นการสร้าง T-Cell, B-Cell” ผู้อำนวยการ DPU คลินิกการแพทย์แผนไทย กล่าว
อย่างไรก็ตามการใช้สมุนไพรไทยถ้าไม่ระมัดระวังอาจเกิดผลข้างเคียงได้ DPU คลินิกการแพทย์แผนไทย จึงได้ให้คำแนะนำในการใช้สมุนไพรยอดนิยม ยกตัวอย่าง มะขามป้อม มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ และผู้ที่ท้องเสียง่าย ขี้เหล็ก มีสารบาราคอลอาจทำให้ง่วงซึมส่งผลต่อตับ และอาจกระตุ้นให้เส้นเลือดฝอยแตก ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรหลีกเลี่ยง สะเดา รสเย็น อาจทำให้ท้องอืด และความดันต่ำลง และน้ำนมแห้งในสตรีหลังคลอด เหง้าขิงแห้ง มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดและไม่ควรเกิน 4 กรัมต่อวัน พลูคาวและผักแพว มีรสร้อน ผู้ที่หนาวง่ายแขนขาเย็นและสตรีมีครรภ์และให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยง
ดร.คณิศร์ณิชา ยังกล่าวต่อว่า DPU คลินิกแพทย์แผนไทย ได้เปิดให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวมทั้งการรักษาด้วยสมุนไพรไทยและการนวดรักษาตามศาสตร์แผนไทยขั้นสูง ที่ผ่านมาได้พัฒนาตำรับยาสมุนไพรชนิดสกัดเข้มข้นมากกว่า 270 ตำรับ ที่ใช้ในคลินิก ทำให้ผู้ป่วยยอมรับเพราะสะดวกในการรับประทานโดยรับประทานครั้งละ 1-2 แคปซูล แทนรูปแบบดั้งเดิมครั้งละ 4-6 แคปซูล ชนิดที่ไม่ได้สกัด เป็นการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยใช้เทคโนโลยีการสกัดยาสมุนไพรขั้นสูงระดับเดียวกันกับที่ใช้ในประเทศเยอรมนี ทำให้ได้ยาสมุนไพรมาตรฐานและสามารถนำไปใช้จริงในการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 13 ปี มีผู้ป่วยมากกว่า 65,000 รายได้รับการดูแลด้วยยาสมุนไพรจากคลินิกแห่งนี้ สะท้อนให้เห็นศักยภาพของยาสมุนไพรไทยในฐานะทางเลือกด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ และสามารถพัฒนาเพื่อต่อยอดสู่ระบบสาธารณสุขระดับประเทศและระดับโลกได้
ทั้งนี้ทางคลินิกได้พัฒนาตำรับยาสมุนไพรสำหรับการป้องกันและรักษาโควิด-19 โดยกลุ่มการป้องกัน ประกอบด้วย ใบมะขามสกัด (สูตรของพ่อหมอชุบ) รสเปรี้ยว สรรพคุณในการถอนพิษ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน T Cell กระตุ้นภูมิคุ้มกัน B Cell , ตำรับยาสมุนไพรเบญจโลกวิเชียร รสขมเย็น กระทุ้งพิษไข้ ป้องกันพิษไข้ไม่ให้เข้าไปทำลายอวัยวะสำคัญ ปอด หัวใจ ไต ม้าม ตับ , น้ำซาวข้าว (น้ำกระสายยา) รสเย็น ช่วยลดความร้อน บำรุงร่างกาย แก้อาการสวิงสวาย และตำรับยาสมุนไพรหนุมานประสานกาย (คัมภีร์สรรพคุณ) รสสุขุม ช่วยให้ระบบทางเดินหายใจดี ให้ปอดแข็งแรง ละลายเสมหะ ป้องกันการติดเชื้อที่ปอด
“สำหรับกลุ่มการรักษา ได้ใช้ตำรับยาสมุนไพรเบญจโลกวิเชียร (คัมภีร์ตักศิลา) รสขมเย็น มีสรรพคุณกระทุ้งพิษไข้ ป้องกันพิษไข้เข้าไปทำลายอวัยวะสำคัญ ปอด หัวใจ ไต ม้าม ตับ , น้ำซาวข้าว (น้ำกระสายยา) รสเย็นมีสรรพคุณลดความร้อน บำรุงร่างกาย แก้อาการสวิงสวาย , ตำรับยาสมุนไพรแปรไข้ (คัมภีร์ตักศิลา) รสเย็น เมื่อทานตำรับยาสมุนไพรเบญจโลกวิเชียรแล้วควรทานยาแปรไข้ต่อเพื่อแปรไข้ร้ายให้กลายเป็นดีและบำรุงอวัยวะต่าง ๆ ให้ทำงานดีขึ้นหลังจากพิษไข้ลดลง และ ตำรับยาสมุนไพรครอบไข้ (คัมภีร์ตักศิลา) รสเย็นสุขุม เมื่อรักษาอาการไข้หายแล้วจำเป็นต้องทานยาครอบไข้เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นโรคนั้นอีก” ผู้อำนวยการ DPU คลินิกการแพทย์แผนไทย กล่าว
สำหรับหญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร แนะนำตำรับยาสมุนไพรโพธิศิลา รสสุขุม ซึ่งจะช่วยลดไข้ที่เกิดจากเชื้อไวรัส เด็กทารก-อายุไม่เกิน 6 ปี ให้ใช้ยาตรีหอม รสเย็น ระบายพิษไข้ แก้ท้องผูก , ยาเขียวหอม รสเย็น แก้ไข้ แก้ร้อนใน เป็นยาระบาย , ยามหานิลแท่งทอง รสเย็น สรรพคุณ แก้ไข้ทุกชนิด แก้ผดผื่นตามผิวหนัง แก้กระหายน้ำ และยาขม รสขมเย็น แก้ร้อนใน ช่วยระบายท้อง ขณะที่เด็กอายุ 6 ปี ขึ้นไป – ไม่เกิน 15 ปี สามารถใช้ยาทั้งในกลุ่มป้องกันและรักษาได้ โดยลดอัตราส่วนลงมาครึ่งหนึ่งจากผู้ใหญ่
ท้ายที่สุด ผู้อำนวยการ DPU คลินิกการแพทย์แผนไทย เน้นย้ำว่า การใช้สมุนไพรควรทำควบคู่กับดูแลสุขภาพแบบองค์รวมเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 โดยเน้นการดีท็อกซ์ (Detox) เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน การพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะการนอนหลับสนิทและหลับลึก (Deep sleep) รวมถึงการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการอยู่ในจุดเสี่ยง และใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้