ทำได้จริง!!! เส้นใยไผ่ถักทอเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าและเครื่องใช้ 

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจจากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นและธุรกิจชีวภาพด้วยการใช้สหวิทยาการที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการต่อยอดองค์ความรู้ของภูมิปัญญาในแต่ละชุมชนท้องถิ่นไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ หนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจของหน่วยงานนี้คือ การนำเส้นใยไผ่มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า หรือรองเท้า โดยผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระทั่งสามารถนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ นอกจากนั้นยังต่อยอดเพื่อก้าวสู่ภาคอุตสาหกรรมด้วยการนำเส้นใยไผ่ไปพัฒนาเป็นแผ่นดูดซับเสียงและที่วางสิ่งของท้ายรถ

BB 02คุณถาวร บุญราศี เจ้าหน้าที่พัฒนาเศร
คุณถาวร บุญราศี เจ้าหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพและเป็นผู้ดูแลโปรเจ็กต์นี้ กล่าวว่า ข้อดีของไผ่คือโตเร็ว ไม่ต้องดูแลใส่ใจมาก ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ยา นับเป็นพืชที่ลงทุนต่ำ ดังนั้น จึงมองว่าหากผลักดันเข้าสู่เชิงพาณิชย์แล้ว ไผ่น่าจะเป็นอีกทางเลือกของพืชเศรษฐกิจที่ชาวบ้านจะหันมาปลูกกันเพิ่มมากขึ้น
ฉะนั้น โจทย์ข้อแรกที่ได้รับมอบหมายคือ ให้มาดูว่าจะพัฒนาการใช้ประโยชน์ของไผ่ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างไรบ้าง จากนั้นจึงมีการระดมความคิดจากทุกภาคส่วนทั้งทางรัฐและเอกชน จนได้ออกมาเป็นยุทธศาสตร์ไผ่ ซึ่งถือเป็นคู่มือเพื่อกำหนดแนวทางว่าควรจะพัฒนาอะไรบ้าง

ผลิตเส้นใยไผ่ นำไปทอแล้วตัดเสื้อ/ของใช้ ขายเชิงพาณิชย์

Advertisement

งานวิจัยไผ่ของคุณถาวรเริ่มต้นด้วยเส้นใยไผ่ โดยนำไผ่มาผลิตเป็นเส้นใย ภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องเน้นการผลิตเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “ระเบิดด้วยไอน้ำ” เพราะใช้เพียงความร้อนกับแรงดันเท่านั้น จากนั้นจึงนำใยไผ่ไปทอเป็นด้าย เป็นผ้า แล้วนำไปตัดเสื้อ และนั่นถือเป็นความสำเร็จชิ้นแรก

BB 07 สิ่งของต่างๆที่นำมาทำเป็นใยไผ่

สำหรับพันธุ์ไผ่ที่นำมาใช้งานในช่วงที่มีการทดลองนั้น ได้กำหนดไว้จำนวน 5 พันธุ์ ได้แก่ ซางหม่น ไผ่หวานอ่างขาง กิมซุง ไผ่ตง และไผ่บงบ้าน โดยแต่ละชนิดคุณถาวรชี้ว่ามีข้อดี-เสีย ต่างกันไม่มาก ทั้งความเหนียว ความคงทนแข็งแรง จึงสามารถนำมาใช้ได้ทุกพันธุ์ เพียงแต่สิ่งที่ต่างกันอาจเกี่ยวกับปริมาณของเส้นใยที่แต่ละพันธุ์มีไม่เท่ากัน

Advertisement

อายุต้นไผ่ที่เหมาะสมกับการนำมาใช้ผลิตเส้นใยนั้น คุณถาวรบอกว่า ควรเป็นลำไผ่อายุสัก 2 ปี ให้ตัดส่วนที่เป็นข้อออก แล้วทำเป็นตอก จากนั้นนำตอกไปใส่ในเครื่องที่ระเบิดด้วยไอน้ำ จะได้ออกมาเป็นผง ให้นำไปล้างทำความสะอาด แล้วแยกส่วนที่เป็นเส้นใยนำไปผ่านกระบวนการสางให้สะอาด

