คอลัมน์ แท็งก์ความคิด: เป็นมิตร-อบอุ่น

วันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา ที่มติชนคลาคล่ำไปด้วยมิตรภาพ

พื้นที่ห้องโถงชั้นหนึ่งอาคารสำนักงาน 9 ชั้นเนืองแน่น

ดูเหมือนว่าแต่ละคนจะใช้พื้นที่ดังกล่าวในการพูดคุยด้วยความคิดถึง

หัวข้อการสนทนามีทั้งเรื่องสารทุกข์สุกดิบ เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และเรื่องสังคม

Advertisement

เรื่องความเดือดร้อนจากน้ำท่วมภาคใต้ และอื่นๆ อีกมากมาย

บุคคลที่มามีทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี

รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดี อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

Advertisement

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พรรคการเมือง ซีอีโอ นักธุรกิจ ฯลฯ

เงินบริจาคที่สนับสนุนโครงการ “แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง” 2 ล้านกว่าบาท

ระหว่างงานได้รับซีดีบทเพลงพระราชนิพนธ์หลายเวอร์ชั่น

หนึ่งเป็นการจัดทำโดยบริษัทแกรมมี่ หนึ่งเป็น “รวมเพลงพระราชนิพนธ์ ชุดอนุรักษ์”

อีกหนึ่ง เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ “ชมรมภูมิพลังแผ่นดิน” รวบรวม

ได้ยินได้ฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ได้รับแล้วปีติ

คิดถึงประโยคประทับใจจากภาพยนตร์ดังเรื่อง “พรจากฟ้า”

ดนตรีเป็นของทุกคน !

ภาพยนตร์ “พรจากฟ้า” เป็นของบริษัท GDH เผยแพร่ทั้งในโรงภาพยนตร์และทางสถานีช่อง ONE เมื่อช่วงสิ้นปีเก่ารับปีใหม่

เป็นภาพยนตร์ที่ดูแล้วสบายๆ แต่ได้แง่คิดหลากหลาย

รวมทั้งได้ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ด้วย

ภาพยนตร์เรื่องนี้แบ่งเป็น 3 เรื่องเล็กผูกโยงด้วยสายใยเล็กๆ

จาก เรื่องแรก มีบทเพลงเด่นคือ บทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น”

บทเพลงที่รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปี 2489 เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 2 ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช

ตามมาด้วย เรื่องที่สอง มีบทเพลง “Still on my mind” บทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 37

รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ.2508

และ เรื่องที่สาม มีบทเพลง “พรปีใหม่” เพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2495

บทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง 3 ในภาพยนตร์เรื่องนี้ บรรเลงโดยวงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิก ออเคสตรา หรือทีพีโอ

เป็นบทเพลงที่ประดุจ “พรจากฟ้า” แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกว่าเป็นบทเพลงของคนทุกคน

ความรู้สึกดังกล่าวเกิดจากความคุ้นเคยในทำนองและเนื้อร้อง

ผนวกกับตัวแสดงที่เป็นนักดนตรีในเรื่อง…แต่ละคนไม่ใช่นักดนตรีอาชีพ

หากแต่เป็นใครก็ได้ที่ชอบดนตรี และสามารถเล่นดนตรีได้

แถมเวลาและสถานที่ก็เป็นอะไรก็ได้

ไม่ว่าจะเล่นในห้องซ้อม เล่นในห้องเก็บของ เล่นที่บันไดหนีไฟ เล่นในท้องทุ่ง

หรือจะเล่นในสถานที่โอ่โถงใดๆ ก็เล่นได้

ดนตรีเช่นนี้ถือเป็นของทุกคน

เป็นดนตรีที่แตกต่างจากอดีตซึ่งคนโบราณใช้สื่อสารกับเทพเจ้า

บ้างสวดมนต์ บ้างร้องเพลงโบสถ์ บ้างบรรเลงพิณ บ้างเป่าสังข์ ฯลฯ

ผู้บรรเลงเพลงเป็นมืออาชีพ คือ เป็นพราหมณ์บ้าง เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะ

ดนตรีเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และมีชั้นวรรณะ

ดนตรียามนั้น อยู่ไกลเกินเอื้อม เป็นดนตรีที่เคร่งขรึม น่าเกรงขาม

ดนตรีได้ผ่านใช้เวลานานในการขยับขยายจากศาสนสถานออกมาสู่สาธารณะ

เข้าสู่คฤหาสน์คหบดี เข้าสู่แวดวงสังคมชั้นสูง

เติบใหญ่ในท้องทุ่ง เป็นเสียงบรรเลงของท้องน้ำ ท้องทะเล

ดนตรีเป็นเครื่องปลุกใจของผู้ใช้แรงงาน

ดนตรีเข้าใกล้มวลชน เป็นดนตรีของสาธารณชน

ดนตรีได้ผ่านสภาวะทางสังคม และพิสูจน์ให้เห็นว่า มนุษย์มีความเสมอภาค

จากดนตรีคลาสสิก สู่บลูส์ แจ๊ซ ร็อก เรื่อยมาถึงบัดนี้

ดนตรีในปัจจุบันกลายเป็นเพื่อนของผู้ฟัง…กลายเป็นสมบัติของคนทุกคน

ทุกคนสามารถแต่ง สามารถบรรเลง สามารถขับร้อง และสามารถฟังดนตรีได้

ดนตรีกลายเป็นมิตร

เมื่อดนตรีกลายเป็นมิตร เวลาได้ใกล้ชิดก็รู้สึกอุ่นสบาย

ทำให้การฟังดนตรีมีความสุข

ฟังแล้วอบอุ่น ผ่อนคลาย และสนุกสนาน

ความรู้สึกของมิตรภาพเป็นเช่นนี้

บรรยากาศเมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่มติชนก็เป็นเช่นนี้

อบอุ่น ผ่อนคลาย และสนุกสนาน

อยู่ร่วมงานในวันนั้นแล้วมีความสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image