BB 03 เส้นด้ายใยไผ่

ต่อจากนั้นทำเส้นใยให้มีระเบียบ แล้วนำเส้นใยไผ่ไปผสมกับฝ้ายในอัตราส่วน ฝ้าย 80 เปอร์เซ็นต์ เส้นใยไผ่จำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วจึงนำไปทอผลิตเป็นผืนต่อไป
คุณถาวรชี้ว่า สำหรับเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ขณะนี้มีการขับเคลื่อนในเชิงพาณิชย์ไปแล้ว แต่ตลาดยังแคบ ทั้งนี้เมื่อเทียบต้นทุนการผลิตระหว่างสินค้าที่มีส่วนผสมของเส้นใยไผ่กับสินค้าที่มีวางขายอยู่ในขณะนี้แล้วพบว่ามีต้นทุนไม่ต่างกันเลย แถมสิ่งของที่ผลิตหรือมีส่วนผสมด้วยเส้นใยไผ่ยังช่วยในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า

ต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการผลิตงานคอมพอสิต (composites)

อีกงานวิจัยที่นำเส้นใยไผ่มาต่อยอดเพื่อจุดมุ่งหมายในเชิงอุตสาหกรรมคือ ชิ้นงานที่เรียกว่าคอมพอสิต (composites) ซึ่งเป็นลักษณะวัสดุคอมพอสิตจากเส้นใยธรรมชาติประเภทเซลลูโลสและพอลิเมอร์ในสัดส่วนที่พอเหมาะ

“ชิ้นงานที่ผลิตออกมาเป็นต้นแบบ ได้แก่ แผ่นวางสิ่งของที่คอนโซลด้านหลังรถยนต์ และคอมพอสิตสำหรับเป็นวัสดุดูดซับเสียง ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้อีกมากมาย โดยชิ้นงานต้นแบบทั้ง 2 ได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานทุกอย่างจากสถาบันที่ได้รับการรับรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

BB 05งานคอมพอสิตเป็นที่วางของในรถ

คุณถาวรระบุว่า แผ่นวางสิ่งของที่คอนโซลด้านหลังรถยนต์ หากเปรียบเทียบแล้วของเดิมที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันถูกผลิตมาจากพลาสติก ซึ่งถือว่าไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับชิ้นงานวิจัยที่ผลิตออกมานี้ทำมาจากวัสดุธรรมชาติด้วยการนำไผ่มาเป็นส่วนผสมถึงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ถ้าสามารถส่งเสริมสนับสนุนเข้าไปสู่การผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว คาดว่าต้องใช้ไผ่ที่เป็นวัตถุดิบปีละไม่ต่ำกว่า 3-4 ล้านตัน

สำหรับพันธุ์ไผ่ที่เหมาะกับการนำมาผลิตคอมพอสิตทั้ง 2 ชนิดคือ ไผ่บงบ้านและไผ่ซางหม่น โดยตอกไผ่ 2,000 กิโลกรัม ผลิตเส้นใยไผ่ได้ 700 กิโลกรัม แล้วสามารถผลิตคอมพอสิตได้ 1,400 กรัม (สูตรการผลิตคอมพอสิตผสมเส้นใย 50 เปอร์เซ็นต์)

BB 04ไผ่กิมซุ้งที่ผ่านกระบวนการรเบิดไอน้ำ

“ในส่วนแผ่นดูดซับเสียงพบว่าตลาดกว้างมาก ทั้งนี้เนื่องจากสามารถนำไปผลิตแตกยอดได้หลายอย่าง อาทิ ทำเป็นเบาะนั่ง โซฟา เก้าอี้ ฯลฯ เพราะเป็นวัสดุธรรมชาติ เพียงแต่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่ยังขาดแรงจูงใจในเรื่องต้นทุนที่สูง เมื่อเทียบกับของใช้ประเภทเดียวกันที่มีจำหน่ายอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการสนับสนุนส่งเสริมให้ผลิตในระดับอุตสาหกรรมแล้ว คาดว่าโอกาสที่จะทำให้ต้นทุนถูกลงได้อย่างแน่นอน”

เจ้าหน้าที่วิจัยระบุว่า ความเป็นไปได้หรือโอกาสต่อการนำเส้นใยไผ่มาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งไม่ว่าจะผลิตอะไรก็ตาม จุดใหญ่ใจความอยู่ตรงเรื่องประชาสัมพันธ์และการตลาดเพียงอย่างเดียว เนื่องจากที่ผ่านมาการนำสินค้าไปโชว์ตามงานแสดงต่างๆ ได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก แต่ติดปัญหาว่าจะไปหาซื้อที่ไหนเท่านั้น

คุณถาวรมองถึงอนาคตว่า ถ้าเกิดเป็นจริงขึ้นมาแล้วพื้นที่สำหรับปลูกไผ่เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบป้อนสู่กระบวนการผลิตควรมีไม่ต่ำกว่าหมื่นไร่ถึงจะเพียงพอ ทั้งนี้ได้แนะนำว่าถ้าชาวบ้านแต่ละครัวเรือนที่มีพื้นที่ไม่มาก และสนใจเข้าร่วมควรรวมกลุ่มก้อนกัน ขณะเดียวกันทางภาครัฐต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อสร้างแรงจูงใจด้วย

BB 08เสื้อเชิ๊ตสำหรคุณผู้ชายสวยโดดเด่น

“จากประสบการณ์ที่เดินทางไปดูงานเรื่องไผ่ในต่างประเทศพบว่า ภาครัฐมีความจริงใจกับการส่งเสริมปลูกไผ่มาก มีการนำไผ่มาผลิตเป็นวัสดุสิ่งของทุกอย่างในชีวิตประจำวันมากมาย และภาครัฐได้เข้ามามีบทบาทสนับสนุนอย่างเต็มที่ในรูปแบบสหกรณ์ คือชาวบ้านแต่ละครัวเรือนสามารถปลูกไผ่ได้ จะมีมาก/น้อยไม่สำคัญ

ดังนั้น จึงพบเห็นชาวบ้านขึ้นไปปลูกไผ่บนภูเขากันมาก แล้วทางรัฐยังออกกฎห้ามเอกชนมาติดต่อซื้อโดยตรงกับชาวบ้าน เพราะรัฐต้องการให้ชาวบ้านผลิตออกมาเป็นเส้นใยแล้วขายให้เอกชน เนื่องจากมีรายได้มากกว่า”

ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับงานวิจัยไผ่ คุณถาวรพบว่า เป็นพืชที่ให้คุณประโยชน์มากมาย ช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกไผ่ใช้เวลาไม่นาน เพียง 3 ปี ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ พอตัดลำไผ่ขาย หน่อใหม่ขึ้น ไม่นานตัดได้อีก เป็นเช่นนี้เรื่อยไป จึงเป็นความยั่งยืน เป็นไม้ที่ปลูกง่ายไม่ต้องเสียเวลาดูแล ปุ๋ย ยา ไม่ต้องใช้ และที่สำคัญเคยอ่านงานวิจัยของต่างประเทศ พบว่าไผ่สามารถคายก๊าซออกซิเจนได้มากกว่าพืชอื่นถึงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าช่วยฟอกอากาศได้ดี

BB 08เสื้อเชิ๊ตสำหรคุณผู้ชายสวยโดดเด่น

“ในความเห็นส่วนตัวมองว่า ไผ่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของบ้านเราในอนาคตอันใกล้แน่นอน การคิดจะปลูกไผ่สักต้นขอให้มองถึงคุณค่าที่เกิดกับตัวเองเป็นอย่างแรก แต่ถ้าข้ามไปถึงการปลูกในเชิงพาณิชย์แล้ว ขอให้มองความชัดเจนในเรื่องการตลาดก่อน แล้วค่อยตัดสินใจปลูก อย่าไปหลงเชื่อ และอย่าไปปลูกตามกระแส

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันผลักดันในเรื่องประโยชน์ เรื่องตลาด เพราะมิเช่นนั้นความคิดที่จะเห็นไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ก็คงยังไม่เป็นจริงแน่” คุณถาวรกล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เส้นใยไผ่ได้ที่ คุณถาวร บุญราศี โทรศัพท์ (081) 918-5832

สำหรับใครที่สนงานเสื้อผ้าจากเส้นใยไผ่ วันที่ 30 กรกฎาคม 2559 นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้จัดสัมมนา “สุดยอดนวัตกรรมจากไผ่ของไทย” พบความมหัศจรรย์ของพันธุ์ งานแปรรูป และผลิตภัณฑ์ชั้นยอด ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน จะมีค่าลงทะเบียน 700 บาท

…พิเศษแจกฟรี หนังสือพริก ราคา 220 บาท มะละกอ ราคา 225 บาท สับปะรด ราคา 230 บาท เล่มใดเล่มหนึ่งสำหรับลูกค้า เอไอเอส 150 ท่านแรก

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร (02) 954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124 Mobile (082) 993-9097 (082) 993-9105 FAX (02) 954-39

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image